หลังผ่านพ้นช่วงฝนตกหนักในชายแดนใต้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ฟังเสียงประเทศไทยเราออกเดินทางไปยัง “พรุลานควาย” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญในชายแดนใต้อยู่ในเขตรอยต่อ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา พื้นที่กว่า 15,000 ไร่ จากจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศของไทยที่มีอยู่กว่า 22 ล้านไร่
ครั้งนี้เราออกเดินทางจาก อ.เมือง จ.ปัตตานีไปทาง ถนนหมายเลข 4061 และ ถนนหมายเลข 4092 ปลายทางของเราคือ พรุป่าบอน ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าปกติ ช่วงเย็นจะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของชุมชน เตะฟุตบอล แหล่งพักผ่อนยามเย็น และเป็นแหล่งอาชีพของหลายครอบครัว แต่ช่วงนี้พรุแห่งนี้ กำลังทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝนในช่วงที่ผ่านมา
พรุลานควาย หรือที่ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า คูวา, คูโว๊ะ, พรุน้ำดำ, พรุโต๊ะพราน ชาวบ้านบอกว่า เมื่อก่อนจะเลี้ยงควายจำนวนมากและในช่วงเช้าชาวบ้านแต่ละพื้นที่จะนำควายมาเลี้ยงรวมกัน หมู่บ้านละ 1,000 – 2,000 ตัว และควายก็จะไปหากินลานกว้างบริเวณพรุ ตอนเย็นก็จะไปต้อนเข้าคอก ซึ่งปะดอกอเซ็ง ปราชญ์ชุมชน ได้เล่าให้ฟังว่า คนเก่าคนแก่ที่นี่ เรียกที่นี่ว่า Alamluas ซึ่งแปลว่า ทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งอาจจะมีอีกหลากหลายชื่อที่ชาวบ้านเเต่ละชุมชนจะเรียกเเตกต่างกันออกไป
แต่เมื่อพูดถึง พรุแห่งนี้ ชาวบ้านรอบพรุแห่งนี้นึกถึงความหมายอะไรกันบ้าง ?
“เป็นพื้นที่แอ่งน้ำขนาดกว้าง ที่สามารถหาปลาในการประกอบอาชีพได้”อาดีลัน คามาลอ กลุ่มท่องเที่ยวบ้านโต๊ะพราน
“พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ชุกชุมในอดีต แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าหายไปเนื่องจากมีการปิดการทางน้ำไหลเกิดน้ำท่วมขัง”อับดุลเล๊าะ กลุ่มประมงน้ำจืดบ้านป่าบอน
“พรุลานควายให้ชีวิต ให้ทรัพย์สินแก่เรา แหล่งรองรับอาชีพให้กับคนที่ตกงาน”อุสมาน อาบู ประธานเยาวชนบ้านโต๊ะพราน
พรุลานควาย ประกอบด้วย พรุย่อย ๆ อีกกว่า 20 พรุ ทำหน้าที่รับน้ำจากภูเขาหลายแห่งที่กระจายอยู่รอบพรุ และหลังจากผ่านช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจากพื้นที่นี้จะไหลสู่แม่น้ำสายบุรีและออกสู่ทะเลอ่าวไทย แต่ในส่วนที่เป็นบึงจะยังคงมีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปี
ที่นี่มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยระบบสังคม หรือกฎกติการ่วม ที่เรียกกันว่า “ฮูกมปากัต” มาอย่างยาวนาน โดยแบ่งการใช้พื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ป่าพรุ 2 หนองบึง 3.นา และ 4.ทุ่งหญ้า
ในช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านในเขตอำเภอทุ่งยางแดงและอำเภอรามันจะทำเกษตรคือ ปลูกแตงโม เป็นหลัก ในพื้นที่เป็นบึงน้ำจืด ชาวบ้านจะประกอบอาชีพประมงน้ำจืดตลอดทั้งปี โดยการจับปลาจะหมุนเวียนตามฤดูกาล
วันนี้พรุลานควายก็ต้องเจอโจทย์ท้าทายของความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ อะไรคือ โจทย์สำคัญของการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำพรุลานควายที่มีความสมดุล ทั้งมิติของเศรษฐกิจ สิ่งเเวดล้อม วิถีชีวิตของคนที่อยู่กับธรรมชาติและภูมิปัญญาสะท้อนผ่านชุดข้อมูลรายการฟังเสียงประเทศไทย
โจทย์ท้าทายของความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ “พรุลานควาย”
สภาพพื้นที่พรุลานควายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อันเกินจากเส้นทางน้ำเปลี่ยนทิศทาง ระบบนิเวศน์ของลำน้ำเปลี่ยนไป โดยหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในบริเวณโดยรอบจากหลายหน่วยงาน
- นับจาก พ.ศ.2520 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีโครงการพัฒนาของรัฐ มากกว่า 50 โครงการ จาก 21 หน่วยงาน เข้ามาสัมพันธ์กับระบบนิเวศน์บริเวณนี้ เช่น โครงการสร้างประตูกั้นน้ำการสร้างคันถนนรอบพรุ การถมคลองระบายน้ำจากพรุลงสู่แม่น้ำ ทำให้แม่น้ำกับระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางน้ำ
- ความอุดมสมบูรณ์ของพรุแห่งนี้ลด ทั้งพื้นที่ป่า สัตว์น้ำลดลง เกิดภาวการณ์ขาดแคลนพันธุ์ปลาพื้นถิ่น และพันธุ์ปลาบางชนิดที่เคยมีกลับหายไป
- ชุมชนมีรูปแบบการเลี้ยงวัว เลี้ยงควายลักษณะปล่อย ทำให้การช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุม รวมทั้งระบบการป้องกันโรค และอาหารสัตว์ในช่วงน้ำท่วม
- การใช้ประโยชน์จากที่ดินรอบพรุด้านการเกษตร ปลูกพืชระยะสั้น ซึ่งเผชิญกับสภาพอากาศที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร และพบว่ามีการบุกรุกและครอบครองสิทธิ
- ที่สำคัญ พรุลานควายยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ
โอกาสการพัฒนาพื้นที่ “พรุลานควาย”
- พื้นที่รอบพรุลานควายมีจุดชมวิวที่สวยงามและหลากหลายสามารถพัฒนาเป็นแห่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สามารถการพัฒนาอาชีพ เกิดการสร้างงาน ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การพัฒนาปลาส้มให้เป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐาน อย.และรับฮาลาล ขยายตลาดไปในต่างประเทศ โดยหน่วยงานด้านประมงสามารถประเมินผลกระทบในพื้นที่พรุฯ ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนปลาที่เหมาะสม
- พื้นที่พรุลานควายเป็นระบบนิเวศที่มีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- รัฐและชุมชนต้องร่วมกันหาแนวทาง และกำหนดกฎกติกาเพื่อป้องกันการบุกรุกครอบครองพื้นที่สาธารณะ และสนับสนุนชุมชนให้มาร่วมกันคิดกับรัฐว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันอย่างไรให้ยั่งยืน
- เน้นส่งเสริมคนรุ่นใหม่ใส่ใจในชุมชน รู้จักท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากร พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อยใจของคนในพื้นที่เเละพื้นที่ใกล้เคียงแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสร้างระบบการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ดี
- การพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ต้องเน้นมีการรับฟังเสียงของทุกฝ่ายรวมถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่พรุลานควายเกิดการเคารพและเกื้อกูล รวมถึงการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่มในชุมชน
จากข้อมูลข้างต้นทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนมองภาพอนาคต 3 ภาพฉากทัศน์ ที่อาจจะเกิดขึ้น “พรุลานควาย” กับการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรเพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับผู้อ่าน
ฉากทัศน์ที่1 Hukum Pakat ธรรมนูญชุมชนพรุลานควาย
• การอนุรักษ์พื้นที่พรุลานควายให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของชายแดนใต้ โดยรักษาระบบนิเวศสมบูรณ์ไว้เพื่อให้คนในชุมชนและสังคมภายนอกสามารถเข้าถึงการประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำในมิติต่าง ๆ ได้
• ภาครัฐและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเปิดเวทีรับฟังเสียงภาคประชาชนทั้งคนในชุมชนและคนรุ่นใหม่ผู้อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพรุฯ เพื่อกำหนดการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ ตามข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของธรรมนูญชุมชน
• หน่วยงานรัฐและท้องถิ่นจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องต่อระบบนิเวศและวิถีชุมชน
• ฉากทัศน์นี้ อาจจะส่งผลต่อขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ของพรุฯ ที่อาจจะลดลงจากเดิม โดยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ จะต้องปรับวิถีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทางด้านภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่นเองบริหารจัดการจากโครงการที่ดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ฉากทัศน์ที่ 2 เช็กอิน พรุลานควายซิตี
• พัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำพรุลานควายให้สามารถสร้างประโยชน์ได้หลากหลาย ได้แก่ เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนพื้นที่ใกล้เคียงรอบพรุรวมถึงผู้สนใจทั่วไป, เป็นพื้นที่สันทนาการของชุมชน และ เป็นแหล่งทรัพยากรพื้นฐานที่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับชุมชนได้
• ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนเป็นฐานของการพัฒนาผ่านกลุ่ม ชมรม และสมาคมต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่พรุลานควาย โดยประสานงานกับภาครัฐ (ส่วนท้องถิ่น) และภาคเอกชน ให้มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าพรุ ได้แก่ (1) แผนการจัดการน้ำ แผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องคำนึงถึงการจัดการขยะและการจำกัดนักท่องเที่ยว, มีแผนการฟื้นฟูพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่น และ แผนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยการเเปรรูปผลิตผลทรัพยากรชุมชนเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยพัฒนาสร้างเป็นแบรนด์ที่ได้รับมาตรฐาน อ.ย. และเครื่องหมายตราฮาลาล รวมถึงการขยายตลาดออนไลน์เพื่อเสริมสร้างรายได้
• ฉากทัศน์นี้ ภาครัฐและเอกชนจะต้องดำเนินการสนับสนุนโครงการพัฒนาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมงพื้นบ้าน รวมถึงคนรุ่นใหม่และคนในชุมชนเองจะต้องเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีและการท่องเที่ยวบริการ แต่ฉากทัศน์นี้ คนภายนอกจะเข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น จำเป็นเตรียมแผนการรับมือ ทั้งการจัดการทรัพยากรและการจัดการขยะ
ฉากทัศน์ที่ 3 พรุลานควาย สู่การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยั่งยืน
• พัฒนาพรุลานควายให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน สำรวจ ศึกษาข้อมูลร่วมกัน และชุมชนเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังและดูแลพรุลานควาย
• ฉากนี้ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งรัฐ ท้องถิ่นและชุมชน แบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน ในการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกคณะกรรมการ, สภาพรุ บริหารจัดการและพื้นที่ชุ่มน้ำ ติดตามวางแผนและประเมินผล
• เน้นใช้ความรู้เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลเข้ามาช่วยการบริหารจัดการพื้นที่และออกแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพรุลานควาย
• และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องปรับวิธีคิดและตัดสินใจร่วมกันอย่างมีแผน พัฒนาศักยภาพยกระดับความรู้ งานวิจัยอย่างมีส่วนร่วมทั้ง การดูแลระบบนิเวศอย่างเป็นระบบมากขึ้น
• ทั้งนี้แผนพัฒนาจังหวัดและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องปฎิบัติตามกรอบและเงื่อนไขระเบียบพื้นที่ชุ่มน้ำ
• แต่ฉากนี้ต้องใช้เวลานาน แต่จะมีความยั่งยืนในระยะยาว
เปิด 4 มุมมองจากตัวแทนฉากทัศน์ “พรุลานควาย” กับก้าวต่อไปการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม กับตัวแทนจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และหน่วยงานรัฐ ที่คลุกคลีในพื้นที่มาร่วมขยายมุมมองให้ฟังในการตัดสินใจ
ผศ.นุกูล รัตนดากุล นายกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ตัวแทนฉากทัศน์ที่ 1 Hukum Pakat ธรรมนูญชุมชนพรุลานควาย กล่าวว่า การมองอนาคตให้ชัดขึ้น จะต้องถอยหลังย้อนอดีตกลับไปเรื่องประวัตินิเวศ เรื่องเล่าที่เป็นแรงกระตุ้นให้กับคนคนรุ่นใหม่ ได้เห็นว่าคนรุ่นก่อนมีความคิดอย่างไร อย่างเช่น พรุมีชีวิต เป็นการมองภาพรวมระบบพรุทั้งหมด ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเสมือนกับอวัยวะ เพียงแต่ “พรุ” สื่อสารไม่ได้ และต้องอาศัยการสังเกตจากการเรียนรู้ของผู้คน การลงไปเดินลงไปสำรวจ และเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ที่เป็นความสัมพันธ์ความเชื่อมโยง คือ ระบบลุ่มน้ำ
เมื่อก่อนพรุมีลักษณะเป็นหลุมขนมครก ทุกหมู่บ้านมีพรุเป็นของตัวเองตามตั้งชื่อเรียกของหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นกฎกติกาที่ตั้งขึ้นมา ต้องมีความจำเพาะเจาะจงในชุมชน ให้เข้าร่วมคิดร่วมคุยกันเอง อย่างวงน้ำชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนที่นี่ จากพูดคุยเรื่องไก่แจ้ หรือนกเขา แต่หันมาคุยเรื่องพรุ กลายเป็นความฝันที่ให้หลายหมู่บ้านได้มาคุยกัน เรียกว่า “สภา-พรุ” เป็นมติร่วมกันของทั้งหมด 2 จังหวัด ปัตตานีและยะลา
เมื่อเปรียบเทียบพรุเหมือนกับเรือนบี แสดงว่าสามารถพาเราฝ่าวิกฤตการณ์ แม้ในช่วงที่โลกมันจะล่มจม แต่ถ้าให้อยู่ให้อยู่รอดได้ เราต้องรู้ว่าพื้นที่พรุชำรุดจุดไหนแล้วช่วยกันซ่อมแซม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา และเราสามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาช่วยกันคิดหาข้อตกลงร่วมกัน
ดังนั้นการมีพื้นที่พูดคุยร่วมกัน จะเป็นกลไกในการทำงาน กระบวนการเรียนรู้ควบคู่กัน ซึ่งต้องมีทางมหาวิทยาลัยและนักวิชาการเข้ามาช่วยเสริม ในการผลิตอาวุธทางความคิด ทางความรู้ในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้มีพลังขับเคลื่อน เสริมสร้างคนให้มีความรู้ ความมั่นใจในตัวเอง เป็นกองทัพผลักดันและเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน
คุณอาหามะ ดอเลาะ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ตัวแทนฉากทัศน์ที่1 Hukum Pakat ธรรมนูญชุมชนพรุลานควาย กล่าวว่า อดีตที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พรุค่อนข้างหลากหลายและสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม climate change การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงโครงการพัฒนาในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบตามมา
ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็นในอนาคต ก็คือ อยากให้พรุกลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อน มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลายทางชีวภาพ ทั้งสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่ากลับคืนมา เนื่องจากสัตว์เหล่านี้สามารถเป็นแหล่งประกอบอาชีพของชาวบ้านที่อยู่โดยรอบพรุ รวมถึงการจับมือกันระหว่างชุมชนโดยรอบ ร่วมกันดูแลทรัพยากรและฟื้นฟูพื้นที่พรุ
ซึ่งการพัฒนาพรุควรพัฒนาควบคู่ไปกับการดูแล ที่ไม่เน้นการพัฒนาเพียงอย่างเดียว อย่างเช่น ปัจจุบันต้นไม้ในพื้นที่ค่อนข้างมีน้อย ทางเรามีพันธุ์ไม้แจกให้กับประชาชนสามารถรับต้นไม้นำไปปลูกเพื่อซ่อมแซม และทดแทนต้นใหม่ในพื้นที่พรุที่หายไป ซึ่งเป็นบทบาทส่วนหนึ่งของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ยะลา ที่มีนโยบายในเรื่องของการดูแลเฝ้าระวัง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ส่วนการบูรณาการแนวทางปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาจับมือที่จะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนอย่างโครงการขุดลอกคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ ต่างคนต่างทำ ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน
คุณสุไลมาน เจ๊ะแม นักกิจกรรมด้านลิ่งแวดล้อม ตัวแทนฉากทัศน์ที่ 2 เช็กอิน พรุลานควายซิตี กล่าวว่า ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว ผมเคยล่องเรือจากสุคิรินมาจนถึงสายบุรี ด้วยการพายเรือจากต้นน้ำที่หมู่บ้านยาโต๊ะมาถึงสายบุรี ระยะทางทั้งหมด 191 กิโลเมตร เรามองต้นทุนของพื้นบ้านเราสูงมาก เพียงแต่ปัญหาอย่างหนึ่งของบ้านเรา คือ ต้องส่งเสริมให้คนในพื้นที่รู้จักบ้านของตัวเอง
การศึกษามีส่วนทำให้เด็กไม่ซึมซับความเป็นท้องถิ่นนิยม สมัยก่อนรู้จักแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนแม่น้ำสายบุรีเสียอีก แต่เราไม่รู้ว่าแม่น้ำสายบุรีไหลมาจากไหนลงไปที่ไหน อันดับแรกถ้าจะทำเรื่องท่องเที่ยวต้องรู้จักตัวตนตรงนี้ รักในท้องถิ่นก่อน เพื่อเติบโตด้านการท่องเที่ยว คือ หนึ่งต้องใช้เวลา สองต้องเป็นในแบบที่เราเป็น ไม่เลียนแบบคนอื่นที่ไม่ใช่วิถีของเรา
ต้องดูว่าศักยภาพเราก่อนว่ามีแค่ไหน และย้ำการเป็นในแบบที่เราเป็น แล้วพยายามหาเรื่องเล่าของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ปลา ตำนาน และประวัติศาสตร์ในพื้นที่ สร้างเอกลักษณ์ความเป็นเราให้ได้มากที่สุดแล้วขายมันออกมาตามเทรนใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมองว่าความสุขจะยั่งยืนกว่า ถ้ามีการแชร์กันระหว่างหน่วยงาน และคนเก่าแก่ในชุมชน รวมเด็กรุ่นใหม่เข้ามา
คุณอุสมาน อาบู ประธานเยาวชน พรุป่าบอน ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ตัวแทนฉากทัศน์ที่ 2 เช็กอิน พรุลานควายซิตี กล่าวว่า ผมเรียนจบมาประมาณ 1 ปี เราอยู่ในท้องถิ่น ในพื้นที่พรุ เราคิดว่าว่าจะตอบแทนพรุได้อย่างไรบ้างเริ่มต้นจากการรวมตัวทีมงานประมาณ 4-5 คน ที่มีใจรักการพัฒนาเกี่ยวกับท่องเที่ยว ตั้งวงเปิดฟุทบอลฉายหนังในทุ่งหญ้า 2-3 ครั้ง จากนั้นประชุมจัดตั้งแคมป์ในช่วงโควิดที่เป็นกระแสมาแรงโดยที่ไม่ได้มีองค์กรอะไรเข้ามาช่วย หลังมีโครงการU2T ได้เข้าร่วมด้วย เราได้นำเสนอสิ่งที่อยู่ในพรุและในชุมชนของพวกเรา เช่น ท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้ง เมื่อไหร่ที่เรามีจุดแคมป์ปิ้ง คนตกงานก็สามารถเข้ามาสร้างรายได้เป็นโอกาสหนึ่งให้กับกับเขาได้
ก่อนหน้านั้นทำแคมป์ปิ้งอย่างเดียว เราอยากทำ การเรียนรู้ชุมชนผ่านการจัดกิจกรรมล่องเรือเรียนรู้วิถีชีวิตจากจุดเรื่องไปยังเรื่องราวอีกจุดหนึ่ง ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวเข้าร่วมแคมป์ปิ้ง โดยมีมัคคุเทศก์ทำหน้าที่บอกเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตตรงนี้
ผศ.ดร. สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ตัวแทนฉากทัศน์ที่ 3 พรุลานควาย สู่การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยั่งยืน กล่าวว่า ผมเคยลงพื้นที่ประมาณ 2 ปี อยู่ร่วมกับพี่น้องโดยรอบพรุ พื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างสวยงาม มีความ Cross-Border ซึ่งหากเรามองลงไปที่เส้นแบ่งจังหวัดก็อยู่ในพรุเช่นเดียวกัน วิถีชีวิตในพื้นที่ไม่แบ่งแยก ทั้งปลา ต้นไม้ และวิถีของคนไหลอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นความสวยงามของระบบในพื้นที่ตรงนี้ ภาพอดีตจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ตั้งแต่ 30 กว่าปีจนปัจจุบัน ป่าไม้ ในพื้นที่พรุ มีเหลืออยู่ ไปถึง 50% จากเมื่อก่อนในอดีต
สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก ก็คือ ระบบฐานข้อมูลที่มีชีวิต แม้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่ข้อมูลอดีตก็ยังคงอยู่และอยู่ในระบบฐานข้อมูล ซึ่งเราจะเห็นไม่ใช่แค่คนรอบพรุนั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงนอกพื้นที่แบบ Global to Local การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นด้วย และการเปลี่ยนแปลง Local to Global ของพื้นที่ก็จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของภาพใหญ่ด้วย การใช้ข้อมูลจะทำให้เราเห็นแนวโน้มสามารถวิเคราะห์เห็นแนวทางและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ถ้าผมเลือกมุมมองจากฉากทัศน์ที่ 3 นำมุมมองภูมิปัญญามาปรับใช้ในเรื่องต่างๆให้สมดุล ใครมีข้อมูลอยู่ในมือถือส่งเข้าไปในระบบ เพื่อให้เราร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน รวมถึงการสร้างทีมนักวิจัยอาสาในพื้นที่
ซึ่งกระบวนการจัดการนำไปสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยหลาย ๆ ส่วนในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงาน ข้ามจังหวัด หน่วยการศึกษาในโรงเรียนที่อยู่รอบพรุ รวมถึงการส่งต่อความยั่งยืนไปยังคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ให้รู้จักปลาและวิถีชีวิต สุดท้ายหากเราวิเคราะห์เข้าใจข้อมูล วิถีชีวิตแล้วก็หลาย ๆ ระดับของข้อมูลเข้าด้วยกัน จะนำไปสู่ความยั่งยืนแบบฉบับมีชีวิตได้
หลังจากทำความเข้าใจชุดข้อมูลข้างต้นทั้งหมดแล้ว คุณอยากเห็น “พรุลานควาย” กับก้าวต่อไปการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม ไปในทิศทางแบบไหน สามารถโหวตฉากทัศน์ได้เลย……
และร่วมติดตาม รายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เสียงจากพรุลานควาย กับอนาคตพื้นที่ชุ่มน้ำชายแดนใต้ วันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2566 เวลา 17:30 – 18:00 น. ทาง Thai PBS