7 เรื่องเล่า ของครูศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนอีสาน

7 เรื่องเล่า ของครูศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนอีสาน

วันครู กำหนดให้ตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกๆปี ซึ่ง ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอนแนะนำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ที่มีหน้าที่สอน อบรมเกี่ยวกับวิชาความรู้ การอ่านเขียน รวมไปถึงการให้ความรู้และแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน

อยู่ดีมีแฮง ชวนทุกคนติดตาม และย้อนฟังเรื่องราวของครูศิลปวัฒนธรรม และครูภูมิปัญญา ของคนอีสานบ้านเฮา กับ 7 เรื่องเล่าจากอยู่ดีมีแฮง ที่ได้บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวของครูทุกท่านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ราชาหมอลำเรื่องต่อกลอน แห่งเมืองอุบลราชธานี

ฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ราชาหมอลำเรื่องต่อกลอน แห่งเมืองอุบลราชธานี ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหมอลำ ประจำปี 2548 และเป็นบรมครูแห่งวงการหมอลำ ผลงานและความเชี่ยวชาญในการแสดงหมอลำ ทั้งในฐานะของผู้ร้องกลอนลำ ผู้แต่งกลอนลำ ผู้แต่งทำนองกลอนลำ อย่าง “ทำนองเมืองอุบล” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งผลงานของท่าน และด้วยน้ำเสียง ท่วงทำนองลีลาการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์นี้ จึงทำให้ผลงานของท่านเป็นที่ยอมรับ และยังคงเป็นราชาหมอลำที่แฟนหมอลำต่างชื่นชมและติดตามมาจวบจนปัจจุบัน

ทองใส ทับถนน ครูพิณแห่งแผ่นดินอีสาน

“พ่อบ่ได้เอาแม้แต่บาทหนึ่ง สลึงหนึ่ง บางทีเหนื่อยแค่ไหนก็สอน เพราะอยากให้วัฒนธรรมนี้สืบต่อไปเรื่อย ๆ”

ประโยคสั้น ๆ จากปากครูทองใส ทับถนน ครูภูมิปัญญาไทย ดนตรีอีสาน ผู้ที่เป็นปรมาจารย์เพลงพิณที่ถ่ายทอดท่วงทำนองแห่งแผ่นดินอีสานไปทั่วโลก จากการเล่นพิณไฟฟ้าตัวแรกของโลกในคณะเพชรพิณทอง ถ่ายทอดเพลงพิณมาให้คนรุ่นหลังสืบต่อจนฮอดปัจจุบัน

“แม่น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์” กันตรึมอีสานใต้

สำรวม ดีสม หรือ “แม่น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์” ศิลปินกันตรึม ดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้แห่งเมืองสุรินทร์ ถ้าเว้าถึง “นํ้าผึ้ง เมืองสุรินทร์”  ต้องนึกถึงนักร้อง ที่มีเสียงกังวาล เสียงหวานเป็นนํ้าผึ้ง ลีลาการวาดฟ้อนร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์ และปฏิภาณการด้นเพลงร้องสดในงานต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์ของกันตรึมแห่งอีสานใต้ และท่านได้เรียกตัวเองว่า เป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ สืบสานวัฒนธรรมแห่งอีสานใต้ ซึ่งเป็นมรดกของชาติไทย อย่างการร้อง และที่สำคัญมันคือชีวิตของแม่นํ้าผึ้ง เมืองสุรินทร์

บุญมี ล้อมวงศ์ ช่างหัตถกรรมหล่องทองเหลืองบ้านปะอ่าว

 

“ปั้นจากใจ ด้วยสองมือ ” คือสิ่งที่ช่างทองเหลืองจากบ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี เพิ่นสร้างสรรผลงานจากภูมิปัญญา ช่วนเบิ่งวิธีการทำเครื่องทองเหลืองแห่งเมืองอุบลฯ ที่ปั้นเองด้วยมือสองมือ ซึ่งสืบทอดวิถีในการปั้นทองเหลือง ด้วยวิธีแบบดั้งเดิมจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น และปัจจุบันเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ศิลปะชุมชนแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ “ร่วมเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านจากท้องถิ่น”

ส.บุญมา พิณตั้ง ศิลปินมรดกอีสานแห่งเทือกเขาภูพาน

ถ้าเอ่ยชื่อ บุญมา เขาวง หรือ ส.บุญมา พิณตั้ง  ศิลปินมรดกอีสานแห่งเทือกเขาภูพาน ที่สูญเสียการมองเห็นตั้งแต่อายุ 3 ปี  แต่สามารถพัฒนาทักษะจากการดีดพิณจากการ จดจำ ฟังเสียง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ตัวโน๊ต เล่นจนชำนาญและมีลายพิณประจำตัว คือ ลายสุดสะแนนและลำเพลินโบราณ พ่อบุญมา ถือได้ว่ามีฝีมือในการบรรเลงพิณสามสาย ที่มีความไพเราะและพริ้วไหวในท่วงทำนองของลายพิณ โดยเฉพาะท่วงทำนองที่ปรากฏในลายพิณแต่ละทำนองมีความโดดเด่นยากที่จะหาศิลปินเทียบฝีมือได้  อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มนำทำนองลายดนตรีพื้นบ้านอีสานต่าง ๆ มาประยุกต์ผสมผสานกลมกลืน กับสอดแทรกอัตราจังหวะและท่วงทำนองที่หลากหลาย กลายเป็นลายพิณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน

สมบัติ สิมหล้า หมอแคนเทวดา

พ่อสมบัติ สิมหล้า หมอแคนเทวดา ศิลปินมรดกอีสาน จากเด็กอีสานที่ประสบอุบัติเหตุตั้งแต่กำเนิด ทำให้ดวงตามืดบอด ได้ฟูมฟัก เรียนรู้ การเป่าแคนจากพ่อ จนทำให้พ่อสมบัติเป็นหมอแคนที่มีความสามารถมาก และได้กลายเป็นหมอแคนที่เก่งที่สุดแห่งยุค ด้วยฝีมือการเป่าแคนที่ไม่ธรรมดาทำให้หลายคนต้องยกย่องให้พ่อสมบัติ สิมหล้า เป็นหมอแคนเทวดา และยังได้รับสมญานามอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง หมอแคนนิ้วทอง หมอแคนแชมป์ตลอดกาล

เฉลิมพล มาลาคำ ศิลปินระดับตำนาน ขวัญใจคนอีสานบ้านเฮา

“ศิลปินรับผิดชอบการแสดง เป็นผู้ใหญ่บ้าน รับผิดชอบในการดูแลลูกบ้าน และมาเป็นนายก อบต. ทำงานช่วยเหลือสังคม…ไม่ว่าจะเป็นนักร้องหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต. เฮาต้องสื่อสัตย์ต่อหน้าที่” นี่คือถ้อยคำของศิลปินชั้นครู เฉลิมพล มาลาคำ ตำนานบักจอบหลอย

“แต่งกับเขาเถิดน้อง คู่ครองที่สมกันแม่ท่านคงหมายมั่นอยากให้ลูกนั้นได้คนดี …” ผ่านไปโดนปานได๋เพลง “ตามใจแม่เถิดน้อง” ยังคงถืกเปิดอยู่ตลอดเวลา มื้อนี้ #อยู่ดีมีแฮง พามาฮู้จักเส้นทางชีวิตของพ่อเฉลิมพล มาลาคำ ที่ใคร ๆ ก็ฮู้จักในนาม “หมอลำเสียงดีในตำนาน” ทั้งผลงานการร้องลำมากมาย ผลงานเขียนกล่อนลำและเพลง สร้างศิลปินอีกหลายท่าน จากหมอลำ นักแสดง จนมาฮอดการเป็นผู้นำชุมชน แม้สิหลายบทบาทหน้าที่ แต่พ่อเฉลิมพลกะเต็มที่กับทุกอย่าง

ชวนติดตามเพื่อให้รู้จัก เข้าใจ และหวงแหน อีสานบ้านเฮากับ #อยู่ดีมีแฮง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ