‘กอบศักดิ์’ ประชุมบอร์ด พอช. เตรียมพัฒนาศูนย์เด็กสร้างอนาคตประเทศ ด้านที่อยู่อาศัยเตรียมเสนอ ครม.แก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ

‘กอบศักดิ์’ ประชุมบอร์ด พอช. เตรียมพัฒนาศูนย์เด็กสร้างอนาคตประเทศ ด้านที่อยู่อาศัยเตรียมเสนอ ครม.แก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ

คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้บริหาร ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่ จ.ลพบุรีเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

พอช. / ‘กอบศักดิ์  ภูตระกูล’ ประธานบอร์ด พอช.  ประชุมคณะกรรมการ  เตรียมแผนพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่อง 50 แห่ง  ประเดิมแห่งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ  ส่วนด้านที่อยู่อาศัย พอช. เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศกว่า 27,000 ครัวเรือน  ใช้งบกว่า 7,700 ล้านบาท

วันนี้ (20 มกราคม) เวลา 9.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ      มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’ ครั้งที่ 1/2566  โดยมี ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ  เป็นประธานการประชุม  โดยมีนายกฤษดา     สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันฯ  ที่ปรึกษา   และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในห้องประชุมสถาบันฯ  และร่วมประชุมผ่านระบบ Online  ประมาณ 70 คน

2
การประชุมบอร์ด พอช.

พอช.พัฒนาศูนย์เด็กสร้างอนาคตประเทศนำร่องที่ทำเนียบรัฐบาล

            การประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือบอร์ด พอช. ครั้งแรกของปี 2566 มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง  โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศให้มีคุณภาพ   โดย ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช. เล็งเห็นว่า  พอช.มีบทบาทในการทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศมานานกว่า 20 ปี  หากมีการหนุนเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยซึ่งส่วนใหญ่ดูแลโดย อปท. มีคุณภาพที่ดี  เด็กๆ ก็จะมีพัฒนาการที่ดีและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา  ดร.กอบศักดิ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันฯ และผู้บริหาร พอช. ได้ไปศึกษาดูงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บางคู้  อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี ซึ่งดำเนินการโดย อบต.บางคู้    โดย อบต.ร่วมกับโรงพยาบาลท่าวุ้งส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย  รวมทั้งส่งเสริมโภชนาการเด็กได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ

3
ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล (เสื้อขาว) เยี่ยมชมศูนย์เด็ก อบต.บางคู้

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. กล่าวในการประชุมวันนี้ว่า  จากการที่ตนได้ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้  ตนจะพาทีมงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี(พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา)  พร้อมด้วยภาคเอกชน  เช่น  บริษัทเซ็นทรัลและธนาคารกรุงเทพ  ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์พัฒนาเล็กที่ อบต.บางคู้ด้วย  เพื่อจะทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ทำเนียบรัฐบาล  ให้เป็นแหล่งเรียนรู้  เป็นต้นแบบ  และเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่จะสร้างอนาคตของประเทศ

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า  พอช. มีแนวทางในการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย  โดยจะนำร่อง 50 พื้นที่ทั่วประเทศ  โดยมีเป้าหมายในการทำชุดหนังสือและของเล่นใน 12 พื้นที่  ซึ่งสามารถหมุนเวียนตลอดทั้งปีใน 12 เดือน  โดยให้เอกชนร่วมสมทบของเล่น  และหนังสือนิทาน  จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้  เป็นโครงการเล็กๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่  เป็นการให้ปัญญากับเด็กๆ ให้โครงสร้างทางสมองในการซึมซับสิ่งดีๆ เด็กมีคุณภาพที่ดี  สามารถกำหนดเป็น Flagship ของ พอช. ได้  โดยจะใช้งบประมาณน้อยมาก  และมีคนอยากช่วยเหลือสนับสนุนมาก

ผศ.ดร.จิตติ  มงคลชัยอรัญญา  ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม  วิทยาลัยโลกคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ   กล่าวเสริมว่า  ที่สภากาชาดไทยและเทศบาลนครยะลามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่สามารถไปดูและประยุกต์ใช้ได้   ส่วนเรื่องการหมุนเวียนหนังสือนั้น  สำนักพิมพ์ผีเสื้อมีการผลิตและทำหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย   สามารถต่อยอดในการหมุนเวียนหนังสือร่วมกันได้

นายสังคม เจริญทรัพย์  คณะกรรมการสถาบันฯ  กล่าวว่า  การตั้งศูนย์เด็กเป็นเรื่องดี  แต่เราจะบูรณาการในประเด็นอื่นๆ อย่างไร  เช่น  การทำโครงการอาหารกลางวัน  การเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในพื้นที่  รวมถึง อปท.ในพื้นที่     เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีการเรียนรู้ในชีวิตจริง  รวมถึงได้กินอาหารปลอดภัย  เช่น  ผัก  ผลไม้ที่อยู่ในพื้นที่ สามารถประหยัดงบประมาณ และเด็กๆ  จะได้กินอาหารที่เหมาะสม

ทั้งนี้การจัดสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ  คาดว่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการในทำเนียบที่มีบุตรหลานสามารถนำบุตรหลานมาฝากดูแลได้  โดยก่อนหน้านี้มีภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ดำเนินการแล้ว  ส่วนพื้นที่นำร่อง 50 แห่งที่ พอช.จะร่วมกับ อปท.และภาคีเครือข่ายดำเนินการนั้น  จะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาพื้นที่นำร่องที่เหมาะสมในเร็วๆ นี้

ใช้ข้อมูล-อาสาช่วยพัฒนาชุมชน

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยของ พอช.ที่ดำเนินทั่วประเทศว่า  เรื่อง ‘บ้านมั่นคง’ คิดว่าจะเชื่อมโยงกับ ธอส. ในการอนุมัติหรือให้สินเชื่อบ้าน  นอกจากสนับสนุนของ พอช.แล้ว  ยังสามารถเชื่อมกับตลาดทุน  เพื่อสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้  ซึ่งหากทำได้โครงการบ้านมั่นคงจะสามารถทำได้มากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว  เป็นการมองถึงหน่วยสนับสนุนที่มากกว่าภาครัฐ  ซึ่งอาจจะเฟ้นหาชุมชนที่จะทำให้เห็นต้นแบบ และนำไปขยายผล   รวมถึงการนำวัสดุธรรมชาติในพื้นที่มาใช้ในการสร้างบ้าน  ซึ่งจะเพิ่มรายได้  เพิ่มอาชีพให้กับคนในชุมชนด้วย

4
ดร.กอบศักดิ์  (ขวา) ประธานบอร์ด พอช.

ส่วนเรื่องข้อมูล (DATA) มีภาคีที่มีระบบการรายงานข้อมูลร่วมกันได้  เพราะข้อมูลสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการทำทุกๆ อย่าง  ควรทำให้ง่าย  แต่ต้องตกลงกันว่าจะให้เขารายงานอะไร  อย่างไรบ้าง  ที่สำคัญคือ  คนควบคุมมาตรฐาน

“เราต้องอาศัยพลังชุมชนในการสำรวจและรายงานขึ้นมา  พอช.และขบวนองค์กรชุมชนจะมีข้อมูลข้อเท็จจริง ชุมชนมีระบบการรายงานอย่างสม่ำเสมอ  ตั้งแต่ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  เวลามีปัญหาเกิดขึ้นจุดไหน  เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันดี  เป็นสิ่งที่เราต้องมีการร่วมออกแบบวิธีการร่วมกัน เป็นระบบที่ทุกคนสามารถมาร่วมกันใช้ รวมถึงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”  ประธานบอร์ด พอช. กล่าว

นอกจากนนี้ ดร.กอบศักดิ์  เสนอความเห็นว่า   พอช. ควรจะมีอาสาพัฒนาชุมชน  เป็นผู้นำที่อาสาร่วมพัฒนาชุมชน  สามารถให้มาร่วมและช่วยในด้านข้อมูล  เริ่มจากข้างล่าง  สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  เราต้องมานั่งออกแบบและวางแนวทางให้ดี  เป็นการทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง  เพราะเราไม่ต้องลงทุน  เรามีโครงข่ายเรียบร้อย  ระบบช่วยสังเคราะห์ข้อมูลให้เห็น  ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อมาร่วมวางแนวทางและขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป

ผศ.ดร.จิตติ  มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ  กล่าวว่า พอช. ควรมีการจัดกลไก เพื่อดำเนินการเหล่านี้อย่างจริงจัง   เพราะมีกลไกอยู่ในหลากหลายมิติ  หลากหลายประเด็น  เช่น  กลไกสวัสดิการชุมชน    หากชุมชนทำ  ทุกชุมชนต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อน  แม้กระทั่งคำจำกัดความของความจนนั้นเป็นอย่างไร เพราะการจำกัดความนั้นมีความแตกต่างกัน  เราต้องตกลงกันให้ชัดว่าเราจะ ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ไม่เช่นนั้นเกณฑ์คนจนของเราก็ไม่ตรงกับส่วนอื่นๆ อีก  รวมถึงสถานะคนจน  พอช.ต้องวางแผนและยุทธศาสตร์ให้ดีว่า ข้อมูลบัญชีคนจนเราต้องอัพเดทถี่และบ่อยขนาดไหน  รวมถึงเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ว่าจะเชิงเศรษฐกิจและสังคม

5

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ  กล่าวเพิ่มเติมประเด็นการทำข้อมูลงานพัฒนาว่า  หากเรามีระบบรายงานที่เป็นภาพรวมที่มีต่อเนื่อง เช่น ระบบรายงานของสภาองค์กรชุมชน ให้เห็นความเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน เรื่องเด็ก คนแก่  รวมถึงงบประมาณที่ลงมาระดับตำบลแล้วได้เกิดการช่วยเหลือ    ซึ่งควรจะมีระบบการรายงานงานพัฒนาตั้งแต่ระบบตำบล  แต่ต้องมีขอบเขตและประเด็นที่มาเชื่อมโยงและสามารถมาต่อยอดกันได้

“เหล่านี้เป็นงานที่ใหญ่และต้องอาศัยภาคีมาช่วยเชื่อมโยงจุดเล็ก แล้วนำมาสังเคราะห์ข้อมูลตำบลร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีข้อมูลระบบเศรษฐกิจ   การเงิน  สังคม สามารถขยายประเด็นข้อมูลไปได้ จะเกิดแผนพัฒนาในระดับพื้นที่  แล้วลิงค์ข้อมูลดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงตั้งแต่พื้นที่  จนถึงระดับประเทศได้ ทำให้เห็นสถานการณ์ทางสังคม  เศรษฐกิจของภาคประชาชน   ซึ่ง พอช. จะมีบทบาทในการรวบรวมและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของชุมชนไทย  จะทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจ  และเป็นสะพานในการนำข้อมูลจากพื้นที่ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย”  นางสาวสมสุขกล่าว

พอช.เตรียมเสนอ ครม. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ 27,000 ครัวเรือน

นอกจากนี้การประชุมบอร์ด พอช.ในวันนี้  มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบ  คือ  โครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ  ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีที่มาจากการเคลื่อนไหวของ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (P-Move) เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.  โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ P-Move  เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565  และให้ พอช.จัดทำแผนงานรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

6
ชาวชุมชนริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

โดยที่ผ่านมา  พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่าย  เช่น  สลัม 4 ภาค  รฟท. สำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศของ รฟท.  เช่น  โครงการรถไฟความเร็วสูง  รางคู่  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และการพัฒนาที่ดิน รฟท. โดย พอช.มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทุกมิติ  ในพื้นที่เป้าหมาย 35 จังหวัด  รวม  342 ชุมชน  จำนวน 27,084 ครัวเรือน ตามแผนงาน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)

ตามแผนงานดังกล่าว  จะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 7,718 ล้านบาทเศษ  โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566  จำนวน  2,006 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 571 ล้านบาทเศษ  มีรูปแบบ  เช่น  เช่าที่ดิน รฟท.ระยะยาวที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์  จัดหาหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่  ปรับปรุง  สร้างบ้านในที่ดินเดิม-ที่ดินแปลงใหม่  เช่าซื้อโครงการที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้ว  ฯลฯ  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณพัฒนาที่อยู่อาศัยครัวเรือนหนึ่งประมาณ 160,000 บาท  และสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท

โดยขณะนี้ พอช.อยู่ในระหว่างการนำเสนอข้อมูลจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเพื่อให้ รฟท.ยืนยันข้อมูล  หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้  หลังจากนั้น พอช. จะเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมรางรถไฟทั่วประเทศต่อไป

7

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ