ในสภาพของสังคมไทย ถือว่าชาวนามีวิถีความเป็นอยู่ที่ไม่ยั่งยืนนัก ชาวนาไทยกว่า 70 เปอร์เซ็น ขาดทุนจากการทำนาทั้งเรื่องต้นทุนและราคาผลผลิต ทำให้ชาวนากลายเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ สุดท้ายแล้วชาวนาก็หลีกไม่พ้นเมื่อต้องเช่าที่ดินตัวเองปลูกข้าว
จุดเริ่มต้นการสูญเสียที่ดินของชาวนา เกิดจากการที่ชาวนานำที่นาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำเงินมาลงทุนทำนาในฤดูกาลต่อไป รวมถึงนำเงินที่กู้มาใช้จ่ายภายในครัวเรือน และนำมาเป็นทุนการศึกษาของลูก ซึ่งแหล่งเงินที่ชาวนากู้มานั้น มีทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบและแหล่งเงินกู้นอกระบบควบคู่กันไป จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่มีการสำรวจการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ในปี พ.ศ. 2556 พบว่า พื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 149 ล้านไร่ ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าจำนวน 29 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่เกษตรกรติดจำนองและขายฝากถึง 30 ล้านไร่ หากเกษตรกรไม่สามารถคืนหนี้ได้ตามกำหนด ที่ดินเกษตรกรรมเหล่านี้จะถูกโอนเป็นของสถาบันการเงิน ที่ ชาวนาไปกู้ยืมมาและเจ้าหนี้เงินกู้แทน
ที่ดินเป็นฐานทรัพยากรสำคัญ ต่อสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างมั่นคงของเกษตรกรและประชาชนในสังคมโดยรวม ในสถานการณ์ปัจจุบันภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมิติที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการจัดการที่ดินและทรัพยากร ทำให้เกิดการถือครองที่ดินในสังคมไทยกระจุกตัว ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศถูกถือครองที่ดินโดยคนจำนวนน้อย แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรและชาวนาผู้ผลิตอาหารเลี้ยงสังคม กลับไม่มีที่ดินเพียงพอต่อการทำมาหากิน นอกจากนี้ผืนดินและฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ กำลังประสบปัญหาด้านการเสื่อมโทรม จากการทำเกษตรและการใช้ที่ดินที่ไม่ยั่งยืน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค) ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร ภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน” และ “ภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและอ่างทอง” ได้จัดงานเสวนาถึงผลการวิจัยดังกล่าว เมื่อวันพุธ ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดงานโดย คุณสุวนา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม สัมมนาวิชาการ “การสูญเสียการสูญเสียที่ดินของชาวนา ภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน” โดย ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาภาวการณ์สูญเสียที่ดินในปัจจุบันว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 149 ล้านไร่ 71 กว่าไร่เป็นที่ดินของเกษตรกรเอง ที่เหลือถือเป็นพื้นที่ให้เช่า
พื้นที่เกษตรกรกว่า 30 ล้านไร่ ยังคงติดจำนอง อีก 11 กว่าล้านไร่อยู่ในช่วงการขายฝาก จากสถานการณ์การเป็นหนี้ของเกษตรกร พบว่า ร้อยละ 80 ครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้ในระบบ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนแหล่งเงินที่เกษตรกรกู้ยืมเงินมากที่สุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)
รศ.ดร.เขมรัฐ ยังกล่าวด้วยว่า แนวคิดการที่นำมาใช้กับกลุ่มเกษตรกรในการกู้ยืมเงิน เป็นแนวคิดแบบนีโอคลาสสิก คือ เกษตรกรร่วมกับสถาบันการเงินเปิดช่องทางอย่างเท่าเทียมให้กลไกการตลาดกำหนดอุปสงค์อุปทาน เชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่การใช้แนวคิดนี้กับบริทบของเกษตรกรในเมืองไทยเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกันนโยบายบริหารจัดการลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ของ ธกส. จะไม่ฟ้องลูกหนี้ถ้าหากลูกค้าไม่มีเจตนาผิดนัดชำระและให้ความร่วมมือเจรจาในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมติ ครม. 2550 ระบุว่าจะยื่นฟ้องได้เมื่อเกษตรกรผิดนัดชำระและใกล้จะหมดอายุความ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ศร.ดร.เขมรัฐ ยังกล่าวว่า การออกจากแนวกรอบนีโอคลาสสิก มีดังนี้
1.ภาครัฐต้องเข้าไปโอบอุ้มเกษตรกรอย่างเต็มตัว ในการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ภาครัฐในฐานะพี่เลี้ยงเต็มตัวอาจเข้ามาเป็นผู้ปล่อยเงินกู้กับเกษตรกรรายย่อยแทนสถาบันการเงิน ตัวอย่างเช่น กระทรวงเกษตรอเมริกาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นได้ และสนับสนุนทุนเกษตรกรที่ต้องทุนในการขยายกิจการ มีหน้าที่หลัก 3 อย่างคือ ปล่อยกู้ให้เกษตรกรโดยตรงเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินและธุรกิจ เป็นผู้ค้ำประกันสถาบันการเงิน และเป็นผู้ค้ำประกันเกษตรกรในกรณีที่ต้องการซื้อที่ดินคืน
2.เปลี่ยนแนวคิดจากแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนกลายมาให้ทุนเพื่อรักษาที่ดินให้เงินอุดหนุนโดยตรงกับเกษตรกร โดยเกษตรกรต้องปฏิบัติตามแนวทางอนุรักษ์ ดิน น้ำ
นอกจากนี้ นายสุทิน บรมเจต รองประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเป็นโครงสร้างระบบกฎหมายที่จับมือกับนายทุน ซึ่งไม่เอื้อต่อคนชั้นล่าง เห็นจากหลายปีทีผ่านมา ชาวนาจนลงแต่สูญเสียที่ดินมากขึ้น การฟ้องร้องที่ผ่านมากฎหมายไม่เข้าใจเกษตรกร เมื่อก่อนมีระบบห้ามนำที่ดินขายทอดตลาด ซึ่งถูกยกเลิกไป เกษตรกรต้องสร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุที่ใช้กองทุนฟื้นฟูจะทำให้หนี้สินวนเวียนเหมือนเดิม และรัฐต้องเข้ามาแก้ไขให้เป็นบริบท ต้นทุนแพงจะแก้ไขยังไง ผลิตแบบไหนเกษตรกรจึงจะมีกำไร ทำการวิจัยให้เห็นภาพชัดเจนและแก้ไขปัญหา