หลายหน่วยงานร่วมกับประชาชนสร้างฝายมีชีวิต สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย สู้ภัยแล้ง ไว้ให้ลูก-หลาน จากรุ่นสู่รุ่น สร้างฝายมีชีวิต สู้ภัยแล้ง รักษาผืนป่าและต้นน้ำ ไว้ให้ลูก-หลาน
ผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) อบต.-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแม่ปะ และเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก รวมทั้งชุมชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด และทหาร-พระสงฆ์-ชาวบ้าน-กลุ่มพลังมวลชน-นักพัฒนาองค์กรเอกชน กว่า 300 คน ได้ร่วมกันสร้างฝายมีชีวิต ที่หมู่ 6 บ้านห้วยหินฝน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรักษาต้นน้ำ ลำธารและป่าไม้ และยังเป็นการสู้ภัยแล้งที่กำลังจะเข้ามาในปี 2559 ที่ปรากฎว่าต้นน้ำลำห้วยในพื้นที่ ทั้งแหล่งต้นน้ำ จุดสำคัญบนยอดภูเขาหรือยอดดอย เช่นต้นน้ำห้วยหินฝน-ห้วยเตย-ห้วยแล้ง-ห้วยแม่สอด-ห้วยแม่ตาว-ห้วยแม่กุ ฯลฯ สายน้ำที่หล่อเลี้ยงประชาชนในเขต อ.แม่สอด เริ่ม แห้งขอด ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายหมู่บ้าน ทั้งน้ำกิน-น้ำใช้และการทำการเกษตรปลูกพืชผักการเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ- เป็ด ห่าน ไก่ ฯลฯ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้กินไว้ขาย ขาดแคลนน้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิต ประกอบกับผืนดินผืนป่าต้นน้ำลำธารถูกบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ -ผู้นำท้องถิ่นในทุกหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่ต้นน้ำ -กลางน้ำและปลายน้ำ มาร่วมกันสร้างฝายน้ำล้นเพื่อกัก กั้นน้ำ ในรูปแบบ “ฝายมีชีวิต” ฝายที่จะเป็นต้นแบบการเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น โดยนำหลักการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต “สร้างฝายมีชีวิต สู้ภัยแล้ง รักษาผืนป่าและต้นน้ำ ไว้ให้ลูก-หลาน” นอกจากนี้ยังมีการบวชป่า นำผ้าเหลืองมาห่มต้นไม้ใหญ่ เช่นบวชต้นสัก และต้นไม้อื่นๆ ในผืนป่าแห่งนี้อีกด้วย
นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด ที่ได้มาร่วมกิจกรรมสร้างฝายมีชีวิต กล่าวว่า ฝายมีชีวิตแห่งนี้ เป็นของชาวบ้านทุกคนที่ร่วมคิด-ร่วมสร้าง-ร่วมกันรักษา เพื่อ ชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และเห็นว่าฝายมีชีวิต หมู่ 6 บ้านห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ เป็นฝายแห่งความร่วมมือร่วมใจของหลายหน่อยงาน ทั้งภาคราชการ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-ชาวบ้าน-องค์กรพัฒนาเอกชน-ชาวบ้านและพลังมวลชน ที่เริ่มสร้างฝายมีชีวิตป้องกันภัยแร้งและรักษาผืนป่า สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ไว้ไห้กับลูกหลานต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น
ภาพ / ข่าว พิชิต พฤกษาโสภา