“ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งเริ่มกดหน้าอกเร็วเท่าไรโอกาสที่เขาจะรอดยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น”
เริ่มต้นบทสนทนากับ คชานนท์ แข็งการ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย และคณะกรรมการมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถาน ถึงสถานการณ์ความจำเป็นในปัจจุบันต่อการเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้น ที่ต้องมีผู้ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ จากตัวอย่างหลายสถานการณ์ที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมขังในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีทำให้เกิดไฟรั่วจนมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่มีข่าวดังไปทั่วโลก ที่ประเทศเกาหลีใต้จากงานฉลองวันฮาโลวีนสู่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจากการ หยุดหายใจกะทันหัน จนทำให้หลายคนตื่นตัวในเรื่องของการช่วยเหลือชีวิต ทักษะการเอาตัวรอดเมื่อตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ต่างๆที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยดังกล่าวนี้
“ตอนนี้ก็เหมือนมีโรงเรียนต่าง ๆ เริ่มติดต่อเข้ามาที่จะให้เราเข้าไปสอนในโรงเรียน เราก็ยินดีที่จะเข้าไปสอนให้ฟรีเพราะเราอยากให้ทุกคนเรียนรู้ทุกคนให้ทำเป็นทุกคนสามารถช่วยคนที่ตัวเองรักได้ แม้กระทั่งอยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องรอพวกเรา ไม่ต้องรอโรงพยาบาล ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพ มันจะสายเกินไปถ้าต้องรอ”
กลุ่มอาสาสมัครที่เรามีโอกาสได้พูดคุยในวันนี้ ชื่อของพวกเขาคือ อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถานจุดเวสสุวรรณ มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยหลายคนทั้งหญิงชาย ซึ่งเป็นหนุ่มสาวที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่มีใจเป็นอาสาสมัครที่จะมาคอยช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยที่ประสบเหตุในทุกๆวันเป็นประจำอยู่แล้ว อยู่ดีมีแฮงมีโอกาสได้ติดตาม โครงการที่น่าสนใจของมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถาน อย่างปูสาดสอน CPR ซึ่งเป็นการออกไปให้ความรู้แก่ประชาชนในจังหวัดอุดรธานีถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เมื่ออยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น ตามสวนสาธารณะใจกลางเมือง และในสถานศึกษา ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการส่งต่อความรู้ในการช่วยเหลือชีวิตแก่ญาติของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งปกติแล้วการเข้าช่วยเหลือของหน่วยกู้ภัย จำเป็นต้องใช้เวลา ถึงแม้จะมีความรวดเร็วมากแค่ไหน หากมีผู้ที่อยู่ใกล้กว่านั่นแสดงว่าการช่วยเหลือจะมีประสิทธิภาพที่มากกว่า
“ที่เริ่มทำปูสาดสอนเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพราะว่าเราอยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการ CPR ได้ง่ายขึ้น เพราะว่ามีการจัดคอร์สการอบรมต่างๆแต่ละครั้ง ส่วนมากประชาชนทั่วไปแทบไม่เคยได้สัมผัสประสบการณ์การ CPR เลย และหลายๆครั้งที่เราออกไปช่วยผู้ป่วย เราก็จะเห็นญาติผู้ป่วยยืนเฉยๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะต้องทำอย่างไร จึงคิดเห็นว่าถ้าหากทำให้ประชาชนเข้าถึงการ CPR ได้ง่ายขึ้นมันก็คงจะดี จึงเริ่มทำที่หนองประจักษ์ศิลปาคมสวนสาธารณะกลางเมืองอุดรธานีเป็นที่แรก ทั้งปูสาดสอน CPR ในสวนสาธารณะ ก็ทำมาประมาณ 6-7 ครั้งแล้ว แล้วจะมีเข้าไปสอนตามโรงเรียนที่เขาติดต่อเข้ามา อย่างที่บอกเราก็ยินดีที่จะไปสอนให้ฟรี เพราะเราอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ได้ทำเป็น เพราะหลายๆคนก็จะรู้ว่าความจริงเขาอยากเรียนรู้ แต่เขาไม่รู้ว่าจะไปเรียนรู้ที่ไหน”
CPR คืออะไร ?
“CPR มันคือการปั๊มหัวใจ เป็นการทำให้หัวใจบีบ-คลาย เหมือนปกติเพราะหัวใจของเรามีการบีบคลาย การบีบก็เหมือนกันปั๊มเอาเลือดออกจากหัวใจ ไปยังอวัยวะต่างๆไปเลี้ยงสมอง การคลายก็เพื่อให้เลือดเข้ามาที่หัวใจ ทั้งเลี้ยงหัวใจและกักไว้ในหัวใจ เพื่อเตรียมบีบไปเลี้ยงอวัยวะต่อไป ในเมื่อคนหมดสติหัวใจเขาไม่ทำงานแล้ว เมื่ออยู่นิ่งๆแล้วเรามีหน้าที่ใช้มือของเรา ไปบังคับให้มันบีบคลาย สมองของเราสามารถขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาทีถ้ามีการรีบช่วยเหลือโดยการปั๊ม CPR จากญาติ หรือคนที่ทำเป็นก็สร้างโอกาสการฟื้นคืนชีพให้เขาได้เกิน 50% เพราะคนที่เห็นผู้ป่วยและช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วคนแรกก็คือญาติของเขา”
นอกจากการช่วยเหลือด้วยการประสานงานหน่วยกู้ชีพ และการทำ CPR แล้ว ในปัจจุบันก็มีการช่วยเหลือลดการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า AED (Automated External Defibrillator )หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ ให้การรักษาด้วยการช็อคไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้อีกด้วย จะถึงอย่างไรก็ตามในการช่วยเหลือจะต้องมีการฝึกปฏิบัติ และได้รับความรู้จากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อความถูกต้องและปลอดภัย
การช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้น ?
“ถ้าเราเห็นคนหมดสติต่อหน้าต่อตาเรา ให้เราบุกเรียกก่อนตีบ่าแรงๆเหมือนปลุกเขาว่าตื่นหรือไม่ ถ้าเขาไม่ตื่นให้รีบโทร 1669 พอหลังจากโทร 1669 ไปแล้วแจ้งว่ามีคนหมดสติแล้วมาช่วยเขาด้วยการดูเบื้องต้นก่อนเขาหายใจไหม ถอดเสื้อเข้าออกมองดูหน้าอกของเขามีการเคลื่อนไหวไหม มีการไอมีการขยับร่างกายตรงไหนหรือไม่ ถ้าหากไม่มีนั่นคือสัญญาณที่เราจะต้องเริ่มทำ CPR หรือถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเป็นอาสาสมัครกู้ภัยจะถูกสอนให้จับชีพจรเป็นก็ใช้วิธีการจับชีพจร แต่ถ้าเป็นประชาชนจับชีพจรไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ชัวร์ให้ทำมือเหมือนในหนัง คือการเอามือที่จมูกไปด้วย สายตาก็ลองมองไปด้วยว่ามีการเคลื่อนไหวของหน้าอกไหมหากไม่มีให้เริ่มกดหน้าอกเลยโดยจุดที่หัวใจอยู่คือตรงบริเวณกระดูกกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้ง 2 ข้างกดลงไปเลยด้วยส้นมือของเราจังหวะประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาทีนับในใจหนึ่งและสองและสามและสี่ นับไปเรื่อย ๆ เลย ไม่ต้องเร็วมากแล้วไม่ต้องช้ามากกดหน้าอกให้ลงไปประมาณ 5-6 เซนติเมตร แล้วก็ปล่อยคืนให้สุดมือเพื่อให้หน้าอกขยายตัวและเพื่อให้เลือดเข้าและออกอย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจก็จะบีบคลายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทำอย่างนี้ต่อไปจนกว่ารถพยาบาลจะมา”
พี่สอนน้อง CPR ส่งต่อความรู้การช่วยชีวิต
การเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดเมื่อตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิต ทำให้หลายโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานีสนใจที่จะจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับเด็กๆได้เรียนรู้ เรื่องของการเอาตัวรอดอย่างเช่น การปฐมพยาบาล การประเมินสถานการณ์เมื่อจะเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น รายการช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเห็นว่าเกิดภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรือผู้ปกครองอยู่ที่บ้าน การเรียนรู้เริ่มต้นจากการให้ความรู้เรื่องภาวะหัวใจหยุดเต้นฉุกเฉิน การขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไปจนถึงการฝึกประเมินและปฏิบัติการทำ CPR ซึ่งเป็นการเรียนรู้กับหุ่นจำลอง และลองปฏิบัติจริง
“มันเป็นกิจกรรมที่มาสอนน้อง ๆ ทำ CPR และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเราปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับน้อง ๆ วัย ป.3 เน้นให้รู้จักหลักการ CPR เบื้องต้นแต่ทุกคนได้ลอง CPR จริงผ่านหุ่น และการแจ้งเหตุการขอความช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลการดูแลตัวเองหากต้องอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ
“ปัจจุบันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอถ้าเราเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ระดับประถมเด็กๆก็จะมีความรู้ติดตัวไปถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับคนรอบข้างเขาจะได้มีความรู้ฝังอยู่ในตัวเขาเพื่อที่เขาจะได้รับมือกับสถานการณ์ได้”
ช่วยได้เร็วเท่าไรโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น
“การเป็นอาสาสมัครมันมีความแค่อยากจะช่วยคนอื่นผมมั่นใจว่าประชาชนคนไทยไม่ใช่แค่คนที่เรียกตัวเองว่าอาสาสมัคร แต่ประชาชนทั่วไปเวลาที่เห็นใครเดือดร้อนก็มีความอยากมากๆที่จะเข้าไปช่วยเหมือนเห็นใครประสบอุบัติเหตุเห็นใครป่วยไม่สบายก็มีความอยากเข้าไปช่วย แต่การที่จะไปช่วยเราก็ต้องมีความรู้ด้วย การ CPR ถ้าคุณไม่มีโอกาสมาสัมผัสออกมาเรียนกับเราขอแค่ลองเปิด YouTube ดูก็ได้ มีความรู้เต็มไปหมดเลยผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถทำได้ยิ่งเร็วเท่าไร ยิ่งกดหน้าอกเร็วเท่าไร โอกาสที่เขาจะรอดยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น”
คชานนท์ แข็งการ ยังย้ำก่อนจบบทสนทนากันในวันนี้ว่าการเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ทั้งผู้เข้าไปช่วยเหลือ และผู้รับการช่วยเหลือต้องมีความปลอดภัย การประเมินความอันตรายต่อการเข้าไปช่วยเหลือ การประเมินเวลาและอาการความช่วยเหลือของผู้ป่วย ต่างก็สำคัญเท่า ๆ กัน เพราะเหตุนี้การส่งต่อความรู้ให้กับประชาชน ให้กับนักเรียนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ไม่เพียงแต่มีใจอยากจะช่วยเพียงเท่านั้น ความรู้และการฝึกฝนทักษะก็สำคัญไม่แพ้กัน