ศาลรับฟ้อง! คดีประมงพื้นบ้าน 832 รายฟ้องแพ่ง ร้องตั้งกองทุนฟื้นฟู สวล. 5 พันล้าน ปมน้ำมันรั่วปี 2565

ศาลรับฟ้อง! คดีประมงพื้นบ้าน 832 รายฟ้องแพ่ง ร้องตั้งกองทุนฟื้นฟู สวล. 5 พันล้าน ปมน้ำมันรั่วปี 2565

ศาลระยองรับฟ้อง คดีสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง รวมตัวเป็นโจทก์ 832 คน ยื่นฟ้อง SPRC และ ปตท. คดีผลกระทบกรณีน้ำมันรั่วเมื่อ 25 ม.ค. 65 ชาวบ้านเรียกร้องตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลฯ 5,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าเสียหายต่อระบบนิเวศ ทนายเผยนัดไกล่เกลี่ย 14 มี.ค.นี้

สมาชิกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 800 รวมตัวกันหน้าศาลจังหวัดระยอง
ภาพ: วีรศักดิ์ คงณรงค์

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 13.00 น. สมาชิกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 832 คน รวมตัวที่หน้าศาลจังหวัดระยอง เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย และขอให้ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจำนวนมากจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ในช่วงกลางคืนวันที่  25 ม.ค. 2565 ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางทะเล ก่อนที่ทางจังหวัดจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความโจทก์ กล่าวว่า การยื่นฟ้องคดีแพ่งครั้งนี้ ชาวบ้านประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง ยื่นฟ้อง 2 บริษัท คือ บริษัท SPRC และ ปตท. ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทแม่ โดยมีประเด็นคำฟ้อง คือ ชาวบ้านต้องการเรียกร้องให้บริษัททั้งสองตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายในฐานที่บริษัททั้งสองกระทำละเมิดและก่อเหตุให้เกิดน้ำมันรั่ว พร้อมเรียกค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคนจากเหตุละเมิด รวมทั้งหมด 246,343,799 บาท นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องคดี และค่าเสียหายในอนาคตคนอีกละ 25,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 ปี นับถัดจากวันฟ้อง

ทนายความจาก Rising Sun Law ให้ข้อมูลด้วยว่า ในคดีฟ้องแพ่งนี้มีโจทก์จำนวนมากจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารเพื่อยื่นฟ้อง อย่างไรก็ตามในวันเดียวกัน (23 ม.ค. 2566) ศาลระยองออกคำสั่งรับฟ้องแล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ สวพ 5/2566 และศาลนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 14 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

วราภรณ์ ระบุเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 สมาคมประมงฯ และทีมทนายความ Rising Sun Law ได้ไปยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กรมเจ้าท่า, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมประมง, กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 7 ตามลำดับ ต่อศาลปกครองจังหวัดระยอง เหตุผลเพราะล่าช้า และละเลยการจัดการและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วที่ระยอง เมื่อต้นปี 2565 จนเป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายในวงกว้าง และทำให้อาชีพชาวประมงเสียหาย

คลิกอ่าน: ชาวประมง แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง กว่า 837 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

วราภรณ์ ระบุว่า การติดตามความคืบหน้าขณะนี้ ในส่วนของคดีปกครอง ยังต้องรอศาลพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ยังอยู่ในขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ศาลกำลังตรวจเอกสารอย่างละเอียด เพราะว่าเอกสารค่อนข้างที่จะเยอะ แต่ในวันที่ 8 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลปกครองนัดสืบพยานแล้วเรียบร้อย ในคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2566 ซึ่งต่างจากคดีแพ่งของศาลจังหวัดระยอง ที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว

วราภรณ์ อธิบายถึงการฟ้อง 2 คดี ติด ๆ กันในเวลา 1 สัปดาห์ว่า คดีปกครองกับคดีแพ่งจะต่างกันในส่วนของการรับผิดชอบความเสียหาย คือ คดีปกครอง เหตุการณ์น้ำมันรั่วดังกล่าวอยู่ในขอบเขตสาธารณภัย เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทั้ง 7 หน่วยงานที่ต้องเยียวยา ในฐานะที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องดูแลควบคุมบริษัทเอกชนให้ระมัดระวังการขนย้ายน้ำมัน

ส่วนคดีแพ่งจะเป็นการเรียกร้องต่อบริษัท SPRC และ บริษัท ปตท. เป็นหลัก โดยเรียกร้องให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติฯ แล้วดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัท และชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเงินที่เรียกในคดีแพ่งจะเป็นค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บริษัทกระทำละเมิดที่ก่อเหตุให้เกิดน้ำมันรั่ว

ภาพ: วีรศักดิ์ คงณรงค์

ด้าน วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่น จ.ระยอง กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อบริษัท SPRC เเละ ปตท. ครั้งนี้ เพราะเล็งเห็นว่าบริษัททั้งสองมีส่วนสร้างผลกระทบและมลภาวะให้กับทะเลระยอง และการฟ้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของชาวประมงคืนมา เพราะที่ผ่านมาบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและตรงจุด

“ใจความที่เรามาฟ้องวันนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันมีเรื่องของความเสียหายภาพรวม ทั้งในเรื่องอาชีพ เรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทฯ ต้องชดใช้และแก้ไข” วีรศักดิ์ กล่าว

000

คลิกอ่าน: หมุดสถานการณ์ ชาวประมงและผู้ประกอบการทะเลระยอง ถึงเวลาฟ้องศาล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ