วันนี้นาข้าวในพื้นที่ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หายไปเกือบหมดแล้ว แตกต่างจากตำบลรอบข้างที่ยังคงปลูกข้าวเหมือนดังเช่นในอดีต นาข้าวที่นี่เริ่มหายไปตั้งแต่ปี 2529 เมื่ออ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเริ่มปล่อยน้ำผ่านคลองเล็ก ๆ ลงมายังพื้นที่ ชาวนาต่างรื่นเริงบันเทิงใจเมื่อพวกเขาจะสามารถปลูกข้าวได้นอกฤดูฝน น้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ข้าวนาปรังงอกงามอุดมสมบูรณ์ไปด้วย แต่สวนทางกับราคาข้าวที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์ตาม
ลุงเป๊ก หรือชูสิทธิ์ เจิมทอง ได้ที่นามา 10 ไร่หลังแบ่งมรดกกับพี่น้องแล้ว เขายอมรับแบบลูกผู้ชายว่าชอบกินชอบเที่ยวและใช้เงินเปลือง เงินค่าขายข้าวในแต่ละปีจึงไม่ค่อยเพียงพอต่อวิถีของเขานัก ช่วงนั้นเขายังทำงานในสำนักงานประมงจังหวัด มีหน้าที่เพาะพันธุ์ปลาเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนจนมีความรู้ความชำนาญมากพอที่จะลาออกมาเริ่มต้นกับธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาขาย
เมื่อนึกอะไรไม่ออกเขาเลยใช้ชื่อของตัวเองตั้งชื่อกิจการว่า “ชูสิทธิ์ฟาร์ม” ที่นาจำนวน 2 ไร่ถูกแบ่งออกมาขุดเป็นบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา แม้จะเคยทำงานในสำนักงานประมงมาก่อน แต่เขาก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับปลาทุกชนิด เพราะแต่ละปีตลาดปลาจะฮิตไม่ซ้ำชนิดกัน เพราะฉะนั้นคนเพาะพันธุ์ลูกปลาก็จะต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ลุงเป๊กบอกว่าสมัยก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การจะได้มาซึ่งความรู้ต้องไปถามจากคนที่มีประสบการณ์ แต่ก็อย่างว่าคนสมัยนั้นกว่าที่จะมีประสบการณ์ได้ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ทำให้ไม่มีใครยอมบอกเทคนิคกับเขา สุดท้ายแล้วลุงเป๊กต้องมานั่งเฝ้าดูพฤติกรรมปลาแต่ละชนิดอยู่หลายวันเพื่อให้รู้ว่ามันผสมพันธุ์กันตอนไหนอย่างไร
“ปีแรก ๆ เริ่มเพาะพันธุ์ปลานิลกับปลาไนก่อนเพราะทำง่ายที่สุด จากนั้นพอเริ่มมีไฟฟ้าก็เพาะพันธุ์ปลาตะเพียน ปีต่อมาก็ขยายออกไปอีก 1-2 ไร่ ตามกำลังเพราะสมัยนั้นต้องขุดทำคูน้ำด้วยมือ แล้วปีต่อ ๆ มาก็ขยายไปเรื่อย ๆ จนหมดที่นา”
ลุงเป๊กกล่าว
สมัยนั้นยังไม่มีเกษตรกรเพาะเลี้ยงลูกปลาในพื้นที่ตำบลเฉนง การขายลูกปลาจึงเป็นเรื่องยากที่ตลาดจะรู้จักฟาร์มของเขา แถมพื้นที่ฟาร์มยังอยู่ค่อนข้างลึกลับยากแก่การเข้าถึง แต่โชคดีที่เขาเคยทำงานในสำนักงานประมงมาก่อน ที่นั่นมีคนเข้าไปขอพันธุ์ปลาเยอะ ทางประมงจึงแนะนำให้มาที่ฟาร์มของเขา เมื่อไม่มีคู่แข่งทำให้กิจการของลุงเป๊กรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนผลิตลูกปลาไม่ทันต่อความต้องการของตลาด
“สมัยนั้นมันไม่มีคู่แข่ง ทำเท่าไหร่ก็ขายได้หมด แต่ละเดือนมีรายได้ 5-6 หมื่นบาท หรือบางเดือนมีออเดอร์เพิ่มก็ได้เดือนละแสน”
ลุงเป๊กกล่าว
เมื่อเป็นเช่นนั้นเพื่อนบ้านเห็นว่าธุรกิจประเภทนี้ไปได้สวย จึงเริ่มหันมาทำบ้างและขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้ทำกันทั้งตำบล ข้อมูลจากสำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพานิชย์ที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 314 ราย โดยใช้พื้นที่เพาะพันธุ์ทั้งหมด 818 ไร่ ซึ่งในความเป็นจริงอาจมากกว่านั้นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ลุงเป๊กบอกว่าจากที่เคยขายดีก็ขายได้น้อยลงเพราะเกษตรกรมีมากขึ้นก็ต้องแบ่งสันปันส่วนกันไป และที่สำคัญน้ำที่ส่งมาถึงบ่อก็เริ่มจะไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งเกิดจากบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ทำให้ต้องแบ่งน้ำไปทำน้ำประปามากขึ้น
อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีปริมาณการกักเก็บประมาณ 20 ล้านลูกบาสก์เมตร เป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้กับเมืองสุรินทร์ แต่ในปี 2562 เกิดปรากฏการณ์น้ำแห้งขอด ถึงขั้นวิกฤต เกิดความเดือดร้อนเป็นวงกว้างเนื่องจากน้ำประปาไม่ไหลนานกว่า 1 สัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปี โดยมีต้นเหตุมาจากฝนที่ทิ้งช่วงนานร่วม 2 เดือน จนต้องไปขอสูบน้ำจากบ่อของเอกชนเพื่อผลิตน้ำประปาแทน แต่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำแห้งขอดเหมือนปี 62 อ่างเก็บน้ำไม่ได้พร่องน้ำออก เมื่อพายุโนรูมาเยือนปรากฏว่าปริมาณน้ำมากจนถึงขั้นวิกฤตจึงต้องระบายออกอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เขื่อนแตก น้ำระบายออกไม่ทันจึงท่วมพื้นที่ตำบล เฉนียงและตำบลใกล้เคียง ทำให้บ่อปลาหลายร้อยบ่อถูกรวมกันเป็นบ่อเดียว พวกปลาที่เลี้ยงไว้สามารถแหวกว่ายไปได้ทุกที่อย่าง Freedom สวนทางกับเกษตรกรที่ต้องน้ำตาตกใน
“ปีที่แล้วมันไม่ค่อยได้ น้ำท่วมหมด ท่วมสูงกว่าคันคูเป็นเมตร ถ้าไม่ท่วมก็แล้ง ตอนนี้ไม่ได้ใช้น้ำจากห้วยเสนงทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องขุดบ่อบาดาลเพิ่มเพื่อเติมน้ำในบ่อเอา”
ลุงเป๊กกล่าว
ปัจจุบันลุงเป๊กอายุ 65 ปีแล้ว เขามีลูก 3 คนแต่ไม่มีวี่แววว่าลูก ๆ จะมาสานต่อกิจการ ทำให้ลุงเป๊กยังคงทำงานเองทุกวัน และจ้างคนงานเพิ่มอีก 1 คนเพื่อมาช่วยยกของหนักที่ลุงทำไม่ไหวแล้ว ลุงเป๊กบอกว่าคำว่าเกษียณไม่มีจริงเพราะหลังอายุ 60 ปีแล้วถ้ายังไม่ตายก็ต้องกินต้องใช้ต่อไป สำหรับคนมีเงินบำนาญคงไม่มีปัญหาอะไรแต่คนที่ไม่ได้มีสวัสดิการจากรัฐก็ต้องทำงานต่อไปจนวันตาย จะหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงโดยอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้เพราะเขาก็ต้องมีภาระของเขาเอง
ลุงเป๊กถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาในพื้นที่ตำบลเฉนียง แม้จะใช้เวลาสะสมประสบการณ์ด้วยตัวเองมากว่า 36 ปีแต่เมื่อมีคนมาขอความรู้เขาก็มักจะถ่ายทอดให้โดยไม่หวงวิชาเหมือนคนสมัยก่อน บางทีนั่นอาจเป็นหนึ่งในความสุขของเขาก็ได้ ลุงเป๊กพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้ามีน้ำก็มีเงิน” แต่จะดีกว่านั้นถ้ามีน้ำแบบพอดี ๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป