เครือข่ายลุ่มน้ำอีสานร่วมค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนยมบน – ยมล่าง

เครือข่ายลุ่มน้ำอีสานร่วมค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนยมบน – ยมล่าง

เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน ร่วมคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน ยมล่าง เพื่อรักษาผืนป่าเอาไว้ให้ลูกหลาน หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

วันที่  24 มกราคม 2566  เมื่อเวลา 09.00 น. บริเวณป่าสักทอง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จัดพิธีบวชป่าสักทอง สืบชะตาป่าดงสักงาม พร้อมด้วยอ่านแถลงการณ์สนับสนุนคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง  ตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป มาประกอบพิธีบวชป่าสักทอง และสืบชะตาป่าดงสักงาม พร้อมปฏิญาณตัวร่วมกันในการต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วยชีวิต เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่กว่า 2 แสนไร่ ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ เป็นพื้นที่ที่บรรพบุรุษอนุรักษ์สืบมา เพื่อให้คนรุ่นหลังหวงแหนไม่ให้มีการทำลายอีกต่อไป

นายณัฐปคัลปภ์ ศรีคำภา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า ได้แสดงความกังวลในเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า “ในส่วนของรัฐที่ยังมีการคลุมเครืออยู่ ในการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบนล่าง ที่ยังไม่มีชัดเจนก็คือการยังไม่มีการเพิกถอนยกเลิกของทางคณะรัฐมนตรีที่ผูกโครงการแก่งเสือเต้นไว้ ดังนั้นถ้าหากแค่มีคำสั่งชะลอโครงการไว้เฉย ๆ โดยไม่มีการยกเลิกหากรัฐบาลยุคไหนขึ้นมา และมีแผนจะสร้างเขื่อนอีกก็หยิบยกขึ้นมาสร้างได้ ในจุดนี้เราจึงมีความกังวล เพราะการจะมีเขื่อน เราจึงมีจิตวิญญาณปลูกฝังจิตสำนึกในการต่อสู้คัดค้านเพื่อให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของป่าในกิจกรรมแต่ละปีเราจึงได้มีกิจกรรมบวชป่าสืบชะตา โดยในตรงนี้เราจึงได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้จักกันทั้งประเทศเพื่อให้พี่น้องได้รู้ว่าป่าสักทองนั้นมีจริงและไม่ได้ทำเพื่อหลอกสายตาประชาชน”

ด้านนายดนัย บุญทิพย์ อายุ 45 ปี คณะกรรมการเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวว่า ถึงแนวทางการเคลื่อนไหวในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นในอนาคตว่า “ตอนนี้ทางพี่น้องเรายังรวมตัวกันอยู่ ร่วมสู้กันอยู่ และยังรักสามัคคีกัน แผนของเราต่อไปคือการวางแนวทางเพื่ออนุรักษ์ป่าและเผยแพร่แนวคิดให้กระจายให้ทั่วทั้งประเทศแก่พี่น้องประชาชน และก็สร้างเครือข่ายขึ้นมาให้รับรู้ร่วมกันซึ่งตอนนี้ก็นำโมเดลการอนุรักษ์ป่าสักทองมาใช้เป็นหลัก”

ในขณะที่นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี อายุ 57  ปี กรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ที่คัดค้านแก่งเสือเต้น ได้กล่าวถึงข้อเสนอว่า “อยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการแก่งเสือเต้นโดยมีมติรับรองของคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังไงก็ดีกว่าการชะลอโครงการไว้เฉย ๆ  และอีกเรื่องที่ทางเราต้องการคือเราเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติแม่ยมเพิกถอนคืนที่ให้ชุมชนเพื่อชาวบ้านจะได้มีสิทธิที่ดินทำกินของตนเองซึ่งชาวบ้านมาอยู่อาศัยในพื้นที่สองสามร้อยปี ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่มีอะไรนี่จึงเป็นข้อเรียกร้องของเรา” 

ข้อเสนออีกข้อของเราคือเราอยากให้รัฐสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการน้ำขนาดเล็กในชุมชนกระจายทั่วทั้งน้ำยม เรามีโมเดลที่เรียกว่า “สะเอียบโมเดล” จากการจัดการน้ำขนาดเล็กที่สะเอียบทำมามีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งแล้ว เราก็เลยอยากให้ภาครัฐผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของในลุ่มน้ำยมครับ

หลังจากนั้นนายการัณ ดิษเจริญ อายุ 25 ปี ตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน ได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง โดยมีเนื้อหาระบุว่า

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน “ร่วมคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง”  33 ปี ของชาวบ้านในพื้นที่สะเอียบที่ได้ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากร ปกป้องวิถี ที่ชุมชนได้กำหนดอนาคตของตนเอง จากความผลักดันของรัฐผ่านหลายยุคหลายสมัยกรณีโครงการแก่งเสือเต้น ตำบลสะเอียบ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2523 หลัง คณะรัฐมนตรีขณะนั้นมีมติให้ กฟผ. วางโครงการอิง-ยม-น่าน และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ใน พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมชลประทานออกแบบ และก่อสร้าง โดยระบุว่าเพื่อแก้ไขความต้องการน้ำในลุ่มแม่น้ำยมและบรรเทาอุทกภัยใน จ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร โดยเฉพาะ จ.แพร่ จะบรรเทาน้ำท่วม แต่การผลักดันโครงการได้ถูกคัดค้านโดยเจ้าของทรัพยากรในท้องที่จนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน-ยมล่าง ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นวงกว้างนั้นไม่เชื่อว่าเขื่อนคือคำตอบในการแก้ไขปัญหาได้ กลับจะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากร ป่าสักทอง วิถีชีวิตที่หมายถึงด้านเศรษฐกิจที่ชุมชนได้พึ่งพามาตั้งแต่ตั้งชุมชน การเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คัดค้านเขื่อนแก่งเสื้อเต้น และเขื่อนยมบน-ยมล่าง ยังยืนหยัดในการคัดค้านเพื่อให้ได้รับชัยชนะ

ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานที่ได้ลงมาพื้นที่สะเอียบ เพื่อมาเรียนรู้การปกป้องทรัพยากร ปกป้องสิทธิชุมชุมชน ปกป้องบ้านเกิด จึงขอร่วมสนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวและคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน-ยมล่าง และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1. ให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง อย่างเร่งด่วน

2. ให้เพิกถอนพื้นที่ตำบลสะเอียบ ออกจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม อุทยานต้องออกไปจากพื้นที่ชุมชน และมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับให้กับชาวบ้านที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน

3. ให้สนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำแบบ “สะเอียบโมเดล” โดยชุมชนเป็นผู้จัดการน้ำทั้งระบบ

4. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าเป็นสิ่งที่ซับน้ำไว้แทนการเป็นเขื่อนถาวรเพื่อความยั่งยืนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ และทำหน้าที่เก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ