มองทิศทาง “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” โอกาสหลังวิกฤต และคำถามถึงความยั่งยืน

มองทิศทาง “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” โอกาสหลังวิกฤต และคำถามถึงความยั่งยืน

ท่ามกลางความหวังว่าปี 2566 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัว หลังปิดจบปีเก่าด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยว 11.5 ล้านคน ขณะที่ปีนี้มีการเปิดประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ไทยตั้งเป้าเพิ่มยอดนักท่องเที่ยว 50 เปอร์เซ็นต์ของปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 หรือประมาณ 20 ล้านคน

แต่เรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งความความตึงเครียดทางการเมืองโลก เศรษฐกิจที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำถามถึงการตั้งหลักรับมือและการสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยว เพื่อตอบรับชีวิตวิถีใหม่จึงเกิดขึ้น

ทีมข่าวพลเมืองพูดคุยขยายความ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” การท่องเที่ยวทางเลือกที่พัฒนากันมายาวนาน เกือบ 10 ปี ด้วยเป้าหมายการส่งเสริมโอกาสและสร้างความยังยืนให้กับการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน กับ ดร.ประครอง สายจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) ในองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เพื่อชวนหาคำตอบถึงอนาคตการท่องเที่ยวไทย

ดร.ประครอง สายจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.)

“พักเพื่อฟื้น” การท่องเที่ยวโดยชุมชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจซบเซา

ดร.ประครอง เล่าถึงการเผชิญวิกฤตในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในโลกนี้ แต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนพิสูจน์ให้เห็นจากสถานการณ์ปีที่แล้วที่หนักมาก พบว่าจากการเก็บข้อมูลมา 25 ชุมชน มีรายได้อยู่ 31 ล้านกว่าบาท ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า แม้จะมีวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนยังอยู่รอดได้ เพราะมันเป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนทำเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ทำอาชีพปกติ

ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและอาจเกิดในปีต่อไป ชุมชนยังสามารถบริหารจัดการวิกฤตเหล่านี้ได้ และอาศัยช่วงเวลาที่ต้องปิดการท่องเที่ยวในการพัฒนาตัวเอง ทั้งช่วงวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตต่าง ๆ ชุมชนทบทวนตัวเอง และพัฒนายกระดับสิ่งที่มันขาดตกบกพร่องไป 

พอ 2-3 ปีที่ผ่านมา มันเริ่มโอเค มันเริ่มเบาลง เลยมีการกลับมาวางแผนพัฒนา ซึ่งตอนนี้มีเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ อพท.เมื่อพบว่ามีชุมชนปิด ก็ไปชวนพูดคุยว่าช่วงนี้เป็นยังไง ไม่มีรายได้เข้ามาแล้วทำอย่างไร ทางหน่วยงานราชการก็ไปช่วยพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่าง ๆ และสอนการค้าออนไลน์ มีเพจ มีแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการตลาดออนไลน์บ้างก็สอน อพท.มีการเชื่อมผู้ประกอบการ กับเชื่อมชุมชนที่เป็น CBT (ย่อมาจาก Community – Based Tourism คือการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน)

000

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้หลักคิด “ชุมชนทำ ชุมชนได้”

ดร.ประครอง ระบุว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านพัฒนาการมาหลายสิบปีแล้ว ชุมชนไหนที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ย่อมหมายถึงว่า เป็นชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวชุมชนเอง แล้วก็มีส่วนร่วมจากคนในชุมชนทั้งหมด และผลประโยชน์ทุกอย่างก็ตกที่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การกระจายรายได้ การอนุรักษ์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพชีวิต

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในชุมชนก็จะได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วัฒนธรรมและประเพณี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการเคารพสิทธิชุมชน สิทธิความเป็นมนุษย์ และเคารพแตกต่างที่ชุมชนแต่ละชุมชนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งนี่คือ หัวใจหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชน 

000

อพท. พี่เลี้ยง สร้างต้นแบบชุมชนจัดการ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน”

ดร.ประครอง กล่าวว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้รวบรวมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอาไว้ รวมทั้งความรู้ต่าง ๆ ที่จะเอาไปใช้ได้ ทั้งระดับตำบล หมู่บ้าน จังหวัด และระดับเครือข่าย มีสมาคมระดับประเทศ มีคณะอนุกรรมการช่วยเหลือชุมชนภายใต้สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) บนเว็บไซต์ อพท. นี่คือกลไกที่วางเอาไว้

แผนงานต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ อพท. ทำอย่างเดียว แต่มีหลายหน่วยช่วยกันทำ จนเกิดเป็นแผนงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนในตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และชาติ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า นิเวศการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ทำกันมาเกิดผลสำเร็จกระจายในจุดต่าง ๆ 

ในพื้นที่ต้นแบบที่เกิดขึ้น คนจากทั่วโลกสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เช่น ชุมชนบ้านนาต้นจั่น เมืองเก่าสุโขทัย, ตลาดจีนโบราณชากแง้ว เมืองพัทยา, ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี, ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว และเกาะหมาก จ.ตราด เป็นต้น และยังมีหลาย ๆ แห่งที่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชน แล้วเอารายได้นี้มากระจายเข้าสู่ชุมชนรอบ ๆ รวมถึงผู้ที่ด้อยโอกาส ตั้งเป็นสวัสดิการชุมชน ตั้งเป็นทุนต่าง ๆ ให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมา ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ต.บ้านนาต้นจั่น เมืองเก่าสุโขทัยมีรายได้แต่ละปีเข้าสู่ชุมชน 10-20 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่ดีมาก และเป็นชุมชนโมเดลต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ สามารถนำไปทำตามได้

000 

“การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โอกาสที่จะรอดไปด้วยกั

ดร.ประครอง ระบุว่า ปัจจัยที่จะเป็นโอกาส คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี่เอง มันคือโอกาส แล้วตอนนี้ทุกประเทศ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราจะเดินไป เพราะประเทศไทยรู้แล้วว่า นักท่องเที่ยวมาเยอะ มาเยอะแล้วเกิดผลเสียอะไรบ้าง จึงมีคำว่าการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพขึ้นมา ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายว่าเราจะนำสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน แล้วเราจะไปถึงแบบนั้นได้อย่างไร

“ผมว่าประเทศไทยได้เปรียบ เพราะเกิดต้นแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนกระจายอยู่ในหลายที่ ซึ่งสามารถดูเป็นตัวอย่างและชุมชนอื่นทำตามได้ ผมว่านี่คือตัวอย่างของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เรามีโอกาสทำมาแล้ว และตัวของเราเป็นโอกาสที่จะประชาสัมพันธ์ออกไปได้” ดร.ประครอง กล่าว 

000

เดินหน้าสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน ต้องปฏิบัติแบบทุกองคาพยพ

ดร.ประครอง กล่าวว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการหารือเรื่องการท่องเที่ยวและชุมชนว่าเป็นอีกภารกิจที่จะเดินหน้า พร้อมกับกรมการท่องเที่ยว (กทท.), สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะร่วมกันพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนนโยบายต่าง ๆ แผนงานต่าง ๆ ก็บรรจุอยู่ในแผนงานระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่นแล้ว 

ข้อเสนอที่อยากเสนอ เพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเกิดผลสำเร็จของจนนำไปสู่เป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ การนำแผนที่วางไว้ไปสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะการท่องเที่ยวทำคนเดียวไม่ได้ ขยายคือ ตั้งแต่ต้นน้ำเป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ มีกระทรวงต่าง ๆ กรมต่าง ๆ มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ เข้ามาร่วมพัฒนา กลางน้ำ คือ พัฒนาให้ได้มาตรฐาน รับรองมาตรฐาน และปลายน้ำ คือ ททท. สมาคมการท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย และนักท่องเที่ยว 

ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพเป็นการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเทรนด์ต่าง ๆ ที่ ททท. วิเคราะห์ออกมา ต้องนำไปสู่การปฏิบัติแบบทุกองคาพยพ

“ตอนนี้เรื่องการท่องเที่ยวไม่ใช่ปัญหาเลย ปัญหาคือ จะเอาคนที่มาเยอะ ๆ ไปไหน แล้วจังหวัดที่ไม่มีคนเยอะจะทำอย่างไร นั่นคือโจทย์ที่เรากำลังแก้กัน เราไม่ได้แก้ว่าจะเอาคนมาเที่ยวอย่างไร เรากำลังจะแก้ว่าคนที่มานี้จะไปจังหวัดไหนบ้าง นั่นคือโจทย์เชิงนโยบายกับเชิงการปฏิบัติที่พี่น้องท่องเที่ยว ทุกองคาพยพจะช่วยกันเดินไป” ดร.ประครอง กล่าว 

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ