“หนูอยากเป็นครูสอนนาฏศิลป์ อยากร้อง อยากรำ ร้องในที่นี้คือร้องในภาษาบ้านเกิด ภาษาบ้านหนูเขาเรียกว่ากันตรึม”
“ความฝันของหนูเลย อ่ะพูดง่าย ๆ กะเทยอยากจะเป็นนางโชว์ อยากจะยืนเฉิดฉาย ก็เลยมาเริ่มต้นจากมอลำก่อน ซึ่งเรายังหัวโปกอยู่ นมเราก็ยังไม่ได้ทำ เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไปสมัครนางโชว์ที่มีแต่คนสวยๆ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยมาเริ่มที่หมอลำ”
นี่คือเสียงจากน้อง ๆ ที่เข้ามาเป็นแดนเซอร์หมอลำในวงอีสานนครศิลหรือเรียกเป็นภาษาวัยรุ่นว่าอีสานนิวเจน ที่มีความไฝ่ฝันในศิลปะการแสดงขั้นสูง โดยอาศัยพื้นที่ทางการแสดงออกจากเวทีหมอลำเป็นสนามเรียนรู้ ฝึกหัด ไต่เต้า เพื่อก้าวเข้าสู่ความฝัน แม้ว่าอีสานนิวเจนจะเป็นคณะหมอลำน้องใหม่ แต่หอบความฝันของน้อง ๆ หลายคนมาสู่สนามฝัน บางคนมีทุนเดิมมาแค่ ม.ต้น บางคนดีหน่อยก็ม.ปลาย แต่หลายคนที่มารวมกันตรงนี้ก็อาศัยเวทีหมอลำเป็นห้องเรียนใบใหญ่สำหรับเขา
“หมอลำนี่นะครับ บุคลากรที่ต้องใช้ อย่างน้อย 100 กว่าชีวิตถึง 200 ดังนั้นเนี่ย แดนเซอร์ที่มาสมัครนิ บางคนขาดโอกาสทางการศึกษาเพระว่าทางบ้านอาจจะยากจน เพราะว่าการเป็นแดนเซอร์เราไม่ได้ดูกันที่วุฒิครับ พอเข้ามาปุ๊บ เราก็จะดู ถ้ามีความฝัน ส่วนใหญ่คนที่เป็นแดนเซอร์เข้ามาก็จะมีความฝันอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นครูสอนเต้น อยากเป็นคนทำชุด”
เฮียหน่อย-สุชาติ อินทร์พรหม หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมอลำคณะ “อีสานนครศิลป์”หรือเรียกกันอีกชื่อแบบคนรุ่นใหม่ว่าอีสานนิวเจน เล่าสู่เราฟังว่าเวทีหมอลำเป็นมากกว่าพื้นที่การแสดง แต่มันคือห้องเรียนรู้สำหรับน้อง ๆ ในวงที่จะก้าวตามหาฝัน เช่นเดียวกับน้องปิ่น เดิมทีเป็นสาวโรงงานเย็บผ้า หันหน้าสู่แดนเซอร์หมอลำ โดยหวังว่าเวทีนี้จะพาเธอก้าวสู่ครูสอนนาฏศิลป์ เพราะด้วยความที่อยากร้อง อยากรำ โดยเฉพาะการร้องลำในภาษาบ้านเกิดตัวเอง นั้นก็คือกันตรึม
“ช่วงมาวันแรก หนูก็เดินทางจากกรุงเทพไปลงสุรินทร์บ้านหนู ไปพักผ่อนกายสักสองวัน แล้วก็เดินทางจากสุรินทร์มาขอนแก่น มาบ้านพัก พอถึงบ้านพักหนูโทรหาเฮีย เฮียก็ส่งคนไปรับที่บขส.3 ขอนแก่นค่ะ”
น้องปิ่นยังเล่าให้เราฟังต่อว่าเธอเองก็เข้ามาอยู่วงได้ 2 เดือนกว่า ๆ แล้ว เหมือนกับน้องลูกแก้วแดนเซอร์ในวงที่ก้าวออกจากเวทีในห้องเรียนสู่เวทีหมอลำ
“ในใจหนูมันไม่ได้อยากเรียนมากกว่า อยากจะทำงาน อยากจะทำอะไรก็ได้ที่มันเป็นอิสระค่ะ”
การก้าวสู่เวทีหมอลำไม่ได้แค่ต้องการตอบสนองความต้องการตัวเองเท่านั้น แต่การก้าวเข้าสู่วงหมอลำมันช่วยตอบสนองความชอบของคนที่รักในบ้านด้วยอย่างน้องพระรามที่ก้าวขึ้นสู่เวทีหมอลำหลังเรียนจบปริญญาตรี
“อันดับแรกต้องบอกก่อนว่า ตากับยายชอบหมอลำ เขาก็เลยอยากให้ผมใส่ชุดเพชรบนเวที ผมก็เลยลองหาโอกาสให้ตัวเองทางด้านหมอลำดูว่ามันเป็นยังไง เลยได้ก้าวเข้ามาอยู่ที่ อีสานนครศิลป์ ครับ”
“เวทีหมอลำสามารถเปิดโอกาสให้น้องหลายคนครับให้ได้แสดงออก หนึ่ง การเต้น สอง การรำ สาม การร้องเพลง ใครที่มีความสามารถก็สามารถมาแสดงที่เวทีได้เลยครับ”
นั้นคือเสียงของคนที่เข้ามารับบทบาทนักร้องหมอลำ และคนที่มาเป็นแดนเซอร์ เฮียหน่อยเองยังเล่าให้เราฟังต่ออีกว่า
“ส่วนใหญ่นะครับทุกคนที่เข้ามาในวงหมอหมอลำเนี่ย หนึ่ง ชอบ ชอบก่อนแล้ว สอง บางคนไม่ได้เรียน เพราะทางบ้านอาจจะไม่ได้สนับสนุนในเรื่องการเรียน อาจจะยากจนอะไรอย่างนี้ แล้วหมอลำเนี่ย มันเป็นเขาเรียกว่าอะไรนะ วงธุรกิจหรือองค์กรที่ รับโดยไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา”
ที่นี่ไม่เพียงเปิดโอกาสการเรียนรู้จากบนเวทีเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ลูกทีมที่สนใจเรียนต่อในหลักสูตรที่ทีมอยากไปเรียนรู้ และที่สำคัญถ้าความรู้นั้นมันกลับมาประยุกต์ใช้ต่อในวงจะยิ่งดี
“ส่วนใหญ่คนที่เป็นแดนเซอร์เข้ามาก็จะมีความฝันอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นครูสอนเต้น อยากเป็นคนทำชุด โดยส่วนตัว ผมก็จะช่วยตรงนี้โดยการพูดคุยเป็นรายบุคคลว่ามีใครมีความฝันอยากทำอะไร แล้วพอเขาชอบ จะเลือกสิ่งที่เขาชอบก่อนครับ เพราะถ้าเขาทำสิ่งที่เขาชอบเขาจะทำได้ดีครับ ถ้าชอบปุ๊บก็จะแนะนำเขาว่าให้ไปศึกษาเพิ่ม เฉพาะทางเลย แล้วก็ให้เขากลับมาช่วยวง
เช่น ถ้ามีคนไหนชอบเรื่องเสื้อผ้า ก็จะให้เขาหาคอร์สเรียนเรื่องเสื้อผ้า เพื่อมาทำชุดแดนเซอร์หรือชุดศิลปิน หรือน้องบางคนชอบแต่งหน้าทำผม เรา็จะบอกว่าให้ไปหาเรียนเพิ่มเพื่อที่จะมาพัฒนาวงเรา ล่าสุดมีคนหนึ่งอยากเป็นครูสอนนาฏศิลป์ ผมก็บอกว่า ดีเลย เพราะว่ามันเหมาะกับวงเรา เพราะว่าหมอลำคือการสืบสานวัฒนธรรม ดังนั้นมันต้องใช้อยู่แล้วเรื่องพวกนี้ ให้ไปหาเรียนเพิ่มมา
ดังนั้นผมจะเสนอตลอดเลยว่า นอกจากเต้นเนี่ย ถ้าอยากหาอาชีพเสริม มาบอกเฮียได้เลย เฮียจะให้โอกาสทุกคน”
ห้องเรียนที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่เติมความรู้ใหม่ ๆ สนามฝึกซ้อม สนามแสดง ให้เหล่าแดนเซอร์ แต่มันยังช่วยสร้างรายได้สำหรับเลี้ยงชีพเลี้ยงฝันด้วย
“วันหนึ่งนะคะ ตื่นมาเลยกินข้าวก่อน เอาชุดตัวเองมาเรียง จัดล็อคของตัวเองให้เรียบร้อย แล้วก็ไปอาบน้ำแต่งหน้าเพื่อทำการแสดงค่ะ แล้วก็ถึงเช้าเลย ส่วนจากการเต้นนะคะ ก็คือวันหนึ่งลูกแก้วเต้น จะได้วันละ 400 จะเต้นตั้งแต่ 21.00-00.00 นะคะ ช่วงหลังเที่ยงคืนจะเป็นรำเรื่อง นะคะ ก็จะรับฟ้อนเสริมอีกก็จะได้ 100 บาท วันหนึ่งก็จะได้ตกที่ 500 บาทค่ะ”
การเต้นหน้าเวที 3 ชั่วโมงต่อวันได้ค่าตอบแทน 500 บาท นั้นแลกมาพร้อมคราบเหงื่อ พลังความอดทน และวินัยที่ต้องฝึกฝน ซึ่งหมอลำพระรามเองก็มองว่า คนเหล่านี้เองก็ต้องมีความอดทนไม่น้อยถึงจะมายืนบนเวทีได้
“การใช้ชีวิตของผม ปกติผมเป็นฟรีแลนซ์ เป็นพวกนายแบบ เดินแบบ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งแต่พอผมมาเจอหลังเวที มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมรู้สึกว่าน้อง ๆ หลายคนที่อยู่ที่นี่ เป็นแดนเซอร์ เป็นหมอลำ ถ้าเขาไม่เก่งไม่แกร่งจริงอยู่ไม่ได้ ด้วยสถานการณ์ที่อากาศไม่เป็นใจ ถ้าฝนตกเราก็เล่นไม่ได้ ถ้าร้อยถ้าหนาวเราเล่นได้ แต่ถ้าฝนตกเราเล่นไม่ได้ งานก็ต้องยกเลิก เราก็ไม่ได้เงินด้วย”
“รู้สึกดี มันทำแล้วมันไม่เหนื่อย งานไหนที่เราชอบอ่ะค่ะ ทำแล้วมันจะไม่เหนื่อยเลย มันจะทำได้เรื่อย ๆ ทำได้นาน ๆ ”
ความเหนื่อยอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความฝันที่ทุกคนจะต้องฝ่าฝัน ซึ่งเวทีหมอลำแห่งนี้ไม่เพียงพาฝันของสมาชิกในวงหลายร้อยชีวิตก้าวเดินไปด้วยกันเท่านั้น แต่เส้นทางสายหมอลำเส้นนี้ ยังพาผู้คนที่อยู่รอบข้างให้ก้าวเดินไปพร้อมกันอนาคตที่ยาวไกล ตราบใดที่คนอีสานยังชื่นชอบหมอลำ ซึ่งคาร์บอน ศิลปินหมอลำน้องใหม่กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“หมอลำมันคือ soft power มันคือวัฒนธรรมที่สามารถไปอินเตอร์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี นักร้อง หรือจะเป็น ผ้าไหมอย่างนี้อ่ะครับ มันก็ถูกนำเสนอออกไปกว้างขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งอย่างนี้แหละครับมันเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนอีสาน”