อยู่ดีมีแฮง : อาจารย์แดน นักส่งวิญญาณรุ่นเยาว์

อยู่ดีมีแฮง : อาจารย์แดน นักส่งวิญญาณรุ่นเยาว์

“คนอื่นเขาทำไม่ได้ แต่ผมทำได้ เหมือนเราได้ส่งดวงวิญญาณ แม้ว่าสภาพจะหรือหรือไม่ดี เราก็ต้องส่งไป เราภูมิใจที่ได้ส่งเขาขึ้นสวรรค์”

สุพจน์ โพนรัมย์ ชื่อเล่น แดน อายุ 19 ปี หนุ่มน้อยจากอ.กระสังข์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ผันตัวจากห้องเรียนหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ออกมาเรียนรู้วิชาสัปเหร่ออย่างเต็มตัวกับครูบาอาจารย์ด้านนี้ในชุมชน เพื่อจะก้าวเข้าสู่ “สัปเหร่อ” เต็มตัว เมื่ออายุถึง 21 ปี หลังอุปสมบทเสร็จ แม้ว่าตอนนี้จะยังคงรับตำแหน่งผู้ช่วยสัปเหร่อ แต่ผู้คนในชุมชนก็ให้ความเคารพ เรียกแดนว่า “อาจารย์แดน”

“ผมเป็นคนสมองไม่ค่อยดีครับ ก็ไม่ค่อยรู้ตัวหนังสืออะไรอย่างนี้ครับ แต่ไอ้เรื่องวิชาของพระเนี่ย ผมฟังมาตั้งแต่เด็กแล้วมันก็จำไว้ครับ”

ด้วยความที่เป็นคนมีความจำเป็นเลิศ และสภาวะครอบครัวที่ไม่พร้อมที่จะให้แดนเรียนต่อ เพราะแดนต้องอาศัยอยู่กับเพียงสองตายาย พ่อกับแม่ก็ต่างอยู่ในเส้นทางรักใหม่ของตน จึงต้องทำให้แดนก้าวสู่ร่มของศาสนาตั้งแต่วัยเด็ก เพื่ออยู่ในเส้นทางธรรม จนค้นพบวิถีแห่งตนที่จะดำรงชีพและวิถีในอนาคต

“ตอนแรกเขาให้ผมบวช ผมก็บวชก่อน ตอนนั้นผมอายุ 12-13 ปีนี่แหละ แล้วก็เดินไปในงานศพ ไปเห็นเขาแปรธาตุหรืออัฐิของคนเสียชีวิตนิแหละครับ ก็เลยนั่งดู คนเรามันเปลี่ยนสภาพยังไง ทำไมถึงมาเป็นแบบนี้ ก็เลยอยากขึ้นไปดูบนเมรุ ไปเรียนรู้กับเขา ก็คอยขยับศพ คอยเขี่ยศพดู มันก็เริ่มหัดไปเรื่อย ๆ เห็นเปลี่ยนสภาพ หลังจากเสร็จเขาก็บอกว่า อยากเป็นสัปเหร่อไหม ผมก็บอกว่าอยากครับ แล้วทำไมถึงอยาก ผมก็บอกว่า ผมอยากให้การเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนที่เขาเสียไปแล้วว่ามันเป็นยังไง”

นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาสู่วิถีของนักส่งวิญญาณรุ่นเยาว์

“ตอนแรกก็เป็นศพของยายของผมนิแหละ แต่ไม่ใช่ยายที่อยู่ในบ้านครับ เป็นยายทวด เป็นศพแรกเลย ผมไปช่วยงานแล้วท่านอาจารย์นิแหละ แกบอกว่า เอ็งก็เดินกับมากับพี่นานแล้ว เอ็งลองมาเป็นสัปเหร่อดูไหม ผมก็บอกว่า ลองครับ ทำผิดทำถูกผมขอให้อาจารย์สอนบอกเอาเอง”

พิธีกรรมที่หลายคนแม้กระทั้งผู้ใหญ่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสและใกล้ชิด แต่แดนได้รับโอกาสนั้นในการส่งร่างไร้วิญญาณของยายทวดสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งนั้น เป็นจุดที่สร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับแดน ผู้ที่ได้รับเกียรติส่งดวงวิญญาณของคุณยายทวดสู่สรวงสวรรค์ในวาระสุดท้าย

“ผมเหมือนรู้สึกว่ามีเกียรติมากต่อศพ แล้วก็เหมือนเราได้ส่งดวงวิญญาณขึ้นสวรรค์อะไรอย่างงี้ครับ ผมร้องไห้ต่อหน้าเลย ผมร้องไห้ต่อศพเลยว่า ผมได้มีโอกาสมาส่งคุณยายขนาดนี้ คนอื่นเขาทำไม่ได้ แต่ผมทำได้ ถึงผมจะไม่ได้ดูแลแกหรือรักษาแกตอนแกจะสิ้นใจ แต่ผมก็ได้มาส่งแก แคนี้ผมก็ภูมิใจแล้วครับ”

ความภาคภูมิใจนี้เกิดขึ้นแดนเมื่อตอนราวอายุ 15 ปี แต่กว่าจะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางของสัปเหร่อนั้นไม่เรียบง่ายเสมอไป เพราะหากเรานึกถึงคนที่ทำหน้าที่สัปเหร่อ ภาพในหัวก็คงหนีไม่พ้นคนสูงวัยที่มีภูมิ มีความน่าเชื่อถือในชุมชน ที่ญาติผู้ล่วงลับจะสนิทให้ส่งร่างไร้วิญญาณคนที่ตัวเองรักในวาระสุดท้าย นั้นจึงเป็นโจทย์หนักที่แดนจะต้องเผชิญในชุมชน

“บางคนเขาก็ว่าผมปัญญาอ่อน บ้า และช่วงแรก ๆ เขาจะไปเรียกกำนันมาคุยเลยเพื่อจะไม่ให้ผมทำสิ่งนี้ เพราะเขาบอกว่าผมเป็นเด็กเกินไป แต่อาจารย์ผมก็บอกว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ทำได้หมดนั้นแหละ ขอแต่เพียงว่ามีความกล้าที่จะทำ ที่จะเรียนรู้เท่านั้น”

แม้ว่าเสียงไม่เห็นด้วยจากคนในชุมชนเริ่มจางลง แต่เสียงที่คัดค้านของคนในครอบครัวก็เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจไม่น้อย

“ตอนแรกเขาก็ไม่ได้ส่งเสริมอะไรหรอก เขาไม่ให้ผมเป็นด้วยซ้ำ  เขาบอกว่ามึงเป็นเด็กมึงจะไปรู้อะไร วิชาอะไร ครูอะไรมึงรู้บ้างไหม แล้วผมก็บอกว่า แล้วผมจะทำให้ดู ผมจะทำให้ดูภายในเดือนเดียว ผมจะทำให้ตายายดู จะให้ตายายภาคภูมิใจผม”

นั้นจึงเป็นแรงพลักดันให้แดนก้าวสู่เส้นทางสัปเหร่ออย่างไม่หันหลังกลับ เพื่อพิสูจน์เจตจำนงของตัวเองอย่างแน่วแน่ ซึ่งเพียงเดือนเดียวแดนก็จดจำภาษาธรรมที่ใช้ในพิธีกรรมทั้งหมดได้ทั้ง และก้าวเข้าสู่เส้นนักส่งร่างไว้วิญญาณอย่างเต็มตัว จนปัจจุบัน มีศิษย์ผู้น้องมาเป็นลูกมือด้วยอีก 1 คน

มาร์ก ก็เป็นเด็กหนุ่มในชุมชนวัย 16 ปี เส้นทางชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากแดนมากนัก มาร์กอาศัยอยู่กับตาเพียง 2 คน ซึ่งคุณตาก็ป่วยติดเตียง ส่วนคุณยายเสียไปตอนมาร์กอายุ 14 ปี มาร์กจึงมีโอกาสร่วมส่งร่างของคุณยายในวาระสุดท้าย จึงเป็นโอกาสที่แดนจะชวนน้องมาร่วมเส้นทางสายส่งวิญญาณด้วย

“ตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปีครับ ก็ตอนที่ยายผมเสียแล้วผมเห็นเขาจัด คือแบบ เราอยากส่งเป็นครั้งสุดท้ายแล้วครับ ก็อยู่กับแกมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่เกิดครับ” มาร์กกล่าว

“น้องเขาเดินเข้ามาหา ไปงานศพเขาก็ไป ไปจัดงาน จัดอะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยรับน้องมาอยู่ด้วยครับ เพราะถ้าเขาอยู่บ้านเฉย ๆ เขาก็ไม่มีรายได้ ตาเขาก็ป่วยติดเตียง มาทำงานแบบนี้อย่างนี้ก็ยังพอมีเงินซื้อกับข้าว อาหารในแต่ละวันได้”แดนกล่าว

“ตอนแรกก็เข้าไปหาอาจารย์ที่หมู่บ้านนิแหละครับ เหมือนกับอาจารย์แดน แรกๆก็ให้ผมจัดดอกไม้ก่อน พอหลังๆ ก็ให้ผมเริ่มเรียนรู้ เรียนอาราธนาศีล ก็สอนทำทุกอย่างครับ เรื่องเบิกโลง พิธีเบิกโลง ก็สอนทุกอย่างเลยครับ” มาร์กกล่าว

นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแดนที่จะก้าวขึ้นสู่อาจารย์แดน ผู้คอยช่วยเบิกทางรุ่นน้องขึ้นสู่เส้นทางนักส่งวิญญาณรุ่นเยาว์ ซึ่งมีอาจารย์ใหญ่ช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ทั้งสองหนุ่มก้าวสู่เส้นทางนี้อย่างมั่นใจ

“พอผมก้าวมาถึงจุดนี้นะ หลายคนก็ไม่เคยเรียกผมว่าไอ้แดน มีแต่อาจารย์ เขาก็เคารพนับถือเรามากขึ้น คนที่เคยว่าเราไม่ดี เขาก็มาว่าเราดีครับ ทุกวันนี้ก็มาเรียกผมอาจารย์แดน เห็นผมขี่รถไปไหน ก็ยกมือไหว้ครับ”

ความมุ่งมั่นของอาจารย์แดนและการวางตัวต่อเส้นทางสัปเหร่อ สร้างความมั่นใจและวางให้เกิดขึ้นต่อผู้คนในชุมชน ปัจจุบันอาจารย์แดนออกชุมชนไปช่วยจัดงานศพ จัดพิธี จัดผ้า พาทำพิธีสวด ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อชุมชน ทั่วทั้งพื้นที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์

“ผมเหมือนรู้สึกว่ามีเกียรติมากต่อศพ เหมือนเราได้ส่งดวงวิญญาณขึ้นสวรรค์ คือโอกาสมันมีน้อยมากที่จะทำตรงนี้ได้  คือถ้าเราไม่ได้มาอยู่ในจุดนี้ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะได้ส่งเขาถึงตรงไหน หรือทำศพเขาได้ขี้เหร่หรือสวย มันอยู่ที่ตัวเราครับ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ