กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บ้านส้อง จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’ เตรียมจัดงานระดมทุนสร้างกองทุนให้เติบโตยั่งยืน 10 ก.พ.นี้

กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บ้านส้อง จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’ เตรียมจัดงานระดมทุนสร้างกองทุนให้เติบโตยั่งยืน 10 ก.พ.นี้

‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ คือการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน  เหมือนกิ้งกือที่มีขาจำนวนมาก  ทำให้เกิดพลัง  ในภาพเป็นการจัดงานเดิน-วิ่งเพื่อระดมทุนในปี 2563

สุราษฎร์ธานี /  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  จ.สุราษฎร์ธานี  ผู้คิดค้นนวัตกรรม  ‘ทฤษฎีกิ้งกือหลายขา’ ที่ดึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย  ทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นมาร่วมกันสนับสนุน  สร้างกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เติบโต มีสมาชิกกว่า 5 พันคน สามารถช่วยเหลือสมาชิกกองทุนและผู้ด้อยโอกาสได้อย่างทั่วถึง  เตรียมจัดงานใหญ่  10  ก.พ.นี้ เพื่อระดมการสนับสนุนกองทุนให้เติบโตยั่งยืน 

กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เป็นกองทุนที่ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา  เพื่อนำเงินที่สมาชิกสะสมร่วมกันอย่างน้อยวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  แล้วนำมาช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น  เช่น  เจ็บป่วย  เสียชีวิต  ประสบอุบัติเหตุ  อุบัติภัย  ทุนการศึกษา  ช่วยเหลือผู้ยากไร้  ฯลฯ  ปัจจุบันมีการจัดตั้งทั่วประเทศแล้วกว่า 5,900 กองทุน  สมาชิกรวมกันกว่า 6 ล้านคน  เงินกองทุนรวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ถือเป็น สวัสดิการภาคประชาชน’ ที่ชาวบ้าน  ชาวชุมชน  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร ฯลฯ ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานเอกชน  ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลช่วยเหลือกันเอง  โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนต่างก็มีส่วนร่วมสนับสนุน

ดังเช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง’  อ.เวียงสระ  จ.สุราษฎร์ธานี  ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการเชื่อมโยงการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างกองทุนให้เติบโตยั่งยืน โดยใช้ทฤษฎี ‘กิ้งกือหลายขา’ จนได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์  ตามแนวคิด จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์” ในปี 2563 (รับรางวัลในปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19)

2
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องมอบสิ่งของช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัย

‘ทฤษฎีกิ้งกือหลายขา’ สร้างกองทุนสวัสดิการเติบโต

สุวัฒน์  ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  เล่าความเป็นมาของกองทุนว่า         ในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้อง  มีทั้งหมด 18 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 17,000 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน  ปลูกเงาะ  ทุเรียน  มังคุด  ลองกอง  ยางพารา ฯลฯ  เมื่อหลายปีก่อนในพื้นที่มีปัญหายาเสพติดแพร่ระบาด  แกนนำในหมู่บ้านต่างๆ จึงร่วมกันจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังยาเสพติด  ต้องเสี่ยงภัย  แต่ไม่มีค่าตอบแทน  และไม่มีหลักประกันใดๆ

ในปี 2545 กลุ่มอาสาสมัครต่อต้านยาเสพติดตำบลบ้านส้องได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูกัน  มีสมาชิกเริ่มแรก 107 คน มีเงินกองทุนประมาณ 39,000 บาท  ต่อมาในปี 2553 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดและเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี  ได้สนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ขึ้นมา               มีวิสัยทัศน์  คือ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงประสานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน

3
สุวัฒน์  ดาวเรือง  ประธานกองทุนฯ

ด้านการบริหารจัดการกองทุน  มีคณะกรรมการกองทุนมาจากตัวแทนสมาชิกทั้ง 18 หมู่บ้าน  และคณะที่ปรึกษามาจากคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลบ้านส้อง ยึดหลักการทำงาน ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้เทคนิคการประสานสิบทิศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน’  ทำให้กองทุนฯ เติบโตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  โดยใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ เป็นแนวทาง  เพราะกิ้งกือมีหลายขา  เดินไปพร้อมๆ กัน  ทำให้เกิดพลังและถึงจุดหมายได้อย่างมั่นคง

สุวัฒน์ อธิบายความเป็นมาของทฤษฎีขากิ้งกือว่า  พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้องค่อนข้างกว้าง  มีทั้งพื้นที่เมืองและชนบท  มีย่านธุรกิจการค้า  ที่อยู่อาศัย  พื้นที่เกษตร  พื้นที่ทำเหมืองแร่ยิปซั่ม  ฯลฯ  เมื่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  จึงคิดว่าจะทำอย่างไร ? จึงจะให้ทุกภาคส่วนในเทศบาลตำบลบ้านส้องได้มีส่วนร่วมในการดูแลคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน  โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส  จึงคิดถึงการเชื่อมโยงกลุ่มเหล่านี้มาทำงานและสนับสนุนกองทุน  เหมือนกับกิ้งกือที่มีหลายขา

ขาที่  1’  คือ  สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครยาเสพติด กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มเยาวชน ประชาชนทั่วไป โดยสมาชิกต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน  ราย 6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี (ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,200 คน  เงินกองทุนประมาณ 2.2 ล้านบาทเศษ) เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

เช่น  เจ็บป่วย  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือ 1,000-3,000 บาท,  คลอดบุตร 2,000 บาท.  ประสบอุบัติเหตุ  แขน ขาขาด  ตาบอด  ช่วย (ข้างละ) 10,000 บาท,  หมา  แมว  งูกัด  ช่วย 500-1,000 บาท  เสียชีวิตช่วยเหลือ 30,000 บาท

“นอกจากนี้กองทุนเรายังช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  คนยากไร้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น  สร้างบ้าน ช่วยเรื่องน้ำท่วม  ไฟไหม้  ภัยธรรมชาติ  เป็นข้าวของ  เครื่องใช้จำเป็น  ไม่เกินครอบครัวละ 3 พันบาท  ช่วยทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบลด้วย”  ประธานกองทุนสวัสดิการฯ ยกตัวอย่าง

4
5
สภาพบ้านก่อนและหลังสร้าง  โดยกองทุนสวัสดิการฯ ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลสร้างให้ผู้ด้อยโอกาสในปี 2563

เมื่อผลการดำเนินงานการจัดสวัสดิการเกิดประโยชน์แก่สมาชิกและผู้ด้อยโอกาสจริงจึงเกิดเป็น ‘ขาที่ 2’ คือ ท้องถิ่น เข้าร่วมส่งเสริมกองทุน โดยเทศบาลตำบลบ้านส้องสนับสนุนงบประมาณสมทบ เช่น ปี 2562 จำนวน 5 แสนบาท  ปี 2565 จำนวน 1 ล้านบาท  ล่าสุดปี 2566 จำนวน  1.2 ล้านบาท

‘ขาที่ 3’  คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทุน

ขาที่ 4’  คือ  ห้างร้าน บริษัท ภาคเอกชนในท้องถิ่น  บริษัทเหมืองแร่  ฯลฯ  ร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนทุกปีๆ ละหลายแสนบาท

‘ขาที่ 5’  คือ    การจัดงานระดมทุน  โดยที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านส้องจัดงานมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง  ล่าสุดจัดในปี 2563 เป็นงานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ  เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน  และมีการบริจาคเงินสมทบทำให้มีเงินเข้ากองทุนกว่า 1 ล้านบาท

ประธานกองทุนฯ อธิบายต่อไปว่า  การใช้ทฤษฎีขากิ้งกือยังหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาหนุนเสริมการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นแกนหลักในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  จัดการท่องเที่ยวชุมชน  รายได้ส่วนหนึ่งจะนำมาสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ,  การส่งเสริมอาชีพ  พัฒนาผลิตภัณฑ์-สินค้าชุมชน  และส่งเสริมการตลาดกลุ่มวิสาหกิจ  กลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน  โดยกองทุนฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงสระ  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ฯลฯ

 ‘ขาที่ 6’  คือ  การเชื่อมโยงกลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในตำบลมาขายสินค้าออนไลน์ร่วมกัน  เช่น  ผลิตภัณฑ์จากทุเรียน  ทุเรียนกวน  ทุเรียนทอดกรอบ  มังคุดผลสด  น้ำมังคุด  กลุ่มผลิตเครื่องแกง  ฯลฯ  โดยกองทุนสวัสดิการฯ จะเป็นผู้ขายสินค้าทางออนไลน์  เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆ มีช่องทางการขายสินค้ามากขึ้น  และจะนำผลกำไรส่วนหนึ่งมาเข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ เกิดความมั่นคง  ยั่งยืน  ช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป

จัดงานระดมทุนครั้งใหญ่วันที่ 10 ก.พ.นี้

          ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา  สุวัฒน์  ดาวเรือง  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า  ในช่วงนั้นกองทุนฯ มีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนทั่วไป  เช่น  ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  ตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อป้องการการติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 40,000 ชิ้น  แจกจ่ายทั่วอำเภอเวียงสระ  นอกจากนี้กรรมการและสมาชิกกองทุนฯ ได้ร่วมกับ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เฝ้าระวัง  ติดตาม  และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อ

“หากสมาชิกติดเชื้อโควิด กองทุนจะช่วยเหลือรายละ 3 พันบาท  เพราะต้องกักตัว  ไม่สามารถไปทำงาน  หรือประกอบอาชีพได้ แต่เมื่อมีคนติดเชื้อมากขึ้นเราจึงลดเหลือรายละ 1 พันบาท  ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก  เราก็จะเอาข้าวสาร  อาหาร  และสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือ  ซึ่งในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 เราได้ใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการไปช่วยเหลือดูแลสมาชิก  และผู้ด้อยโอกาส  รวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 1 ล้าน 8 แสนบาท”  สุวัฒน์บอก

6
สมาชิกกองทุนฯ และจิตอาสาร่วมกันทำหน้ากากผ้าช่วงปี 2563

จากการช่วยเหลือ  ดูแลสมาชิกอย่างทั่วถึง  และช่วยเหลือในวงเงินที่ค่อนข้างสูงกว่ากองทุนสวัสดิการทั่วไป  ซึ่งส่วนใหญ่จะช่วยเหลือเมื่อสมาชิกนอนโรงพยาบาลไม่เกินคืนละ 100 บาทหรือปีละ 1,000 บาท  คลอดบุตรประมาณ 500-1,000 บาท  และเสียชีวิตประมาณไม่เกิน 15,000 บาท  แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องจะช่วยเหลือมากกว่าประมาณ 1 เท่าตัว  เช่น  เสียชีวิตช่วยเหลือรายละ 30,000 บาท  ฯลฯ  ในแต่ละปีจำนวนเงินช่วยเหลือสมาชิกจึงค่อนข้างสูง (ประมาณปีละ 3 ล้านบาท)

ดังนั้นเงินที่มาของกองทุน  นอกจากการสมทบของสมาชิกกองทุนคนละ 365 บาทต่อปี  จำนวนสมาชิกประมาณ 5,200 คน  รวมเป็นเงินสมทบรายปีๆ ละประมาณ 1.9 ล้านบาทเศษ  และเงินสมทบจากเทศบาลตำบลบ้านส้องประมาณปีละ 1 ล้านบาทเศษ  รวมทั้งเงินสมทบจากประชาชน  ภาคเอกชน  และรัฐบาลผ่าน พอช. เข้าสู่กองทุนแล้ว  กองทุนยังใช้ทฤษฎีขากิ้งกือ ‘ขาที่ 5’  คือการจัดงานระดมทุนเพื่อนำเงินมาเติมกองทุนด้วย   โดยที่ผ่านมาจัดงานมาแล้วรวม 10 ครั้ง

สุวัฒน์ บอกว่า  การจัดงานระดมทุนครั้งล่าสุดในปี 2563  คืองานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ  จัดช่วงต้นปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาด  ได้เงินจากค่าสมัคร  เงินบริจาคสมทบ  รวมประมาณ 1 ล้านบาทเศษ  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชนจัดการแข่งขันฟุตบอล  ชกมวย  ฯลฯ  นำเงินรายได้มาสมทบเข้ากองทุนครั้งละ 2-3 หมื่นบาทด้วย

“ส่วนในปีนี้เราจะจัดงานระดมทุนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้  ที่บริเวณสนามหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านส้อง  โดยจะมีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาชิกก่อน  เพื่อรายงานผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา  หลังจากนั้นตอนค่ำจะเป็นงานบันเทิง  มีดนตรี  รำวง  การแสดงของกลุ่มสตรี  ผู้สูงอายุ  มีการจับสลากของรางวัลที่ได้รับการสมทบจากภาคเอกชนในท้องถิ่น  โดยผู้เข้าร่วมงานจะต้องสมทบเงินคนละ 50 บาทเพื่อเป็นค่าบัตร  คาดว่าจะมีสมาชิกและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 พันคน 

นอกจากนี้เรายังทำเสื้อยืดกองทุนฯ ขาย  ตัวละ 250 บาท  ขายไปแล้วประมาณ  3 พันตัว  หักต้นทุนแล้วจะได้กำไรตัวละ 50 บาท  รวมทั้งยังจะมีเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ จากบริษัท  ห้างร้าน  และประชาชนทั่วไปในงานวันนั้นด้วย”  สุวัฒน์  ประธานกองทุนฯ บอกถึงการจัดกิจกรรมเพื่อระดมเงินเข้ากองทุน  และว่า…

การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะได้เงินสมทบเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท  เมื่อรวมกับเงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านบาทเศษ  เงินสมทบสวัสดิการรายปีจากสมาชิก และเงินสมทบจากเทศบาล…ในปี 2566 นี้จะมีเงินกองทุนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท !!

7

การจัดงานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพในปี 2563  สามารถระดมเงินเข้ากองทุนได้กว่า 1 ล้านบาท

8

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ