ผอ.พอช. เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2565 ร่วมกล่าวถ้อยแถลง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หนุนเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรุงเทพ / วันนี้ 22 ธ.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. นำโดย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมด้วยนายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขายุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง เข้าร่วมงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย”
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช.
ในการนี้ ผอ.พอช. ในฐานะผู้แทนสูงสุดขององค์กร ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ (พอช.) ในมติที่ ๓ หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยมีสาระสำคัญของถ้อยแถลงตอนหนึ่งไว้ว่า “ในนามของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจหลักสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม”
ด้วยภารกิจของสถาบัน ที่มุ่งให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองและจัดการตนเองได้ทุกมิติ และด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนและเครือข่ายภาคีทางยุทธศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท การพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชน ทั้งเพื่อให้พี่น้องได้มีหลักประกันในชีวิตในช่วงที่ยากลำบากโดยการดูแลเกื้อกูลกันของคนในชุมชน โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การประสานและผลักดันนโยบายให้เกิดการหนุนเสริม กองทุนสวัสดิการชุมชน ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการประสานพลังเพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
พิธีเปิดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่15 นี้ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน จัดโดย คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช. ) และได้เชิญชวนภาคี หน่วยงาน เครือข่ายทุกภาคส่วน เข้าร่วมประกาศวาระและเจตนารมย์ ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 21-22 ธันวาคม พ.ศ. 2565
โดยในงานวันแรกวันที่ 21 ธ.ค.65 นายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขายุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ได้ร่วมอ่านถ้อยคำแถลง ในฐานะผู้แทน พอช. ในมติที่ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีเนื้อหาที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก อีกด้วย
การประกาศเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายในครั้งนี้ ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันสร้างฉันทมติและเดินหน้าขับเคลื่อนตามระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ทั้ง 3 ประเด็น ประกอบด้วย
มติที่ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีเนื้อหาที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก
มติที่ 2 การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) มีเนื้อหาในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา โดยใช้แพลตฟอร์ม CCC เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น จูงใจ ด้วยการสะสมปริมาณแคลอรี่ และจัดเก็บเป็นข้อมูลกลาง (Big Data) สำหรับติดตามประเมินผล พร้อมนำมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
มติที่ 3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) เพื่อนำไปสู่การจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้ฯ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วน ร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ภายใต้ 5 องค์ประกอบหลักที่มีความเชื่อมโยงและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน
พอช. ในฐานะหน่วยงานภาคีนั้นมีภารกิจที่สัมพันธ์ในมติที่ 1 และมติที่ 3 ที่เป็นทั้งนโยบายสาธารณะที่มุ่งตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ สังคม และชุมชน อย่างเช่น มติเรื่องของหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ อีกทั้งยังตอบสนองการแก้ไขปัญหาของผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้บริบทหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีนโยบายหรือระบบที่มีประสิทธิภาพมารองรับจะกระทบกับความมั่นคงของทุกครอบครัว และในวันนี้ทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร พอช. ได้เข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการแสดงวิสัยทัศน์และผลงานที่ผ่านมาขององค์กรอีกด้วย