สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แม้จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่สถาปนาขึ้นมา

สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แม้จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่สถาปนาขึ้นมา

ฉันเติบโตในสังคมเมือง แหล่งต้นไม้ที่ฉันเห็นบ่อยที่สุดคือต้นไม้ริมถนน ถ้าฉันอยากเห็นต้นไม้เยอะ ๆ ฉันก็ต้องไปสวนสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดไว้ให้ฉันไปพักผ่อนหย่อนใจ

หากฉันไม่มีโอกาสได้ออกจากเมือง หรือเปิดหูเปิดตาจากการเดินทางไปสังคมอื่น เมืองอื่น ประเทศอื่น สิ่งที่เรียกว่า ป่าไม้ แม่น้ำ ภูเขา ทะเล คงเป็นแค่ภาพแห่งจินตนาการที่ถูกฉายซ้ำ ๆ เวลาดูทีวี

แต่ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนเมืองถึงไม่มีสายใยติดต่อกับธรรมชาติอย่างที่เราได้สัมผัสเวลาไปเดินป่า ขึ้นดอย ล่องเรือในแม่น้ำ เดินบนหาดทราย ดำน้ำในทะเล ทำไมคนเมืองต้องอยู่กับกำแพงคอนกรีต ตึกสูงเลียบฟ้า ห้องสี่เหลี่ยม เครื่องจักรกลแห่งความสะดวกสบาย ความเงียบกลางการจราจรที่พลุกพล่าน

ฉันเชื่อว่าร่างกายของฉันมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว เปลี่ยนผันไปตามฤดูกาล แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของแต่ละวัน หากสิ่งแวดล้อมมิได้ถูกกลบด้วยคอนกรีต ฉันจะรู้สึกถึงไอเย็นและความชื้นจากต้นไม้ ฉันจะรู้สึกได้ถึงสายลมที่พัดผ่าน ไม่ว่ามันจะเบาขนาดไหนก็ตาม กลิ่นอายอากาศหลังฝนกระทบผืนดินจะลอยมาแตะที่จมูก มันทำให้ฉันรู้สึกสดชื่น มีพลัง ผ่อนคลาย และพร้อมเดินหน้าต่อไป

ฉันมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ชีวิตคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองอย่างที่ฉันเติบโตมา คนชนบท คนบ้านนอก คนต่างจังหวัด คนดอย ชาวเล เกษตรกร ชาวสวน ชาวประมง แล้วแต่จะเรียกกันไป ฉันสังเกตว่า พวกเขารู้จักธรรมชาติ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม รอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม (ทำนาช่วงฤดูฝน ลงกล้าต้นไม้หลังฤดูแล้ง น้ำลดปลูกผัก) บางครั้งก็ตัดใจไม่ทำบางสิ่งบางอย่างเพราะธรรมชาติไม่เอื้อ (เช่น แล้งเกินกว่าจะปลูกอะไรได้ ฝนตกหนักเกินที่จะออกเรือหาปลา)

ฉันคิดว่าฉันไม่อาจมีชีวิตอย่างนั้นได้ เพราะฉันไม่มีภูมิปัญญาหรือทักษะพื้นฐานอะไร สิ่งที่ฉันมีคือความรู้ตามปริญญาบัตร และความอยากรู้ที่ยังเปิดโอกาสให้ฉันรู้จักสิ่งใหม่ ๆ และเรียนรู้จากผู้อื่น โดยเฉพาะจากคนที่มีวิถีชีวิตที่ยังพึ่งพาธรรมชาติ แล้วก็เอามาร้อยเรียงเป็นเอกสารบอกคนอื่น แต่ส่วนใหญ่ก็เก็บไว้เตือนสติตัวเองว่าโลกนี้มีอะไรอีกมากที่ฉันไม่เคยรับรู้

แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร ฉันเชื่อว่าเราทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสิทธิในการรักษาสถานะนั้นไว้ สิ่งแวดล้อมที่ว่านั้น ไม่ใช่แค่แหล่งน้ำ ผืนป่าสีเขียว ภูเขาสูงตระหง่าน แต่รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ถูกสถาปนาขึ้น เช่น เมืองอย่างกรุงเทพฯ มันควรเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ปลอดมลพิษ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มพูนความสุขทั้งกายและใจ มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่หลากหลายและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เพราะธรรมชาติมีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกตอนนี้คือ

ทำไมฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลายืนบนรถเมล์ เวลาเดินบนถนนคนเดียว

ทำไมฉันเอาผ้าปิดจมูกเวลาเดินริมคลองน้ำสีดำมืดมิด เวลายืนรอป้ายรถเมล์แล้วมีควันดำพุ่งใส่หน้า

ทำไมรถติดทุกเช้า บ่าย เย็น บางครั้ง หลังสามทุ่ม รถก็ยังติด

ทำไมฉันรู้สึกง่วงหลังการเดินทางเข้าเมืองไปยังที่ทำงาน

ทำไมระบบชนส่งสาธารณะไม่ค่อยเชื่อมต่อกันในราคาที่ต่ำกว่าข้าวจานด่วน

ทำไมฉันรู้สึกว่าวัน ๆ หนึ่ง มันผ่านไปอย่างรวดเร็ว หมดไปกับการเดินทาง

ทำไมฉันไม่สามารถดื่มกินน้ำสะอาดได้ในที่สาธารณะ หากฉันไม่มีเงินที่จะควักซื้อน้ำเป็นขวดหรือซื้อเครื่องกรองเป็นหมื่น

ทำไมพื้นที่สีเขียวที่ฉันสามารถเดินเล่น ออกกำลังกาย ใช้เวลากับคนที่ฉันรักนั้นอยู่ไกลบ้านเหลือเกิน

คนที่ออกแบบเมืองในอดีตอาจรู้สึกว่า เมืองคือเมือง ไม่ใช่พื้นที่ที่จำเป็นจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสีเขียวอะไรมาก เมืองคือพื้นที่การค้า พื้นที่อุตสาหกรรม แต่ความคิดเช่นนี้ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่ได้เห็นบทเรียนจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองแล้วว่า เมืองจำเป็นต้องเอื้อให้คนสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพ

กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างเมืองที่น่าอยู่คือ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต” ดั่งที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคแรก

แต่สิทธิดังกล่าวที่ประชาชนมีอยู่แล้ว และเคยเขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญไทย ได้หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ประชาชนไทยกำลังจะออกไปลงเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้

คนเมืองรุ่นใหม่กำลังเปล่งประกายความคิดสร้างสรรค์ในการร่วมกันออกแบบเมืองที่น่าอยู่ เรียนรู้จากสังคมอื่นเพื่อมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมเมืองในประเทศไทย มีการพูดคุยถึงพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้น พื้นที่สำหรับคนเดินและจักรยาน ระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรต่อคนทุกวัย แต่สิทธิพื้นฐานที่การันตีการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับถูกละเลยและทำให้หายไปจากโครงสร้างพื้นฐานของจารีตสังคมไทย

อ่านเพิ่มเติม: สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (ที่หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญ) http://enlawfoundation.org/newweb/?p=2894

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ