“เราเคยเรียกร้องมานานแล้วเรื่องการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข นั่นคือต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการกันเอง ให้ อบต. อบจ. ในแต่ละพื้นที่กระจายอำนาจสู่ชุมชน หมายถึงกระจายอำนาจจริงๆ นะ ไม่ใช่กระจายแล้วยังเอากระทรวงต่างๆ ลงไปคุม มันต้องกระจายให้ชุมชนนั้นๆ จัดการชีวิตของเขาเองโดยการจัดการทรัพยากร”
เข้มข้นและตรงไปตรงมาในการตอบคำถาม ตามแบบฉบับผู้หญิงที่คลุกคลีกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมากว่า 28 ปี
จากแม่ค้าขายปลาบ้านวังสะแบงใต้ ตำบลหนองแสงใหญ่ อำเภอโขงเจียม ในจังหวัดอุบลราชธานี สมปอง เวียงจันทร์ เคยพูดไว้ว่า เธอต้องล้มละลายเพราะโครงการรัฐอย่างเขื่อนปากมูลที่มีการระเบิดหินสร้างช่วงปี 2534 – 2535 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อคนจนอย่างเต็มตัว สู่การรวมกลุ่มกันครั้งแรกของ 7 เครือข่ายเพื่อทำเป็นสัญญาประชาคมในนาม ‘สมัชชาคนจน’ในปี 2538
ปัจจุบัน สมปองในวัย 65 ปี ยังทำงานในเรื่องเหล่านี้อยู่
คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะพูดว่านี่คือเสียงของตัวจริง ที่คนรักจะศึกษาความเป็นไปในสังคมไทยจำต้องฟัง
เราคุยกับเธอว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ภาคประชาชนในฝัน คนต่างจังหวัดโง่จริงไหม กระทั่งเรื่องที่ไม่คุยไม่ได้ อย่างปัญหาคนจนยุคนี้ แน่นอน รวมไปถึงทัศนะเกี่ยวกับนายกฯ รัฐมนตรีคนล่าสุด
นายกฯ ประยุทธ์พูดทุกวันศุกร์ได้ดูไหม สนุกหรือเปล่า
ถ้าถามว่าสนุกไหม ภาษาบ้านเราเรียกว่า เข้าถึงยาก อีกอย่าง เวลาพวกแม่เข้ามาเพื่อขอคุยกับท่าน มากันหลายรอบ เขาบอกว่าท่านไม่มีเวลา แล้วอย่างนี้มันจะแก้ไขอะไรได้
แสดงว่าเป็นแฟนรายการนายกฯ
โอ๊ย แน่นอนที่สุด ดูเพื่อให้รู้ว่าบ้านเมืองจะไปต่อยังไง พี่น้องที่เป็นข่าวหรือเป็นปัญหาในแต่ละชุมชนได้ถูกพูดถึงบ้างไหมนายกฯ จะแก้ปัญหาให้ไหม ดูเพื่อตามเรื่อง ทั้งพี่น้องที่ภูเก็ต เชียงใหม่ แต่ดูแล้วก็พบว่ามันไม่มี ต้องโทรตามข่าวกันเองว่าพี่น้องเป็นไง อย่างที่สุราษฎร์ เขาก็บอกว่ามีคนโดนยิงตายไปอีกหนึ่ง นี่มันคือการแก้หรือ เขาห้ามไม่ให้ชุมนุมเรียกร้อง บอกว่าเดี๋ยวรัฐแก้ปัญหาให้ แต่รัฐไม่ได้ช่วยอะไรเลย
นายกฯ บอกตลอดว่าไม่มีเรื่องไหนยาก ทุกปัญหาแก้ได้หมด
เห็นเขาแก้อะไรหรือยังล่ะ อย่างกลุ่มพีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เกิดจากการรวมตัวกันของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มผู้เดือดร้อนทั่วประเทศ ทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน คดีความต่างๆ ผลกระทบจากโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ และกลุ่มชาติพันธุ์) เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกฯ มีปัญหาเป็นร้อยเรื่อง ยังไม่เห็นสำเร็จสักเรื่องเลย
ที่รออยู่นี่คือเรื่องพี่น้องในลำพูนจะไปซื้อที่ดินของนายทุนที่เชียงใหม่ 2 ที่ โฉนดชุมชนที่ว่ายังไม่เห็นเกิด ทั้งๆ ที่เงินก็เป็นเงินยืม ตอนแรกยังไม่ทันได้ตั้งแผนกเงินคงคลังของสำนักงานปฏิรูป ให้โอนเงินเข้าไปให้ คสช. แล้ว คสช. จะไปซื้อที่ดินให้พี่น้อง ถึงเวลานี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
สู้มา 28 ปี ชอบนายกฯ คนไหนมากที่สุด
เห็นมาหลายคน ที่พูดไม่ได้เข้าข้างใคร แต่คนที่พยายามจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ท่านชวลิต ยงใจยุทธ แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้มาก ถูกกดดันให้ลาออก เรารู้สึกว่าเขาจริงใจ พูดจริง ทำจริง ลงพื้นที่จริง เราไปเรียกร้อง ท่านก็มาจัดการเลย แต่ก็เกิดการยุบสภา นี่คือความเสียดาย เพราะกำลังจะไปด้วยดี ตอนนั้นพี่น้องที่เขื่อนสิรินธรทำสำเร็จ ได้ค่าชดเชย พอมายุคอภิสิทธิ์ ก็เหมือนว่าจะทำต่อ นอกนั้นยังไม่เห็น พูดแต่ว่าผมเพิ่งมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ ยังไม่รู้เรื่อง ขอเวลาดูก่อนว่าปัญหามันค้างคาอยู่ยังไง ขอศึกษาดูข้อมูลก่อน
เหมือนที่สมัชชาคนจนเอง พีมูฟเอง พูดเสมอว่า พอเปลี่ยนรัฐบาล ชาวบ้านก็ต้องมานับหนึ่งใหม่?
ใช่ค่ะ ทุกกรณีต้องมานับหนึ่งใหม่หมดเลย ถ้าจะพูดถึงพี่น้องเขื่อนปากมูล เอกสารที่เอามายื่นรัฐบาลคงจะเต็มรถสิบล้อ 14 นายกฯ 17 รัฐบาล ปัจจุบันเราหอบเอกสารไปยื่นถึงที่ทำการกองทัพ ยื่นเสร็จ แถลงข่าว เรากลับบ้านดูโทรทัศน์ ไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นแล้วยังห้ามไม่ให้เดินขบวนอีก ต้องเห็นใจเราบ้าง ไม่มีใครอยากออกมาเดินขบวนหรอก
พูดถึงการห้ามเดินขบวน กับร่าง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ที่นักวิชาการออกมาวิพากษ์ว่าจะเป็นตัวหยุดยั้งพัฒนาการและการเติบโตของภาคประชาชน เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า ภาคประชาชนมีการเติบโตอย่างไร
เรื่องนี้แหละที่เรากลัวมากที่สุด ตั้งแต่ที่เคลื่อนไหวกันมายาวนานตั้งแต่เรื่องเขื่อนปากมูล ท่ามกลางผลกระทบที่ได้รับ เราไม่มีเสียงที่จะไปเรียกร้องได้ พูดง่ายๆ ว่าแค่พูดในพื้นที่มันตอบรับเราไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาระดับนโยบาย ถ้าออกกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยิ่งทำให้เป็นปัญหาหนักเลย คนตัวเล็กตัวน้อยเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ยากมากกว่าเดิม ทั้งๆ ที่การเดินทางออกมาจากต่างจังหวัดเพื่อเรียกร้องก็ยากอยู่แล้ว
เรื่องนี้ปัญหามันคือการรวมศูนย์อำนาจ ถ้าคุณสกัดกั้นไม่ให้คนออกมาเคลื่อนไหว แล้วถามว่าที่ผ่านมาคุณทำอะไรให้เขาเดือดร้อนบ้าง ถ้าคุณคืนอำนาจให้เขาจัดการตนเอง มีงบประมาณให้เขาจัดการชุมชนเอง นั่นคุณถึงมีสิทธิ์ออกกฎหมายดังกล่าว แต่เพื่อคุ้มครองการชุมนุม ไม่ใช่ห้าม ถ้าให้เราจัดการตนเอง เราก็ไม่ต้องไปเคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรถึงกรุงเทพฯ ไม่มีใครอยากไปหรอก ออกไปเคลื่อนไหวก็โดนคดี โดนข่มขู่ในพื้นที่
แต่นี่เราโดนกระทำ มีผลกระทบกับชีวิต คิดดูว่าจะอยู่ได้ไหม มันเหมือนกับไฟไหม้บ้าน ถ้าบ้านคุณไม่เคยโดนไฟไหม้ คุณไม่เข้าใจหรอกว่า ความทุกข์ยากมันเป็นยังไง ทำไมถึงออกมาเรียกร้อง พูดอยู่ที่บ้านก็ไม่มีใครได้ยิน มันต้องขยับเข้าใกล้ศูนย์รวมอำนาจ นั่นคือเป้าหมายของภาคประชาชน แล้วพอกลุ่มอื่นดูข่าว เขาเห็น เขาก็ออกมาบ้าง อย่าลืมว่าเมืองไทยมีเป็นหมื่นๆ ปัญหา แต่เขาไม่ได้ออกมาแสดงตัวเท่านั้น
เราก็พยายามพูดให้พี่น้องฟังเรื่องการเติบโตภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว เลยมีกลุ่มอื่นขยับขึ้นมาเป็นสมัชชาคนจน เติบโตขึ้นจากภาคอีสาน ไปสู่ภาคเหนือ ภาคใต้ จนถึงวันนี้ที่เรามารวมกันเป็นพีมูฟ เป็นการรวมปัญหาเพื่อต่อรองกับรัฐบาลได้ง่ายขึ้น
ถ้ามีกฎหมายออกมาห้ามจริงๆ มันดูเหมือนจะจบ แต่อย่างพวกที่โดนผลกระทบอยู่มันจบไม่ได้ กฎหมายมันไม่ได้ตอบสนอง ความจริงคือพวกเขายังต้องอยู่ในชุมชนนั้นๆ และมีความเดือดร้อน คุณจะออกกฎหมายหรือปฏิรูปอะไร ถ้าเขาไม่มีส่วนร่วมในการปฏิรูป เขาก็จะเคลื่อนไหวกันเหมือนเดิม คุณออกกฎหมายไปเขาก็ไม่กลัวหรอก
ถ้าคุณจริงใจ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนจริงๆ ชาวบ้านมาน่าจะยิ่งดีใจด้วยซ้ำไม่ใช่หรือ ชาวบ้านมีปัญหาอะไร เขามาหา คุณก็รับเรื่อง คุยกับชาวบ้านให้จบไป มันก็ไม่มีการชุมนุมเรียกร้องใดๆ ถ้าจริงใจและไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังนะ ที่ผ่านมันเหมือนมีอะไรอยู่เบื้องหลังรัฐบาล ซึ่งประเด็นนี้เราตั้งคำถามกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าประชาชนเดือดร้อน คิดไหมว่าเขาจะออก พ.ร.บ. ตัวนี้มาเพื่ออะไร
แน่นอนว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ในการสกัดกั้นกลุ่มคนเพื่อจะเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรมากมายที่มีอยู่ในประเทศไทย เป็นการ สกัดกั้นไม่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยออกมาเรียกร้อง นี่คือปัญหา เราก็จะมาบอกต่อสังคมว่าเราถูกกระทำ เขามาขุดหลังบ้านเรา มาสร้างเขื่อนบ้านเรา เราได้รับผลกระทบ ทำมาหากินไม่ได้ ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาสกัดกั้นการเคลื่อนไหว คล้ายกับการตัดสิทธิ์ของชุมชน นี่หรือการพัฒนา ถ้าคิดพัฒนาจริงๆ คุณต้องพัฒนาคน ไม่ใช่มาออกกฎหมายนั่นนี่ข่มขู่ประชาชน มันต้องดูคนเป็นตัวตั้ง
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นคืออะไร
เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ สำคัญมาก เราทำมาหากินเอง ถ้าคนกลุ่มนี้ทำมาหากินเองแล้วยังถูกสกัดกั้น รวมถึงแย่งชิงสิทธิ์ เขาก็ไม่มีโอกาสบอกเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนั้นมันคือประเทศเผด็จการชัดๆ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ออกมาเรียกร้องอะไรเลย ไม่เรียกว่าเผด็จการแล้วจะเรียกว่าอะไร เพราะทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ หรือแม้แต่นายทุนในพื้นที่เองก็ถูกกระทำ หนึ่งคือขับไล่ สองคือจับติดคุก ถามว่าใครถูกจับติดคุกมากที่สุดก็คือคนทุกข์คนยาก เพราะไม่มีหลักประกันก็ต้องยอมเข้าคุก นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนปัจจุบันนี้
ถ้าไม่อยากมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ กันอีกแล้ว มันมีวิธีไหม
มี… เราเคยเรียกร้องมานานแล้วเรื่องการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข นั่นคือต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการกันเอง ให้ อบต. อบจ. ในแต่ละพื้นที่กระจายอำนาจสู่ชุมชน หมายถึงกระจายอำนาจจริงๆ นะ ไม่ใช่กระจายแล้วยังเอากระทรวงต่างๆ ลงไปคุม มันต้องกระจายให้ชุมชนนั้นๆ จัดการชีวิตของเขาเองโดยการจัดการทรัพยากร
ยกตัวอย่าง ชุมชนหนึ่งแม่น้ำอย่างสวยงามที่คนในชุมชนอยากใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงาน นายทุนกลุ่มไหนอยากร่วมลงทุนก็ไปถามว่าชาวบ้านเห็นด้วยไหม ถ้าชุมชนแถวนั้นไม่เห็นด้วยคุณก็สร้างไม่ได้ มันต้องคืนอำนาจให้เขาไปจัดการของเขาเอง เพราะยังไงเขา
ก็คือคนไทย เป็นราษฎรในประเทศนี้ ลูกเต้าเขาก็เป็นตำรวจทหารทำหน้าที่ปกป้องประเทศไทยเหมือนกัน แม้แต่ภาษีอากรเขาก็จ่ายให้รัฐบาลตลอดมา ดังนั้น เขาก็มีสิทธิ์ในการทำงานร่วมกับประเทศไทย
หลายคนบอกว่าการรวบอำนาจไว้ทำให้บ้านเมืองสงบดี
ถามว่าการรวบอำนาจไว้ในมือของคนไม่กี่คน หากมีเรื่องของผลประโยชน์ ใครจะรู้ว่ามีอะไรหรือใครอยู่เบื้องหลัง ถ้าคุณจริงใจ ก็เปิดเผยสู่สาธารณะมันจะเสียหายอะไร ในฐานะที่เป็นคนไทยที่เดือดร้อนเรื่องเขื่อนปากมูลอยู่ ดิฉันบอกว่าให้เปิดเขื่อนปากมูลเพื่อให้ปลาเข้ามา ชุมชนจะได้หากินเองตามธรรมชาติ แต่คนบางส่วนของประเทศอาจมองว่าพวกเราเป็นคนส่วนน้อยได้รับผลกระทบ คุณมองแบบนั้นไม่ได้ มันไม่เป็นธรรมกับเรา เราเป็นผู้เสียสละพื้นที่ให้สร้างเขื่อนผลิตพลังงาน ถ้ามันคุ้มทุนเราก็ไม่ว่า เงินภาษีอากรของเราก็ร่วมทุนทั้งนั้น นี่คือปัญหาที่เกิดกับพวกเรามาตลอด
ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลจากการรัฐประหารเท่านั้นใช่ไหม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องกระจายอำนาจ
การรวมศูนย์อำนาจมันคืออำนาจขนาดใหญ่ ถ้าคนเข้าไม่ถึงมันก็ยาก เข้าไม่ถึงยังไง พวกเราอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ กว่าจะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ 700 – 800 กิโลเมตร ชาวบ้านอย่างพวกเรา ถ้าคนไม่กล้าตายจริงๆ ไม่มีใครเข้ามาหรอก เว้นแต่พวกที่มีปัญหาหนักมาก ไฟไหม้บ้าน โดนไล่ที่ หรือโดนกระทำรุนแรงจนทนไม่ไหวถึงได้มา มีอีกเป็นหมื่นๆ ปัญหาที่รัฐไม่ได้ตรวจสอบให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ฉะนั้น การออก พ.ร.บ. ชุมนุม คือการปิดกั้นอิสระของชาวบ้าน
วาดภาพความเข้มแข็งของภาคประชาชนไว้อย่างไร
หนึ่งคือ ต้องปล่อยให้ทำมาหากินตามธรรมชาติ เปิดโอกาสให้เขามีเสรีภาพในชุมชนนั้นๆ งบประมาณกระจายลงพื้นที่ให้บริหารจัดการกันเอง นั่นคือความเข้มแข็ง แล้วจะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ตำบลเรามี 9 หมู่บ้าน งบประมาณลงไปถึงพื้นที่มีทั้งหมดเท่าไหร่ ใครจะนำไปใช้ทำอะไร เป็นเงินเท่าไหร่ มันสามารถตรวจสอบกันในพื้นที่ได้เลย แต่ถ้าเป็นงบประมาณของรัฐ มันรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วใครจะมาตรวจสอบล่ะ ไม่รู้ว่าไปสัมปทานใครมา ใครจ้างมาก็ไม่รู้ จะไปตามหาตัวผู้ทำโครงการยากมาก ถ้ามีการกระจายอำนาจลงมาให้ชุมชนทำกันเอง จะรู้หมดเลยว่าใครทำอะไร
เวลามีคนบอกว่าไม่ค่อยอยากให้งบคนต่างจังหวัด เพราะคนต่างจังหวัดไม่ค่อยมีความรู้ ได้ยินแบบนี้รู้สึกอย่างไร
ถามว่าแล้วคนทำงานในกรุงเทพฯ ใช่คนต่างจังหวัดไหม เขาเก่งนะ เขาส่งลูกไปเรียน ส่วนใหญ่คนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คนต่างจังหวัดทั้งนั้น ถ้ามีงานในชุมชนให้ทำ ทำไมเขาจะไม่กลับบ้านล่ะ ลูกหลานจะได้มีงานทำ พ่อแม่ลูกจะได้อยู่ใกล้กัน ชุมชนมีความเข้มแข็ง คนที่มีความสามารถก็กระจายอยู่ตามชุมชน อันนี้ไม่รู้เลยว่าลูกใครไปยังไงมายังไง มาทำงานกรุงเทพฯ หมด มาอยู่ที่จุดรวมศูนย์อำนาจหมด แม้แต่กรรมกรและแรงงาน ถ้ามีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน มันก็เกิดการจัดจ้างในชุมชน งานในชุมชนมีมากขึ้น ช่วยฟื้นคืนความเป็นชุมชนเก่าๆ ที่สูญหายไปให้กลับมาเข้มแข็งขึ้น
คิดว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ออกมาเพื่อจัดการเฉพาะกลุ่มการเมืองหรือเปล่า
ไม่… ออกมาสกัดกั้นทุกกลุ่มเลย กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยยิ่งไม่มีโอกาส เราไม่โทษฝ่ายการเมืองหรอก รัฐบาลที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้มองถึงคนทุกกลุ่ม พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือคนระดับรากหญ้า คนชายชอบที่ไม่ได้มีโอกาสแสดงตัวยังคงถูกกระทำอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ไม่มีโอกาสได้พูดถึงปัญหาที่แท้จริง
หมายความว่าถ้าดูตามนโยบายคือออกกฎหมายมาเพื่อจัดการกับคนกลุ่มน้อย?
อันนี้เถียงได้เลย เพราะมันไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แต่เป็นคนมากมายในประเทศไทย ที่ยังขาดโอกาสในการแสดงตัวให้สังคมเห็นเท่านั้นเอง พอเขาเห็นกลุ่มอื่นออกมาเคลื่อนไหว ออกมาเรียกร้องได้ เขาจะนอนเฉยอยู่ทำไมล่ะ เขาก็ต้องมา ถ้ามาแล้วไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าไม่ปิดกั้นเขา ถ้าไม่มีเบื้องหลัง
แต่รัฐบาลชุดนี้บอกว่า ถ้าเดือดร้อนจริงๆ ก็ให้ไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์อะไรก็ได้ไม่ใช่หรือ
พูดตั้งแต่ยึดอำนาจวันแรก มาถึงวันนี้แล้วมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง บอกว่าจะตั้งกรรมการ จนมาถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา บอกว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน มันได้ไหมล่ะ นั่นคือปัญหา ถ้าท่านบอกว่าจะตั้งกรรมการ ให้พี่น้องกลับไปรออยู่ที่บ้าน ผ่านไป
7 วัน มีรายชื่อกรรมการส่งมา ถ้าทำแบบนี้ได้ ใครมันจะอยากขยันเดินทางมาชุมนุม แต่นี่มันผ่านไปกี่เดือนแล้วยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันหมายความว่ายังไง เราก็ต้องติดตามสิ ว่าเรื่องไปถึงไหน รัฐบาลจะเอายังไง พี่น้องทางเหนือยังถูกคุมคามเรื่องที่ดินทำกินอยู่
พี่น้องที่ภูเก็ตชาวหาดราไวย์ยังถูกกระทำอยู่ พี่น้องที่สุราษฎร์ฯ ยังถูกยิงอยู่
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคุณไม่แก้ ถ้าคุณไม่อยากให้เขามาชุมนุม ถ้าทหารสามารถจัดการเรื่องนี้ได้นะ เขาสามารถทำได้ง่ายกว่านักการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะว่าคุณคุมนักลงทุนได้ เพราะนักการเมืองที่ผ่านมาเข้ากับนายทุนใช่ไหม ถ้าทหารเป็นกลางจริง ไม่ลำเอียง ไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะ แต่นี่เรายังไม่เชื่อเลยว่าคุณจะเป็นกลางได้ กรณีเขื่อนปากมูลนี่เห็นชัด ตั้งกรรมการเป็นเดือนยังไม่มีความคืบหน้าเลย ถามว่าเขาอยู่ได้ไหม เกิดวันหนึ่งมีการปิดเขื่อน ไม่มีปลาให้เขาทำมาหากิน ยังไงชาวบ้านก็มาแน่นอน มาบอกให้เปิดเขื่อน เขาจะหาปลา
ดิฉันเรียกร้องเกี่ยวกับเขื่อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนมา 28 ปี เห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมากมาย รู้ว่าหลายมุมของประเทศใครมีอะไรอยู่ในกับดักการเมือง ใครมีเบื้องหลังอยู่กับผู้บริหารระดับประเทศ ถ้าคุณจริงใจมาเป็นรัฐบาลต้องมองให้รอบด้าน ต้องมีตาสับปะรด มองให้รอบทิศทางว่าประชาชนเดือดร้อนอยู่ตรงไหน ไปช่วยเหลือเขา ไหนบอกว่าจะคืนความสุขให้พี่น้องประชาชน มันไม่สุขแล้ว ตอนนี้มันทุกข์อย่างหนัก ยิ่งเดี๋ยวนี้พี่น้องเหมืองทองคำกำลังมีปัญหาอย่างแรง
อันนี้พูดถึงภาพรวม พี่น้องปากมูลไม่ได้ทำมาหากิน อพยพเข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ กี่พันชีวิต นี่ไม่ได้พูดเกินจริง ผลสุดท้ายคนก็แออัดอยู่ที่เมืองหลวง แทนที่จะเป็นเมืองสวรรค์อย่างที่เคยพูดกันสมัยก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นเมืองสกปรก อากาศไม่ดี น้ำเน่าเหม็น ชาวบ้านก็อยู่บ้านเก่าๆ ริมคลอง เพราะค่าเช่าไม่สูง อยู่ด้วยกัน 20 – 30 คน อัดกันไป อยู่กันอย่างกรรมกร ไม่มีห้องหรูๆ หรอก
พูดเรื่องนี้มา 28 ปี ถามจริงๆ ว่ารู้สึกอย่างไร
ยิ่งพูดก็ยิ่งสงสาร ทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเองแล้ว เพราะเราเห็นปัญหารอบข้าง ปัญหาทั่วประเทศ เพราะไปมาหมดทุกจังหวัด เห็นปัญหาคนจน ยกตัวอย่างพี่น้องคนหลังเขื่อนภูมิพล ถูกกระทำจากการสร้างเขื่อนสมัยก่อน เขาก็ไม่ได้สิทธิ์ที่จะครอบครองที่ดินตรงนั้นเลย พอเขาจะมาตั้งสถานีวิทยุชุมชนเพื่อใช้ภาษาถิ่น ก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้ทำ นี่มันเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะได้สอนลูกหลานในภาษาเผ่าพันธุ์ กลับถูกห้ามด้วยเหตุผลของเจ้าหน้าที่ว่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็คนในพื้นที่ฟังกันรู้เรื่องนี่ เขาอยากสื่อสารพูดคุยกัน ลองนึกดูสิว่า ทั่วประเทศไทยมีปัญหาแบบนี้
รัฐบาลควรทำอย่างไรในเวลานี้
ทางเดียวคือปฏิรูปให้ชัดเจน ถ้าคิดจะปฏิรูป ปฏิรูปคืออะไร คือการคืนธรรมชาติให้เขาทำมาหากิน ให้ชาวบ้านหากินเอง ดีกว่าการเอาถุงยังชีพไปให้ปีละครั้ง วันหนึ่งกิน 3 มื้อ พวกเขาก็ต้องหาได้พอทั้ง 3 มื้อ ต้องมีทรัพยากรอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าคุณไปสร้างเขื่อนในบ้านเขา นั่นคือการทำลายวิถีชีวิต คุณจะแก้ปัญหาไหวไหม
คล้ายๆ กับว่าการปฏิรูปที่พูดถึงกันอยู่ตอนนี้คือการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง?
เราสนใจความเป็นอยู่ของชุมชน อยากให้เขามีชีวิตที่ดีเท่าๆ กัน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เกิดสังคมเสมอภาคกัน ไม่ใช่ว่าวันนี้ถูกขับไล่ อีกวันโดนหมายจับ การอยู่อย่างหวาดระแวงคือความสั่นคลอนของประเทศชาติ ถ้าประชาชนในประเทศไม่มีความมั่นคง ประเทศก็ไม่มีความมั่นคงเหมือนกัน ออกหมายจับประชาชนตะพึดตะพืออย่างนี้ไม่ได้ ทำอย่างกับมีสงคราม เกิดการล่าอาณานิคม กลุ่มนายทุนไล่คนในชุมชนออกเพื่อเอาพื้นที่ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันใช่ไหมล่ะ ทำไมถึงไม่ให้เขาอยู่ตามเดิมแล้วทำเป็นพื้นที่การลงทุนร่วม
บางจุดเอาทหารเข้าไปข่มขู่ หรืออย่างที่ดินของพวกเรา 2,000 ไร่ มาเรียกร้องกับศูนย์ดำรงธรรม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็คิดว่าเขาคงไม่ได้ดำเนินการอะไร อันนี้คือการตั้งข้อสังเกต แต่เรื่องขับไล่ เรื่องถอดถอนคนนั้นคนนี้ ฟังแล้วรู้สึกว่ามันไม่เห็นตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติตรงไหน เอาแต่มาไล่บี้คู่กรณีอย่างชาวบ้าน ทำเหมือนกับมีปัญหากันมายาวนาน แล้วพอมีอำนาจก็ใช้อำนาจตรงนี้เพื่อทำร้าย ขับไล่กัน ตัดทอนกำลังกันตลอดเวลา
สถานการณ์เป็นแบบนี้จะทำอย่างไรต่อไป
ยังประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ ถ้ามันรุนแรงหรือถูกกระทำมากๆ เราก็จำเป็นต้องออกมาแสดงตัวให้เห็นว่ายังเดือดร้อน ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา แต่คุณบอกว่าคุณแก้ไปหลายปัญหาแล้ว คุณแก้ให้ใครล่ะ เราก็แค่จะมาบอกว่าปัญหาของเรายังไม่ได้รับการแก้
สถานการณ์สมัยรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหารต่างกันอย่างไร
ต่างมาก หนึ่ง… การเลือกตั้งชาวบ้านยังมีสิทธิ์เข้ามามีส่วนร่วม มีหลายเครือข่ายเข้าร่วม แต่นี่รัฐบาลทหารยึดอำนาจไปหมด ก็พูดอะไรไม่ได้ แต่เรายังเห็นคนหลายกลุ่มออกมาเดินขบวนหน้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็รู้สึกดี ได้เห็นความหลากหลาย ได้เห็นว่าพวกเขามาแสดงถึงปัญหาของตัวเอง อยากมีส่วนร่วมในการปฏิรูปยังไง เช่น อยากให้เก็บภาษีก้าวหน้าและภาษีที่ดิน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านทางเหนือ ใต้ อีสาน เสนอ แล้วก็เรื่องที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ให้เขามีสิทธิในการอยู่อาศัย ออกกฎหมายก็ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายก็ต้องกันงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนที่ไร้ที่ดิน ไร้ที่ทำกิน
มีอะไรอยากพูดกับ นายกฯ ไหม
คุณต้องเป็นกลาง ต้องฟังเสียงคนเล็กคนน้อย เพื่อนำมาบริหารประเทศให้มีความเข้มแข็งขึ้นในอนาคต แต่ตอนนี้ยังไม่มีความหวัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ตาม ถ้าทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมสักอย่างหนึ่ง เราถึงจะเริ่มมีความเชื่อมั่นได้