เรียบเรียง : นาตยา สิมภา
“แก่งละว้า” จ.ขอนแก่น เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetland) ที่มีความสำคัญระดับชาติ 1 ใน 12 แห่งของภาคอีสาน บนพื้นที่กว่า 17,400 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล ใน 2 อำเภอ คือ อ.บ้านไผ่ และอ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น แก่งละว้านับเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นทั้งแหล่งหาอยู่หากิน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ การเกษตร และเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาสำหรับ อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด และ อ.โนนศิลา มีชาวบ้านใช้ประโยชน์รอบแก่ง เบื้องต้น 12 หมู่บ้าน รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน โดยแก่งละว้ารองรับน้ำจาก 4 ส่วน สำคัญ คือ
ส่วนที่ 1 ลำห้วยเอียน หนองกองแก้ว กุดละว้า
ส่วนที่ 2 จากบ้านไผ่ ห้วยจิก ห้วยบ้านเป้า
ส่วนที่ 3 จากห้วยบ้านดู่ใหญ่ เมืองเพีย
ส่วนที่ 4 น้ำในลำน้ำชีไหลที่หลากล้นตลิ่งในเขตอำเภอชนบท (ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือน้ำ)
ส่วนทางน้ำออกจะลงห้วยจิบแจบ ห้วยปากผีแปง ห้วยน้ำลัด และลงสู่ลำน้ำชีต่อไป
แก่งละว้ากับทรัพยากรชีวภาพ
“แก่งละว้า” มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพบข้อมูลไม้ยืนต้นและล้มลุก 58 ชนิด เช่น สะแกนา ทองกวาว พุทรา โคกกระออม กกกลม กระจับสี่เขา พบนกกว่า 107 ชนิด มีชนิดที่จัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ คือ เหยี่ยวดำ และพบปลาอย่างน้อย 57 ชนิด มีปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน ซึ่งอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และ ปลากัดเขียว ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
แก่งละว้ามีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา แก่งละว้ามีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง เพื่อนำไปต้มเกลือ
ปี 2503 เริ่มมีการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ไร่โดยรอบชุมชน
ปี 2527 กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยสร้างคันดินรอบพื้นที่แก่ง ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นถนนในปัจจุบัน
ปี 2535 เปิดพื้นที่ปลูกปอ และเริ่มปลูกอ้อยในปี 2547
ปี 2538 เริ่มมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบ อบต. มีการพัฒนาพื้นที่โดยสร้างฝายกั้นลำน้ำต่าง ๆ และสร้างถนนหมายเลข 229 เชื่อมต่อ อ.บ้านไผ่ – อ.ชนบท- อ.มัญจาคีรี
ปี 2561 กรมชลประทานเข้ามาพัฒนาพื้นที่แก่งละว้า เพื่อหาน้ำดิบทำน้ำประปา
ปี 2561 ภาครัฐมีนโยบายให้พื้นที่บ้านไผ่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม “เศรษฐกิจชีวภาพ” และมีโครงการสร้างมอเตอร์เวย์โคราช-ขอนแก่น พัฒนารถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย
โอกาสและศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวของแก่งละว้า
แก่งละว้าห่างจากอําเภอเมืองขอนแก่นประมาณ 40 กิโลเมตร ห่างจากตัวอําเภอบ้านไผ่ ประมาณ 15 กิโลเมตร
- พื้นที่ขอนแก่นอยู่ใน พื้นที่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง การเจริญเติบโตทั้งทางเส้นทางคมนาคมการขนส่งและเส้นทางรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางมอเตอร์เวย์ มีการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจ แผนการพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อําเภอบ้านไผ่อีกหลายด้าน
- นโยบายทั้งระดับจังหวัดและอําเภอได้มีการวางแผน พัฒนา “การท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม” ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศจีนสู่ประเทศอาเซียน
แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น 2566 – 2570 ระบุว่า ขอนแก่นมีศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) และกำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และคมนาคมที่สำคัญของภาคอีสาน เป็นพื้นที่เป้าหมายในโครงการ “การพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เชื่อมโยงระหว่าง 5 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมา โดยขอนแก่น มีนโยบายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ smart city/ smart industry คือ 1. รักษาสิ่งแวดล้อม 2. ใช้พลังงานน้อยลง 3. ชุมชนกับอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
แก่งละว้าพื้นที่เป้าหมาย นโยบายอุตสาหกรรม “เศรษฐกิจชีวภาพ”
- รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
- มีพื้นที่นำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และภาคอีสาน ได้แก่ จ.ขอนแก่น
- โครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางประมาณการลงทุน 29,705 ล้านบาท
- แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ
- บริษัทเอกชน เตรียมที่ดินกว่า 4 พันไร่ ใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น รองรับ“นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ”
ข้อท้าทายหลายอย่างทำให้ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ต้องช่วยกันมองภาพอนาคตและออกแบบการใช้ประโยชน์ร่วมกันของแก่งละว้า นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของระบบนิเวศแล้ว โจทย์การออกแบบ การดูแล และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จะช่วยให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องมองภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นและเตรียมรับมือได้อย่างเข้าใจ ผ่านการฟังเสียงคนในชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ด้วยหัวใจที่เปิดรับเพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและร่วมหาทางไปต่อ
ดังนั้น Thai PBS โดยฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม ทีมวิจัยไทบ้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม (RSDI) ม.ขอนแก่น และเครือข่ายสื่อพลเมืองจึงได้เปิดพื้นที่การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีการรับฟังและนำไปสู่การแก้ปัญหาบนฐานข้อมูล (Database) ผ่านการทำงานของโครงการฟังเสียงประเทศไทย Next Normal โดยมีการบันทึกรายการพร้อมชวนคุยถึงมุมมองและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก “หัวโนนจาน” พื้นที่อนุรักษ์สำหรับทำกิจกรรมของชุมชน ที่รายการล้อมวงสนทนา เมื่อวันอังคาร ที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยน รับฟังข้อมูลเพื่อรวมมองภาพอนาคตร่วมกัน ทั้งเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า และหน่วยงานท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่รอบแก่งละว้ารวมกว่า 30 เพื่อพูดคุย ฟังเสียงและหาทางออกร่วมกัน ถึง “ภาพอนาคตของแก่งละว้า” กับ 3 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น
รายการฟังเสียงประเทศไทยยังมีข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย
-ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ 1-
สุรพงษ์ วงชารี นายกองค์การบริการส่วนตำบลเมืองเพีย จ.ขอนแก่น
“แก่งละว้าเป็นพื้นที่หากินของชุมชนโดยรอบของอำเภอบ้านไผ่ เมื่อก่อนพื้นที่ของแก่งละว้าเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งแม่น้ำจากหนองกองแก้วผ่านลงมาลำห้วยกุดละว้าและเชื่อมต่อแก่งละว้าบริเวณที่เกษตรกรเลี้ยงควายฝูงใหญ่อยู่ตรงนั้น น้ำสายนี้จะไหลลงสู่กุดละว้าแล้วไหลลงแก่งละว้าและไหลลงสู่ประตูน้ำโคกสำราญ เมื่อก่อนวัชพืชในแก่งละว้าจะไม่มีเพราะว่าน้ำจากชนบทจะไหลลงสู่กุดละว้าแล้วก็ลงสู่แก่งละว้า ก็จะเป็นแหล่งที่แม่น้ำทั้งสองแห่งจากลำน้ำชี เมื่อก่อนยังไม่มีชลประทานที่มาปั้นเป็นทำนบที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำของชลประทาน”
“ต่อมาในปัจจุบันนี้ก็ทำให้แหล่งน้ำของแก่งละว้าตื้นเขินขึ้น เพราะว่ามันไม่มีแหล่งน้ำที่จะไหลผ่านเหมือนแต่ก่อน ตั้งแต่สมัยยังไม่มีชลประทานที่มาปั้นเป็นทำนบกั้นกักเก็บน้ำให้พี่น้องชาวตำบลเมืองเพียใช้กัน ในปัจจุบันทำให้แก่งละว้าเป็นแหล่งที่รก มีวัชพืชเกิดขึ้นเต็มบริเวณรอบแก่งละว้าโดยรวมเลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตำบลโคกสำราญ ตำบลเมืองเพียและตำบลบ้านไผ่ เพราะว่าเป็นแหล่งน้ำที่ไม่มีอะไรกีดกั้น
ก็มีหน่วยงานที่เอามาเป็นประเด็นว่าจะพัฒนาแก่งละว้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างอุดมสมบูรณ์ให้ชาวตำบลเมืองเพีย ตำบลโคกสำราญและชาวตำบลบ้านไผ่ การที่ทุกหน่วยงานมาพูดว่าจะเอาแก่งละว้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมสักหน่วยงาน มีแต่มาเสนอเพราะว่าการที่จะมาทำก็ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยก็เป็นหลักร้อยล้านขึ้นนะผมว่าถึงจะทำได้ ก็ได้ยินว่าทางหน่วยงานจากส่วนกลางของชลประทานก็มาสำรวจจะขุดลอกให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้พี่น้องชาวตำบลเมืองเพีย ตำบลโคกสำราญแล้วก็ตำบลบ้านไผ่ที่อยู่รอบอ่างแก่งละว้าได้มีน้ำ ใช้อย่างพอเพียงในฤดูแล้ง”
ขณะเดียวกัน จรูญพิศ มูลสาร เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า ก็ได้ให้ข้อมูลและมุมมองเพิ่มต่อฉากทัศน์ 1 ผ่านการทำงานใกล้ชิดพื้นที่และผู้คนรอบแก่งละว้า
“เราที่ทำงานอยู่รอบแก่งละว้า พี่น้องที่อยู่แก่งละว้าที่เราไปพบเจอต่างก็บอกว่า “เงินร้อยล้านอยู่ในแก่งละว้า” ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าแบบ ณ ปัจจุบันที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แก่งละว้าก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายชาวบ้านก็หาอยู่หากินอย่างหาปลา หากุ้ง ถ้าขับรถมาก็จะเห็นมีการใส่กุ้ง ใส่ลอบ ใส่ดางแล้วก็เก็บไหลบัว ดอกบัว อย่างที่สองมีการ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” ไม่ใช่แค่การหาแต่มีการทำอยู่ทำกินที่แทรกอยู่ก็จะมีการทำนาข้าว เลี้ยงควายก็ถือเป็นการทำอยู่ทำกินเหมือนกัน การเลี้ยงควาย การเลี้ยงปลาก็มีหลากหลายในการที่จะทำการผลิตหรือการปลูกผักริมแก่งก็ถือว่าเป็นการทำอยู่ทำกินคือการเอาน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการปลูกผัก ซึ่ง ณ ตอนนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการผลิตสู่ตลาดข้างนอกเยอะ นี่คือการทำแบบตามสภาพที่เป็นอยู่ไม่ได้ยกระดับมัน
ในมุมคิดของตัวเองก็คิดว่ามันก็ดีในการรักษาวิถีชีวิตแล้วชาวบ้านก็ได้อยู่และใช้ประโยชน์จากแก่งละว้า แต่ก็มองถึงข้อจำกัดว่ามันเป็นไปได้ยากเพราะแก่งละว้าไม่ใช่ของคนรอบแก่งอย่างเดียว แก่งละว้ายังต้องผลิตน้ำประปาไปให้เมืองใช้อยู่ ปีที่แล้งที่สุดที่น้ำไม่มีจนเห็นตอไม้ผุดปีนั้นก็วิกฤต ซึ่งถ้ามองว่ามันจะเป็นตามฉากทัศน์ที่ 1 มันก็จะยากเพราะคนเมืองก็จะเดือดร้อน”
– ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ที่ 2-
นริศร จรรยานิทัศน์ สมาชิกกลุ่มบ้านไผ่น่าอยู่
“แก่งละว้าถือว่าเป็นแหล่งน้ำมีความสำคัญ ผมเชื่อว่าตั้งแต่สมัยโบราณแล้วครับ เนื่องจากว่ามันมีบ่อน้ำและแหล่งเกลืออยู่ข้างกัน เพราะฉะนั้นผมมองว่า แรกเลยแก่งละว้ามีความสำคัญในด้านโบราณคดี ความเป็นมาของบ้านเมืองในประวัติศาสตร์ อาจจะมีก่อนประวัติศาสตร์ก็ได้ ผมเชื่อว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนในปัจจุบันให้รู้ถึงตัวตนของตัวเอง ว่าความเป็นมาของเราเป็นอย่างไร อันนี้คือข้อแรก”
“ข้อที่สองในเมื่อแก่งละว้ามีขนาดใหญ่ นอกจากการที่เราได้ใช้น้ำจากแก่งแล้ว การที่เป็นแหล่งรวมของสัตว์นานาพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในนี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตให้เยาวชนได้มาเรียนรู้แหล่งธรรมชาติว่าระบบนิเวศที่มันเกิดขึ้นอยู่ไม่ใช่แค่มนุษย์คนเดียวที่ชี้ชะตาโลกได้ เราต้องให้สิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ให้เขาได้อยู่กับเราด้วย เพราะฉะนั้นเป็นการสอนตัวเองและสอนให้เรียนรู้ว่าที่นี่ไม่ได้มีเราอยู่แค่คนเดียวเราต้องอยู่กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ด้วย และต่อไปจะสร้างเป็นรายได้ให้กับทาง อบต. อบจ. หรือกับชาวบ้าน เช่น ปลูกทุ่งบัวบาน ทำแหล่งท่องเที่ยวในแก่งละว้า
เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชน ไม่จำเป็นว่าชาวบ้านทุกคนต้องเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือแรงงานอุตสาหกรรม เราสามารถใช้ชีวิตในแบบของวิถีเราก็ได้ เพราะฉะนั้นที่ทางรัฐอยากให้แก่งละว้าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม อยากฝากไปทางผู้ที่เกี่ยวข้อง แก่งละว้าเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ หลายคนก็อยากเข้ามาอยู่ในร่ม แต่มันก็ขาดความมีเอกภาพในการบริหารจัดการในอนาคต เนื่องจากอำเภอบ้านไผ่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เริ่มเข้าโหมดเป็นชุมทางระดับประเทศ ต่อไปไม่ว่าเราจะไปเวียดนาม ไปพม่าหรือไปประเทศจีน ก็สามารถขึ้นได้อยู่ที่บ้านไผ่เลย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาบ้านไผ่เยอะมากขึ้น
จึงอยากเสนอว่าให้แก่งละว้ามีหน่วยงานดูแลเพียงหน่วยเดียว โดยมีหน้าที่ดูแลแก่งละว้าด้วยการบูรณาการขึ้นตรงกับรัฐมนตรีสำนักนายกก็ได้ ให้เป็นองค์กรที่ว่ามีความสามารถในการบริหารจัดการแก่งละว้าไปในทิศทางเดียวกัน เพราะว่าทุกวันนี้มีไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยงานที่รวมกันอยู่ เลยอยากจะฝากไว้ว่าอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาก็อยากให้คิดถึงเผื่อคนในท้องที่ด้วยว่าคนที่อยู่ในท้องที่ก็ต้องอาศัยน้ำในการอยู่การกิน
ผมว่าอันดับหนึ่งในการที่รัฐบาลดูแลคือสำหรับประชาชนครับ อุตสาหกรรมมาทีหลังและความเป็นมิตรของอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อมก็ต้องมี ไม่ใช่ว่า 5 ปี ชาวบ้านไม่มีคุณภาพชีวิต ต้องขึ้นไปอยู่คอนโดไม่ได้คุยกับใครและเสียชีวิตไปเพราะไม่มีคุณภาพชีวิต เลยอยากฝากประเด็นเหล่านี้ไปกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมอยากจะให้เป็นองค์ดรเดียวที่เข้ามาบริการจัดการเชิงบูรณาการอยู่ที่แก่งละว้าครับ”
-ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ 3-
จิตติ กิจพง์ประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“สำหรับรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนะครับ ถ้าพูดภาพใหญ่ผมมองว่ามันค่อนข้างจะโอเคนะ โดยจะเอื้อต่อชุมชนแล้วก็เอื้อต่อระบบทุนอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำยังไงให้นโยบายมันใช้ได้จริงและปฏิบัติการได้จริง อย่างเช่นด้านสิ่งแวดล้อมโรงงานที่ไม่ปล่อยของเสียลงในสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นะครับจะทำยังไงให้มันมีการใช้กฎหมายกฎระเบียบอย่างเข้มข้นนะครับ”
วิธีการหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นทางออกถ้าเป็นทางเลือกได้ก็คือว่าเราคิดว่าจะมีกองทุน กองทุนที่ไม่ใช้คำว่ากองทุนที่เกิดจากนโยบายรัฐที่ไปตั้งอยู่ตรงกลางนะครับ ที่ควบคุมโดยคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียว จะเป็นกองทุนที่ทำมาให้ชาวบ้านได้เฝ้าระวังดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเอง คือเฝ้าระวังร่วมกันกับคนในพื้นที่ด้วยกันนะครับอาจจะเป็น กองทุนที่สามารถที่จะใช้ในการใช้จ่ายในเรื่องการซ่อมแซมสิ่งแวดล้อมได้ด้วยนะครับดูแลรักษาแล้วก็แม้กระทั่งชีวิตผู้คนด้วยการรักษาความสุขภาพกับผู้คนในชุมชนด้วยนะครับเเต่ที่สำคัญก็คือว่านโยบายรัฐเองเนี่ยจะต้องมองในเรื่องของวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนด้วย”
“ผมยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของการเคารพต่อความเป็นชุมชนนะครับ เพราะว่าระบบทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่เราจะมองเรื่องของผลกำไรผลผลิตนะครับแล้วก็มองเรื่องของการจัดการที่เป็นระบบของทุนมากกว่าจะไม่มองจากการเชิงบวก ที่เอาชุมชนมาร่วมกับเรื่องคาดฝันผลประโยชน์ในพื้นที่การใช้ทรัพยากรร่วมกันน้ำดินป่าอะไรพวกนี้นะครับ
ผมคิดว่ามันน่าจะมีนโยบายที่มันชัดเจนเรื่องนี้แล้วก็ให้ชุมชนเนี่ยมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนะครับแล้วก็อุตสาหกรรมที่เข้ามาจริงแล้วเนี่ย ควรจะต้องเคารพด้วยนะครับ เคารพต่อความเป็นวิถีของคนในชุมชนด้วย นะครับไม่ทำให้เขาเกิดความเป็นอยู่ที่ผิดไปจากเดิม ต้องเคารพและให้เกียรติเขานะครับแล้วก็สามารถที่อยู่ร่วมกันได้นะครับผมก็มองกันแบบนี้นะครับ
ถ้าเรามองถ้าเรามองมุมเดียวมุมของคนนักพัฒนาของคนที่พยายามอธิบายได้ไม่หมดนะครับ แต่ผมพยายามมองในมุมที่ว่าแล้วชาวบ้านจะได้อะไรนะครับหมายความว่า โอเค การพัฒนาอุตสาหกรรมมันเติบโตแน่นอนมันไปได้แน่นอน เพราะคุณได้มีการวางแผนระยะยาวอยู่แล้ว คุณจะไปตลาดโลกยังไงชีวภาพ คุณจะเจริญเติบโตยังไงคุ ณชัดเจนอยู่แล้ว แต่คำถามผมคือว่าแล้วชาวบ้าน จะเติบโตไปกับการพัฒนาที่นี่อย่างไรเพราะว่าเติบโตไม่ใช่หมายถึงด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวนะครับ สิ่งแวดล้อมก็ต้องเติบโตด้วยดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ผมมองแบบนี้นะครับ เพราะว่าถ้าเกิดคุณสามารถทำได้ก็แบบว่ามันจะการันตีเรื่องของคุณภาพของสินค้าคุณด้วยนะ คือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแน่นอนครับ
แล้วก็ใช้พันธุกรรมอย่างนี้นะครับ ผมอยากจะฝากถึงคนในชุมชนด้วยนะครับ ในพื้นที่ของแก่งละว้าด้วยว่าสิ่งที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมคือนโยบายรัฐแล้วครับ ไปดูศึกษาให้ละเอียดนะครับ คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่ได้มีปัญหาอะไรนะครับ เห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร และนโยบายรัฐเนี่ย ก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าแนวทางปัจจุบัน มันไม่ใช่แค่บอกว่าสิ่งแวดล้อมมันต้องมีมาตรฐานนี่ไม่ใช่แต่แนวทางปฏิบัติหลังจากนั้นนะครับมันเป็นเรื่องใหญ่กว่านะครับ
นโยบายผมเข้าใจว่าชุมชนเองเนี่ยอาจจะมองแค่เรื่องของรายได้เศรษฐกิจที่จะเข้ามาจากผลกระทบด้านอื่น ๆ ลูกหลานเราที่ต้องอยู่ต่อไปเนี่ยมันจะยังไงต่อ สิ่งแวดล้อมก็ดีนะครับหรือว่าความเชื่อว่าในอนาคตเนี่ยยังไงก็แล้วแต่ชุมชนจะต้องอยู่ที่นี่ต่อไปนะครับ ส่วนหนึ่งอยู่ที่นี่ต่อไป ถามว่าถ้าเกิดว่ามันเกิดผลกระทบขึ้นมาแล้วคนที่ยืนอยู่ต่อไปจะทำยังไงนะครับ อันนั้นการศึกษาเรื่องนโยบายรัฐก็ดีหรือว่าเออการที่จะสร้างเกราะป้องกันให้ชุมชนด้วยเนี่ยก็เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกันนะครับ”
แก่งละว้าไม่ใช่แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงและให้ประโยชน์ต่อคนรอบแก่งเพียงเท่านั้น แต่แก่งละว้าเป็นทั้งแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค-บริโภคให้กับคนในเมืองด้วย อยากจะชวนผู้อ่านและคุณผู้ชมทางบ้านร่วมกันแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือก “ฉากทัศน์ภาพอนาคตของแก่งละว้า” พร้อมร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทย ทั้งประเด็นระดับชาติ และประเด็นท้องถิ่นอีสานกับอยู่ดีมีแฮง และ Thai PBS