อรุณสวัสดิ์ไซยาไนด์

อรุณสวัสดิ์ไซยาไนด์

leng

1. เล่ง วงศ์คำโสม “ฉันทนทุกข์ทรมานทุกเช้า”

เล่ง วงศ์คำโสม หนึ่งในชาวบ้าน 54 คนจากหกหมู่บ้านในเขตตำบลเขาหลวงที่พบว่ามีภาวะพิษไซยาไนด์ เล่งใช้เวลาเกือบทั้งวันในบ้าน เธอกลัวการออกจากบ้าน เนื่องจากสุขภาพของเธอตอนนี้ทำให้เธอมีปัญหาหน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดหัว และสูญเสียการมองเห็นอยู่ทุกวัน

กองสาธารณสุขจังหวัดวินิจฉัยว่า อาการของเล่ง เกิดจากภาวะพิษไซยาไนด์ เมื่อพ.ศ. 2551 แม้ว่าพวกเขาจะไม่บอกว่าในร่างกายเธอมีไซยาไนด์อยู่มากแค่ไหน เธอก็รู้ว่า เธอมีระดับไซยาไนด์อยู่ในกลุ่มสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านคนอื่นที่ได้รับการทดสอบ

เล่งกังวลและกลัวเพราะไม่ว่าเธอหรือใครก็ตามไม่อาจยืนยันได้ว่า เธอสะสมไซยาไนด์ปริมาณมากขนาดนั้นในเลือดได้อย่างไร

“ฉันไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วฉันรับมาได้ยังไง พวกเขาแค่บอกว่าฉันมี ฉันก็แค่รู้” เธอบอก

กว่าปีมาแล้วที่เล่งต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่เธอก็ไม่สามารถหยุดทำนาหรือทอผ้าได้เนื่องจากต้องใช้เงินมารักษาอาการเจ็บป่วยสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงของเล่งเกิดจากการสัมผัสสารเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในขณะที่เธอทำงานและที่บ้าน เธออาจจะสัมผัสกับไซยาไนด์ แคดเมียม หรือสารหนูในไร่นาทางอากาศหรือน้ำ เธอใช้น้ำใต้ดินที่ถูกปนเปื้อนที่บ้านในการอาบน้ำเพราะเธอไม่มีทางเลือกอื่น เธอยากจนเกินกว่าจะซื้อน้ำสะอาดมาอาบ ทำให้เล่งกลัวการอาบน้ำ เพราะเธอไม่รู้ว่าน้ำจะกระทบต่อสุขภาพของเธออย่างไร

เนื่องจากเล่งไม่สามารถหยุดทำงานแล้วไปรอรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ เธอจึงรับการรักษาที่คลินิกเอกชน โดยเสียเงินค่ารักษาครั้งละ 150 บาท แพทย์ที่คลินิกไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับความซับซ้อนของอาการของเล่ง จึงสั่งยาทั่วๆ ไปที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเฉพาะอย่าง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ และปวดหัว

“ฉันไปหาหมอและได้ยามา กินยาเมื่อไหร่วันนั้นฉันก็จะรู้สึกดีขึ้น” เธออธิบาย

การขาดข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เกี่ยวกับภาวะพิษไซยาไนด์ทำให้เล่งต้องจมอยู่ในความเจ็บป่วยที่แพทย์ไม่อาจรักษาได้อย่างเต็มที่

จนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 จากการออกอากาศของสารคดีทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยเธอจึงได้กระจ่างเรื่องสาเหตุของความเจ็บป่วยของเธอ สารพิษที่ปลดปล่อยจากเหมืองแร่ทองคำเปิดใหม่ที่ตั้งอยู่ในระยะใกล้ชิดกับหมู่บ้านของเล่ง อาจรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นและอากาศ ทำให้เธอและชาวบ้านจำนวนมากสะสมสารเคมีเหล่านี้ในเลือด เนื่องจากข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการปนเปื้อนมีอยู่อย่างจำกัด เล่งจึงใช้ชีวิตไปอย่างไม่รู้ว่าต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้างเพื่อป้องกันความทุกข์ทรมานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

เธอใช้ชีวิตอยู่ในความกลัวที่ว่า สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเธอไปตลอด แต่ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือได้

“ฉันไม่มีความสุขเลย เศร้ามากที่ตัวเองมีปัญหาสุขภาพ ฉันอยากรู้ว่าจะทำให้สุขภาพดีขึ้นรักษาตัวเองให้อาการดีขึ้น และเอาไซยาไนด์ออกไปจากเลือดฉันได้ยังไง” เธอกล่าว

2. ระนอง กองแสน “ทำไมเราต้องยอมรับความทุกข์ทรมานนี้ พวกคุณช่วยเรามากกว่านี้ไม่ได้หรือ”

การประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดเลยนี้เปิดโอกาสให้นาหนองบง หมู่บ้านของระนองได้แสดงความคิดเห็นเรื่องปัญหาน้ำของชุมชน เมื่อสองปีที่แล้ว ระนองเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศใกล้ตัวซึ่งเป็นผลมาจากการปนเปื้อนของน้ำ พืชผักที่เธอเคยเก็บจากในป่าใกล้บ้านเริ่มดูไม่น่ากิน ปลาในแม่น้ำเริ่มตาย ด้วยเหตุผลนี้ ระนองจึงเริ่มซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากตลาด ในปัจจุบัน เธอใช้เงินซื้ออาหารมาขึ้นกว่าเมื่อสองปีที่แล้ว 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน

แม่น้ำที่ระนองเคยพึ่งพานำน้ำมาใช้ในบ้าน เป็นที่รู้กันว่าตอนนี้มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย รวมถึงแคดเมียมและตะกั่ว เธอจึงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องจ่ายเงิน 500 บาทต่อเดือนให้กับบริษัทเอกชนแลกกับน้ำเพื่อใช้ดื่มและประกอบอาหาร ระนองมีเงินไม่มากพอที่จะซื้อน้ำมากกว่านี้ เธอจึงยังต้องอาบน้ำในน้ำที่ปนเปื้อนอยู่

ทางการสัญญาว่าจะส่งน้ำสะอาดมาให้เพิ่มขึ้น แต่เธอก็ไม่เคยได้รับ เนื่องจากตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งน้ำมาให้อีกด้านหนึ่งของชุมชนก่อน ระนองรู้ว่า น้ำที่เพียงพอจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของชุมชนของเธอ และน้ำฟรีก็ไม่ใช่ทางออกในระยะยาวของปัญหาของชุมชน

“ทางการควรหาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนกว่านี้ให้พวกเรา” เธอกล่าว

แม้ว่าเธอจะกังวลเรื่องสภาวะทางเศรษฐกิจของตน ระนอง ก็ให้ความสำคัญกับอนาคตเรื่องน้ำของชุมชนมากที่สุด “มันเป็นหัวใจ ถ้าเราไม่มีน้ำก็เหมือนกับเราไม่มีหัวใจ” เธอบอก

ความเชื่อนี้ทำให้เธอต้องลงมือทำอะไรสักอย่า ระนองกลายเป็นผู้นำสตรีในนาหนองบง เพื่อช่วยหาทางออกเรื่องสถานการณ์น้ำของชุมชน เธอคิดว่า ชุมชนควรได้รับข้อมูลเรื่องน้ำและผลกระทบมากมายของสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำมากกว่านี้

ระนองเชื่อว่า รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลักของการปนเปื้อนของน้ำ เพราะการขาดความช่วยเหลือเรื่องข้อมูลและการเข้าถึงน้ำสะอาด “ถ้าไม่มีใครดูแลพวกเรา เราก็หาทางดูแลตัวเอง” เธอบอก

3. เภา พรหมมหาราช จ้องมองไร่นาที่ไร้ประโยชน์อย่างเศร้าใจ

ไร่นาผืนนี้เคยเลี้ยงดูครอบครัวของเขาในฐานะแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ วันนี้ เภาพิจารณาดูไร่นาที่ถูกท่วมด้วยน้ำที่เขาไม่อาจไว้วางใจได้ ชีวิตชาวนาของเภา เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อผลผลิตข้าวของเขารวมแล้วมีแค่ห้ากระสอบเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เปรียบเทียบกับที่เคยได้ 10-15 กระสอบจากที่นาห้าไร่ของเขา ผลผลิตที่ลดลงอย่างน่าตกใจนี้ทำให้ เภา กังขาในอนาคตของความมั่นคงทางอาหารของเขา

เภา เชื่อว่า ผลผลิตข้าวที่ลดลงนี้อาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงระบบน้ำเมื่อไม่นานมานี้จากการสร้างเหมืองแร่ทองคำทุ่งคำ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาสี่กิโลเมตร เภากลัวว่า สารเคมีที่ใช้ในเหมืองอาจปนเปื้อนแหล่งน้ำและกระทบต่อไปยังการเจริญเติบโตของพืชผักที่เขาใช้บริโภค

หลังจากเหมืองเริ่มดำเนินงานไม่นาน สีและรูปร่างของพืชท้องถิ่นอย่างหน่อไม้ กะหล่ำดอก ผักบุ้ง และใบบัวบกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะกินพืชที่เขาเก็บกินมาตลอดชีวิตเหล่านี้อีกต่อไป

ก่อนการสร้างเหมือง เภาใช้เงินซื้ออาหารจากตลาดเพียงน้อยนิด อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เขาใช้เงินวันละ 100-200 บาทซื้ออาหารที่เขาเคยปลูกหรือหาเก็บกินได้ เภาวิตกว่า วัฒนธรรมในการหาเก็บอาหารกินเองจะไม่ถูกถ่ายทอดไปยังลูกหลานของเขา

4. ยนต์ คุณนา กุหลาบและพริกเคยผลิดอกออกผล

ในไร่นาที่อุดมสมบูรณ์พื้นที่ 23 ไร่ของ ยนต์ คุณนา พืชผลเหล่านี้เคยสร้างรายได้ให้ ยนต์มากถึง 10,000 บาทต่อไร่ ช่วยให้เขารักความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในฐานะเกษตรกรได้

วันนี้ ไร่นาของเขาเหือดแห้งและว่างเปล่าโดยไม่สามารถผลิตพืชผลได้เลยเมื่อสองปีที่แล้ว

เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกสร้างขึ้นห่างจากไร่นาของ ยนต์แค่ 200 เมตร การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของภูเขาในท้องที่ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของป่าไม้และการกร่อนของดินอย่างรุนแรง แม่น้ำและลำธารที่เคยไหลสู่ไร่นาของ ยนต์ อย่างต่อเนื่อง บัดนี้กลับท่วมพืชผักจนหมดสิ้น พริกและกุหลาบไม่สามารถต้านทานสภาวะที่รุนแรงเช่นนี้ได้ ผลผลิตของปีที่แล้วทั้งหมดเสียหาย ทำให้ ยนต์และครอบครัวไม่มีรายได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น การระเบิดเหมืองทำให้มีหินตกลงในไร่นาของยนต์เป็นเหตุให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย จึงเป็นการคุกคามสิทธิในการประกอบอาชีพของเขายนต์ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องผลกระทบที่เหมืองจะมีต่อไร่นาของเขา ทั้งที่ไร่นาของเขาอยู่ใกล้เหมืองถึงเพียงนี้ รัฐบาลไทยก็ไม่กระทำการใดเลยเพื่อติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับที่ของยนต์ ไม่แม้แต่เสนอค่าชดเชยใดๆ แลกเปลี่ยนกับความสูญเสียของเขา เหมืองกลับเป็นฝ่ายเสนอซื้อที่ของ ยนต์ในราคาไร่ละ 12,000 บาท เขาปฏิเสธที่จะขายที่ที่ได้กลายเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเขา ยนต์ต้องการอาศัยอยู่ที่ไร่นาของเขาแต่กลัวอนาคตของเขาในฐานะเกษตรกร

5. วรรณณิศา สุทธิ และบำรุง ผู้เป็นสามี

วรรณณิศา สุทธิ และบำรุง ผู้เป็นสามี ใช้น้ำที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม สารหนู ตะกั่ว และแมงกานีสอาบ เพื่อรักษาชีวิตลูกของพวกเขาไว้ นับตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ พวกเขาและลูกอายุสองขวบ มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

วรรณิสาผื่นแห้งคันนี้เป็นอาการระคายเคืองของผิวหนังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีอาการแย่ลงซึ่งเป็นผลจากการอาบน้ำหรือสัมผัสน้ำที่เป็นมลพิษ ภาพผื่นคันที่สมาชิกในครอบครัวทั้งหมดเป็นทำให้ วรรณณิศา กลัวเพราะเธอกลัวว่าอาการจะแย่ลงอีกสำหรับการรักษาการระคายเคืองนี้

วรรณณิศา พาครอบครัวของเธอไปยังสำนักงานสาธารณสุข แม้คลินิกจะแนะนำครอบครัวของเธอไม่ให้ใช้น้ำอาบอีก วรรณณิศา มีเงินซื้อน้ำสะอาดแค่พอให้ลูกชายอาบ

วรรณณิศา และสามีถูกบีบให้ต้องสละสุขภาพที่ดีเพื่อปกป้องลูกชาย ยิ่งไปกว่านั้น คลินิกไม่ได้จัดยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่ครอบครัว สุทธิ ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน แต่กลับมุ่งเน้นรักษาแต่อาการโดยไม่ได้ทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด ด้วยรายได้ของเกษตรกรและเจ้าของร้านขายของเล็กๆ จึงเป็นการยากมากที่จะซื้อน้ำสะอาดเพื่อใช้อาบ ซึ่งจะเป็นวิธีการรักษาผื่นคันและบรรเทาความเจ็บปวดที่เธอและครอบครัวต้องประสบอย่างถาวร

toxic

ที่มา — หนังสือ นาหนองบง
เสียงจากคนชายขอบ – สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย

จัดทำโดย โครงการขับเคลื่อนสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปี 2552

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ