มวกเหล็กเมืองน่าอยู่ กับความท้าทายภายใต้บริบทโลก

มวกเหล็กเมืองน่าอยู่ กับความท้าทายภายใต้บริบทโลก

ท่ามกลางฤดูหนาวที่มาพร้อมฤดูฝุ่น นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ทางภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ที่มีการเฝ้าระวังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จ.สระบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถูกจับตา จากปัญหามลพิษทางอากาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ในปี 2555 โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพอากาศมากที่สุด คือ จ.สระบุรี  ต่อมาในปี 2561 จ.สระบุรี ยังคงครองแชมป์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดในประเทศรวม 165 วัน  ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 27-303 มคก./ลบ.ม. สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองหินในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง และการจราจร 

ภาพโดย องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่ามิตรภาพ

สถานการณ์ “ฝุ่น PM2.5” ปี 2564  มีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศลดลงจากปี 2563 แต่ยังคงพบปริมาณ ฝุ่น PM2.5 PM10 และก๊าซโอโซนเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด โดยจังหวัดที่พบดัชนีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สระบุรี พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม และลําปาง

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง หลายๆ อำเภอของสระบุรี โดยเฉพาะ อ.มวกเหล็ก กลับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มีความอุดสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ ภูเขา น้ำตก  เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่ถวิลหาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ แต่มลพิษทางอากาศก็เป็นอีกสถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่เช่นกัน

ทีมสื่อพลเมืองพูดคุยกับ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการอิสระ อดีตรองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยพัฒนาด้านการพัฒนายั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในฐานะของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่  พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงแนวทางที่จะทำให้พื้นที่นี้ยังคงเป็นเมืองน่าอยู่ภายใต้ความท้าทายของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

สถานการณ์มวกเหล็กในปัจจุบันและความท้าทายภายใต้บริบทโลก

ดร.อาภารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็น Global issue อย่างโลกร้อนหรือ Climate Change ที่เป็นเรื่องของโลกมีสภาพอากาศรวนแบบสุดขั้ว หนาวสุดขั้ว ร้อนสุดขั้ว น้ำท่วม และแห้งแล้งมโหฬาร ซึ่งเป็นผลพวงมาจากเรื่องสภาพอากาศโลก ดังนั้น มันจะเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรก็ได้ อย่างในหลายพื้นที่ในประเทศไทยเราเองก็เจอน้ำท่วมหลายเดือน

อย่างสำหรับพื้นที่หมวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นพื้นที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำตก สถานที่พักตากอากาศ เป็นพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จะเด่นเรื่องการทำการเกษตรและฟาร์มโคนม แต่เนื่องจากมีการพัฒนาเมืองมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเต็มไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองหินปูนขนาดใหญ่ และยังมีเหมืองย่อย ๆ เล็ก ๆ ลงไปอีก เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ และตอนนี้ยังมีโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วย ทำให้สิ่งที่ชุมชนมวกเหล็กต้องเจอฝุ่นละอองขนาดใหญ่จากการทำเหมืองปูน, ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากโรงงานผลิตไฟฟ้า รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์จากก๊าซพิษในกลุ่มของซัลเฟอร์ (SOx)  ไนโตรเจน (NOx) และไดออกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกรวนเพราะเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ถ่านหินหรือขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า

ดร.อาภารัตน์ อธิบายว่า ปัญหาที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือ มลพิษทางอากาศ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ภายใต้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก มวกเหล็กจะเป็นพื้นที่มีส่วนกระตุ้นทำให้สภาพอากาศรวนได้ ถ้าเป็นเหมืองปูนก็จะเป็นฝุ่นอนุภาคใหญ่ขนาด 10 ไมครอนขึ้นไป  ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ ทำให้แพร่กระจายออกนอกพื้นที่ได้ไม่ไกล และเคลื่นไหวเป็นฝุ่นในอากาศตกในพื้นที่ไม่เกิน 200-300 เมตร แต่หากเป็นโรงงานไฟฟ้า ฝุ่นจะมีอนุภาคขนาดเล็ก แพร่กระจายได้ไกลและทำให้เกิดหมอกควัน โดยเกิดจากการเผา แล้วทำให้เกิด PM2.5  และโรงงานไฟฟ้าก็ต้องใช้วัตถุดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ถ้าเป็นถ่านหินยังอยู่ในเกณฑ์ไม่แน่มาก แต่ถ้าเป็นขยะยิ่งน่ากลัว เพราะว่าขยะเหล่านี้นี้จะมีพลาสติกหลาย ๆ ชนิดรวมกัน รวมถึงสารไดออกซิน (dioxins) ที่ออกมาสู่อากาศจะทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น เป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย ซึ่งในส่วนความท้าทายในระดับโลก สารไดออกซิน (dioxins) ที่มาจากโรงงานก็มีส่วนทำให้เกิดโลกร้อนด้วย

ดร.อาภารัตน์ ระบุว่า โรงงานเหมืองบางแห่งอยู่ในพื้นที่ อ.หมวกเหล็ก ส่วนโรงไฟฟ้าบางแห่งอยู่ใน อ.แก่งคอย ซึ่งทั้งสองอำเภอนี้เป็นพื้นที่ติดกัน ดังนั้น การลอยตัวของหมอกควันย่อมได้รับผลกระทบในพื้นที่ใกล้เคียงกันด้วยเพราะฝุ่นมันไม่มีขอบเขตในการเคลื่อนที่

“ฝุ่นไปได้ไกลมากตามทิศทางลม ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ประกาศว่าหากฝุ่นมาจากเหมืองปูนจะพัดอยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร ถ้ามาจากโรงไฟฟ้าลมจะพัดฝุ่นอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เมื่อฝุ่นตกลงมาจากอากาศ ฝุ่นก็สะสมในหญ้าและพืชผล ส่งผลกระทบทางการเกษตรตามมา ซึ่งมันเป็น long term effect แต่เมื่อก่อนมวกเหล็กยังไม่มีฝุ่นแบบนี้ เมื่อมีโรงไฟฟ้าเรากลับได้กลิ่นหนักขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ชุมชนเจอ” ดร.อาภารัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องแรงงานในพื้นที่ที่อาจไม่ได้ประโยชน์จากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบว่า โรงงานที่เปิดในมวกเหล็กเป็นคนในพื้นที่มวกเหล็กเข้าไปทำงานเท่าไหร่เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด เป็นแรงงานระดับไหน 

000

“อุตสาหกรรมหนัก” กับ “พื้นที่เกษตรกรรม” ทางที่ต้องเลือก

ดร.อาภารัตน์ กล่าวว่า เดิมทีในแผนการพัฒนาจังหวัด สระบุรี ระบุว่าที่นี่จะเป็น ECO INDUSTRY (อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ) มีแผนทำให้เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมวกเหล็กเป็นเมืองที่มีต้นทุนทางวิถีชีวิต เป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องคาวบอย มีไวน์ระดับประเทศส่งออกด้วย มีพืชผลทางการเกษตรมากมาย ถ้าพื้นที่เหล่านี้กลายไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่สีม่วง สิ่งเหล่านี้ก็คงจะกลายเป็นตำนาน คนมวกเหล็กเองก็ต้องชัดเจนว่า การอนุญาตให้โรงงานขอประทานบัตรจัดตั้งเหมืองหินควรพอแค่นี้ไหม เพราะชุมชนต้องการมุ่งมั่นที่จะเป็นพื้นที่ที่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม

ระหว่างอุตสาหกรรมหนัก กับ พื้นที่เกษตรกรรมที่ต่อยอดเป็นธุรกิจ ชาวมวกเหล็กต้องตัดสินใจได้แล้วว่าเราอยากจะโตแบบไหน ยังอยากจะรักษาวิถีชีวิตชุมชนอยู่ไหม ยังอยากจะรักษาประเพณีคาวบอยไหม หรือรักษาเกษตรกรรมเลี้ยงโคเนื้อ-โคนมมอยู่ไหม เพื่อผลิตน้ำนมแหล่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคนมวกเหล็กกำลังถูกปัจจัยภายนอกมาสั่นคลอนวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านี้

“หากจะเข้าคอนเซ็ปต์มวกเหล็กเป็นเมืองน่าอยู่ ก็ถึงเวลาแล้วที่คนมวกเหล็กต้องตัดสินใจว่าจะพัฒนาไปเป็นเมืองแบบไหน อย่าให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ ” ดร.อาภารัตน์ กล่าว

ดร.อาภารัตน์ ระบุว่า ชุมชนอยู่ร่วมกับโรงงานได้ เพียงแต่โรงงานต้องมีการลงทุนด้านการควบคุมมลพิษด้วย บริษัทอุตสาหกรรมมีการจ้างทำ EIA ทุกปี แต่ไม่เคยทำข้อมูลออกมาเป็นภาพรวมให้ประชาชนเข้าใจ มีแต่ออกมาเป็นข้อมูลแบบท่อน ๆ ไม่ต่อเนื่อง เสนอว่าโรงงานต้องมอนิเตอร์ทั้งปี ดูทิศทางลม ดูเรื่องสภาพอากาศเป็นประจำ ถ้าโรงงานมีข้อมูลเหล่านี้ โรงงานจะสามารถประกาศได้ว่าฝุ่นจะมาช่วงไหนบ้าง แล้วบอกประชาชนป้องกันทันท้วงที รวมถึงกองทุนเยียวยาก็ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบด้วย มันจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้

“โรงงานจะมองแค่เรื่องคุณภาพอากาศมันไม่พอ แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการมลพิษด้วย ใครเป็นผู้ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจากผลที่ร่างกายเสื่อมโทรมเพราะฝุ่น ดังนั้น โรงงานต้องลงทุนในเรื่องของการควบคุมมลพิษเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีวิธีการหลายวิธี เช่น ใช้เครื่องอนุภาคไฟฟ้าดักจับฝุ่นที่ตกลงมากลางอากาศ หรือใช้ถ่านกัมมันต์ดูดซับพวกกรดไดออกซิน” ดร.อาภารัตน์ กล่าว

000

ชูธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ภาพอนาคตของมวกเหล็ก

ดร.อาภารัตน์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอในการจัดการเมืองมวกเหล็กให้น่าอยู่ คือ ให้ขยายสู่การเป็นเมืองแห่ง “Green Service” หรือ “บริการสีเขียว” โดยสร้างและต่อยอดภาคธุรกิจการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมวกเหล็กมีฐานเดิมจากความได้เปรียบทางการเกษตรและการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพและความแตกต่างของภูมิประเทศ ทั้งภูเขา น้ำตก ป่าไม้อยู่แล้ว ตัวอย่าง Green Service ที่ทำได้โดยไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่น

  • พัฒนาป่าชุมชนเขาล้อม-คลองระบัง และป่าชุมชนหมู่ 3 ของมวกเหล็กเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งพื้นที่เดินป่าทั้งแบบ Hiking และ Trekking รวมถึงการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตที่สร้างทั้งรายได้และพื้นที่ในการผลิตอากาศบริสุทธิ์ในคราวเดียวกัน
  •  การส่งเสริมการให้บริการที่พักที่มีอยู่มากมายถึงกว่า 80 แห่ง ควรมีการขยายตลาดสู่กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและอากาศที่เย็นสบายของขุนเขาและน้ำตก เช่น ผู้เกษียณจากการทำงานทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยและกลุ่ม Digital Nomad  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ ดร.อาภารัตน์ ยังเสนอว่ามวกเหล็กต้องตั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมายสาธารณะ ว่าภายในปี 2025 มวกเหล็กจะเป็นเมืองน่าอยู่ที่มีความสุข มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติจากการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีกลมเกลียวของทุกภาคส่วนตั้งแต่ประชาชนผู้อยู่อาศัย เกษตรกร ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทุกประเภท ผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับ รวมถึงผู้มาเยือน บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ SDGs ข้อที่ 17 ที่ระบุว่า Partnerships for the Goals สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทังนี้ ดร.อาภารัตน์ ระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ควรจะเข้ามาจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมใน จ.สระบุรี ดังนี้  

1. ให้หน่วยงานที่ดูแลงานด้านผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วางแผนเตรียมงานกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้มากขึ้น จัดโซนที่พักอาศัยของผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการของรัฐเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีความสุข

2. หน่วยงานด้านกระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลด้านที่พักอาศัยในพื้นที่อุตสาหกรรม ที่ประชากรเข้ามาทำงาน พักอาศัย บ้านเช่า โรงเรียน และการคมนาคมขนส่ง การจราจร 

3. หน่วยงานอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานประกอบการ ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่อยู่ในเขตมลภาวะทางอากาศให้มากยิ่งขึ้น

“ถ้ามวกเหล็กยังเดินหน้าเพื่อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ก็ไม่ต้องหวังชูจุดขายว่าจะเป็นพื้นที่โอโซนของโลกอย่างที่ประกาศในเว็บไซต์จังหวัด แล้วสุขภาพของประชาชนที่หาเงินมาทั้งชีวิตก็ต้องนำมาใช้ในการรักษาตัวเองในบั้นปลาย แต่ถ้าคนมวกเหล็กเลือกต่อยอดจากธรรมชาติ อาหารที่ได้จะเป็นออแกนิก สามารถจำหน่ายในพื้นที่และส่งออก รายได้จากข้างนอกเข้ามา รายได้หมุนอยู่ในพื้นที่” ดร.อาภารัตน์ ระบุ

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ