เยาวชนบ้านตามุยกับการเดินทางจากห้องเรียนลูกน้ำโขงสู่ไร่ส้มวิทยา

เยาวชนบ้านตามุยกับการเดินทางจากห้องเรียนลูกน้ำโขงสู่ไร่ส้มวิทยา

“แม่นุ้ย…หนูอยากไปเชียงใหม่”
“แม่นุ้ย…หนูอยากไปทะเล”

นี่คือเสียงที่เด็ก ๆ เรียกร้อง จากคำบอกเล่าของ คำปิ่น อักษร หนึ่งในผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย หรือ “แม่นุ้ย” ของเด็ก ๆ  ผู้เป็นครูชุมชนที่ทำกิจกรรมเสริมพลังเสริมทักษะให้คนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนบ้านตามุย ซึ่งที่นี่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในลุ่มน้ำโขง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงและงานวันเด็กสองฝั่งโขง ไทย-ลาว ไม่ได้จัดต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีเพียงจัดงานเล็ก ๆ ในชุมชนเท่านั้น ในปีนี้ถือเป็นโอกาสที่ครูชุมชน โฮงเฮียนฮักน้ำของจะพาลูกหลานไปเรียนรู้ข้ามภูมิภาค

06.30 น. เช้าวันพฤหัสบดี ที่ 12 มกราคม 2566 เป็นเวลานัดหมายของครูชุมชนและน้อง ๆ จำนวน 22 คน เดินทางไปเรียนรู้ไกลถึงศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ทันกิจกรรมในวันที่ 13 – 15 มกราคม 2566 3 วัน 2 คืน เนื่องจากน้อง ๆ ที่นี่มีโอกาสไม่บ่อยนักที่จะได้ออกไปเรียนรู้พื้นที่อื่น ด้วยระยะทาง และทุนทรัพย์ที่มีอย่างอย่างจำกัด บ้างก็ไม่พอมีขอสนับสนุนไปตามสถานการณ์

ออกเดินทาง ค้นพบ การเรียนรู้ในเส้นทางใหม่

คำปิ่น อักษร

“มันเป็นสิ่งที่คิดว่าจะช่วยเติมเขา นอกเหนือจากที่โรงเรียนให้ได้ในเรื่องที่ให้เด็กไปเรียนรู้ ไปเห็น การเรียนรู้ของพี่มันต่างจากในระบบศึกษา แต่นี่เราคิดเรื่องกระบวนการใช้ทักษะชีวิตที่จะออกไปเห็นโลกกว้าง ก็คือถ้าไม่ออกไปดูข้างนอกก็จะไม่รู้  การไปครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เด็ก มีทั้งผู้ใหญ่ ที่เป็นครูชุมชนที่เรากำลังสร้างเพื่อที่จะสอนลูกหลาน แม้กระทั่งคนอื่นที่จะมาเรียนรู้กับเรา

เช่นนั้นการออกไปครั้งนี้มันได้เรื่องของการได้เห็น ตื่นเต้น ไม่ใช่แค่ได้รู้อย่างเดียวในห้องเรียน แต่ได้เห็นได้สัมผัส ตั้งแต่ออกจากตามุยเลยจนไปถึงเชียงใหม่ ซึ่งมันจะผ่านเส้นทางไหนก็ตาม นั่นคือสิ่งที่เขาจะได้เห็น ฉะนั้นการเชื่อมคนเชื่อมโขงในครั้งนี้ ก็คือหนึ่งการไปเรียนรู้นอกจากไปเจอเพื่อน ได้เรียนรู้กัลยาณมิตร ได้เรียนรู้มิตรภาพ แล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นก็จะได้มาเรียนรู้ เอาอาหารไปเปิดซุ้ม  ส้มตำ ปลาย่าง ปิ้งปลา เด็ก ๆ ที่อยู่ศูนย์การเรียนรู้ที่ไร่ส้มก็ได้มาร่วมกัน ก็ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ไปอีกแขนง ในขณะที่เด็กเราระหว่างทางได้ไปเห็นเพื่อน ได้แลกเปลี่ยน ครูเองก็ได้ไปเห็นกระบวนการโรงเรียนที่นั่น พี่ว่ามันได้หลากหลาย มันได้เยอะคำปิ่น อักษร เล่าถึงความสำคัญของการเดินทางไปเรียนรู้ร่วมกับศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จ.เชียงใหม่

การออกเดินทางพาคน พาปลา ไปเชื่อมเพื่อนที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เป็นการพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยของตัวผู้เรียนในโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย เพื่อให้เด็กได้เติมเต็มความรู้ ซึมซับได้จากประสบการณ์จริงที่ประสบพบเจอ พร้อมนำปลาน้ำโขง ไปแลกเปลี่ยนเรื่องราวผ่านเมนูอาหารอีกด้วย “เลือกปลา เพราะว่ามันเป็นเชิงสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขง เราก็เป็นกลุ่มเยาวชนริมโขง ก็เลยเลือกเอาปลาไปให้คนได้กินด้วย แล้วก็น้อยคนที่จะได้กินฝีมือแม่ครัวจากตามุย แล้วเราก็เอาแม่ครูไปด้วย ที่สอนลูกหลานมาหลายรุ่นแล้ว ไปเรียนรู้ที่นั่น แล้วการเอาปลาไปมันก็มีสตอรี่ มีเรื่องเล่า เดี๋ยวก็มีคนมาถาม ปลาแม่น้ำโขงมันสร้างกระแสกระเพื่อมความรู้สึก ในขณะเดียวกันรับรู้ข้อมูล แลกเปลี่ยนกันในวงผ่านปลา จุดเชื่อมร้อยคน เพราะปลามันคืออาหาร ปลามันคือสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงง่ายที่สุด”คำปิ่น อักษร เล่าถึงความสำคัญของปลาน้ำโขง ที่มีทั้งความผูกพันและการพึ่งพิงแม่น้ำให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชุมชน

“สิ่งที่พี่ทำกับเด็กตามุย มันไม่ใช่การปฏิบัติต่อระบบ แต่มันเป็นการสอดรับระบบการศึกษา ในเรื่องทักษะความคิด ในเรื่องความรู้สึกของการเป็นเพื่อนกัลยาณมิตร หรือการเกื้อกูลกัน สิ่งนี้ครูชุมชนเราตระหนักเห็นเรื่องนี้ชุมชนเราจะต้องรวมหมู่อยู่กันให้ได้ เพราะว่ามันถูกแย่งชิงทรัพยากร ทั้งเขื่อน ทั้งอุทยาน

เพราะฉะนั้นเด็กเราจะคิดหากอบโกยไม่ได้ ความอยากของพวกเรามันจะเป็นความอยากร่วม อยากร่วมให้มันดี อยากร่วมพัฒนาชุมชน  อยากให้ชุมชนมั่นคงปลอดภัยแล้วเราจะอยู่ได้ถึงลูกหลาน นี่คือสิ่งที่่เป็นกระบวนการทางศึกษาที่เราพยายามสอน สอดแทรกเข้าไป” คำปิ่น อักษร ย้ำให้เห็นถึงกระบวนการสอนของโฮงเฮียงฮักน้ำของบ้านตามุย นอกจากการออกแบบกิจกรรมาการเรียนรู้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน ถึงปัญหาจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ปัญหาแม่น้ำโขงแปรเปลี่ยนผิดไปจากฤดูกาลแล้ว นี้คือหนึ่งวิชาที่โฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย พยายามสอนให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจพื้นที่ ความเป็นมาของแม่น้ำโขงที่มีต่อชุมชน ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพวกเขา

การออกเดินทางไปเรียนรู้ของน้อง ๆ “เยาวชนบ้านตามุย” ในต่างพื้นที่แบบนี้ นอกจากจะได้ความสนุกสนาน รอยยิ้ม เสียงหัวเราะอย่างมีความสุขแล้ว ก็เพื่อให้เด็กได้เข้าใจถึงความสำคัญของตัวเอง ทั้งเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และการกล้าก้าวข้ามเผชิญกับสิ่งรอบข้างได้อย่างปลอดภัย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ