เปิดประตูสู่ “แก่งละว้า” เบิ่งแงงพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ

เปิดประตูสู่ “แก่งละว้า” เบิ่งแงงพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ

“เบิ่งแงงกันเด้อ” ถ้อยคำภาษาอีสานที่คนอีสานมักพูดแสดงถึงความห่วงใยกันและครั้งนี้ผู้เขียนจะพาไปพูดคุยและรู้จัก “แก่งละว้า” พื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ มหานครขอนแก่น ที่ชุมชนโดยรอบตั้งใจดูแลเบิ่งแงง เพื่อแสดงความ “ฮักแพง” ที่มีต่อกัน

“แก่งละว้า” จ.ขอนแก่น เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetland) ที่มีความสำคัญระดับชาติ 1 ใน 12 แห่งของภาคอีสาน บนพื้นที่กว่า 17,400 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล ใน 2 อำเภอ คือ อ.บ้านไผ่ และอ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น แก่งละว้านับเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นทั้งแหล่งหาอยู่หากิน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ การเกษตร และเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาสำหรับ อ.บ้านไผ่  อ.บ้านแฮด และ อ.โนนศิลา มีชาวบ้านใช้ประโยชน์รอบแก่ง เบื้องต้น 12 หมู่บ้าน และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพบข้อมูลไม้ยืนต้นและล้มลุก 58 ชนิด เช่น  สะแกนา ทองกวาว พุทรา โคกกระออม กกกลม กระจับสี่เขา  พบนกกว่า 107 ชนิด มีชนิดที่จัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ คือ เหยี่ยวดำ และพบปลาอย่างน้อย 57 ชนิด มีปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน ซึ่งอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และ ปลากัดเขียว ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

จรูญพิศ มูลสาร เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า เล่าว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้านั้น มีความหลากหลาย มีทั้งคนที่เข้าไปหาอยู่หากินซึ่งถือว่าเป็นวิถีของพี่น้องชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรม อาจมองแก่งละว้าเป็นเพียงภาชนะเก็บน้ำ จึงนำมาสู่ความกังวลใจถึงปัญหาและผลกระทบกับชาวบ้านชุมชนโดยรอบ เพราะก่อนหน้านี้ เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมจากการสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมข้างนอกและท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จากนั้นชาวบ้านจึงได้มีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ชาวบ้านชุมชนโดยรอบ จึงรวมกลุ่มหารือเพื่อหวังจะดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ไม่ควรจะมองเป็นแค่ภาชนะเก็บน้ำ จึงเกิดกลุ่มขบวนของชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ เริ่มจากการเป็น เครือข่ายอนุรักษณ์และฟื้นฟูแก่งละว้า ในพื้นที่แก่งละว้าไม่ได้มีแค่เครือข่ายที่พูดเรื่องการอนุรักษ์มันมีวิถีความสัมพันธ์ของคนกับแก่งอย่างกลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มหาปลา กลุ่มเก็บไหลบัว กลุ่มเลี้ยงควายและกลุ่มทำนา ในเมื่อมีหลากหลายกลุ่มคน หลากหลายวิถีชีวิตและการพัฒนาที่เข้ามาหลากหลายรูปแบบ”

ข้อมูลจาก แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น 2566 – 2570 ระบุว่า ขอนแก่นมีศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) และกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และคมนาคมที่สำคัญของภาคอีสาน เป็นพื้นที่เป้าหมายในโครงการ “การพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เชื่อมโยงระหว่าง 5 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมา โดยขอนแก่น มีนโยบายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ smart city/ smart industry คือ 1. รักษาสิ่งแวดล้อม  2. ใช้พลังงานน้อยลง  3. ชุมชนกับอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

แก่งละว้าคือพื้นที่เป้าหมาย นโยบายอุตสาหกรรม “เศรษฐกิจชีวภาพ”

  • รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
  • มีพื้นที่นำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และภาคอีสาน ได้แก่ จ.ขอนแก่น
  • โครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางประมาณการลงทุน 29,705 ล้านบาท
  • แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ

บริษัทเอกชน เตรียมที่ดินกว่า 4 พันไร่ ใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น รองรับ“นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ”

“แก่งละว้ามีสิ่งที่มีคุณค่าซ่อนอยู่ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตหรือความหลากหลายของฐานทรัพยากร แต่มัน ถูกมองแค่ตอบสนองนโยบายใหญ่ของรัฐคือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมชีวิภาพนำร่องของประเทศไทย”

จรูญพิศ มูลสาร เล่าต่อว่า “ถ้าเราปล่อยไปมันจะเกิดปัญหาเช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การแย่งชิงทรัพยากรของคนที่อยู่ในพื้นที่ เครือข่ายแก่งละว้าจึงไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง จากนั้นเครือข่ายชาวบ้านรอบ ๆ แก่งก็มีความพยายามในการทำงานทั้ง งานวิจัยแบบไทบ้าน การยกระดับวิถีชีวิตของพี่น้องรวมถึงการท่องเที่ยว แต่ก็ยังเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำเราก็เลยมองว่า จริง ๆ แล้วแก่งละว้ามีสิ่งที่มีคุณค่าซ่อนอยู่ไม่วาจะเป็นวิถีชีวิตหรือความหลากหลายของฐานทรัพยากร แต่มันถูกมองข้ามด้วยการพัฒนากระแสหลัก ถูกมองแค่ตอบสนองนโยบายใหญ่ของรัฐคือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมชีวิภาพนำร่องของประเทศไทย แต่เรามองว่ามันไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ถ้าคนภายนอกไม่เห็นความสำคัญไม่เห็นคุณค่าของพื้นที่ เราคนภายในต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ตัวเองก่อน เลยคิดว่ามันน่าจะมีการ “โฮมบุญ” ของพี่น้องที่อยู่รอบแก่งละว้า เพื่อเปิดประตูให้คนที่อยู่ภายนอกมาเห็นมาสัมผัสกับสิ่งที่ดีงามที่มีอยู่ในแก่งละว้า

มหกรรมเปิดประตูสู่ “แก่งละว้า” ครั้งที่ 1  “ตุ้มโฮมไทบ้าน สืบสานวิถีคนแก่ง เบิ่งแงงธรรมชาติ บรรยากาศโฮมบุญ”

“เราอยากประกาศให้สังคมข้างนอกเห็นว่าของเรามีดี อนาคตมองว่าจะเป็นช่องทางเชื่อมโยงกับกับภายนอกที่จะยกระดับสิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยวหรือการต่อยอดต้นทุนที่มีอย่างเช่นปลา แต่ ณ ตอนนี้ปลามีอยู่แค่แก่งละว้าแล้วก็ขายปลาสด แต่ภายในงานเราจะพยายามให้เห็นว่าปลาสามารถยกระดับเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู รวมถึงไหลบัวที่จะเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ทั้งเรื่องอาหารและเป็นฐานทรัพยากร อีกอย่างเราก็อยากให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคีกันและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี”

จากไทบ้านสู่การร่วมมือของท้องถิ่น 

“สิ่งสำคัญไทบ้านต้องเห็นคุณค่าของเจ้าของก่อน นอกจากชาวบ้านจะนำเสนอแล้ว อีกส่วนหนึ่งคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ตอนนี้เราก้พยายามเชื่อมให้หน่วยงานเห็นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจังหวัด หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม อย่างงานนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาคีที่อยู่ในจังหวัดเช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น หรือแม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีบทบาทหลัก

อย่างเราเคยไปคุยว่าท้องถิ่นนี้มีทิศทางหรือนโยบายการพัฒนาแก่งละว้าแบบไหน เขาก็ตอลว่าไม่ได้คิดอะไรไว้เลย เราเลยคิดว่าถ้ามีการจัดกิจกรรมแบบนี้ทางหน่วยงานอาจจะจิตนาการออก เช่นเรามีเรือแล้วก็จัดรับนักท่องเที่ยวลงไปชมแก่งละว้าเป็นทริปเล็ก ๆ เขาอาจจะคิดต่อยอดออกว่าถ้าสร้างเศรษฐกิจหรือสร้างรายได้จากต้นทุนทีมีอยู่ต่อไปมันจะหนุนเสริมเพื่อให้ชาวบ้านไปต่อกันได้อย่างไร หรือที่นี่มีการปลูกผักเยอะมันจะเชื่อมคนภายนอกที่ไม่ใช่แค่ อปท. หรือคนเมือง ถ้าเขาเข้ามาแล้วเห็นว่า มันมีปลาในแก่งละว้าเยอะนะ มีผักในแก่งละว้าเยอะนะ แล้วมันจะไปต่อยังไง หรือถ้าหาก ททท. และหน่วยงานอื่น ๆ มาเห็น มันอาจจะเกิดการเชื่อมโยงอาชีพที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่นตอนนี้มีอาชีพหาปลา เลี้ยงปลา อาจจะเกิดอาชีพคนแปรรูปปลาเกิดขึ้นก็จิตนาการไปหรือว่าที่มีการพูดถึงทะเลบัวแดงในพื้นที่อื่นมันก็อาจจะเกิดการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในแก่งละว้า คิดว่ามันจะเกิดการต่อยอดเพื่อนสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยชาวบ้านมีส่วนร่วม  

ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงนวัตวิถีที่เป็นหน่วยงานรัฐนำเข้ามา มีการลงทุนแต่สุดท้ายบอกว่าชาวบ้านไม่ดูแลไม่เห็นประโยชน์ เราก็เลยมองว่ามันน่าจะเกิดจากที่ชาวบ้านไม่ได้เริ่มคิดตั้งแต่ตอนแรก แต่ถ้าอันนี้ชาวบ้านได้เริ่มทำ มันอาจจะไม่ใช่ว่าเราลงไปอำนวยความสะดวกแต่คือถ้าคุณเข้ามาคุณได้ใช้บริการเรือ ถ้าคิดว่าหน่วยงานอยากต่อยอดมันอาจจะเกิดจุดเช็คอินในแหล่งน้ำ หรืออื่น ๆ มันอาจจะเกิดขึ้นหลังจากงานนี้”

จรูญพิศ มูลสาร ยังได้ย้ำถึงความพยายามในการช่วยกันดูแล เบิ่งแงง ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่และคนที่อาศัยอยู่รอบแก่งละว้า “จุดนี้ที่เราทำอาจจะไม่ใช่แค่แก่งละว้า เราพยายามที่จะเป็นตัวแทนของมุมมองการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำหรือการพัฒนากระแสหลัก ว่าจริง ๆ แล้วมันควรจะมีการประเมินศักยภาพพื้นที่แล้วกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับต้นทุนและศักยภาพที่มี แต่การพัฒนากระแสหลัก ณ ปัจจุบันอย่างที่บอกมันคือการที่รัฐชี้นิ้วจิ้ม 1 2 3 4 จุดนี้ต้องเป็นแบบนี้ และอีกส่วนหนึ่งกำลังมองเรื่องการพัฒนาพื้นที่บ้านไผ่ที่จะมีการเติบโตแล้วเป็น “ฮับ” โลจิสติกส์ เราเลยคิดว่าพี่น้องในพื้นที่ควรจะได้ประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านี้ โดยนำฐานทรัพยากรและต้นทุนแล้วรัฐก็ควรมาหนุนเสริมให้มันต่อยอดและใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีในพื้นที่”

ความหวังคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาบ้านเกิด

“มองอยู่สองมุม มุมแรกคือต้นทุนเยาวชนที่มีอยู่ในพื้นที่จากการที่เราทำงาน เราพยายามที่จะให้เขาเข้าไปเห็นในพื้นที่เพราะที่ทำงานกับพี่น้องหรือเยาวชนรอบ ๆ แก่งละว้าส่วนมากเด็ก ๆ ที่อยู่รอบแก่งละว้าไม่มีโอกาสลงไปสัมผัสในแก่งละว้า อาจจะด้วยสังคมสมัยใหม่ที่ต้องส่งเด็กออกไปข้างนอกชุมชน ไปเรียนหนังสือ ไปทำงานและเจริญก้าวหน้าข้างนอก เหมือนกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเขาเองไม่ได้มีวิถีที่ผูกกับแก่งละว้าแต่เราก็พยายามที่จะปรับโดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไม่ว่าจะเป็นการจัดค่ายหรือที่ร่วมกับไทยพีบีเอสที่จะสร้างเยาวชนเพื่อเป็นสื่อในท้องถิ่น แม้ว่าบางคนจะออกไปเรียนข้างนอกแต่ถ้าเขามีความทรงจำวัยเด็กเขาก็อาจจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเขา มุมที่สองคนรุ่นใหม่บางคนช่องทางที่เขาจะออกไปข้างนอกมีน้อย เขาอาจจะต่อยอดจากสิ่งที่มีในพื้นที่เราก็พยายามที่จะเปิดมุมมองให้เขาเห็นสิ่งนี้ ส่วนอันที่สามคือกลุ่มเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถที่ชอบทำกิจกรรม เขาก็จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ในรุ่นต่อไป สิ่งนี้เราก็พยายามทำกันอยู่

ซึ่งในงานนี้กิจกรรมส่วนหนึ่งก็จะให้เด็ก ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้อย่างเช่น กิจกรรมวาดภาพ การแปรรูปอาหาร โดยมีพ่อ ๆ แม่ ๆ ปราชญ์ชุมชนเป็นผู้สอน อย่างการแปรรูปปลาตอง ร่วมถึงกิจกรรมการตอบปัญหาเกี่ยวกับแก่งละว้าประมาณนี้”

มหกรรมเปิดประตูสู่ “แก่งละว้า” ครั้งที่ 1  “ตุ้มโฮมไทบ้าน สืบสานวิถีคนแก่ง เบิ่งแงงธรรมชาติ บรรยายกาศโฮมบุญ” จะจัดขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.  ณ ท่าน้ำเขตอนุรักษ์ เทศบาลตำบลโคกสำราญ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น มีกิจกรรมมากมายอาทิเช่น แข่งขันตกปลาชะโด ปลากระสูบ, แข่งขันตำไหลบัวลีลา, Master Chef แก่งละว้า, สอยดาวการกุศล, ประกวดควายขี้เหร่,กีฬาพื้นบ้าน,ซุ้มโชว์ผลิตภัณฑ์จากชุมชน, ทริปลงเรือชมแก่งละว้า, มหรสพหมอลำกลอน หมอลำวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน และวงโสเหล่ “ถามข่าวคนบ้านน้ำ ชีวิตคนแก่งละว้ากับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ที่จะมาพูดคุยและร่วมกันออกแบบอนาคตของแก่งละว้าร่วมกัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟสบุ๊ค เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น และติดตามประเด็น เรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจ อยู่ดีมีแฮง และเว็บไซต์ www.thecitizen.plus

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ