เสาหลักของบ้านแรงงานของนาย อีสานอินเตอร์

เสาหลักของบ้านแรงงานของนาย อีสานอินเตอร์

“ถึงเป็นแค่แรงงานของนาย แต่ผมคือหัวใจของบ้าน ค่าแรงหลักร้อยต่อวัน แต่มันคือความฝันของครอบครัว…”

บางวรรคตอนของผลงานเพลง “เสาหลักของบ้าน แรงงานของนาย” โดยศิลปิน เบียร์ พร้อมพงษ์ ซึ่งครูสลา คุณวุฒิ เป็นผู้แต่งคำร้อง/ทำนอง ได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในการทำงานรับจ้างในเมืองหลวงสะท้อนความสำคัญและบทบาทของแรงงานที่มาค้าแรงสร้างฝัน ซึ่งแม้ไม่อาจเทียบเคียงกับแรงงานไกลบ้านในต่างประเทศ แต่นี่อาจพออนุมานได้ว่า “แรงงาน” ทุกคน ซึ่งหมายรวมถึงนักสู้ค้าเหงื่อทุกคนต่างเป็นคนสำคัญของครอบครัว โดยเฉพาะคนที่ไปขายแรงงานในต่างประเทศ แบบที่เรียกว่า “อีสานอินเตอร์” ซึ่งจะมีความถี่น้อยมากที่จะกลับบ้านในแต่ละเทศกาล เพราะระยะทางที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล คือ รูปธรรมข้อจำกัดของเขาและเธอ

ไทอีสาน PBS เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น หนึ่งในคณะทำงานที่ทดลองนำร่องปฏิบัติการสื่อสารในพื้นที่ภูมิภาคอีสาน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อยู่ดีมีแฮง จึงร่วมกันออกแบบ “รายการอีสานอินเตอร์”  เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยข้ามพรมแดนแผ่นดินผ่านพื้นที่ออนไลน์ ชวนคุยกับแรงงานคนอีสานในต่างประเทศเกี่ยวกับการทำงาน วิถีชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ กมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข หนึ่งในคณะทำงานเป็นผู้ดำเนินรายการสนทนาโสเหล่ชวนคุยกับแรงงานอีสานในต่างแดน

มานพ จำศรี แรงงานอีสานหนุ่มเมืองอุบลราชธานี ในเกาหลีใต้ ที่ไปทำงานหาเงินส่งกลับมาครอบครัว กว่า 5 ปี โดยมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 40,000–70,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลมาก่อน พักกับเพื่อน ๆ ในห้องพักกว่า 10 คน โดยจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเรื่อย ๆ เช่นช่วงนี้ไปเก็บผักกาดขาว บางช่วงไปเก็บหอมหัวแดง เปลี่ยนไปตามฤดูกาลตามนายจ้างที่จะจ้างแรงงานโดยมีการตกลงเป็นรอบ ๆ ไป

“ที่นี่ดีหน่อยมีร้านอาหารไทย พอซื้อวัตถุดิบไทยมาทำอาหารให้หายคิดถึงบ้านได้ คิดว่าอยู่ประมาณอีกสัก 2-3 ปี ก็จะกลับบ้านแล้ว คิดถึงบ้านแต่ก็เป็นห่วงลูกด้วยเพราะบ้านก็ต้องการใช้เงิน แต่หาเงินที่ไทยไม่เท่ากับหาเงินที่เกาหลี”

ส่วน ฟลุ๊ค พลกฤต พงษ์กองเงิน ชาวจังหวัดบึงกาฬ ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ประเทศออสเตรเลีย กว่า 10 เดือน หลังจากเรียนจบรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ตัดสินใจหาข้อมูล เรียนภาษา และเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยมองว่าจะสามารถหารายได้ที่มากกว่าในประเทศไทย แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงเรียนภาษาต่างประเทศ เพื่อจะใช้ในการประกอบอาชีพแต่ระหว่างเรียนก็ทำงาน Part-Time เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนไปด้วย

“เราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ก็เหมือนได้ฝึกภาษาไปด้วย ช่วงแรกผมเรียนภาษาอย่างเดียวเลยครับ 6 เดือน หลังจากนั้นก็มาเรียนเรื่อง IT การเขียนโปรแกรม การทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อต่อยอดการทำงานในประเทศได้ คนอีสานในออสเตรเลียก็เยอะครับ เวลาเจอกันคุยแต่อีสาน”

จากสถานการณ์ ปี 2563 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยและโลกเป็นวงกว้าง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและคนส่วนใหญ่อยู่ติดบ้านมากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่บางบริษัทที่พยายามประคับประคองธุรกิจ อาจต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานพักงานอย่างไม่มีกำหนด โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่มีการปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานอีสานเป็นจำนวนมาก

โดย จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อรายงานว่า มีแรงงานอีสานประมาณ 8 แสน 2 หมื่น คน เดินทางกลับภูมิลำเนา แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานคืนถิ่นบางส่วนอาจยังคุ้นเคยกับการทำงานในเมืองใหญ่ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น แรงงานอีสานหลายคนจึงหวนกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ของไทย ทั้ง เขตอุตสาหกรรม และหัวเมืองต่าง ๆ  ซึ่งไม่เพียงแค่นายจ้างชาวไทย แม้แต่ในต่างแดนที่ค่าแรงสูงกว่าเงินบาทไทย พี่น้องแรงงานชาวอีสานก็ไปค้าเหงื่อเพื่อหวังพบโอกาสที่ดีขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ  Thailand Overseas Employment Administration (TOEA) ซึ่งรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนอีสานบอกว่าในเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ลงทะเบียนเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะ 20 จังหวัดในภาคอีสาน แบ่งเป็นผู้ชาย 17,203 คน และ ผู้หญิง 6,290 คน

แต่เมื่อมาดูสถิติการลงทะเบียนในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า มีผู้ลงทะเบียนเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะ 20 จังหวัดในภาคอีสาน แบ่งเป็นผู้ชาย 82,589 คน เพิ่มขึ้นกว่า 380% หรือ 3 เท่า และ ผู้หญิง 53,235 คน เพิ่มขึ้นกว่า 740% หรือ 7 เท่า ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะในปี 2565 เริ่มคลายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานคึกคักขึ้นมาก

โดย 5 ประเทศที่มียอดแรงงานไทยรวมถึงในภาคอีสานที่ไปทำงานมากที่สุด จากการสรุปยอดประจำปี 2565 (มกราคม-ธันวาคม) สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ  Thailand Overseas Employment Administration (TOEA) ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้

  • อันดับ 1 คือ ไต้หวัน 23,382 คน
  • อันดับ 2 คือ อิสราเอล 8,265 คน
  • อันดับ 3 คือ สวีเดน 6,791 คน
  • อันดับ 4 คือ ญี่ปุ่น 6,686 คน
  • อันดับ 5 คือ เกาหลีใต้ 5,671 คน

อ้างอิง : https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/c2d62e7163fb9d4a79137bd208b4dacf.pdf

“ถึงเป็นแค่แรงงานของนาย แต่ผมคือหัวใจของบ้าน ค่าแรงหลักร้อยต่อวัน แต่มันคือความฝันของครอบครัว…”

เรื่องราวมุมมองของแรงงานที่สะท้อนผ่านบทเพลงของศิลปิน ยังคงย้ำเตือนความหวังของแรงงานทุกคน ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “คนไกลบ้าน” มีแรงฮึดสู้ และเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญที่ต้องสละบางช่วงเวลาเพื่อค้นหาความฝัน แม้จะต้องไป “ค้าแรงงาน” ไกลบ้าน ทั้งในเมืองใหญ่ หรือ บ้านอื่นเมืองไกลในต่างประเทศ ซึ่งเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ “รายการอีสานอินเตอร์” โดยไทอีสาน PBS ต้องการเปิดพื้นที่พูดคุยข้ามพรมแดนแผ่นดินผ่านพื้นที่ออนไลน์เพื่อเชื่อมให้ทุกคนได้ใกล้กันมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ