อยู่ดีมีแฮง: ห้องเรียนเถียงนา โดยอาสาคืนถิ่น อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

อยู่ดีมีแฮง: ห้องเรียนเถียงนา โดยอาสาคืนถิ่น อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

“อยากมีส่วนร่วมกับชุมชน ทำอย่างไรถึงจะสามารถที่จะเอาทั้งความสุขของเรา จากสิ่งที่เราชอบให้ขับเคลื่อนไปด้วยกันกับชุมชน”

แฮ็คส์ เยาวลักษณ์ บุญตา คนรุ่นใหม่กลับบ้าน อาสาคืนถิ่นรุ่นที่   จาก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อดีตสาวโรงงานที่เมื่อก่อนเคยทำงานโรงงานในเขตจังหวัดสระบุรีประมาณ 9 ปี และโรงงานในเขตจังหวัดสมุทรปราการอีก 3 ปี ซึ่งรวมทั้งหมดที่ทำงานในโรงงานมากกว่า 12 ปี ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นตัวเร่งให้กลับบ้านคือช่วงสถานการณ์โควิด สถานการณ์โควิดในช่วงแรก ๆ เป็นสถานการณ์ที่หนักหน่วง ถ้าหากคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าว ช่วงนั้นโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง กิจการห้างร้านต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก คนในเมืองใหญ่ขาดแคลดอาหารการกิน ผู้คนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว สถานการณ์เหล่าจึงเป็นตัวเร่งสำคัญให้ เยาวลักษณ์ บุญตา  ตัดสินใจกลับบ้านเพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าจะต้องตาย ขอไปตายที่บ้านเกิด เพราะรู้สึกอึดอัดและเสียดายเวลาน่าจะได้ทำประโยชน์อย่างอื่น และบวกกับความตั้งใจที่อยากจะกลับบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

  • จากสาวโรงงานสู่ครูอาสาสอน

แน่นอนว่าการกลับมาอยู่บ้านไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ต้องปรับตัวหลาย ๆ อย่าง และเริ่มจากอาชีพที่เป็นทั้งอาชีพและบททดสอบในแต่ละวันของคนกลับมาอยู่บ้าน คือการทำนา เผาถ่าน ปลูกผัก และเปิดร้านขนมเล็ก ๆ ที่เน้นขายออนไลน์ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า บ้านนอกBakery ซึ่งเน้นวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชนเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทางของการกลับมาอยู่บ้านอย่างจริงจัง

“มีโครงการจาก มอส.และได้มีโอกาสเข้าร่วม ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เลยมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะสามารถดึงเอาเด็กในชุมชนให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ เพราะอย่างน้อยพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์ เด็ก ๆ ก็จะได้ประโยชน์ด้วย”

  • ห้องเรียน เฮ็ด กิน เรียน เล่น

กิจกรรมห้องเรียนเถียงนาถูกจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-12.00 น. เป็นการรวมเอาเด็กน้อยในชุมเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน มาเล่น มาเรียนรู้ ไปด้วยกันกับเพื่อนๆ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในช่วงวันหยุด และให้เด็ก ๆ หันหน้าเข้าหากันวางโทรศัพท์ลงสัก 2-3 ชั่วโมง มีกิจกรรมให้เรียนรู้ต่าง ๆ เช่นเรียนรู้การทำขนม จากวัตถุดิบในท้องถิ่น กว่าจะมาเป็นอาหาร 1 จาน

วาดรูประบายสี ทำตุ๊กตาจากปูนปาสเตอร์ และงาน DIY

จำรองสถานการณ์ร่วมกันเป็นผู้ประกอบการวัยจิ๋ว ร้านเถียงนาคาเฟ่  

และมีกิจกรรมเสริมความรู้ต่าง ๆ อีกมากมาย

“ที่ให้เด็ก ๆ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมไม่ใช่ว่าเราเป็นคนสอนอย่างเดียว แต่บางครั้งเด็กก็เป็นคนสอนเรา  เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ กิจกรรมที่จัดขึ้นมาอยู่บนพื้นฐานของการ เฮ็ด กิน เรียน เล่น ไปในตัวให้เป็นธรรมชาติ นึกถึงตอนเราเป็นเด็กเราชอบทำกิจกรรมแบบไหน เราก็เพิ่มกิจกรรมแบบนั้นลงไป ถ้าเด็กในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ ถ้ามีเวลาว่าง 1-2 ชั่วโมง มาทำกิจกรรมร่วมกัน มาเล่นด้วยกัน น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์”

  • เพิ่มโอกาส สร้างการเรียนรู้

หัวใจสำคัญของการทำกิจกรรม คือต้องการให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้และพื้นที่เล่นในที่เดียวกัน และไม่ได้จำกัดเพียงแค่พื้นที่เดียว ทุกพื้นที่สามารถเล่นและเรียนรู้ไปด้วยกันได้ และไม่มีการแบ่งแยกมีความเท่าเทียมกันทุกคน สามารถมาเรียนรู้มาเล่นได้ และคงจะดีถ้ามีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มีมุมสำหรับผ่อนคลาย หรือมุมที่ได้มาเล่นด้วยกัน

ห้องเรียนสำหรับเด็ก ๆ อาจไม่ใช่แค่ห้องเรียนที่อยู่ตามโรงรียนเท่านั้น แต่ห้องเรียนที่ฝึกทักษะการใช้ชีวิตจริง คือห้องเรียนจากชุมชน ที่ฝึกฝน ออกแบบการเรียนรู้ และถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาให้คงอยู่

นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนของ เยาวลักษณ์ บุญตา แต่ก็ได้เห็นพลังสร้างสรรค์ ที่มีความปรารถนาอยากให้ชุมชนเข้มแข็ง และสิ่งสำคัญอยากให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้เรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว เพื่อสร้างพลังให้กับชุมชนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ