เช็กอินลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากับการท่องเที่ยวชุมชน

เช็กอินลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากับการท่องเที่ยวชุมชน

เมื่อพูดถึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ที่นี่เป็นดินแดนแห่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดมาจากบรรพชน ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชุมชมตลอดริมฝั่งทะเลสาบ หรือที่เรียกกันว่า “เขา-ป่านา-เล” เป็นตัวบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนบริเวณลุ่มน้ำชัดเจนที่สุด และปัจจุบันกลายเป็นต้นทุนสร้างโอกาสของการท่องเที่ยวให้กับชุมชน

ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลแบบ “ลากูน” (Lagoon) หนึ่งเดียวในประเทศ ที่มีระบบนิเวศพิเศษสามน้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ทะเลน้อย ทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง และทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย และเป็น 1 ใน 117 แห่งทั่วโลก ที่จัดเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางธรรมชาติของทะเลสาบ ครอบคลุม 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

ด้วยสภาพทางนิเวศที่หลากหลาย เป็นที่ไหลรวมจากต้นน้ำลำคลองเล็ก ๆ และยังมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย ปริมาณและสภาพน้ำในทะเลสาบขึ้นอยู่กับน้ำจืดที่ไหลลงมาและน้ำเค็มจากทะเลหนุนเข้ามา ซึ่งในฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม จะมีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบจำนวนมาก จึงไปผลักดันน้ำเค็มออกสู่อ่าวไทย ในช่วงนี้น้ำในทะเลสาบจะขุ่นและเป็นน้ำจืด

เมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบจะมีน้อย น้ำเค็มจะไหลเข้ามาแทนที่ในช่วงนี้น้ำในทะเลสาบจะกร่อย จากสภาพดังกล่าวทำให้ความเค็มของน้ำในทะเลสาบ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับฤดูกาลและแตกต่างกัน ตอนบนเป็นน้ำจืด ตอนกลางเป็นน้ำจืดถึงกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำกร่อยถึงเค็ม ส่วนในฤดูฝน น้ำท่ามีมาก จึงดันน้ำเค็มออกจากทะเลสาบจนเกือบหมด น้ำจึงเป็นน้ำจืดเกือบทั่วทะเลสาบ ยกเว้นที่ใกล้ปากทะเลสาบเท่านั้นที่ยังเป็นน้ำกร่อยอยู่ จึงมีการกล่าวขานกันว่า ทะเลสาบสงขลาเป็น “ทะเลสาบสามน้ำ”

ไม่เพียงเเต่ระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ วัฒนธรรมชาวชุมชนในสังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ผ่านสั่งสม บ่มเพาะ พัฒนาผ่านห้วงกาลเวลา จนทำให้เกิดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเด่นชัดเป็นเอกลักษณ์ ดังคำกล่าวที่สืบต่อกันมาว่า “สะทิ้งทำหม้อ เกาะยอ ทำอ่าง หัวเขาโพงพาง บ่อย่างขายเคย (กะปิ)”

โจทย์และข้อท้าทายของลุ่มน้ำทะเลน้ำสาบสงขลา กับความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้น วันนี้คนลุ่มน้ำมองโอกาส และทิศทางการไปต่อในเรื่องการท่องเที่ยว การดูแลลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาร่วมกัน ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งเเวดล้อม ได้อย่างไร?

รายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนคนลุ่มน้ำและผู้เกี่ยวข้องตลอดลุ่มน้ำทะเลสาบ กว่า 30 คน ทั้งในบทบาทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน นักอนุรักษ์ ผู้ประกอบการ- นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ มาล้อมวงพูดคุยถึงโอกาสและการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบอย่างมีส่วนร่วม มีหลายคนสะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจ

การเรียนรู้คู่กับการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านและเด็กในพื้นที่ได้ประโยชน์ และสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย เพราะหากเรายืนหยัดในเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม”

ยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง

การสร้างมัคคุเทศก์น้อย เพื่อนำชุดข้อมูลต่าง ๆ ในชุมชน ให้เด็กได้เรียนรู้เป็นวิชาหนึ่ง ที่จะบรรจุเข้าไปในวิชาชีพให้มีจิตสำนึกรักท้องถิ่น รักบ้านเกิดของตัวเอง”

พระครูวิจิตรสาธุรส ชมรมการท่องเที่ยวเกาะใหญ่

ความมั่งคั่งที่อุดมสมบูรณ์ เราจะใช้มันยังไงให้มีคุณค่า ต้นทุนที่เป็นมรดกเเละเราซาบซึ้งกับมัน เราต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาทำนุบำรุงและต่อยอดให้ทรงพลัง

บุญเลิศ จันทระ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ

บุญเลิศ จันทระ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของการยกระดับคุณค่ามูลค่าในมิติของการยกระดับคุณค่านั้นจะเห็นว่าทุนทางวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นความมั่งคั่งที่อุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะในมิติของระบบนิเวศหรือลักษณะทางภูมินิเวศภูมิศาสตร์ที่เป็นอยู่ ไม่ใช่อยู่ดีมันเนรมิตขึ้นมาเอง แต่นี่เกิดขึ้นเป็นล้านปีกว่าจะเกิดทะเล ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นทะเล 3 น้ำไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แล้วยังมีความซับซ้อนเป็นที่มาของการสั่งสมซอฟต์ พาวเวอร์หรือทุนทางวัฒนธรรม อย่างมโนราห์

คลื่นทางวัฒนธรรมทีเข้ามาแล้วบ่มเพาะตัวเองในลุ่มน้ำทะเลสาบมันมโหฬารเหลือเกิน เราจะใช้มันยังไงให้มันมีคุณค่าทั้งคนในท้องถิ่นเองและที่จะยกระดับว่าสิ่งที่เป็นต้นทุนมรดกของเราที่ซาบซึ้งกับมัน เราต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาทำนุบำรุงและต่อยอดมันให้ทรงพลัง

แน่นอนสิ่งที่มีคุณค่าต้องมีมูลค่าเป็นเครื่องมือที่ไปติดศักยภาพของคนในท้องถิ่น ว่าเราจะเล่นเรื่องนี้ด้วยมิติของการท่องเที่ยวนั้นหมายความว่าชุมชนต้องเตรียมตัวยกระดับทั้งคุณค่าทั้งมูลค่ารวมถึงเรื่องความยั่งยืน เป็นโจทย์ท้าทายของโลกสมัยใหม่ถ้าคุณไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ เพราะเกี่ยวกันเป็นห่วงโซ่ เหมือนคำที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

อดีตสำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยเป็นที่ตั้งของเมืองท่าสำคัญบนคาบสมุทรสทิงพระ และเป็นจุดพักของนักเดินเรือในอดีต เพื่อหลบลมมรสุมในเส้นทางการเดินเรือในสมัยโบราณ จึงมีความหลากหลายของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วิถีชีวิตของผู้คนยาวนาน ทั้งชุมชน โบราณสถาน

ด้านเศรษฐกิจของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นอยู่ 3 สาขา คือ เกษตรกรรม ประมง  และการค้าโดยเฉพาะท่องเที่ยวบริการ ที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ และอยู่ใน “เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จำนวน 246 แหล่ง  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 144 แหล่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและชุมชนโบราณกว่าจำนวน 92 แหล่ง 

อุปสรรคและข้อท้าทายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

  • การแก้ปัญหาน้ำเค็มเข้าสู่ทะเลสาบ โครงการปิดปากระวะ ส่งผลให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน กระแสน้ำไม่สามารถไหลเวียนได้ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลด
  • สภาพอากาศที่แปรปรวนและผันผวน ส่งผลต่อการเติบโตของสัตว์น้ำ และผลผลิตทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นต้นทุนหลักของพื้นที่
  • นโยบายการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต คนในลุ่มน้ำทะเลสาบ 
  • สถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ส่งผลกระทบโดยตรงการท่องเที่ยว

ข้อมูลและเส้นทางการท่องเที่ยวตลอดลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลายังไม่เชื่อมต่อกันเป็นระบบ ส่งผลกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา

โอกาสและอนาคตท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

  •  จ.สงขลา โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลาและพื้นที่โดยรอบ มีความโดดเด่นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ในระดับนานาชาติ  และ เป็น lagoon lake ติดหนึ่งใน 117 ของโลง
  • ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘มโนราห์’ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
  • ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีความพร้อมในการพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าได้
  • ภูมิศาสตร์อยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจ เป็นโอกาสในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
  • สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้สังคมไทย เกิดปรากฎการณ์คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเกิดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นโอกาสในการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

ล่าสุดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปีที่ ทำให้สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระจายรายได้ให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ 

ฉากทัศน์ โอกาสของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

จากข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น ชวนอ่านต่อ เพื่อมองทิศทางและอนาคตของลุ่มน้ำทะลเสาบสงขลา 3 ภาพฉากทัศน์

ฉากทัศน์ที่ 1 เช็คอิน  โหนด นา เล วิถีลุ่มน้ำเลสาบสงขลา

  • ฉากทัศน์นี้ เน้นท่องเที่ยวจากต้นทุนวัฒนธรรม -เชิงนิเวศ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว รวมกลุ่มยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน แปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้า ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว เชื่อมโยงวิถีพรุ โหนด นา เล เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวในพื้นที่
  • แต่ฉากทัศน์นี้ รัฐเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนท่องเที่ยวให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่วางไว้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ก็อาจจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรในพื้นที่
  • ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งผลต่อทรัพยากรลุ่มน้ำเริ่มมีใช้อย่างจำกัด หลายภาคส่วนต้องปรับตัว

ฉากทัศน์ที่ 2 ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา Low Carbon Tourism

  • เน้นออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้น้อยที่สุด (Low Carbon) ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เน้นสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เกิดความตระหนักรู้และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อม ๆ กัน
  • เน้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อชุมชนร่วมมือกับชุมชน อาศัยความรู้นำความคิดสร้างสรรค์ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เข้ากับยุคสมัย แต่ฉากทัศน์นี้ภาครัฐ หน่วยงาน ททท. จังหวัดและท้องถิ่นต้องมีบทบาทหลักในการคิด ออกแบบและปฏิบัติร่วมกับภาคประชาชน พัฒนาและต่อยอดจากฐานท่องเที่ยวเดิมที่คำนึงถึงต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม
  • และจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างเร่งด่วนไปพร้อมกับการเปลี่ยนวิถีคิด ในการดูแลรักษาทรัพยากร

ฉากทัศน์ที่ 3 วิถีลุ่มน้ำเลสาบสงขลา- ท่องเที่ยวสโลไลฟ์  – สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

  • จากจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ หมุดหมายปลายทางสำหรับการพักผ่อน
  • เน้นการเที่ยวแบบดูแลสุขภาพ Wellness Tourism  สัมผัสวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น เรียนรู้วัฒนธรรม ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติ  รวมถึงการดูแลสุขภาพอาหารท้องถิ่นปลอดภัยที่มาจากแหล่งกำเนิดเฉพาะ GI  ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวตลอดลุ่มทะเลสาบสงขลา (สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช) เป็นการลงทุนต่อยอดจากฐานทรัพยากรเดิม
  • จุดเน้น เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนรูปแบบของ “องค์กรจัดการลุ่มน้ำในระดับพื้นที่” ในการกำหนดทิศทางและมีกลไกบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างสมดุลและยั่งยืน
  • ฉากทัศน์นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ นักวิชาการ ชุมชน ภาครัฐบาล รวมไปถึงนโยบายฯ ที่ต้องเข้ามาสนับสนุนและลงทุน ในกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับจัดการทรัพยากรของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งไม่ง่ายและต้องใช้เวลา ทั้งนี้แผนพัฒนาจังหวัดและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามกรอบและเงื่อนไขที่ทางมาตรฐานสากลกำหนดไว้

ชวนอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก 3 มุมมอง โอกาสการท่องเที่ยวกับดูแล ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กับตัวแทนจากผู้ประกอบการ ภาควิชาการ และหน่วยงานเอกชน ที่ติดตามประเด็นต่อเนื่องมาร่วมขยายมุมมองให้ฟังในการตัดสินใจกันมากขึ้น

คุณชาญวิทูร สุขสว่างไกร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช อยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีต้นทุนทางธรรมชาติ ทรัพยากร และประวัติศาสตร์ เมื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เรามีเขาลูกลม ชุมชนท่าหิน เรื่องของอาหาร มีปลากะพง 3 น้ำ มะม่วงแช่อิ่มที่ขึ้นชื่อ ซึ่งเรียกว่าทุนทางภูมิปัญญาของคนในชุมชน

จากข้อมูลที่รวบรวมกลุ่มการท่องเที่ยว อยู่ประมาณ 49 กลุ่ม แต่พอเรามีการยกระดับเกิดขึ้นจากโอทอปนวัตวิถีและยกระดับขึ้นมาเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว 39 กลุ่ม ทุกกลุ่มมีการจัดการ ทักษะของการต้อนรับนักท่องเที่ยว มีความรู้ มีการบริหารจัดการในพื้นที่มีทรัพยากรของเขามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้บริหารจัดการคือ โอกาสที่จะเป็นการรองรับของการท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ชุมชนได้มีการร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน คือ มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ เข้าไปเป็นตัวช่วยในการที่สร้างศักยภาพคนในชุมชน ประโยชน์ของการท่องเที่ยวชุมชนก็คือ การแบ่งปันการใช้ประโยชน์ที่ทรัพยากรมีอยู่ทั้งหมดเฉลี่ยกัน เรียกว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า และทุกคนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน

รวมถึงชุมชนมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เกิดการจัดการขยะ การทำปุ๋ยและรีไซเคิล ซึ่งเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน

โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมบูรณาการทำงาน เเละบรรจุแผนในการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ ที่ไม่ปล่อยให้ชุมชนเดินกันเอง

คุณศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์ ผู้ประกอบการและช่างภาพสิ่งแวดล้อม จ.พัทลุง กล่าวว่า ผมมีโอกาสบรรยายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักก่อนลงเรือทุกครั้ง เกี่ยวกับน้ำเค็มไหลมา และน้ำจืดที่ไหลมาจากภูเขา เป็นลักษณะพิเศษที่มีบนโลกใบนี้ เราต่างจากที่อื่นๆเนื่องจากเรามีปลา มีกุ้งแม่น้ำ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ นี่คือโอกาสมหาศาล อย่างบ้านผมอยู่ติดกับป่าอนุรักษ์พื้นที่ 6,400 ไร่ แต่สามารถหาปลาได้ ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้

ผมโชคดีที่ได้ถ่ายภาพลงในอนุสาร อ.ส.ท.เป็นนิตยสารท่องเที่ยว เรื่องการกำเนิดลากูน เล่มล่าสุด ซึ่งเป็นการถ่ายภาพสัตว์ในทะเลสาบสงขลา โลมา นาก นก อื่นๆ

หากพูดถึงการสร้างโอกาสในการท่องเที่ยวในพื้นที่ระโนด ที่นั้นมีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ สำหรับดูแลนกเป็ดหงส์ จากเดิมมีนกเป็ดหงส์อยู่ประมาณ 7 ตัวตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1000 ตัว มีต่างชาติเข้าดูเยอะมาก และที่สำคัญกว่านั้น เดิมพื้นที่ตรงนั้นมีการวางแผนเป็นพื้นที่สำหรับการทิ้งขยะ ซึ่งตอนนี้เเผนได้ถูกถอดถอนออกไป หลังจากนกเป็ดหงส์เข้าไปอยู่

เรามีต้นทุนดีอยู่แล้ว ควรเริ่มจากทำให้บ้านเราน่าอยู่ก่อน แล้วนักท่องเที่ยวเข้ามาเอง ถึงตอนนั้นแล้วควบคุมมันได้ ผมเชื่อเเบบนั้น

คุณชนินทร์ สาครินทร์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.สงขลา กล่าวว่า เทรนด์ข้างหน้าของนักท่องเที่ยว คือความเป็นของแท้และความจริงใจในตัวบุคคลที่เลือกมิตรภาพเป็นตัวตั้ง และการได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

อย่างการเป็นเมืองเวลเนส ต้องออกมาอยู่ในชนบท มีการรักษาแพทย์พื้นบ้าน ผสมผสานกับสมุนไพร นวดแผนโบราณ และอาหาร ซึ่งคนนิยมเรื่องสุขภาพมากขึ้น กินอาหารที่ไม่มีสารเคมี มาท่องเที่ยวแล้วได้พักฟื้นตัวเอง ได้ชาร์ตแบตเตอร์รี่แล้วกลับไปทำงานต่อ

เพราะฉะนั้น สโลว์ไลฟ์ คือ การท่องเที่ยวที่ทุกคนอยู่ในบรรยากาศที่เนิบช้า มีการซึมซับคุณค่า ที่ไม่สามารถสัมผัสได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการสัมผัส อากาศ คน อาหาร ในพื้นที่จริง ความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริง ๆ ชาวบ้านทำให้เรากลับไปนึกถึงสมัยเด็กที่ยังมีธรรมชาติ ใช้ชีวิตไม่รีบร้อน เรามีความสุขมากกว่า

การพัฒนาไปข้างหน้า โดยรักษาความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ และไม่ทิ้งคนในชุมชนไว้ข้างหลัง ทำอย่างไรให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวยั่งยืน และทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งเรามีมรดกวัฒนธรรมที่ดี แต่จะทำอย่างไร ให้เราพัฒนาต่อยอดจากมรดกที่เรามีอยู่ที่ไม่ด้อยค่าตัวเองแล้วต้องพัฒนาขึ้นไป

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนา ที่ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน จากตัวแทนทั้ง 3 ภาพอนาคต ยังมีเสียงของคนในชุมชนให้เราได้ฟัง และร่วมกันคิดต่อ

หลังจากทำความเข้าใจชุดข้อมูลข้างต้นทั้งหมดแล้ว คุณอยากเห็น โอกาสการท่องเที่ยวกับการดูแล “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ไปในทิศทางแบบไหน สามารถโหวตฉากทัศน์ได้เลย……

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ