อาวัง ญาบัติ MARA PATANI : ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

อาวัง ญาบัติ MARA PATANI : ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ถ้อยแถลงของอาวัง ญาบัติ ประธานมารา ปาตานี (MARA PATANI) ต่อวาระครบรอบ 3 ปี หลังการลงนามกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ในดุลยปาฐก: เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ ปาฐกถา 2 หัวข้อ “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” งานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 วันที่ 28 ก.พ. 2559 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเป็นการบันทึกเทป

ประธานมารา ปาตานี ระบุว่า ในช่วงแรกของกระบวนการสันติภาพเต็มไปด้วยความท้าทายจากความรู้สึกเชิงลบและท่าที่ที่เป็นปรปักษ์ต่อกันระหว่างรัฐบาลไทยและผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกัน ทำให้กระบวนการพูดคุยไม่คืบหน้า แต่หลังจากมีการแสดงความจริงจังของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้เกิดการริเริ่มกระบวนการสันติภาพขึ้นมารอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลในทางปฏิบัติมากขึ้น แม้ว่าในบริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานียังจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะทัศนติเชิงลบ แต่สันติภาพจำเป็นต้องเริ่มต้นจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

 

ถ้อยแถลงในวาระครบรอบ
กระบวนการสันติภาพปาตานีปีที่ 3

อาวัง ญาบัติ
ประธานมารา ปาตานี

ขอให้สันติภาพจงมีแด่ทุกท่าน

อัลฮัมดุลิลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ด้วยฉันทานุมัติจากพระองค์ทำให้เราสามารถจัดงานรำลึกถึงการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในการต่อสู้เพื่อแสวงหาสิทธิในการก าหนดชะตากรรมด้วยตนเอง การลงนามฉันทามติดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งสำหรับประชาชนชาวมลายูปาตานีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเวียนมาบรรจบในวันนี้ในการรำลึกข้อตกลงดังกล่าว เราควรนึกถึงประสบการณ์ที่ได้ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังการลงนามฉันทามติความผิดพลาดในอดีตเป็นบทเรียนและเราก็ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบที่สองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

ข้าพเจ้าขอขอบคุณฝ่ายผู้จัดงานครั้งนี้ที่ได้เชิญข้าพเจ้าเพื่อกล่าวคำปราศรัย ในโอกาสรำลึกวาระครบรอบสามปีการลงนามฉันทามติว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีที่จัดขึ้นมาในปีนี้

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย!

กระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีเป็นหนึ่งในวิธีการค้นหาแนวทางแก้ไขต่อความขัดแย้ง ซึ่งมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรบีอาร์เอ็นในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานี กระบวนการดังกล่าวควรต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มควรต้องให้ความจริงจังและสนับสนุนต่อกระบวนการดังกล่าว กระบวนการพูดคุยลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่ประสบความขัดแย้งดังเช่นในปาตานีของเรา สำหรับประชาชนปาตานีที่มีความคิดทางอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลไทย การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในทางเลือก เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี

เมื่อสามปีที่แล้ว กระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีก็ต้องประสบกับความท้าทายมากมาย ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของความท้าทายอื่นๆ คือความเป็นปรปักษ์กันและความเกลียดชังกันระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้มีความคิดทางอุดมการณ์ที่ต่างกัน ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการเพื่อการพูดคุยทั้งหมดสามครั้ง แต่การพบปะดังกล่าวก็ไม่ได้บรรลุผลสำเร็จใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ บนโต๊ะพูดคุยก็คือคณะพูดคุยจากทั้งสองฝ่ายได้แสดงท่าทีของความเป็นศัตรูความโกรธ ความแค้น และความเศร้าต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นการพบปะกันเพื่อระบายความรู้สึกเชิงลบและแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อกัน การพูดคุยเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมต่อการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้กระบวนการพูดคุยจึงไม่ใคร่จะมีความคืบหน้าเท่าที่ควร

ความท้าทายต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ทำให้การพูดคุยอย่างเป็นทางการรอบแรกต้องหยุดชะงักนั้นมีดังต่อไปนี้

ข้อแรก กระบวนการพูดคุยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพไทย

ข้อสอง กลุ่มนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีบางกลุ่มในสนามยังขาดความเข้าใจที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพพวกเขาจึงไม่ให้การสนับสนุนต่อกระบวนการดังกล่าว ถึงแม้ว่าการสนับสนุนจากพวกเขาต่อกระบวนการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งก็ตาม

ข้อสาม อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น หลังจากท่านได้ยื่น 5 ข้อเรียกร้องจากฝ่าย B ให้แก่ฝ่าย A ซึ่งการยอมรับของข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นอีกครั้ง

ข้อสี่ รัฐบาลไทยได้เผชิญกับวิกฤตทางการเมือง และสุดท้ายก็มีการก่อรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อวสานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้นำไปสู่การชะงักงันของกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยอัตโนมัติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีคณะพูดคุยเจรจาของตนอีกต่อไป

สิ่งเดียวที่ยังคงมีอยู่จากรอบที่แล้วคือฉันทามติทั่วไปฯ ที่เราหวนรำลึกถึง ณ วันนี้ ด้วยเจตนารมณ์ของฉันทามติทั่วไปฯ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และเนื่องจากการแสดงความจริงจังของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เราจึงตอบรับข้อเสนอจากผู้อำนวยความสะดวก เพื่อที่จะริเริ่มกระบวนการสันติภาพขึ้นมารอบใหม่ 

การพูดคุยสันติภาพรอบที่สองนี้จะดำเนินการโดยแบ่งออกเป็นสองกระบวนการ 

กระบวนการแรก คือ การพูดคุยระหว่างคณะทำงานเชิงเทคนิค เพื่อเตรียมประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะนำไปถึงโต๊ะพูดคุย การพูดคุยระดับนี้ดำเนินการไปอย่างไม่เป็นทางการ

กระบวนการที่สอง คือ การพูดคุยเพื่อตัดสินใจลงมติ เป็นการพูดคุยประเด็นต่างๆ ที่ได้รับการตกลงในระดับคณะทำงานเชิงเทคนิคมาบ้างแล้ว และจะเป็นมติของการพูดคุยอย่างเป็นทางการด้วยการดำเนินการพูดคุยตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้นจะได้ผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางของการพูดคุยสันติภาพรอบที่สอง และเอื้อต่อขั้นตอนต่อไปของกระบวนการสันติภาพโดยภาพรวม

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย 

กระบวนการสันติภาพจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ได้ตราบใดที่ทุกฝ่ายที่มีเกี่ยวข้องยังขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ พร้อมๆ กับการตระหนักถึงหลักการที่ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วย

สำหรับกระบวนการสันติภาพในระดับประชาชนนั้น ผู้คนทุกกลุ่มสามารถผลักดันได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายและผู้คนฝ่ายต่างๆ ก็มีสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ เพราะกระบวนการสันติภาพนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงบทบาทของฝ่าย A หรือฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ฝ่าย B สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา คณะกรรมการอิสลาม และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ควรต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ สามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอตามความต้องการของพวกเขาในกระบวนการดังกล่าว

เราเข้าใจกันว่า กระบวนการพูดคุยหรือการเจรจานั้นเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งเรียกขานกันว่าฝ่าย A และผู้มีความเห็นเชิงอุดมการณ์ต่างจากรัฐบาลไทย ซึ่งเรียกกันในนามฝ่าย B

ต้องเน้นย้ำ ณ ตรงนี้ว่าฝ่าย B หรือผู้มีความเห็นเชิงอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐบาลไทยในความขัดแย้งที่ปาตานีนั้น คือประชาชนปาตานี ในกระบวนการสันติภาพ กลุ่มนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี กลุ่มต่างๆ และองค์กรภาคประชาชนปาตานีนี่เองที่เป็นผู้แทนของประชาชนปาตานี เพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ในการสร้างความเป็นหนึ่ง ทั้งในทางความคิดและการกระทำของฝ่าย B ในกระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลไทย สภาชูรอแห่งปาตานี หรือที่รู้จักกันในนาม มาราปาตานี จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเป็นเอกภาพ และในฐานะเป็นองค์กรทางการเมืองระดับสูงของประชาชนปาตานี

ความขัดแย้งที่ปาตานีนั้น หาได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางอาวุธเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่เป็นผลพวงมาจากการปกครองระบบอาณานิคมของรัฐบาลไทยที่มีต่อประชาชนปาตานีอีกด้วย ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้าใจในประเด็นนี้ และรัฐบาลไทยก็ไม่ควรแสร้งทำเป็นไม่รับรู้เรื่องราวในแง่มุมดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เอง แนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีจึงต้องมีทั้งความเป็นธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และมีความยั่งยืน นี่คือสิ่งที่มาราปาตานีต้องการที่จะบรรลุถึงในการต่อสู้ทางการเมือง

มาราปาตานีได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชนปาตานี เพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทยในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น การยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยต่อมาราปาตานีจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในก้าวต่อไป เช่นนี้แล้ว! ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม, มาราปาตานีก็จะเป็นทั้งศัตรูและมิตรกับรัฐบาลไทยบนโต๊ะพูดคุยในเวลาเดียวกัน

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย

ในบริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี เรายังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย และหนึ่งในอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือทัศนคติเชิงลบซึ่งกันและกันระหว่างฝ่าย A กับฝ่าย B เราสังเกตเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลหรือ “ฝ่าย A” (Party A) ยังมีข้อสงสัยและข้อกังวลเกี่ยวกับมาราปาตานีในฐานะเป็น “ฝ่าย B” เพราะพวกเขายังคงกังขาว่ามาราปาตานี หรือ “ฝ่าย B” (Party B) นั้น จะมีความสามารถควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ได้หรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็ยังมองว่าสถานะของความขัดแย้งที่ปาตานีนั้นเป็นประเด็นปัญหาภายในประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความท้าทายสำหรับมาราปาตานี

ข้าพเจ้าขอกล่าวอย่างชัดเจนว่า มาราปาตานีเองก็ยังคงไม่มั่นใจในความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลไทยในการแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และมีความยั่งยืน นี่คือข้อท้าทายสำหรับรัฐบาลไทย และพวกเขาจำเป็นต้องแสดงความจริงจังและจริงใจต่อมาราปาตานีด้วย เนื่องจากมีความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องเผชิญอยู่

กระบวนการสันติภาพจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน นั่นคือ การพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสามารถแสดงออกถึงความมุ่งมั่นจริงจังและสะท้อนถึงความจริงใจในการแสวงหาแนวทางแก้ไขที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และความยั่งยืนเพื่อบรรลุให้ถึงเป้าหมายในการสถาปนาสันติภาพที่แท้จริงบนผืนแผ่นดินปาตานี ในขณะเดียวกัน ในช่วงกระบวนการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประเด็นที่จำเป็นต้องพูดคุยกันคือประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ 

ข้าพเจ้าได้รับทราบว่า คณะกรรมการเพื่อการเจรจาของฝ่ายมาราปาตานีได้ยื่นข้อเสนอสามประการตามความจำเป็นของฝ่าย B เพื่อให้การกระบวนการพูดคุยมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่าย A ควรต้องตอบสนอง ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ข้อแรก กระบวนการสันติภาพควรต้องมีสถานะเป็นวาระแห่งชาติ

ข้อสอง รัฐบาลไทยควรต้องยอมรับสถานะของมาราปาตานีเป็นองค์กรทางการเมืองของกลุ่มบุคคลผู้มีความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่าง

ข้อสาม คณะเจรจาของมาราปาตานีควรต้องได้รับสิทธิคุ้มกันในการด าเนินคดีทางกฎหมาย (immunity)

อัลฮัมดุลิลลาฮฺข้าพเจ้าได้รับทราบมาว่าข้อเสนอแนะทั้งสามข้อนั้นได้มีการอภิปรายกันบ้างแล้วในการพบปะพูดคุยของคณะทำงานเชิงเทคนิค มีอยู่หนึ่งประเด็นที่ได้บรรลุข้อตกลงกันแล้ว และอีกสองประเด็นจะมีการตกลงกันตามความจ าเป็นที่สอดคล้องต่อสถานการณ์

ส่วนคณะเจรจาฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอสามประเด็นเพื่ออภิปรายกันในระหว่างที่กระบวนการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ข้อแรก การจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือ “เซฟตี้โซน” ในฐานะที่เป็นโครงการนำร่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ข้อสอง การพัฒนาในเขตพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างสังคมสันติสุข

ข้อสาม สถาปนาความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม

ฝ่ายมาราปาตานีได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับทั้งสามประเด็นนี้ข้างต้นจากฝ่าย A แล้ว ต่อจากนี้ไปคณะกรรมการระดับนำและคณะทำงานคลังสมองของมาราปาตานีจะได้อภิปรายถึงประเด็นเหล่านั้น และลงความเห็น ต่อจากนั้นคณะทำงานเจรจาของฝ่าย B จึงจะสามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งบนโต๊ะพูดคุยในขั้นตอนต่อไป

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย

เราได้รับทราบว่าประชาชนในพื้นที่ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัย เราก็ได้รับรู้ถึงข่าวสารเกี่ยวกับความพยายามของกองทัพภาคที่ 4 ในการก าหนดให้ อ.บาเจาะและ อ.เจาะไอร้อง เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยมาบ้างแล้ว

การจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถประกาศได้โดยฝ่ายเดียว ดังเช่นที่เราได้รับฟังมา ไม่เคยมีใครสามารถกระทำได้อย่างนั้น ถ้าหากว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ ย่อมแสดงให้เห็นว่ายังมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการสันติภาพปาตานีอยู่ และนี่คือความท้าทายภายในที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไข

เขตพื้นที่ปลอดภัยสามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันในเชิงแนวคิดแล้วเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าแต่ละฝ่ายนั้นต่างก็มีแนวคิดเกี่ยวกับเขตพื้นที่ปลอดภัยของตนเองอยู่ และแนวคิดของฝ่ายหนึ่งๆ นั้นยังแตกต่างไปจากของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดและเขตพื้นที่ซึ่งได้รับเลือกให้จัดตั้งเป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยนั้นเป็นประเด็นที่ควรจะมีการปรึกษาหาหรือกันเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะประกาศการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวต่อสาธารณชน

การสถาปนาสันติภาพที่ปาตานีนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้โดยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและความเสียสละจากทั้งสองฝ่าย โดยยอมรับความล้มเหลวและความผิดพลาดจากการพูดคุยและเจรจาเพื่อสันติภาพในอดีต

ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับว่าผลสำเร็จของการเจรจาสันติภาพนั้น สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนปาตานีได้และในขณะเดียวกัน แนวทางดังกล่าวก็สามารถเป็นปราการอันแข็งแกร่งเพื่อรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศของไทยได้ด้วยเช่นกัน

พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขออนุญาตลงท้ายคำกล่าวในครั้งนี้ด้วยการชักชวนพี่น้องประชาชนปาตานีทุกท่าน เรามาร่วมกันโอบอุ้มและค้ำจุนกระบวนการสันติภาพปาตานีที่ว่านี้ เพื่อแสวงหาและบรรลุถึงเสรีภาพ ความมั่นคง ความยุติธรรม สันติภาพ และเพื่ออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ขอขอบคุณ และขอให้ความสันติจงมีแด่ทุกท่าน

 

20162802152635.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ