รร.เอสบางกอก กรุงเทพฯ / พอช.’ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเสวนา ‘การสร้างนวัตกรรมงานสวัสดิการชุมชน’ เพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เข็มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ โดยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนากองทุน ด้าน ‘ผศ.ดร.จิตติ’ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ แนะใช้กระบวนการ ‘คิดเชิงออกแบบ’(DESING THINKING) เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
สวัสดิการชุมชนช่วยเหลือสมาชิกมากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนในระดับตำบลหรือเทศบาล (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกกองทุน (รวมถึงผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้เป็นสมาชิก) มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การสนับสนุน
มีหลักการคือ ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท (เดือนละ 30 บาทหรือปีละ 365 บาท) แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น เช่น เกิด แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษาเด็ก ฯลฯ ตามระเบียบและเงื่อนไขที่แต่ละกองทุนกำหนดเอาไว้ โดยรัฐบาลจะสมทบเงินเข้ากองทุนผ่าน พอช. รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนก็สามารถสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนได้ เพื่อให้กองทุนเติบโตสามารถช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสได้ทั่วถึง
ปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อพฤศจิกายน 2565) มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ จำนวน 5,915 กองทุน สมาชิกกองทุนรวม 6,486,679 ราย เงินกองทุนรวมกันจำนวน 20,413 ล้านบาท มีผู้รับสวัสดิการไปแล้วรวม 1,970,314 ราย เงินจ่ายสวัสดิการรวม 2,399,946,472 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากกองทุนสวัสดิการชุมชนจะช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็นแล้ว หลายกองทุนยังยกระดับไปช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนในด้านอื่นๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม จัดการขยะ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ดูแลป่าชุมชน แหล่งน้ำ อนุรักษ์พันธุ์ปลา ฯลฯ
ขณะเดียวกัน พอช. เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค และภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มีแนวทางในการส่งเสริมและยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการกองทุนให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล รวมทั้งยกระดับให้มีการพัฒนากองทุนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง โดยคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนากองทุน
โดยระหว่างวันที่ 16-17 มกราคมนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค จัดเสวนา ‘การสร้างนวัตกรรมในงานกองทุนสวัสดิการชุมชน’ ที่โรงแรมเอสบางกอก ถนนนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภูมิภาค ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมงานประมาณ 80 คน
นายชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ หัวหน้าสำนักประสานงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า 1.เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้เรียนรู้นวัตกรรมสวัสดิการแนวใหม่ในกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ? 2.พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนและผู้ปฏิบัติงานเพื่อร่วมออกแบบขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน และ 3.การวิเคราะห์และมองถึงการจัดสวัสดิการที่มีรูปแบบหลากหลาย ที่สามารถพึ่งตนเองและจัดการตนเอง และสิ่งที่ได้ร่วมเรียนรู้นั้นจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการในอนาคตข้างหน้าต่อไป
ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมกองทุนสวัสดิการชุมชน
นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า คำว่า ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปออกแบบ สื่อสารร่วมกับภาคีในท้องที่ท้องถิ่นได้ กองทุนสวัสดิการชุมชนถ้านับแล้วเราเดินทางไกล ตั้งแต่ปี 2553 ถือว่าช่วงนั้นมี ‘ครูชบ ยอดแก้ว’ ผู้ที่คิดริเริ่ม จินตนาการว่าจะทำอย่างไรให้เงิน 1 บาท มีค่าและมีความหมายต่อสังคม และไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนในชุมชน
หลังจากนั้นครูชบได้เดินสายเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน ช่วงเริ่มต้นยากมาก เพราะเกิดคำถามว่าทำไมต้องไปทำ ? รัฐบาลทำให้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลจัดการให้ก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะประชาชนมีความลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพได้ เพราะมีอาชีพเกษตรกร
ส่วนอีกท่านคือ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (อดีตรองนายกรัฐมนตรีปี 2550) โดยได้นำวิธีคิดของ อ.ไพบูลย์ ไปประยุกต์และนำหลักคิดต่างๆ มาใช้ในงานพัฒนา แล้วทำเรื่องช่วยเหลือสวัสดิการยามเกิดแก่เจ็บตาย ในยุคนั้นถือว่าเป็นนวัตกรรม เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่มี เดิมเราแค่ทำเรื่องออมทรัพย์ ยังไม่มีระบบบริหารจัดการ ยังไม่มีระบบการดูแล จนเกิดการส่งเสริมจาก พอช. ที่ร่วมผลักดันอย่างจริงจัง จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมทบเงินจากรัฐให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน
หลักการของครูชบและ อ.ไพบูลย์ คือ หลักการพึ่งตนเอง เป็นการสมทบเงิน 1 บาทของชาวบ้านเข้ากองทุน ก่อนที่รัฐบาลจะร่วมสมทบ กองทุนสวัสดิการชุมชนไม่ใช่องค์กรการเงิน เพราะกองทุนสวัสดิการเป็นกองทุนที่ทำและขับเคลื่อนเพื่อสังคม เป็นองค์กรทางสังคมที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือ สามารถช่วยเหลือประชาชนในยามที่ทุกข์ยาก
รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลที่ดำเนินการโดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนที่ร่วมกันทำ และในปี 2566-2567 จะใช้โปรแกรมดังกล่าวนี้เก็บข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนกองทุน มีการยกระดับเรื่อยมา โดยในปี 2565 มีการคิดและจินตนาการว่า เมื่อสังคมเปลี่ยน เราจะต้องมานั่งคิดสวัสดิการแนวใหม่หรือนวัตกรรมแนวใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับสวัสดิการเพื่อไปสู่การยกระดับทางสังคมให้ได้ โดยจะร่วมกับภาคีมาช่วยหนุนเสริม เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน เพราะเป็นกองทุนช่วยเหลือกันในยามวิกฤต เช่น ภัยพิบัติ โควิด-19 ซึ่งเราต้องเตรียมการและออกแบบวางแผน ต้องหาเพื่อน เรียนรู้จากผู้รู้ พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติ
“ขอฝากทุกกองทุนให้พวกเราคิดมิติใหม่ๆ เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาต้องให้เขาคิดและปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางนี้เราจะสร้างคุณูปการให้กับลูกหลานและแผ่นดินต่อไป” นายแก้วกล่าว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า นวัตกรรมสวัสดิการชุน เราทำเรื่องสวัสดิการชุมชนต่อเนื่องยาวนาน มากกว่า 15 ปี มีการพัฒนา ปรับปรุง ยกระดับ บางกองทุนได้ย้อนกลับไปทบทวนตนเอง ในช่วงการก่อตั้งใหม่ๆ บางกองทุนยังมีความไม่ชัดเจนในวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะดำเนินการไปข้างหน้า ซึ่งเราจะต้องกลับมาทบทวนเพื่อนำมาปรับปรุง บางกองทุนดำเนินการไปได้ค่อนข้างช้า เพราะเป็นงานของชาวบ้าน เราทำได้ถึงขนาดนี้ถือว่าเป็นที่ยอมรับ เพราะมีสมาชิกกว่า 5,900 กองทุน ถือเป็นจุดแข็ง และเป็นหน้าเป็นตาของ พอช.
สิ่งที่เราจะคิดและมองไปข้างหน้าคือเรื่องนวัตกรรม มีหลายกองทุนที่มีระบบการจัดสวัสดิการที่มากกว่าการสมทบแค่เกิดแก่เจ็บตาย มีการต่อยอดถึงเรื่องอาชีพ วิสาหกิจชุมชน เพื่อไปดูแลพี่น้องสมาชิกมากขึ้น เราพูดเสมอว่า เดิมเราไปเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้รัฐหนุนเสริม ในขณะที่เราลุกขึ้นมาเดิน เพื่อให้เราพร้อมลุกไปสู่ข้างหน้าได้ และเมื่อเราเดินมาได้ระดับหนึ่งการสมทบจากรัฐบาลอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด
นายกฤษดากล่าวถึงบทบาทของ พอช. ในการส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนว่า พอช.ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ขับเคลื่อนตนเองได้เป็นหลัก และขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างเต็มที่ หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่ทำงานของกองทุนสวัสดิการ หรือมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่น พอช. กำลังมองว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหนที่จะมาช่วยสนับสนุน
“ในนามของ พอช. พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของพี่น้องเครือข่าย หากมีข้อติดขัดอะไรมาคุยกัน หารือกัน เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ มีอะไรที่ไม่เข้าใจกัน หรือเข้าใจไม่ตรงกัน ให้พวกเรามาคุยกัน คุยกันบ่อยๆ คุยกันมากๆ เพื่อหาแนวทางและวิธีการที่จะดำเนินการร่วมกัน ขบวนนี้ถือเป็นขบวนที่มีความเหนียวแน่น มีจุดแข็ง พอช. พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดำเนินการร่วมกันอย่างมีพลัง” นายกฤษดา ผอ.พอช.กล่าว
“ทำไมต้องมีนวัตกรรม คิดเชิงสร้างนวัตกรรมทำอย่างไร ?”
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ “ทำไมต้องมีนวัตกรรม คิดเชิงสร้างนวัตกรรม (design thinking) ทำอย่างไร ?” มีสาระสำคัญว่า
วัตถุประสงค์ของกระบวนการสร้างนวัตกรรม คือ 1.ต้องการให้คนเข้าใจว่า นวัตกรรมคืออะไร ? แล้วเราจะมีวิธีสร้างนวัตกรรมอย่างไร ที่ไม่เป็นมวยวัด 2.ผู้เข้าร่วมจะเห็นช่องทางต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมในกองทุนสวัสดิการชุมชนของท่าน 3.ผู้เข้าร่วมสร้างตัวอย่างที่ดีที่เป็นนวัตกรรมชุมชนที่เป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แหล่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งใน 2 วันที่จัดเสวนานี้ จะเป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกคนได้เห็นและสร้างนวัตกรรม โดยใช้โจทย์สวัสดิการชุมชนกับเครื่องมือที่มี และฝึกให้คิดสร้างสรรค์นอกกรอบ
ผศ.ดร.จิตติ ให้คำจำกัดความ ‘นวัตกรรม’ เช่น ความคิดใหม่ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ หรือวิธีการทำงานใหม่ เพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า เช่น การคิดเรื่องสวัสดิการชุมชนของครูชบ ยอดแก้ว ที่อาจจะใช้หลักศาสนาของหลายๆ ศาสนา ที่เริ่มจากการตั้งกองบุญ ที่มีความเชื่อเดิม ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วสังคมมีความสุข และครูชบคิดถึงเงินต่อเงิน เป็นเงินที่เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเงินที่สร้างความสามัคคี เอาเงินมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ซึ่งในยุคแรกนั้นเป็นนวัตกรรมเชิงความคิดและจัดการ
หรือ ‘ผู้ใหญ่ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง’ (ผู้นำชุมชนจาก อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว) นำเรื่องระบบกองทุนสวัสดิการไปยกระดับเรื่องที่อยู่อาศัยของสมาชิก หรืออาจจะคิดถึงการสมทบที่มากกว่าเงิน เช่น ทรัพยากร แรงงาน ซึ่งนวัตกรรมต้องควบคู่กับความรู้ ที่เป็นความรู้ภายนอก ประสบการณ์ ภูมิปัญญา เทคโนโลยี เป็นความรู้ที่สกัดแล้วประยุกต์ใช้ประโยชน์
โดยทั่วไปนวัตกรรมที่เราเห็น จะเป็นนวัตกรรมเชิงความคิด หากเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จะหาได้ง่าย เช่น เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์เสมอไป ศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นนวัตกรรมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้คิดและนำเสนอหลักคิดนั้นออกมา และทุกคนประยุกต์ใช้
หลักในการสร้างนวัตกรรม : การคิดเชิงออกแบบ
ผศ.ดร.จิตติ อธิบายถึงหลักการในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย Context : เปลี่ยนบริบท สิ่งแวดล้อมในการทำงาน Input : ใช้ความรู้ใหม่ๆ ทรัพยากรใหม่ แหล่งใหม่ๆ Process : เปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ ย่นเวลา Product เปลี่ยนรูปโฉม ผลผลิต ผลงาน คุณสมบัติ หรือคุณค่าของงาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำให้ดีขึ้น
การคิดเชิงออกแบบ (DESING THINKING) คือ กระบวนการคิด เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่ดีขึ้น และหัวใจคือการเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ทีมวิศวะหรือสถาปนิก ที่คิดค้นนวัตกรรมได้ดี แต่ยังไม่ได้ตอบโจทย์สังคมได้ ซึ่งกระบวนการคิดนั้น จะต้องมีกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน
ประกอบด้วย 1.ต้องเข้าใจปัญหานั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ก่อนจะทำ ก่อนจะออกแบบโครงการ แผนงาน เราต้องเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ถ้าไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งอย่าไปคิดออกแบบอะไรทั้งสิ้น 2.ตั้งโจทย์ปัญหา เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว เรามาตั้งโจทย์ปัญหาว่าจะแก้ไขอะไร ส่วนไหน 3.สร้างความคิด 4.สร้างต้นแบบ 5.ทดสอบต้นแบบและขยายผล โดยหัวใจสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการที่ 1 และ 2 นั้นสำคัญ เราต้องเข้าใจถึงปัญหา และตั้งโจทย์ในการแก้ไขให้ได้มากที่สุด
“วิธีการแก้ไขปัญหาแบบ DESING THINKING ปัญหาคือ การแก้ปัญหาโดยทั่วไป เป็นการคิด แล้วปัญหานั้นอาจจะสำเร็จ แต่ก็จะมีปัญหาใหม่ขึ้นมา คิดง่ายแก้ง่ายก่อน กลับมาแก้อีก หมายรวมถึงกองทุนสวัสดิการชุมชน เราต้องคิดและมองไกลเกินกว่าการให้สวัสดิการชาวบ้าน ณ ขณะนั้นแล้ว เราต้องมองถึงสังคม ลูกหลาน จะได้รับความยั่งยืน เราคิดไกลเกินกว่าที่เขาคิดและเสนอแล้ว เรามองถึงการตอบโจทย์ความยั่งยืน นั่นคือ เราต้องคิดกระบวนการอย่างถ่องแท้เสียก่อน แล้วจึงคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา” ผศ.ดร.จิตติอธิบาย
ตัวอย่างที่ จ.นครราชสีมา แก้ปัญหาการฉีดวัคซีนโควิดล่าช้า
ตัวอย่างเช่น จ.นครราชสีมา มีต้นแบบการช่วยเหลือภาคประชาชน ที่นี่ใช้กระบวนการ DESING THINKING มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ 6,000 คน/วัน มีคนที่เคยทำงานที่ MIT มาทำงานอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จึงได้นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้ โดยการคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุขจังหวัด เอกชน มีการคิดวิเคราะห์ปัญหาการเข้าถึงวัคซีน และการฉีดวัคซีนได้ช้า ไม่ประทับใจ จึงมานั่งคุย วิเคราะห์ ออกแบบ จนมีการเสนอออกแบบจุดฉีดวัคซีนที่ใหญ่และกว้างขึ้น
จุดแรกที่ทำคือ โรงแรมที่รองรับคนได้มาก รวมถึงการออกแบบเส้นทางการเดิน ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียน วัดความดัน การตีเส้นบอกจุด มีการออกแบบอย่างละเอียด รวมถึงมีพนักงานประจำจุด และวิธีการพูดกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะคนแก่ เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่น มี wifi บริการ มีน้ำดื่ม มีของกินรองรับผู้มารับบริการ รวมถึงการออกแบบการกระจายวัคซีนใน 1 หลอด/ผู้บริการ 1 คน ทำให้ 1 คน จะได้รับวัคซีนไม่เกิน 30 นาที แล้วกลับบ้าน (10 นาทีกระบวนการฉีด 20 นาทีรอผล) ซึ่งมีกระบวนการทดลอง และจำลองเหตุการณ์ตอนที่มีคนมารับบริการ
“กระบวนการ DESING THINKING สิ่งที่สอนเรานั้นคือ จะทำอะไรต้องตั้งเป้าให้ชัดเจน ที่เป็นจุดมุ่งที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เวลาที่จะแก้ไขนั้นต้องแก้ไขที่สาเหตุ บางครั้งต่างพื้นที่กัน ดูเหมือนปัญหาคล้ายกัน แต่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน แนวทางในการแก้ไขก็ย่อมแตกต่างกัน บางครั้งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่คนละกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วนำไปทดสอบ และโจทย์ดังกล่าวจะไม่ใช้คนๆ เดียวออกแบบ ยิ่งมีความชำนาญแตกต่างกัน มีความคิดแตกต่างกัน การออกแบบยิ่งตอบโจทย์ได้ดีกว่า เราต้องใช้เหตุและผลมาร่วมตัดสิน” ผศ.ดร.จิตติอธิบาย
นวัตกรรมในงานพัฒนาชุมชน จะต้องมองปัญหาในมุมมองใหม่ พบสาเหตุใหม่ ใช้วิธีการใหม่ ใช้วัสดุ/อุปกรณ์ใหม่ ใช้ระบบการทำงานใหม่ เช่น การทำ Waste Zero concept ขยะต้องเป็นศูนย์ นำขยะมาใช้ประโยชน์ หรือป้องกันไม่ให้เกิดขยะ รวมไปถึงการพัฒนาที่ใช้วัฒนธรรม ศาสนา หลักสมดุลของธรรมชาติเป็นฐาน (Cultural based, Faith based, Ecological balanced development) การบูรณาการ การเชื่อมประสาน การทำให้เป็นระบบ ความเชื่อมโยง วิธีการเพิ่มหรือลด actors ในงานพัฒนาหรือปรับบทบาท actors ที่มีอยู่
“ในประเทศไทยจะมีศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรม เช่น ฝนเทียม แก้มลิง แกล้งดิน บำบัดน้ำเสีย ไบโอดีเซล เป็นต้น เหล่านี้เป็นหลักการบางอย่าง ที่เป็นหลักคิดในการคิดและออกแบบกระบวนการสร้างนวัตกรรม” ผศ.ดร.จิตติ กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ในการจัดเสวนาครั้งนี้จะมีกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน 5 ภาคได้คิดค้นการพัฒนานวัตกรรม การคิดนอกกรอบ การจัดทำแผนงานขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนากองทุนฯ ต่อไป
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)