อยู่ดีมีแฮง : อาสาสอน station

อยู่ดีมีแฮง : อาสาสอน station

“เราอยากให้น้องได้เห็นสิ่งใหม่ในการเรียนการสอนของประเทศไทยของเรา อยากให้น้องรู้จักพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น”

เรื่องการศึกษาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่มีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นประจำ หลังจากสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ อย่างที่ทราบดีคือหลายโรงเรียนได้รับผลกระทบในการจัดการเรียนการสอน ที่ต้องปรับเข้าสู่กระบวนการของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มาจนถึงการออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และความกังวลของการศึกษาที่อาจจะมีผลทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงคาบเกี่ยวรอยต่อนี้ ด้วยหลายปัจจัยทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และแรงจูงใจในการเรียนการสอนในห้องเรียน

วันนี้อยู่ดีมีแฮงชวนมาติดตามทีมครูอาสาสอน ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่าอาสาสอน station กลุ่มนักเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่รวมตัวกันสร้างกิจกรรมครูอาสาสอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครซึ่งได้เริ่มโครงการอาสาสอนมาแล้ว 5 ครั้ง ในระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้ที่ครูอาสาสอน station กลับมาอีกครั้ง ณ โรงเรียนบ้านหนองซองแมว ตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

รักลดา รักชาติ

“ครูคะครูมาอาสาสอนใช่ไหม เรารู้สึกดีใจเราเพิ่งมาครั้งแรกน้องก็รู้จักเลย และโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือดี ที่เอามาสอนน้องก็เป็นเรื่องที่บูรณาการในชีวิตประจำวันและเรื่องการใช้ชีวิต มีการเล่นฐานต่างๆได้เล่นได้สนุก อย่างเช่น ฐานคณิตศาสตร์ให้น้องฝึกหัดบวกเลขเยอะ ๆ การใส่วงเล็บการคูณเรียงลำดับมาแบบไหน ฐานสังคมศึกษาก็จะมีอาชีพให้น้อง ๆ ได้ดูถ่ายอาชีพว่าอาชีพที่น้องไม่เคยเห็นมันมีอาชีพอะไรบ้าง หรือการเวียนฐานมีสีธรรมชาติ ตัดแปะกระดาษทำที่คั่นหนังสือ น้องก็ไม่รู้ว่าดอกเฟื่องฟ้ามันให้สีที่สวยงามได้เช่นสีแดงสด เราก็นำเอาสีธรรมชาติที่มีในชุมชนมาให้น้องได้ลองทำผลงานของตัวเอง”

รักลดา รักชาติ อาสาสอน station นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้น 3 วันที่มาร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ที่เป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองสองแมวซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ตำบลที่เธออาศัยอยู่ด้วย หลายคนในชุมชนก็เป็นพ่อเป็นแม่ญาติพี่น้อง คนบ้านเดียวกันสิ่งที่เธอมองเห็นในเรื่องของการศึกษาก็คือความต่างในเรื่องของการพัฒนาของโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท เธอมองว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะมีมากเท่าไรในปัจจุบัน  แต่โอกาสที่มีของโรงเรียนในชนบทก็ยังน้อยกว่าอยู่ดี อีกทั้งการเรียนการสอนในปัจจุบันเรียนหนักมาก และกดดันมาก ซึ่งตัวเองก็เคยเป็นเด็กมาก่อน จึงมองเห็นว่าการศึกษา การเรียนรู้ จำเป็นต้องมีการผ่อนคลาย ซึ่งการศึกษาการเรียนรู้สามารถทำได้หลายรูปแบบ จะมีจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจก้าวเท้าเดินออกมาร่วมโครงการอาสาสอน กับเพื่อน ๆ และพี่ ๆ อีกหลายคน

รวมพลพี่อาสา ม.6 จากผู้เรียนสู่ครูอาสาสอน

“เราสนใจในกิจกรรมอาสาสอนมากและอาจารย์ที่อยู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้เปิดโครงการนี้ขึ้นมาจึงลองถามน้อง ๆ ที่อยู่ทั้ง 2 โรงเรียนในอำเภอคำม่วงว่า อยากจัดกิจกรรมนี้อีกหรือไม่เพราะเราเคยรวมตัวกันกับพี่ๆมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเมื่ออาสาสอนครั้งก่อน  ก็มีน้องจากโรงเรียนเนินยางประชาสามัคคี และโรงเรียนคำม่วง พวกเราจะมีความตื่นเต้นมีช่วงก่อนเริ่มโครงการพวกเราขับรถมอเตอร์ไซค์ข้ามเขาภูพานระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรเพื่อไปประชุม เพื่อจะได้รู้ว่าอาสาสอนคืออะไรแบบไหน ว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสมที่จะลงพื้นที่ไหมและเด็กขาดตกบกพร่องอะไร เราต้องไปเสริมอะไร”

หลังจากกันพูดคุยกันของเหล่าอาสาสอน จนทำให้เกิดที่เลี้ยงอาสาสอนกว่า 52 คน ซึ่งมีมากกว่าน้อง 10 คน ทำให้หลายคนต่างตื่นเต้นว่ามีเพื่อน ๆ ที่สนใจและคิดเห็นตรงกันว่า ควรจะทำอะไรบางอย่างในพื้นที่ให้เกิดขึ้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เหล่าแกนนำตัดสินใจขับขี่มอเตอร์ไซค์ ระยะทางไปกลับกว่า 200 กิโลเมตรข้ามเขาภูพานฯ ไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจเรื่องการเป็นครูอาสาสอน ทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ และการมีจิตอาสา การอยู่ร่วมกันกับน้อง ๆ และชุมชน จนเกิดกิจกรรมอาสาสอนเกิดขึ้น

“เหมือนเราเอาความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมา รับใช้กับน้อง มันจะเป็นการเรียน 40% เล่น 60% แต่การเล่นก็ไม่ใช่การเล่นที่ไม่มีสาระอะไรเลย ใช้วิธีการบูรณาการสถานการณ์สันทนาการมาใส่แล้วความรู้มาเรียนรู้ไปด้วยในตัวจะเน้นไปที่การสานสัมพันธ์พี่กับน้องให้เรารู้จักน้องน้องรู้จักเรา”

เสียงกลองดังสนุกสนานไปทั่วโรงเรียน เสียงหัวเราะ ภาพกระโดดโลดเต้นสนุกสนานของน้อง ๆ สลับกับการจับปูใส่กระด้งของพี่ ๆ ที่เป็นพี่เลี้ยงครูอาสาสอน เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน แต่ในทุกกิจกรรมที่มีการทำร่วมกันกับน้อง ๆ และครูอาสาสอน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ งานศิลปะ และความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ นั้นต่างสอดแทรกความรู้เข้าไปด้วยทั้งสิ้น ซึ่งทำให้น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม รู้สึกอยากร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้าไปถึงตอนเย็น

เรียนจากชุมชนเข้าใจตัวตนลูกอีสาน

สิ่งสำคัญในการเรียนรู้อาจไม่ใช่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป การเปิดประสบการณ์ใหม่ของน้องในบ้านเกิดของน้องเอง เป็นสิ่งที่อาสาสอน station ตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องนี้ ให้แก่น้อง ๆ ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเติบโตในบ้านของเขา ได้ตระหนักและเปิดใจในเรื่องนี้ การพาออกเดินทางไกลระยะรวมกว่า 2 กิโลเมตรในชุมชน บนเส้นทางคอนกรีตที่เดินออกจากโรงเรียนเลาะไปตามชุมชน ซึ่งทำให้น้อง ๆ หลายคนต่างงุนงงกับเหตุผลที่อาสาสอน station ต้องการให้เดินทางไกลในบ้านของตัวเอง

“ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีอะไรบ้างและอยากให้น้อง ๆ ซึมซับและนำไปต่อยอดในอนาคตและทำให้พี่ๆอาสาสอดรู้ว่าในพื้นที่นี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบนี้ที่ยังคงอยู่”

“มันมีภูมิปัญญาอยู่แล้วเราจึงคิดว่าอยากพาเด็กๆลงพื้นที่ไปดู อยากให้น้องได้เห็นว่าผ้าไหม ผ้าแพร ที่พ่อแม่เขาใส่ ทำอย่างไรบ้าง บางคนพ่อแม่เขาก็ทำอยู่บ้านก็เห็นมาบ้างแล้วแต่เขาก็ยังไม่ได้ลงมือทำแต่บางคนเขาก็ไม่เคยเห็นจึงพาลงไปดู”

“อยากให้น้องเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนเขาอาจจะผ่านหูผ่านตาแต่เขาไม่ได้ถามว่าทำอย่างไร ทำแบบไหน เราจึงมาช่วยสานสัมพันธ์ในตรงนี้ อยากให้น้อง ๆ รู้จักพื้นที่ตัวเองมากขึ้น เด็กบางคนอาจจะอยู่แต่บ้านไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อน ก็ได้มีโอกาสได้เดินดูรอบชุมชนแล้วก็มีการติดต่อแม่ๆที่อยู่ในชุมชนคนที่มีใจอาสาที่จะมาช่วยสอนน้อง ๆ ก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆมีน้องอยากลองทำเราก็ให้เขาได้ลองให้เขารู้สึกว่าเขาผูกพันกับชุมชน”

เรียนรู้วิถีพ่อแม่ ลองมอง ลองถาม ลองทำ

ในพื้นที่ตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนรู้จักกันในเรื่องของผ้าไหมแพรวา และพื้นฐานของชุมชนที่มีหลายชาติพันธุ์ ซึ่งมีพื้นฐานในด้านของการทอผ้า การเย็บปักถักร้อยอยู่เป็นต้นทุนเดิมแล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลของทีมอาสาสอน station พี่ต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน เชื่อมร้อยกับโรงเรียน และผูกสัมพันธ์ของชาวบ้านและลูกหลานที่อยู่ในชุมชนทั้งหมดนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในบ้านเกิดของตัวเอง

“การย้อมไหม ค้นหูก ปั่นหลอด ทำตลอดอยู่บ้านก็ทำแบบนี้มาตลอดเด็กที่มาเขาก็เคยเห็นก็น่าจะทำเป็นกันก็ดีใจพอจะมีผู้สืบทอดทำให้รู้จักเด็กก็จะเห็นเพราะมันจะสูญหายไปเพราะตอนนี้ก็เป็นคนรุ่นใหม่ อยากให้มีคนสืบทอดต่อไปได้ให้เขาได้เห็นให้เขาได้เรียนรู้บ้างก็จะดี”

“ดีใจภูมิใจที่เด็กๆกระตือรือร้นและเด็กไม่ได้เรียนรู้ไปสูญเปล่า ไม่ได้เล่นเฉยๆแต่เข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่พ่อแม่เคยทำกันมา ก็ดีใจภูมิใจลูกๆที่มาอาสาสอน เด็กๆก็จะได้เข้าใจและสนิทสนม ว่ามีครูพี่เลี้ยงในจิตใจของเด็กๆเด็กๆก็จะภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเคยมีครูพี่เลี้ยงเคยมาดูแลเคยมาใส่ใจแม่ก็ภูมิใจในตัวลูกหลานที่มาให้ความรู้น้อง ๆ”

แลกเปลี่ยนความรู้จากการอยู่ร่วมกัน

มาถึงตรงนี้อาจดูเหมือนว่า ทีมอาสาสอน station จะเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้แก่น้องๆ เพียงเท่านั้นแต่ความจริงแล้ว อาจไม่ใช่เป็นอย่างนั้นเสมอไป หากแต่การอยู่ร่วมกัน ทำให้พวกเขา ต่างได้เรียนรู้จากเด็กๆ เรียนรู้จากชุมชนด้วยเช่นเดียวกัน

“เพราะเรามาอยู่กับเด็ก ๆ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ไม่ใช่แค่เรามาสอนเขาแต่เรายังได้เรียนกับเขาและชุมชนด้วย”

“เพราะว่าเราจะได้รู้ว่าชุมชนที่เรามาลงพื้นที่นั้นมันมีอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้างส่วนชุมชนก็จะได้รู้ว่าครูอาสาที่มาก็เพื่ออยากพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ขึ้นส่วนเด็กก็จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนของตัวเองยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่เคยรู้และสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต”

“เราบอกเขาแค่เขาเชื่อฟังเราก็รู้สึกดีมากแล้ว แล้วน้องก็น่ารักเพราะเขาอยากได้โอกาสตรงนี้เขาตื่นเต้นมากตั้งแต่มาครั้งแรก ไม่คิดว่าน้องจะเห็นเราเป็นครูด้วยอายุที่ไล่เลี่ยกัน  ครูคะกูมาอาสาสอนใช่ไหม ก็รู้สึกดีมากมันเป็นการสานต่อมาเรื่อย ๆ ทำให้เราภูมิใจในการเป็นครูอาสาสอนของเรา”

ไม่เพียงแต่กลุ่มอาสาสอน station ที่พยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่กำลังเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างทางเลือกในการเรียนการสอน ทักษะชีวิต การเอาตัวรอด การส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เป้าหมายในชีวิตของคนรุ่นใหม่หลายคนได้มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างเช่น ทีมอาสาสอน station ซึ่งต่างก็เคยเป็นผู้ถูกสอนของรุ่นพี่อาสาสอนมาก่อนเช่นเดียวกัน การส่งต่อแบบนี้ก็เกิดขึ้นต่อไปแบบไหน และมีทิศทางอย่างไรต้องติดตามกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ