อาเซียนต้องลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน

อาเซียนต้องลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน

มะนิลา, 22 กันยายน 2557—ภาคประชาสังคมเปิดเผยความเสียหายจากภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ ระบุในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มีประชาชนหลายหมื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบ สร้างความเสียหายทั่วทั้งภูมิภาคสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
ภาคประชาสังคมหลายองค์กร ได้แก่ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ็อกแฟม และ EROPA ได้รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ A-FAB หรือแนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เพื่อเรียกร้องและผลักดันให้อาเซียนยกระดับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เร่งรัดและจริงจังมากกว่าที่เคยเป็นมาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
 
ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้มีขึ้นระหว่างการเปิดเผยข้อเสนอแนะทางด้านนโยบาย “สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง: ความจำเป็นสำหรับการลงมือที่เข้มแข็งของอาเซียน” ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงผลกระทบจากภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศและการปฏิบัติที่อาเซียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น
 
การแถลงข่าวมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นที่นครนิวยอร์กซึ่งมีตัวแทนประเทศเข้าร่วมกว่า 120 คนเพื่อให้คำมั่นในการลงมือปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ A-FAB เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนมีจุดยืนร่วมที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวเพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการปรับตัวและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
ดร.ทุน ลวิน ประธานบริหาร Myanmar Climate Change Watch ซึ่งเป็นผู้เขียนข้อเสนอแนะในรายงานฉบับนี้ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงประเด็นของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นประเด็นร่วมของทั้งภูมิภาค
 
“สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงได้เกิดบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาค และเราต่างได้รับผลกระทบ นี่คือสัญญาณบ่งชี้ว่าเราควรที่จะทำงานร่วมกันโดยเฉพาะในด้านการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น” ดร.ทุน ลวินกล่าว
 
ข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ยังระบุถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงซึ่งส่งผลต่อการทำเกษตรกรรมอันเป็นแหล่งดำรงชีวิตของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
“ในเมียนมาร์ การเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ช่วงฤดูมรสุมที่สั้นลงได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลงตามไปด้วย” ดร.ทุน ลวินกล่าว
 
ริซ่า เบอร์เนบ ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการวิจัยโครงการ GROW อ็อกแฟม เอเชียตะวันออก กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นเครื่องเน้นย้ำว่าถึงเวลาที่อาเซียนจะต้องลงมือจัดการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างทันท่วงที
 
“ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้ประชาชนที่ยากจนหลายล้านคนต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความมั่นคงทางอาหาร เราไม่สามารถรีรอจนทุกอย่างสายเกินแก้” ริซ่ากล่าวเสริม
 
เซลดา โซริอาโน ที่ปรึกษาด้านนโยบาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าอาเซียนควรมีการสนับสนุนด้านนโยบายพลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค
 
“รัฐบาลควรลดเงินสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดการปล่อยคาร์บอน เราไม่สามารถนิ่งเฉยถ้าหากเราต้องการสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้แก่คนรุ่นหลัง” เซลดากล่าวสรุป
 
A-FAB หรือแนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย  (Asean for a Fair, Ambitious and Binding Global Climate Deal) เป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันบทบาทของอาเซียนในฐานะตัวแทนของกลุ่มประเทศในภูมิภาคในการประชุมเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และในฐานะประชาคมที่ต้องต่อสู้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
สามารถดาวน์โหลดเอกสารข้อเสนอแนะด้านนโยบายได้ที่ http://bit.ly/1DqcXa5

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ