ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นระยะเวลากว่าสิบปีแล้ว สื่อถือเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และเปิดประเด็นการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าสื่อควรเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารเเละเป็นพื้นที่สำหรับสื่อสารข้อมูลใหม่ๆที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสันติภาพหรือการคลี่คลายความขัดแย้งในกระบวนการพูดคุย สื่อไม่ควรที่จะหยุดนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพราะในความเป็นจริง มีข้อมูลข่าวสารหรือประเด็นอื่นๆ ที่คนเป็นสื่อสามารถกำหนดประเด็นขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการสันติภาพ “ซึ่งถ้ายึดตามหลักการเเล้ว สื่อในกระบวนการสันติภาพไม่ได้รายงานในสิ่งที่เห็น เเต่รายงานในสิ่งที่เป็นทางเลือกเเละโอกาสต่าง นักข่าวจะต้องเป็นคนกำหนดประเด็นเเละหาข้อมูลมานำเสนอ ซึ่งข้อมูลนั้นมีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างให้เกิดสันติภาพเเละการคลี่คลายความขัดเเย้ง”
ซุลกีฟลี ซาแล ผู้สื่อข่าวดีสลาตันภาคใต้ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสื่อเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดเเย้งด้วย บางครั้งเราไม่ได้นำเสนอทั้งสองด้านทำให้เกิดปัญหาก็เป็นได้ เราต้องวางตัวเป็นกลางในการนำเสนอทั้งสองด้านเพื่อให้สมดุลกัน เมื่อเราเสนอเเต่เรื่องร้ายๆเรื่องดีๆก็กลับหายไปสิ่งนั้นทำให้คนภายนอกไม่กล้า มองว่าเป็นพื้นที่ความขัดเเย้งที่มีความรุนเเรงมากขึ้น จริงๆ เเล้วก็ไม่ได้รุนเเรง มีเฉพาะบางกลุ่มไม่ใช่ว่าจะมีกับทุกคน และในการทำงานของสื่อจะต้องเสนอให้รอบด้านทั้งสองฝ่ายเเละนำเสนอเเต่สิ่งดีๆ ในการเเก้ไขปัญหา
ฟาเดล หะยียามา ประชาชนจังหวัด ปัตตานี ผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องการสื่อสารความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าสื่อที่เป็นสื่อทางเลือกในพื้นที่มีมากมาย และได้นำเสนอข่าวสารที่เเตกต่างจากสื่อกระเเสหลัก แต่ถ้าจะให้เกิดผลที่มากขึ้นต่อการแก้ไขปัญหาความขัดเเย้ง คิดว่าควรที่จะมีลักษณะของการเตรียมความรู้ของคนในพื้นที่ในการวิเคราะห์ข่าวสาร