พรุลานควายกับโจทย์ท้าทายของการจัดการแบบมีส่วนร่วมรัฐ-ชุมชน

พรุลานควายกับโจทย์ท้าทายของการจัดการแบบมีส่วนร่วมรัฐ-ชุมชน

พรุ คือ พื้นที่รับน้ำ

คน ควาย อยู่อาศัย

แต่ใครคือผู้จัดการ

พรุลานควาย พื้นที่ชุมน้ำอีกแหล่งสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด ระหว่างอ.ทุ่งยางแด จ.ปัตตานีและงอ.รามัน จ.ยะลา กำลังเผชิญกับทางแยกของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงจากการใช้ประโยชน์ของผู้คน ที่สำคัญคือการขาดการวางแผนและการทำงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วม ชุมชนที่อยู่ในพรุ กับโครงการพัฒนาของรัฐ อาทิ การระบายน้ำออกจากพรุเพื่อใช้ที่ดินทำการเกษตร การสร้างประตูรกั้นน้ำและโครงข่ายคลองระบายน้ำ การจัดสรรที่ดินส่วนรวมให้เป็นของปัจเจกบุคคล เป็นต้น จนนำมาสู่ความพยายามแสวงหากลไกการทำงานร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 มีเวทีเล็ก ๆ กลางเมืองปัตตานี เวทีเสวนาสาธารณะ ชุมชนร่วมรัฐสู่การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน พูดคุยรายละเอียดสำคัญบางประการที่อยากให้ร่วมกันฟังด้วย

ผศ. นุกูล รัตนดากุล นายกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เล่าว่า ลุ่มน้ำสายบุรีไหลผ่านของชีวิตของผู้คน 3 จังหวัด เริ่มต้นจากสุขคีรี ไหลผ่านอ.รามัน จ.ยะลา และมีเรื่องราวมากมายที่ผ่านคำบอกเล่าของคน สิ่งที่น่าสนใจคือชาวบ้านที่หากินอยู่กับพรุถึงแม้จะไม่ได้เรียนหนังสือก็สามารถเข้าใจความสัมพันธ์เชิงลึกของนิเวศวิทยาที่ลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ

พรุลานควายในพื้นที่ 7 พันไร่ มีชื่อและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จารึกเอาไว้ เมื่อก่อนพรุลานควายมีความเป็นเกาะและมีการสร้างข้อตกลงในการดูแลทรัพยากรเหล่านี้เอาไว้ แต่แผนที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแผนที่ทางภูมิศาสตร์แต่มันอยู่ในความคิดของผู้คน สิ่งที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้คือเจตจำนงค์ของการรักษาความบริสุทธิ์ของลุ่มน้ำสายบุรีเอาไว้ จนล่าสุดด้วยกลไกคือ วงน้ำชาและสภาพรุ จนที่สุดรวมตัวกันเป็น “สภาเครือองค์กรชุมชนรักพรุลานควาย”

อาหามะ ดอเลาะ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา กล่าวว่า ป่าพรุคิดเป็น 6% ของที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย หรือพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการแบ่งระดับความสำคัญ 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ ระดับนานาชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ สำหรับภาคใต้มีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ได้แก่ พรุโต๊ะแดง ทะเลน้อย จ.พัทลุง ส่วนพรุลานควายยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำทั้ง 3 ระดับของประเทศไทย

พื้นที่พรุลานควาย ณ ปัจจุบันมีนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องงบลงทุนมีโครงการที่ชลประทานและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ขอจัดสรรงบในการขุดลอกลำน้ำ ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ประจำถิ่น ต้นไม้ใหญ่หายไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลำน้ำ ควายที่เดิมมีถึงหมื่นตัวก็ลดลงเหลือประมาณ 2 พันตัว

“เครือข่ายทสม. เขามักจะบอกว่าก่อนขุกลอกต้นไม้ต่าง ๆ ช่วยซับน้ำป่า น้ำหลากแต่พอขุดลอกให้ลึกขึ้น เมื่อไม่มีอะไรกั้นความเร็วของน้ำก็จะหายไป ไม่มีที่เก็บกัก รวมถึงโครงการที่ภาครัฐไปขุดสระก็ไม่รู้ว่ามีชาวบ้านไปใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน” 

ภาพจากโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูพรุลานควายอย่างยั่งยืน

อ.เกื้อ ตั้งข้อสังเกตว่า เรามักจะสัมพันธ์ได้กับสิ่งที่เรารู้จักและใช้ประโยชน์ แต่สำหรับในระบบธรรมชาติ มันมีสิ่งที่ยังมีบทบาทนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นพื้นที่พรุจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคนที่มองเห็นประโยชน์มากกว่าไม่มีประโยชน์ ช่วงน้ำหลากอาจเห็นเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่วันหนึ่งอาจจะเห็นเป็นพื้นที่โล่งว่างเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งๆ เป็นความสัมพันธ์ของระบบที่นิเวศที่ทำให้ระบบอื่น ๆ ยังคงอยู่ต่อไป หรือเป็นจุดที่ทำให้การใช้ประโยชน์ของมนุษย์อยู่ได้ยาวนานขึ้น

ในช่วงหนึ่งก็มีความพยายามจะตีค่าทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อให้คนจับต้องได้ เช่น การเปลี่ยนป่าชายเลนให้เป็นนากุ้ง ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการปล่อยคงสภาพให้เป็นป่าชายเลน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำถึง 3 เท่า ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือในการอธิบายคุณค่ามากกว่าที่สิ่งที่จับต้องได้

โครงการพัฒนาเพราะมันยังมีโครงการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่มองเฉพาะคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่ได้มองมิติอื่น เช่น การคงสภาพเป็นพรุ วิถีชีวิตของคนที่อยู่กับธรรมชาติและสร้างภูมิปัญญา ระบบอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ระบบแต่ก็ไม่ถูกตีค่าออกมาเป็นจีดีพีที่อาจวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นการถ้าการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์จีดีพี โครงการเหล่านี้คือสิ่งที่จะคุกคามระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแน่นอน

พรุลานควายกับความหมายของชุมชนคนรอบพรุ

มะดอ จากโต๊ะกรัง เมื่อก่อนรอบพรุมีต้นไม้ใหญ่ ทุ่งกว้าง มีหญ้าจำนวนมาก ปลาก็เยอะ ตอนนี้พื้นที่แคบลงการทำมาหากินก็ลำบากขึ้น ชาวบ้านทุกคนต้องการให้ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์ขึ้น จำนวนปลาจะได้เพิ่ม ชาวบ้านกลุ่มสตรีก็จะมีอาชีพเสริม ส่วนด้านปศุสัตว์ ก็อยากให้มีสัตว์คนละ 2-5 ตัว ถ้ามากกว่าจะไม่มีแหล่งอาหารเลี้ยงอีก

สีตีพาตีเม๊าะ มิงซานา ประธานกลุ่มสตรีบ้านโต๊ะพราน ถ้าพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องมือได้ กลุ่มสตรีก็จะมีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติมจากบูดู ปลาส้ม ปลาแดดเดียว เช่น การแปรรูปผักตบชวา กลุ่มสตรีมีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องประมง ปลาลดลง ปลาหายากมีน้อย หากกรมประมงจะมาสนับสนุนพันธุ์ปลาก็ควรศึกษาให้ชัดเจนว่าปลาพันธุ์ไหนจึงจะเหมาะสมกับนิเวศของพรุลานควาย และควบคุมอุปกรณ์การจับปลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้อยากให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าให้เป็นของฝากของที่ระลึก อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยแนะนำ

“ปลาตะเพียนกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในพรุ มาจากโครงการของรัฐที่ต้องการปล่อยพันธุ์ปลาลงไปแต่ก็ไปรบกวนนิเวศของสัตว์น้ำเดิม”

จุดสีส้มแสดงครัวเรือนรอบพรุลานควาย ที่มา : ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) พื้นที่พรุลานควาย

ด้านอับดุลเลาะ ดอลี ตัวแทนเยาวชนเครือข่ายพรุลานควาย ย้ำว่า พรุมีความจำเป็นมากต่อการทำมาหากินของคนที่อาศัยอยู่รอบพรุ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ หาปลา ตัวผมเองก็เคยทำงานที่กรุงเทพฯ เราจะเห็นได้เลยว่าเยาวชนในชุมชนมีน้อยลง เพราะไม่มีงานทำ ตัวผมเองก็รวมกลุ่มเยาวชนมาเลี้ยงปลาในพรุ

เยาวชนอยากร่วมงานกับรัฐ เพราะยังไม่มีโอกาสในการทำงานร่วมกัน จากการพูดคุยของเยาวชนในวงน้ำชาที่ผ่านมา อยากผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ อยากสร้างความร่วมมือในการทำงานกับรัฐ สร้างถนนที่ดีแข็งแรง ทนทานต่อน้ำท่วม ปัจจุบันมีการก่อสร้างหลายครั้ง สร้างใหม่ทุก ๆ ปี

สิ่งที่อยากจะทำควรการรวบรวมข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนเดิม และจัดทำแผนที่พรุลานควาย ซึ่งแต่ละที่จะมีชื่อเฉพาะให้คนในพื้นที่ได้ร่วมเรียนรู้ นอกจากนี้ควรต้องมีการปรึกษาหารือ ศึกษาผลกระทบจากการสร้าง โครงการรอบพรุ ก่อนดำเนินการ

โจทย์ใหม่กับความท้าทายในการจัดการพรุที่ต้องร่วมกันคิดต่อ

ผศ. ดร. สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี พรุลานควายอยู่ระหว่างจ.ปัตตานีกับจ.ยะลา กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลเรื่องเรื่องน้ำเสีย และสารเคมีทางการเกษตรจากปุ๋ยที่อาจจะไหลลงมาตามเส้นทางน้ำ จากภาพจะเห็นเส้นทางการไหลของน้ำมาลงที่พรุ จนอาจจะกลายเป็นแหล่งสะสมน้ำเสีย

ภาพแสดงเส้นทางน้ำไหลลงพรุ ที่มา : ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) พื้นที่พรุลานควาย

ลม้าย มานะการ เลขาธิการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เงื่อนไขสำคัญที่เป็นอุปสรรคของการทำงานของคนในพื้นที่คือมีความไม่เข้าใจ ความขัดแย้งของพี่น้องที่อยู่รอบพรุและไม่รู้จะทำอะไร มีทางออกตรงไหน อาจมาจากโครงการพัฒนาบางส่วนที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อจัดการพรุในวิถีต่าง ๆ งานหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาลุ่มน้ำสมาคมสายบุรีก็ปรับการทำงานไปที่การจัดการร่วม co-management จากปีครึ่งที่ผ่านมาก็เห็นฐานงานของการเชื่อมชาวบ้านกับรัฐให้เข้าใจและเติมเต็มการทำงานกันมากขึ้น โดยมีข้อมูลที่ชุมชนทำเป็นฐานในการพัฒนา

สำหรับข้อเสนอของการประชุมกลุ่มย่อย ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. กลุ่มประมงและการจัดการน้ำ 2. ที่ดินและการเกษตร 3.ปศุสัตว์ 4. การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 5. อาชีพของกลุ่มสตรี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ