ศรีสะเกษ / วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาคีเครือข่าย และสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดศรีสะเกษ จัดการประชุม “บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ณ ศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานาสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ อุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล เข้าร่วมการปราะชุม ซึ่งนายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้เกียรติเป็นประธานที่ประชุม และบรรยายพิเศษ ทิศทางพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนในจังหวัดศรีสะเกษ
นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันวางรากฐานการพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงที่ผ่านมาทั้งประเทศไทย และทั่วโลก ต่างเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่ที่ผ่านมาจังหวัดศรีสะเกษก็สามารถพัฒนายกระดับอาชีพรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการพัฒนา มีความสำคัญที่ต้องประสานข้อมูลจากภาคีเครือข่าย โดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ซึ่งศรีสะเกษมุ่งพัฒนาด้านการเกษตร มีศักยภาพในการท่องเที่ยว มุ่งส่งเสริมเป็นเมืองกีฬา ที่ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับประชาชน สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ 20 ปี
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาคการเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่อดีตมีความยากจนแล้งแค้น ซึ่งก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขยายรายได้ภาคการเกษตรสูงที่สุดในภาคอีสาน นับเป็นความภูมิใจ ที่เรามีรายได้จากภาคเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเรามองเรื่องข้าว ทุเรียน หอมแดง พริก และมีพืชเสริม เช่น กาแฟโรบัสต้า เป็นศักยภาพความโดดเด่น ที่สนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทั้งปัจจัยการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนถึงช่องทางการตลาด นี่เป็นสิ่งที่เดินมาถูกทาง แต่ก็ยังมีปัญหาจากยาเสพติด หรือน้ำเพื่อการเกษตร เมื่อมารับตำแหน่ง ก็จะเดินตามแนวการพัฒนาศรีสะเกษ 10 วาระบวกหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ
นายสำรวย เกษกุล กล่าวต่อว่า ในส่วนภารกิจของสถาบันองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน สิ่งที่จะเชื่อมโยงการทำงาน คือเรื่องกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นวาระหนึ่งของจังหวัด หรือเรื่องบ้าน ความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย เราขับเคลื่อนจากฐานข้อมูลทีพีแมป หรืองานวิจัยแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งที่ผ่านมา เรามีเป้าหมายการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง เป้าหมาย 238 หลัง และดำเนินแล้วเกินกว่าเป้าหมายแล้วเสร็จ สถาบันฯ มีโครงการสนับสนุนการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้เดือดร้อน โดยสภาองค์กรชุมชนได้จัดทำข้อมูลและเสนอโครงการต่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อรับงบประมาณมาช่วยเหลือ หากมีการบูรณาการข้อมูลครัวเรือนผู้เดือดร้อนในการช่วยเหลือกรณีเรื่องที่อยู่อาศัย ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
หรือกรณีกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ชุมชนสามารถดูแลจัดการตนเองได้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราสร้างความเข้มแข็งให้กองทุนสวัสดิการชุมชน ก็สามารถเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่างขยายผล บางส่วนเราขาดการประสานบูรณาการระหว่างองค์กรชุมชนในพื้นที่กับส่วนราชการ และหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบล นั้นเป็นองค์กรที่มีความอ่อนตัวสามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี ซึ่งหน่วยงานอาจจะมองไม่เห็น หลังจากนี้จะรับข้อมูลและไปต่อยอดเชื่อมโยงการสนับสนุนกับส่วนหน่วยราชการในระดับจังหวัด
ในระดับอำเภอ การเชื่อมประสานจากระดับตำบล มาที่อำเภอ ถ้าอำเภอมีส่วนในการร่วมกันทำจะส่งผลต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่นที่อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ที่มีการประสานการทำงานโครงการบ้านพอเพียงร่วมกับทางอำเภอ จนสามารถขยายผลเชื่อมโยงภาคีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มากขึ้น จะเห็นว่าถ้าบูรณาการจะเกิดงาน ตอบสนองการแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่มากขึ้น เรื่องนี้จะรับไปสื่อสารทำความเข้าใจกับทางอำเภอ เพื่อเชื่อมประสานการทำงานร่วมกัน เป็นข้อต่อเชื่อมการทำงานให้สภาองค์กรชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
ด้าน กบจ. คณะกรรมการที่จัดทำกรอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปัจจุบันมีการแก้กฎหมายเพิ่มเติมสัดส่วนของผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้เข้าไปเป็นกรรมการร่วมด้วย ซึ่งสามารถเสนอแผนการพัฒนาระดับจังหวัด จากการทำเวทีต่างๆ ในระดับตำบล เข้าสู่แผนพัฒนาในระดับจังหวัด สภาฯจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเสนอแผนร่วมกับทางหน่วยงานภาคี เครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมวางกรอบการแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี นอกจากเชิญผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลมาร่วมเวที และมีภาคีเครือข่าย ภาคีวิชาการ ที่เข้ามาช่วยเสริมลงทำงานกับพื้นที่ หรือหุ้นส่วนภาคีหอการค้า สามารถดึงมาร่วมงานกับทางสภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งในการทำงานต้องมีการประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
โดยจะผลักดันให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมในการพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ผลักดันการพัฒนาแผนการพัฒนาจังหวัด ช่วยกันทำงาน ต่อยอดพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ยกระดับรายได้ให้ดีขึ้น ก็หวังให้สภาองค์กรชุมชนเข้ามาเป็นภาคีการพัฒนาในระดับจังหวัดร่วมกัน ทางจังหวัดมีความพร้อมและความยินดีที่จะทำงานร่วมกับท่านพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษในโอกาสต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าว
แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยกล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก้าวสู่ปีที่ 23 มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ภายในปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั้งแผ่นดิน เพราะถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งประเทศไทยไปรอด หลายครั้งโครงสร้างราชการส่วนบน ไม่สามารถนำพาประเทศไปได้ทั้งหมด จากวิกฤตใหญ่ของประเทศ 2 ครั้งที่ผ่านมา วิกฤตแรก วิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่เศรษฐกิจของประเทศล้มทั้งระบบ โรงงานปิด คนตกงานต่างกลับบ้านคืนถิ่น วันนั้นชุมชนท้องถิ่นฐานรากสามารถรองรับพี่น้องที่ได้ผลกระทบ เพราะมีข้าว มีที่อยู่อาศัย มีพ่อแม่พี่น้องดูแลต้อนรับ นับเป็นบทพิสูจน์ที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถรองรับผลกระทบระดับประเทศได้
อีกวิกฤตหนึ่งคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 พี่น้องต่างกลับคืนถิ่นสู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ในการรองรับคนกลับมาได้ทันท่วงที ในขณะที่ระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณของราชการยังไม่ออก ยังไม่มีระเบียบกฎหมายที่มาดูแลพี่น้องได้อย่างชัดเจน แต่ชุมชนก็มีทุนภายใน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ ได้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมจัดการเฝ้าระวัง คัดกรอง ช่วยกันทำหน้ากากอนามัย จัดสถานที่กักกัน ดูแลส่งอาหารแก่คนที่ติดโควิด เป็นบทพิสูจน์ 2 ครั้ง ที่ทำให้เห็นพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถรองรับและจัดการตนเองได้
ซึ่งเป็นทิศทางที่สถาบันฯ จะเดินต่อไปข้างหน้า และไม่มีกลไกอะไรที่ทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ได้ นอกจากพี่น้ององค์กรชุมชนที่รวมกลุ่มเชื่อมร้อยกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นเป้าหมายและทิศทางที่เราจะเดินต่อไปข้างหน้า โดย พอช. มีการขับเคลื่อนงานผ่านการส่งเสริมและสนับสนุน สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพรายได้ เศรษฐกิจและทุนชุมชน โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง ซึ่งเป็นประเด็นงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล เป็นเครื่องมือเป็นโครงการในการหลอมการทำงานให้กับพี่น้อง
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล นั้นได้มีการผลักดันกฎหมายเมื่อปี 2551 เป็นกฎหมายที่รองรับองค์กรชุมชน ให้ชุมชนมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะเป็นเวทีเป็นพื้นที่กลางในการทำงานของชุมชนท้องถิ่น ทั้งประเทศมีการจดแจ้งจัดตั้งแล้วกว่า 7,800 ตำบล/เทศบาล เกือบเต็มประเทศไทย โดยที่จังหวัดศรีสะเกษได้มีการจัดตั้งสภาฯ ทั้งจังหวัดแล้ว 215 แห่ง ในการดำเนินงาน สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถจัดทำแผน และเชื่อมโยงแผนพัฒนากับทางท้องถิ่นและมีรูปธรรมความร่วมมือ แต่ก็ยังมีบางสภาฯ ที่ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ในตำบล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องได้การการดูแลฟื้นกลไกนี้กลับมา เพื่อให้คนศรีสะเกษได้รับการดูแลจากรัฐบาล ผ่านงบประมาณลงมา เช่น บ้านพอเพียงที่รัฐบาลให้งบมาดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง
ซึ่งเป็นหนึ่งในมิติการแก้ปัญหาความยากจน รายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการภาครัฐ และเรื่องการศึกษา ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โดยในปี 2566 พอช.ได้รับงบในการดำเนินการซ่อมแซม 20,000 กว่าหลังคาเรือน งบประมาณหลังคาเรือนละ 20,000 บาท เพื่อดูแลซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง จังหวัดศรีสะเกษมีสภาองค์กรชุมชน 215 ตำบล มีพื้นที่ที่ดำเนินการบ้านพอเพียงกว่าครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังไม่มีโครงการลงถึงพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฟื้นฟูสภาองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการกระจายการสนับสนุนให้มีความทั่วถึง
ในเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ศรีสะเกษมี 160 กองทุน แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการชุมชน จะมีวิธีการอย่างไรในการพัฒนากองทุนสวัสดิการ ขยายฐานสมาชิก ขยายกองทุนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งประเทศ มีเงินกองทุนหมุนเวียนกว่า 19,000 ล้านบาท เป็นเงินสมทบของประชาชนมากกว่า 12,000 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่อยู่อาศัย นอกจากบ้านพอเพียง ยังมีโครงการบ้านมั่นคง และพอช.ได้เสนอโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่ง พอช. มีการเสนอกรอบงบประมาณ 9,000 ล้านบาท เพื่อดูแลพี่ย้องที่ได้รับผลกระทบกว่า 27,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นประเด็นงานที่เสนอรับงบประมาณจากรัฐบาล ผ่านสถาบันฯ ลงมาสู่พื้นที่ และล่าสุดได้มีการประสานความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่ปาชุมชน ร่วมกับกรมป่าไม้ จะพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับป่า เศรษฐกิจ อาชีพประชาชน การท่องเที่ยวชุมชน ที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยภาคธุรกิจพร้อมเข้ามาสนับสนุนชุมชน แต่ภาคธุรกิจมาเริ่มนับหนึ่งกับเรา ชุมชนไหนที่มีความแข็งแรง จะเป็นชุมชนแรกๆที่จะเข้ามาดำเนินการ
และยังมีแหล่งทุน กองทุนพลังงาน 38 จังหวัด 83 กองทุน มีสภาองค์กรชุมชนอยู่ตรงนี้เท่าไหร่ เพราะเราสามารถเข้าไปขอรับงบประมาณมาดำเนินการพัฒนาชุมชน ช่วยพี่น้องพัฒนาโครงการเพื่อเสนอต่อแหล่งทุนในพื้นที่เพื่อแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกมาเติมเต็ม และยังมีงบประมาณอยู่ที่จังหวัดในหลายหน่วยงาน เราจะเข้าไปแตะกับเงินกองทุนเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งมีหลายตำบลได้รับงบประมาณจากท้องถิ่น ซึ่งภายในเดือนมิถุนายนของทุกปี ต้องทบทวนแผนเพื่อเข้าเทศบัญญัติให้ทันภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งเราสามารถสะท้อนปัญหาและความต้องการผ่านแผนการพัฒนาตำบล
นายกฤษดา กล่าวอีกว่า กลไกการจัดทำแผนการพัฒนาจังหวัด ผ่านตัวแทนที่ขึ้นมา ทุกพื้นที่เชื่อมโยงแผนการพัฒนาตำบล เชื่อมโยงเป็นแผนจังหวัด 1 จังหวัด 1 แผนพัฒนา ซึ่งสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด จะเป็นพื้นที่ในการจัดทำแผน และเสนอแผนต่อจังหวัด ต่อ อบจ. หรือทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านช่องทางนี้เข้าสู่แผนการพัฒนาจังหวัด โดยระเบียบการบริหารราชการจังหวัด ระบุให้มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเป็นผู้แทนเข้าไปนั่งอยู่ในการพิจารณา เสนอปัญหาความต้องการของประชาชน
โดยปีนี้จะเป็นปีสำคัญของ พอช.ในการพัฒนาคน พัฒนาความรู้ให้กับกลไกของเราโดยในเดือนมกราคม เราจะมีหลักสูตรการพัฒนาผู้นำร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสริมความรู้เรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ระบบงบประมาณของรัฐ โดยจะเชิญสภาพัฒนฯ สำนักงบฯ มหาดไทย ท้องถิ่นมาร่วมกับเรา และในระดับอำเภอเราจะใช้การสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยี
วันนี้เราตกผลึกทิศทางการพัฒนาไปข้างหน้า เราจะใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมโยงการทำงานกับท้องถิ่นท้องที่หน่วยงาน สถาบันการศึกษา ในการทำงานร่วมกัน และเป็นกลไกในการเคลื่อนเรื่องนี้ โดยจะนำร่องใน 22 จังหวัด ซึ่งศรีสะเกษก็เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมาย ในเรื่องการแก้ความยากจนที่ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ 20 จังหวัด โดย พอช.จะเป็นหน่วยในการขยายพื้นที่ เป็นงานความร่วมมือที่จะขยับ และการวางระบบงบประมาณเป็นการหนุนเสริมการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด
และจากการปรึกษากับทางนายแพทย์ประเวศ วะสี ได้แนะนำแนวคิดสถาบันพัฒนาผู้นำ ที่เป็นองค์กรในการพัฒนาผู้นำชุมชน และบุคลากรของสถาบัน ให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยชุมชน หรือโยงข้าราชการเกษียณ เข้ามาหนุนเสริมชุมชน โดยในการพัฒนาหลักสูตร สามารถเชื่อมโยงเป็นหน่วยกิจสะสม เพื่อต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป และกระบวนการพัฒนาไม่เป็นการเรียนในห้องเรียน แต่เรียนรู้จากการปฏิบัติการในพื้นที่จริง เพื่อสร้างรายได้พร้อมไปกับการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาตนเอง
ทั้งนี้การพัฒนาในอนาคตข้างหน้า พื้นที่กลางที่สำคัญของเครือข่ายองค์กรชุมชน คือกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบล/จังหวัด ในการสร้างความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนวงล้อของการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นต่อไป นายกฤษดา สมประสงค์ กล่าวในตอนท้าย
อย่างไรก็ดี ในการจัดงานได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติสู่ความร่วมมือ ทิศทาง แผนงานการบูรณาการแผนพัฒนา และความร่วมมือวิธีการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ “คนเมืองศรีอยู่ดีมีแฮง” และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาคี โดยมีข้อเสนอ 9 ข้อ ดังนี้
- พัฒนา ยกระดับให้จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเมืองเกษตรปลอดภัย ปลอดสารเคมี และสารพิษอันตรายทุกชนิด และสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ สารเคมีอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต คลอไพริฟอส
- สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลในเรื่องของการบริหารจดัการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ
- สนับสนุนให้พัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ สู่เมืองน่าอยู่ City for all ให้เต็มพื้นที่ ทั้งมิติทางด้านสังคม และโครงสร้างพื้นฐาน แบบคู่ขนาน และให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
- ส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง
- สนับสนุนให้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับสังคมผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม
- สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการวางแผนขับเคลื่อนการทำงาน ปฏิบัติการ ตลอดจนติดตามประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม
- ส่งเสริมสนับสนุน ยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจฐานรากและงานประเด็นอื่นๆ ในพื้นที่
- การสนับสนุนด้านวิชาการ องค์ความรู้ชุมชน ระบบเทคโนโลยี และงบประมาณ และเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
- ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ แต่งตั้งคณะทำงาน การบูรณาการขับเคลื่อนสภาคนเมืองศรีอยู่ดีมีแฮง