เมื่อภัยพิบัติ คืออีกหนึ่งปัจจัยที่คอยซ้ำเติมความยากจนของผู้คนในพื้นที่ปลายน้ำอย่างจังหวัดอุบลราชธานี ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมซ้ำซากหลายครั้งหลายหน การแก้ปัญหาโดยการทำให้น้ำไม่ท่วมอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด และการแก้ปัญหาชีวิตของคนที่ถูกน้ำท่วมอาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบ ที่จะทำให้น้ำท่วม ไม่ไปซ้ำเติมความยากลำบากของคนจน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี และ เทศบาลเมืองวารินชำราบ จัดเวที Poverty Forum : คน (จน) ที่อยู่อาศัย กับ ภัยพิบัติ ในงานเสวนา “สานพลังคนอุบล ฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ชวนชาวอุบลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อร่วมกันหาทางออกและการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องเผชิญกับเหตุการน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
โดยข้อมูลจากการสำรวจความยากจนของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี จากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า มีครัวเรือนที่เผชิญกับปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยนั้นมีมากถึง 3,293 ครัวเรือนและอีก 6,423 ครัวเรือนเผชิญกับปัญหาการเขาถึงสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งจากข้อมูลนี้ทีมวิจัยพบว่าจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นในระดับต้น ๆ ในการสำรวจความยากจน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็อุบลราชธานีได้มีการจัดกลุ่มประเด็นด้านที่อยู่อาศัยออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ 1 มีความต้องการซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ 2 มีความต้องสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และสิทธิ์ในการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ส่วนกลุ่มที่ 3 มีความต้องการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จะเข้าไปสู่ครัวเรือนของพวกเขา
เมื่อภัยพิบัติ คืออีกหนึ่งปัจจัยเรื่องที่ทำให้คนจนต้องเผชิญปัญหามากขึ้น และยาวนานขึ้น การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เผชิญปัญหาจริงอาจเป็นหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการจัดการปัญหาที่อยู่อาสัยและภัยพิบัติ ซึ่ง อัฐฌาวรรณ พันธุ์มี เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองอุบลราชธานี บอกว่า
“ที่ผ่านมาเครื่อข่ายโครงการบ้านมั่นคงที่ถูกน้ำท่วมมีปัญหาความยากจนอยู่แล้ว และกำลังจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ทำบ้านช่องกำลังจะดี มาปีนี้ท่วมทั่วหน้าเลยมันก็แย่เลย จากปกติที่มันกำลังจะดีแต่มันก็แย่ และที่แย่อยู่แล้วก็ลงแย่อีก”
อัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ย้ำถึงผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่อาศัย และหากต้องแก้ปัญหาจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน “ซึ่งการมีส่วนร่วมจะทำให้มีการแก้ปัญหาได้ยั่งยืนขึ้น อย่างพอน้ำท่วมพี่น้องก็ต้องมาร่วมกันอยู่ เราก็ทำครัวกลาง และภาคส่วนต่าง ๆ ต้องมาส่งเสริมพี่น้องชาวบ้านให้เข้มแข็ง เพราะการเอาของมาให้มันไม่ยั่งยืนนะคะ จะให้ยั่งยืนต้องให้เขาลุกขึ้นมาเอง ให้กระบวนการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และก็รับประโยชน์ร่วมกัน และให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นพี่เลี้ยง ถึงมันจะช้าหน่อยแต่ต้องคอนพยุงกัน”
ซึ่งอีกหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องให้การหนุนเสริมให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน หรือ พอช. ซึ่ง จันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เล่าถึงกระบวนการทำงานของ พอช. เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยคือการหนุนเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
“สิ่งที่เราพยามทำจากบทเรียนในการจัดการภัยพิบัติ คือเราจะพยายามไปหนุนเสริมชุมชนให้เขาจะลุกขึ้นมาจัดการปัญหา เขามีกองทุนสวัสดิการชุมชน มีกองทุนที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง หรือกองทุนอะไรที่มีอยู่ เขาก็นำมาจัดการปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่นทำครัวกลาง และระดมทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยทำถุงยังชีพ เราก็จะพยายามหนุนเสริมว่าชุมชนทำอะไรอยู่และขาดอะไร เราพยายามดูว่ามีหน่วยงานไหนที่พร้อมจะช่วยชุมชนและสร้างความร่วมมือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พอหลังจากที่ชุมชนน้ำเริ่มลดแล้วเราก็จะมีการสำรวจปัญหา ว่ามีความเสียหายอะไรบ้าง เช่น บ้านเสียหายอย่างไร อุปกรณ์ในบ้านเสียหายอย่างไร อาชีพได้รับผลกระทบอย่างไร และเขาต้องการฟื้นฟูแบบไหนอย่างไร พอช. ก็จะทำหน้าที่ชวนเขาพูดคุยกัน ทั้งคุยกันเองในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีภารกิจรับผิดชอบ ที่พร้อมจะมาหนุนเสริม ซึ่งเราก็พยามจะชวนกันมาหารือดูว่าถ้าเราจะทำแผนในการฟื้นฟูชุมชนได้อย่างไร”
การมีส่วนร่วมเผชิญและฟื้นฟูผลกระทบ ภายใต้การทำงานอย่างมีส่วนร่วมของหน่วยงานในท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ คืออีกกลไกสำคัญที่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวข้องโดยตรง แต่โจทย์เรื่องขั้นตอนดำเนินการยังมีข้อจำกัดซึ่งอาจซ้ำเติมผลกระทบจากความล่าช้า
“หน่วยงานนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้การช่วยเหลือเยียวยานั้นล่าช้า เพราะมีกฎระเบียบและข้อบังขับหลายขั้นตอนที่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวบ้าน อย่าง เงินตามมติของ ครม. ที่มีมติออกมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 65 และได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางมาให้สามารถใช้ช่วยเหลือประชาชนได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 65 จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 66”
ว่าที่ ร.ต.มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี อธิบายถึงความคืบหน้าและขั้นตอนดำเนินการติดตามเงินช่วยเหลือเยียวยา
“ซึ่งเรามีห้วงเวลาประมาณ 60 วัน ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่ในระยาเวลาที่ช่วยเหลือก็จะมีกำหนดหลักเกณฑ์ของมันอยู่ก็คือ การช่วยเหลือในเหตุภัยเกิดตั้งแต่ 13 พ.ค. 65 – 28 ต.ค. 65 ต้องเอามาคำนวณเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องนับเป็นจำนวนวัน ซึ่งเราต้องไปประชุมนำข้อมูลการสำรวจมากลั่นกรองและต้องส่งข้อมูลนี้ไปให้ส่วนกลาง ซึ่งเงินที่จะได้มาช่วยพี่น้องประชาชนนี้จะได้ภายในวันที่ 17 ก.พ. 66 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการตามระเบียบ ซึ่งพอข้อมูลเรียบร้อยตามขั้นตอนแล้ว ปภ. ก็จะส่งข้อมูลให้กับทางธนคารออมสินเป็นคนจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งหากพี่น้องไม่มีบัญชีธนาคารออมสิน พี่น้องจะต้องผูกพ้อมเพย์กับเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก และอีกส่วนคือบัญชีนั้น ๆ จะต้องมีความเคลื่อนไหวภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา”
ด้านคุณ วิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.อุบลราชธานี กล่าวเสริมเรื่องการการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในการออกแบบและจัดการปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกัน
“การฟื้นฟูตอนนี้ต่างคนต่างมีระเบียบของตัวเอง มีงบประมาณของตัวเอง มีเป้าหมายของตัวเอง ก็เลยแยกทำของใครของมัน แต่ละหน่วยก็มีความต้องการต่างกัน แต่เราขาดเรื่องการจัดการร่วมกัน ตั้งแต่เรื่องข้อมูล ซึ่งมันต้องมีข้อมูลกลาง และใครจะเป็นคนแชร์ข้อมูลได้ และกระบวนการในการจัดการต้องแบ่งกันรับผิดชอบและมาต่อกันเป็นจิกซอว์ ซึ่งการทำงานแบบนี้ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มาเชื่อมกันเลยมองไม่เห็นภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านครอบครัวและที่อยู่อาศัย”
ความยากจนและปัญหาที่อยู่อาศัย อาจะไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ การจัดเวที Poverty Forum : คน (จน) ที่อยู่อาศัย กับ ภัยพิบัติ ครั้งนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันหาทางออก เพื่อร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน และลดผลกระทบของผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างมีส่วนร่วม
โดย ผศ.ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตัวแทนจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ย้ำว่าจะเป็นการเสริมพลังเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงแก่ชุมชน “ความยากจนมันมีหลายมิติ มันมีหลายเงื่อนไข หลายปัจจัยมากเลยที่ทำให้คนหนึ่งคน หรือครัวเรือนหนึ่งนั้น ตกอยู่ในสภาวะที่เราเรียกว่า “ความจน” ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีคนจำนวนมากที่มีที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีสิทธิ์ นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราพบในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติอย่างเดียว เรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และเวลาเราพุดถึงคนจน เรื่องรายได้ก็สำคัญ เรื่องการส่งเสริมอาชีพก็มีความสำคัญ และอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ความจนอยู่ในมิติของความมั่นคงด้วย คือที่อยู่อาศัย ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้พลังที่มีอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันสานพลังในการทำกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหานี้”
“ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญ เมื่อปัญหาความยากจนมาเจอกับปัญหาภัยพิบัติ คนจนคือผู้ที่เดือดร้อนที่สุด เพราะว่าไม่มีเบาะรองรับ คนจนจะเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนมาก และต้องการรับการช่วยเหลือให้ได้เร็วที่สุด”
จิริกา นุตาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้าน การพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าว และย้ำถึงการจัดการปัญหาภัยพิบัติที่ต้องกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น
“ตอนนี้ที่พูดไม่อยากจะพูดแค่การรับมือ แต่อยากให้พูดถึงภาพรวมทั้งหมดของการจัดการปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นมีความสำคัญมากในการรับมือภัยพิบัติ ดิฉันคิดว่าหน่วยงานราชการทุกหน่วยมีใจที่อยากจะช่วยเหลือประชาชน แต่บางที่มันก็มีขอบเขต แต่ถ้าเรามีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันคิดว่ามันช่วยจัดการปัญหาได้ เป็นเรื่องที่ดีมากที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ชวนพี่น้องประชาชนที่รับทุกข์ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ และท้องถิ่น มาร่วมกันหารือการแก้ไขปัญหา ซึ่งการบูรณาการมันจะทำให้พลังเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมกันเป็นพลังที่มากขึ้นใหญ่ขึ้น แต่การที่จะแก้ปัญหาได้เราก็ยังต้องการพลังความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงบประมาณ ดังนั้นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือการทำให้ท้องถิ่นได้มีระบบงบประมาณ หรือการจัดการงบประมาณที่คล่องตัวจึงสำคัญ เพื่อที่จะรองรับและจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว”
ผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นอีกปัจจัยที่จะซ้ำเติมความยากจนในทุกระดับ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนของชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง “คนจน” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาตามกลไกของหน่วยงานเพิ่มเติมจากการดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อแสวงหาความมั่นคงของชุมชนโดยชุมชน ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จำนำไปสู่ทางออกและการป้องกันผลกระทบจากพิบัติภัยในหลายลักษณะทั้งจากภัยธรรมชาติ และภัยทางเศรษฐกิจสังคม