อยู่ดีมีแฮง : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อไทบ้าน

อยู่ดีมีแฮง : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อไทบ้าน

หลังจากน้ำท่วมชุมชนท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชีที่ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ภาพความเสียหายและผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ยังพอมีให้เห็น ทั้งคราบน้ำอยู่ตามบ้านเรือน และเศษซากข้าวของเครื่องใช้ที่เปียกน้ำและไม่สามารถกลับมาใช้ได้ใหม่ แทบทุกหลังคาเรือนในบริเวณนั้น เสียงสะท้อนจากชุมชนหลายครัวเรือนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากอุทกภัยดังกล่าว กลับมาพร้อมน้ำใจของลูกหลานที่เป็นนิสิต ที่ชาวบ้านเรียกว่ามหาวิทยาลัยใกล้บ้านก็เกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อชุมชนได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

อยู่ดีมีแฮงชวนพูดคุยกับกลุ่มนิสิตจิตอาสา ผู้รู้ร้อนรู้หนาว เมื่อคราวชุมชนต้องการความช่วยเหลือ ถึงแนวคิดและการอาสาที่จะลงไปช่วยเหลือชุมชนตอนเกิดภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา

“นิสิตกับชาวบ้านผูกพันกัน บางคนก็พักอาศัยอยู่กับชาวบ้านชาวบ้านเดือดร้อนเราก็อยากไปช่วย มีคุณยายคนหนึ่งบอกกับเราว่า โอ้ยลูกหล่าหนักแฮง ไม่มีอะไรมาให้แม่ก็ไม่ได้ว่าขอแค่มาให้กำลังใจแม่ๆก็ดีใจแล้ว พ่อบ้านของคุณยายท่วมทั้ง 3 หลังโต๊ะตู้เตียงเสียหายทั้งหมด”

บ้านของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำชีที่บ้านท่าขอนยาง ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเครื่องปูนครึ่งไม้ สลับกับบางหลังคาเรือนที่มีการใช้วัสดุเป็นไม้อัดในการก่อสร้าง และอีกส่วนก็เป็นพื้นที่ของหอพักนักศึกษา ที่รวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน ชุมชนมีความหนาแน่นพอสมควร เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจอีกพื้นที่ที่สำคัญ เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ร่วมกับชุมชน เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น ก็มักจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับพื้นที่ที่ติดกับริมแม่น้ำชี รับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่ไหลมา ก็ทำให้เป็นพื้นที่ที่อาจจะประสบภัยน้ำท่วมได้อีก

แสงจันทร์ ยิ่งกำแหง ชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“เสียหายเยอะเพราะมีบ้านทั้ง 3 หลัง ความบ้านของลูกและบ้านของน้องทั้งประตูหน้าต่าง ไปอัดกันห้องที่นอน ระดับน้ำประมาณ 120 เซนติเมตร เพราะพื้นที่แถวนี้ต่ำ ที่นอนมันลากไปไม่ได้มันหนักก็เลยปล่อยทิ้งไว้”

ศักดิ์สิทธิ์ คำเคน นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“น้ำขึ้นเร็วท่วมภายในคืนเดียว น้ำท่วมสูงระดับเอว ท่วมเร็วมาก งานที่ลงมาช่วยชาวบ้านก็จะเป็นการไปช่วยกรอกกระสอบทรายบ้าง ย้ายของขนของบ้าง พอได้รับการประสานงานจากผู้นำชุมชน แพ็คของบ้างก็แบ่งเป็นหลายสายงาน ทำงานกันเป็นทีม สายงานแพ็คของที่เทศบาล สายงานกรอกกระสอบทรายไปปิดทางน้ำ ช่วยชาวบ้านในแต่ละจุด บางส่วนไปขนย้ายรถให้นิสิต ที่อยู่ตามหอพักที่น้ำท่วม”

ภารกิจช่วยไทบ้าน ป้องกันน้ำท่วมเก็บข้อมูล

ศิริลักษณ์ ทันแสน นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“ชื่อกลุ่มนิสิต มมส ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม มาช่วยพื้นที่น้ำท่วม ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ต้องบอกว่าน้ำท่วมหนักมากฝนก็ตก กรอกกระสอบทรายตากฝนกันก็ช่วยชาวบ้านไปปิดกั้นน้ำไว้ก่อน พอใกล้เสร็จตอนเย็นน้ำก็ทะลักออกจากแม่น้ำชี ลงมายังพื้นที่ชุมชน สถานการณ์มันหนักมากแล้วรอไม่ได้เราจึงลงพื้นที่กันเลย”

การเข้าช่วยเหลือทางภาครัฐ ชุมชน แล้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เกิดขึ้นทันทีหลังมีการประกาศเตือนระดับน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก และมรสุมที่เข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565  และเป็นช่วงเดียวกันกับเทศกาลลอยกระทงซึ่งในทุกปีมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะมีงบประมาณในการจัดงานลอยกระทงประจำปี แต่สำหรับปีนี้ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความเห็นชอบที่จะงดจัดกิจกรรมและนำเงินส่วนนี้ เพื่อมาช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเร่งด่วน ทางการช่วยชุมชนทำกระสอบทราย การตั้งครัวฉุกเฉิน การระดมความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ชุมชน

“แบ่งหน้าที่ของแต่ละกลุ่มลงพื้นที่แต่ละจุด กลุ่มไปช่วยนิสิต กลุ่มไปช่วยชุมชน กลุ่มไปช่วยเทศบาล ประชุมเสร็จลงพื้นที่เลย ไม่ได้วางแผนกันนานเสร็จก็ลงพื้นที่เลย วันต่อวันในการวางแผนเลยครับ ผลกระทบที่พบบางหลังคาเรือนก็เยอะ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า จะเรียกให้ใครมาช่วยก็ไม่ได้มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างคนต่างช่วยเหลือตัวเองไปสัมภาษณ์บ้านหลังหนึ่งแม่เขาเป็นคนพิการ อยู่คนเดียวน้ำก็มาเร็วก็ได้นอนเก็บของเองทั้งที่เดินไม่ได้ ต่างคนต่างช่วยเหลือตัวเอง เราก็ทำหน้าที่สำรวจเก็บข้อมูลว่าบ้านแต่ละหลังเป็นอย่างไร”

นอกจากการช่วยเหลือด้วยการนำเข้าของไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในชุมชนแล้ว ในการลงพื้นที่ของนิสิตในการช่วยเหลือชาวบ้านในครั้งนี้ ก็ได้เริ่มมีการเก็บข้อมูลของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความเสียหาย และความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วยเช่นเดียวกัน

“การเก็บข้อมูลเราก็เก็บตามครัวเรือนใช้แอพพลิเคชัน c-site กรอกข้อมูลโดยการสอบถามที่มีในแพลตฟอร์มก็ถามตามนั้น อย่างน้อยที่เราเก็บข้อมูลทั้งหมดไปถึงแม้ว่าปีนี้เราไม่ได้ลงมาช่วยเหลืออีก ปีหน้าก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้เรารู้ว่าตรงนี้น้ำท่วมเยอะเราจะได้มีแนวทางช่วยเหลือและป้องกันอีก”

ชุมชนริมแม่น้ำชี กับเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำเดิม

“ปีนี้น้ำท่วมสูงกว่าปี 2564 ปีนั้นยังสามารถเดินไปมาได้แต่ในปี 2565 ไม่มีแม้ที่ให้เป็ดไก่อยู่ แต่ก็หนักรองจากปี 2521 ตามที่เคยประสบมาปี 2521 ได้ย้ายบ้านชั่วคราวไปอยู่ต่างอำเภอ นักศึกษาเขาก็มาช่วยขนดินขนทรายกั้นน้ำช่วยตามชุมชนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยใกล้ๆนี่แหละ เขาออกมาช่วยชุมชนดี เวลาทำความสะอาดก็มาช่วย มีมหาวิทยาลัยใกล้บ้านเขาก็มาดูแลอยู่ ออกมาตรวจสอบเยี่ยมเยือนตอนน้ำท่วม”

เสียงสะท้อนจากชุมชนถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้านของพวกเขา ต่างชื่นชมนิสิตที่มีใจจิตอาสาลงมาช่วยเหลือชุมชน มาเยี่ยมเยือนไถ่ถามให้กำลังใจ เมื่อต้องประสบภัยในทุกครั้ง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับชุมชน และท้องถิ่นที่ต้องการคนรุ่นใหม่ ที่เป็นนิสิตอันเปรียบเสมือนลูกหลานของพวกเขามาเป็นกำลังหลักการช่วยเหลือชุมชนด้วย

วัชระ ไชยราช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ท่าขอนยาง

“ในการช่วยเหลือเราช่วยเหลือตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วมสูงได้น้อง ๆ นิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาสาทุกคนร่วมกันกับชาวบ้าน ตอนนั้นทางชุมชนก็ได้ตั้งครัวกลางทำข้าวกล่องเข้าถุง ก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เทศบาลท่าขอนยาง มาช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมหรือที่เราเรียกกันว่าติดเกาะ หลังจากนี้ไปก็จะเป็นการเยียวยาแล้วฟื้นฟู ทางบ้านเรือนและชีวิตความเป็นอยู่”

มหาวิทยาลัยใกล้บ้านอาศัยเคียงข้างชุมชน

อังคณา พรหมรักษา

“ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ไม่ว่าจะภัยพิบัติ อะไรก็ตาม ด้วยความที่นิสิตเราอยู่ใกล้กับชุมชนดังนั้นเขาจะมีความไวในการช่วยเหลือเขาก็จะตระหนักในผลกระทบที่เกิดขึ้นและเขารู้สึกว่าตัวเขาเองน่าจะลงไปช่วยอะไรได้บ้าง เขาก็มีการลงไปทำงานลงไปช่วยเหลือเรื่องของข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างชุมชนต้องการแก้ไขปัญหาอย่างไร จะได้ช่วยเหลือหรือป้องกันสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด สิ่งหนึ่งเกิดจากการที่เขาเกิดที่นี่โตที่นี่ เพราะฉะนั้นในทุกพื้นที่คนที่อยู่ในอีสานถือว่าเป็นพี่น้องเป็นญาติเป็นครอบครัว ดังนั้นเราจึงช่วยเหลือเราจึงมีส่วนร่วมและเราจึงร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาและทำสิ่งต่างๆให้มันดีขึ้นสำหรับชุมชน”

อังคณา พรหมรักษา  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์นิสิต ม.มหาสารคาม ย้ำถึงความสำคัญในการใช้ข้อมูลเพื่อแก้ไข และทราบถึงปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ออกแบบร่วมกันป้องกันและแก้ไขในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐ และชุมชนในพื้นที่ ออกแบบและป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งความต้องการของชุมชน ในการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดแล้วถูกต้อง

ผู้มีปัญญาพึงอยู่เพื่อไทบ้าน

“น้ำวันนี้ในตอนที่ลงพื้นที่ลดลงเยอะ เห็นชาวบ้านเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือเราก็เป็นนิสิตอยากมาช่วยชาวบ้านเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน”

การรู้ร้อนรู้หนาว ของนิสิตและมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้กับชุมชน รายการอยู่ร่วมกันราวกับเป็นบ้านเดียวกัน และญาติพี่น้อง ก็ทำให้ในแต่ละครั้งที่มีสถานการณ์หรือภัยพิบัติเกิดขึ้น ได้รับความร่วมมือร่วมใจ ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ทุกครั้ง ถึงแม้การช่วยเหลืออาจจะยังไม่สามารถทำให้สิ่งของที่ได้รับความเสียหายกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่การออกไปเห็นอกเห็นใจและการรับฟังจากชาวบ้าน ก็ทำให้มหาวิทยาลัยหรือนิสิตเองรู้สึกว่าชุมชน เหมือนเป็นบ้านของพวกเขาเอง

“สำหรับหนูมันไม่จำเป็นต้องมีความคิดว่าทำไมถึงต้องมาช่วยในความรู้สึกที่เราเป็นนิสิตกับชุมชนนิสิตกับชุมชนมันต้องคู่กัน เรามาอยู่ร่วมกับชาวบ้าน “เฮือนเพิ่นก็คือเฮือนเฮา” บ้านเขาก็เหมือนบ้านเรา”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ