อย่าลืม “เขาหินซ้อน”

อย่าลืม “เขาหินซ้อน”

“เขาหินซ้อน” มันคืออะไร บางคนก็คุ้นหูซะเหลือเกินกับชื่อนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักเขาหินซ้อนสักเท่าไร  เขาหินซ้อนเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพนมสารคาม หากวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) จะอยู่ห่างจากฉะเชิงเทราราว 53 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่ของ ต.เขาหินซ้อน เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา มีที่ราบสลับกับพื้นที่ลาดเนิน และที่ราบลุ่มสลับกับที่ราบสูงภูเขา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักโดยมากจะปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ปลูกพืชสวน เช่น มะม่วง เป็นต้น  ที่เขียนมานี่ไม่ได้จะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวนะคะ เพียงแค่มาอัพเดตความเคลื่อนไหวภายในพื้นที่ให้ฟังแค่นั้นเอง

รู้หรือไม่ว่าที่นี่มีแผนผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์โดยใช้ถ่านหิน   มาตั้งแต่ พ.ศ.2550  แรกเริ่มเดิมทีก็มีโรงไฟฟ้าชีวมวลถึง     สองโรง รวมๆ แล้วมีขนาด 47.4 เมกกะวัตต์  วัตถุประสงค์หลักของโรงไฟฟ้าชีวมวลคือผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้รัฐ  ต่อมาปีพ.ศ. 2552 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปีพ.ศ. 2554 จากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์ ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก ขบวนการและขั้นตอนการดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เป็นจริงตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550    

ถัดมาคือการดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพยึดข้อมูลการการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( EIA ) ที่ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นสำคัญ มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยและลงสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน แต่ไม่ได้ลงศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รวบรวมเพิ่มเติมมาวิเคราะห์มาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามข้อกังวลใจของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่รัศมี 5-10 กิโลเมตร ในประเด็นมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแย่งใช้น้ำทั้งน้ำประปาและน้ำ การเกษตร พืชผลการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้น ผลกระทบต่อพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และฟาร์มต้นแบบที่ตั้งอยู่ในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ประการสุดท้ายคือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจการโครงการโรงไฟฟ้าฯขนาดใหญ่ของเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากโครงการโรงไฟฟ้าเดิมในเขตอุตสาหกรรม 304 โครงการ 2 อยู่แล้วในปัจจุบัน กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต ผู้ผลิตข้าว ผัก ไม้ผลอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ และจำหน่ายในตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ

                                                             

                                                           

ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเชื้อเพลิงมาจากพืชผลทางการเกษตร เช่นแกลบ ชานอ้อย เปลือกไม้ เหง้ามัน ซังข้าวโพด ไม้สับและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและทางโรงไฟฟ้าได้บอกว่าได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน (SPP) ซึ่งอยู่ภายใต้การกับดูของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน   แล้วที่เราๆ เคยได้ยินมาโรงไฟฟ้ามันมีตั้งหลายแบบไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ไหนจะโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้ำจากเขื่อนอีกล่ะ  สารพัดโรงไฟฟ้าจริงๆ คำถามคือ ทำไมจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยล่ะ ???   คำตอบไม่มีอะไรซับซ้อนคือไอ้ถ่านหินเนี่ยมันเสถียรต่อการผลิตไฟฟ้ามากกกว่าชีวมวล ทั้งยังคุ้มค่ากับการลงทุน   

เมื่อมีโครงการก่อสร้าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ทางโรงงานไฟฟ้าจึงออกมาทำความเข้าใจกับภาคประชาชนโดยชี้แจงว่า มีกระบวนการดักจับฝุ่นด้วย ESP เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Preciitator : ESP) มีหลักการทำงานง่ายๆ เหมือนขั้วแม่เหล็ก ขั้วต่างกันจะวิ่งเข้าหากัน โดยปล่อยประจุบวกให้กับดักจับฝุ่นละอองและปล่อยประจุลบให้ฝุ่น ซึ่งเครื่องนี้มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นถึง 99.9% ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องCEMs เพื่อตรวจวัดคุณภาพที่ระบายออกจากปล่องได้อย่างต่อเนื่องและสามารถควบคุมการผลิตได้ทันทีในกรณีที่กระบวนการผลิตมีปัญหา ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าด้วยรถตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนตามทิศทางลม   ดูแลจัดการน้ำทิ้ง มีระบบตรวจสอบติดตามคุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายออกนอกโรงไฟฟ้า และมีการตรวจติดตามน้ำทิ้งเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและประสานงานกับหน่วยงานราชการร่วมลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน รวมทั้งให้บริษัทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ตรวจติดตามคุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายออกนอกโรงไฟฟ้า 3 เดือนต่อครั้ง

อ้าว!  แล้วที่เคยได้ยินมาว่าพลังงานถ่านหินมันไม่สะอาดล่ะ อย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เห็นกันโต้งๆ ว่ามันส่งผลกระทบมากมายแค่ไหน เขายังจะสร้างอีกหรือ  นั่นก็เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างโรงไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่เขายังเห็นด้วยอยู่ เขาให้เหตุผลว่าการมีโรงไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาชุมชน สร้างรายได้ ทำให้คนมีงานทำ

อย่างไรก็ตามคนที่นี่อีกหลายคนยังคงกังวลว่ามันจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ เพราะชาวบ้านแถวนั้นเขาทำเกษตรอินทรีย์กัน ถือได้ว่าพืชพันธุ์เกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เปราะบางต่อสิ่งเร้าอย่างมาก หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ก่อให้เกิดลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นเดียวกัน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ