ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.

ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท.

การจัดเสวนาแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ  ที่ มทร.อีสาน

ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ เช่าที่ดินรถไฟ 30 ปีสร้างบ้านมั่นคง ด้าน พอช. หนุนงบประมาณ 12 ล้านบาทสร้างบ้าน 166 หลัง

นครราชสีมา / ขบวนคนจน 5 ภาครวมพลังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟฯ  โดย ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ ประเดิมเช่าที่ดิน รฟท. บ้านพะไล  ต.หัวทะเล  อ.เมือง  ระยะเวลา 30 ปี  สร้าง ‘บ้านมั่นคง’ 166 หลัง  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ 12 ล้านบาทเศษ  เริ่มสร้างมกราคม 2566 เพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยใหม่  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เปลี่ยนจากชุมชนชนบุกรุกเป็นเช่าที่ดินและอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  ด้านเครือข่ายริมรางรถไฟ 5 ภาคเตรียมขยับแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ รวม 35 จังหวัด 346 ชุมชน  รวม 27,056 หลังคาเรือน  โดยขอเช่าที่ดิน รฟท.สร้างบ้านมั่นคง

การพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น  รถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  ฯลฯ  ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  จำนวน 35 จังหวัด 346 ชุมชน  รวม 27,056 หลังคาเรือน  ในจำนวนนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อหรือยกเลิกสัญญาเช่าไปแล้ว  ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการเจรจากับ รฟท. เพื่อขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

2
ชุมชนริมทางรถไฟในย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เคลื่อนขบวนคนจนริมราง รฟท.จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่โคราช

ขณะเดียวกันเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World  Habitat Day) ปี 2565  ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายจนคนทั่วประเทศในนามของสลัม 4 ภาค, สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายบ้านมั่นคง  ขบวนองค์กรชุมชน  ฯลฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง  เช่น  กรุงเทพฯ  สงขลา  ชัยนาท  และล่าสุด  ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม  จัดงานที่จังหวัดนครราชสีมา

โดยในวันนี้ (19 ธันวาคม) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน (มทร.อีสาน) อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  มีการจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลกประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใดไว้ข้างหลัง  สานพลังการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  นิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การเสวนา  การประชุมวางแผนเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.  ฯลฯ  โดยมีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ  ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมงานประมาณ 450 คน  ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจาก มทร.อีสาน  จังหวัดนครราชสีมา  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

3
บรรยากาศภายในห้องประชุมที่  มทร.อีสาน

นายสมพงษ์ แสงศิริ ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา  กล่าวว่า  วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในภาคอีสานได้ใช้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่จัดงาน  เนื่องจากขณะนี้มีชุมชนต่างๆ ในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟของ รฟท.  โดยที่ จ.นครราชสีมาได้มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน  พบว่า  มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 ชุมชน 1 กลุ่มบ้าน  รวม 342 หลังคาเรือน  โดยชุมชนเหล่านี้ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็น ‘เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม’ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน

“การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จัดขึ้นในหัวข้อ ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใด ไว้ข้างหลัง  สานพลังการพัฒนา  ที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ’   มีวัตถุประสงค์  1.เพื่อให้ประชาชน  หน่วยงานภาคี และสถาบันการศึกษา  เห็นความสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   2.เพื่อเสนอรูปธรรมและแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  3.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์  และ 4.เพื่อเสนอและผลักดันนโยบาย  แผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  ตั้งแต่การบริหารสัญญาเช่าที่ดิน  การออกแบบวางผังชุมชนริมราง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชน”  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนกล่าว

ทั้งนี้โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ หนองคาย (กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทาง 609 กิโลเมตร  ขณะนี้กำลังก่อสร้างในช่วงนครราชสีมา  โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 8 ชุมชน  คือ ชุมชนเลียบนคร  กลุ่มประสพสุข  ชุมชนข้างทางรถไฟ  ชุมชนหลังจวน  ชุมชนราชนิกูล 1  ชุมชนราชนิกูล 3  ชุมชนเบญจรงค์   และชุมชนทุ่งสว่าง  รวม 342 หลังคาเรือน  ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง  จ.นครราชสีมา

ขณะเดียวกันชาวชุมชนที่เดือดร้อนได้รวมตัวกันจำนวน 166  ครอบครัว  เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2564   เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นตัวแทน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน  รวมทุนแก้ไขปัญหา  และขอเช่าที่ดินที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์   โดย รฟท. อนุมัติให้เช่าที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2565  เนื้อที่ 7 ไร่เศษ  ระยะเวลา 30 ปี  ค่าเช่าตารางเมตรละ 23 บาท/ปี  บริเวณชุมชนบ้านพะไล  ห่างจากที่อยู่อาศัยเดิมประมาณ  7 กิโลเมตร  เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เก็บของเก่าขาย  จำเป็นต้องหากินอยู่ในเมือง

4
สภาพชุมชนริมทางรถไฟในอำเภอเมือง  จ.นครราชสีมา

โดยชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ให้การสนับสนุน  จำนวน 166 ครอบครัว  ผู้อยู่อาศัยประมาณ  300 คน  ขณะนี้ผู้ที่มีความจำเป็นได้รื้อย้ายจากที่อยู่อาศัยเดิมมาอยู่บ้านพักชั่วคราว  จำนวน 27 ครอบครัว  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 486,000 บาท

ส่วนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเริ่มในเดือนมกราคม  2566  ในที่ดินที่แบ่งปันครอบครัวละ  5×9 ตารางวา  (ขนาดบ้าน 5×7 ตารางวา  ชั้นเดียว)  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 100,000 บาท  ตามแผนงานจะแล้วเสร็จในปี 2567    โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ  รวม  12,823,500 บาท ( อุดหนุนสร้างบ้านหลังละ 30,000 บาท)

“ชุมชนแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟฯ  ที่เกิดจากการบรูณาการความร่วมมือในการพัฒนาระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการพัฒนาระบบราง และเกิดการสื่อสาร สร้างกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจให้กับคนในจังหวัดนครราชสีมาและขบวนองค์รชุมชนที่เข้าร่วมงานจาก 5 ภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ”  ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมากล่าว

ทั้งนี้ชุมชนในที่ดิน รฟท. ในจังหวัดนครราชสีมาที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงโดยเช่าที่ดิน รฟท.  ประกอบด้วย  ชุมชนเลียบนคร 8 ครัวเรือน  กลุ่มประสพสุข 25 ครัวเรือน  ชุมชนข้างทางรถไฟ 31 ครัวเรือน  ชุมชนหลังจวน 12 ครัวเรือน  ชุมชนราชนิกูล 1 จำนวน 23 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกูล 3 จำนวน 18 ครัวเรือน ชุมชนเบญจรงค์ 28 ครัวเรือน และชุมชนทุ่งสว่าง

5
โมเดลชุมชนใหม่

พอช.หนุนชุมชนทั่วประเทศแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิต

นายสุพัฒน์ จันทนา  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า พอช. สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อย  โดยมีความเชื่อมั่นว่า “บ้านโดยชุมชนที่ทุกคนร่วมสร้าง” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมจากชุมชนฐานรากและสร้างความมั่นคงของมนุษย์   โดย พอช. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสทั้งเมืองและชนบท  5 โครงการ

คือ 1.โครงการบ้านมั่นคง  2.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  3.โครงการบ้านพอเพียง  4.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว   กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ   และ 5.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ของรัฐบาล  มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579

ในปี 2566  พอช.กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์   เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาค/พื้นที่ ให้เกิดการหนุนเสริมช่วยกัน  โดยมีพื้นที่ขับเคลื่อนร่วมกัน   คือ 1.การแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วทั้งประเทศ  2.การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภูมินิเวศชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง  พังงา  กระบี่  ภูเก็ต  ตรัง  สตูล ) 3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง   คลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  กรุงเทพ  คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่  คลองสำโรง  จ.สงขลา

6
ตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กรุงเทพฯ  โดยชาวชุมชนได้ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนทางเรือเพื่อเป็นช่องทางในการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนด้วย

4.การฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนแออัด/บุกรุกในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต  5.การพัฒนาพื้นที่ชุมชนในเขตป่า อุทยาน  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  ในมิติชนบทที่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหลายภาคส่วน   โดยใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การคิดค้นนวัตกรรม และสร้างเครื่องมือการทำงานใหม่   เช่น  การสนับสนุนจากกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ (New Gen) เพื่อทำงานด้านการพัฒนาชุมชน และสถาปนิกออกแบบที่อยู่อาศัยและชุมชน

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดนครราชสีมาเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาตามแนวทางโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ชุมชนผู้เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  โดยมี พอช.  ภาคีเครือข่าย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหา   ซึ่งนอกจากที่ จ.นครราชสีมาแล้ว  ยังมีชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศอีก 346 ชุมชนใน 35 จังหวัด  ประมาณ  27,056  ครอบครัวที่อยู่ในกระบวนเตรียมการแก้ไขปัญหา

7
 เส้นทางรถไฟรางคู่นครปฐม-หัวหิน   ขณะกำลังก่อสร้าง  มีหลายชุมชนได้รับผลกระทบโดนรื้อย้ายแล้ว

พลังคนจนเปลี่ยนแนวคิดการใช้ที่ดินรัฐ

การจัดกิจกรรมในวันนี้มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาที่อยู่อาศัย บทเรียนการพัฒนา โอกาสหรือความท้าทายกับการพัฒนา ความมั่นคงที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ”  โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งจากผู้ร่วมเสวนา  เช่น

นายสังเวียน   นุชเทียน  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  ก่อนปี 2543  คนจนไม่สามารถเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ ได้โดยในปี 2539  มีข่าวว่า รฟท. จะเอาที่ดินทั่วประเทศไปให้เอกชนเช่าทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน  คนจนที่อยู่ในที่ดิน รฟท.จะถูกขับไล่  เราจึงเอาปัญหานี้มาคุยกัน  ซึ่งก็มีทั้งชุมชนที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม  ใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการรวมกลุ่มเจรจา  เรียกร้อง  และชุมนุมกดดันที่หน้ากระทรวงคมนาคม 3 วัน  จนในที่สุดบอร์ดรถไฟจึงมีมติเมื่อ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เจรจากับกระทรวงคมนาคม  คือ

1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี   2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร  ระหว่างการเช่า  รฟท.ต้องอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  ประปา  ไฟฟ้า  เข้ามาบริการชุมชนได้  ส่วนชุมชนจะต้องร่วมมือกับ รฟท.ในการจัดการสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย

3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาวให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  4.ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  มีส่วนร่างสัญญาและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินร่วมกับ รฟท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม

“ประเด็นสำคัญคือ  ถ้าพี่น้องไม่ลุกขึ้นสู้ก็จะไม่ได้มติบอร์ดรถไฟ  ทำให้พี่น้อง 61 ชุมชนที่ร่วมกันต่อสู้ได้เช่าที่ดิน 30 ปี”  นายสังเวียนกล่าว

8
เวทีเสวนา

นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  บทเรียนสำคัญของเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ในการต่อสู้เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ก็คือการเปลี่ยนหลักคิดการใช้ที่ดินของรัฐ  จากเดิมที่สังคมมองว่า “คนจนเป็นผู้บุกรุกที่ดินต้องถูกขับไล่ออกไป   เป็นคนจนเป็นผู้บุกเบิกที่ดิน  และมีสิทธิในการอยู่อาศัยและพัฒนาเมือง”   ซึ่งการที่บอร์ดรถไฟมีมติเมื่อ 13กันยายน 2543  เห็นชอบให้ชาวบ้าน  61 ชุมชนเช่าที่ดินกับ รฟท.ได้  ถือเป็นชัยชนะของพี่น้องทุกคนที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดนี้ได้  เพราะแต่เดิมที่ดินรถไฟจะต้องใช้วิธียื่นซองประมูล   แต่การต่อสู้ของพี่น้องทำให้เช่าที่ดิน รฟท.ได้ในราคาตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี

“ที่สำคัญก็คือ  การเปลี่ยนหลักคิดเรื่องการใช้ที่ดินของรัฐที่ไม่ควรมองเฉพาะเรื่องผลกำไร  แต่ต้องมองเรื่องสิทธิทางสังคม  สิทธิในการอยู่อาศัยของคนจน  สิทธิที่จะอยู่อาศัยในเมืองและพัฒนาเมือง  ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วย  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มาจากโชคช่วย  แต่มาจากพลังของพี่น้องที่ร่วมกันต่อสู้  กดดัน  ชุมนุม  จนได้มติบอร์ดรถไฟออกมา  จนได้เช่าที่ดินระยะยาว”  ที่ปรึกษาสลัม 4 ภาคกล่าว

เขาบอกด้วยว่า  แม้จะได้สัญญาเช่าที่ดินแล้วก็ตาม  แต่ปัจจุบัน รฟท.มีโครงการพัฒนาต่างๆ   เช่น  รถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  อาจทำให้ชุมชนต่างๆ ได้รับผลกระทบ  ดังนั้นพี่น้องจะต้องมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  เป็นขบวนการ  จะได้มีพลังในการต่อสู้เรียกร้อง

เครือข่ายริมรางรถไฟ ภาคเตรียมเคลื่อนขบวน

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น    เครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟ   เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ได้ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทาง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ P-Move  ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดย ครม.เห็นชอบให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  และมอบหมายหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   โดยให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยเทียบเท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว

9

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  พอช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. รวมทั้งได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลกับ รฟท. และจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  โดยมีแผนการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายดำเนินการครอบคลุมครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบ  จำนวน 27,096  ครัวเรือน   วงเงินรวม  9,478  ล้านบาทเศษ

โดยที่ผ่านมาได้เสนอ รมว.พม.ลงนามเห็นชอบ  และเสนอสภาพัฒน์ซึ่งได้เห็นชอบแล้วเช่นกัน  และอยู่ในระหว่างการเสนอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ  รวมทั้งการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดวงเงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง  ครัวเรือนละ 89,000  บาท  เพิ่มอีกครัวเรือนละ 80,000 บาท  เพื่อให้เท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวตามมติ ครม.

นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวเสริมว่า  ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.นั้น   เนื่องจากเดิมการเช่าที่ดิน รฟท.ตามมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  มีชุมชนที่เช่าที่ดิน รฟท. 61 ชุมชน  แต่ปัจจุบัน  รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางเพิ่มขึ้น  จำนวนผู้เดือดร้อนจากการสำรวจทั่วประเทศปัจจุบันมี 346 ชุมชน  รวมกว่า 27,000 ครอบครัว  จึงต้องนำเสนอข้อมูลผู้เดือดร้อนให้บอร์ด รฟท.รับรองก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.  ซึ่งคาดว่าบอร์ด รฟท.จะพิจารณาเรื่องนี้ได้ในช่วงต้นปี 2566

รวมทั้งงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ขออนุมัติเพิ่มเติมจาก  89,000 บาทต่อครัวเรือน  เพิ่มอีก 80,000 บาทต่อครัวเรือน  ซึ่งหาก ครม. และสำนักงบประมาณมีมติเห็นชอบ  ทางเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟทั้ง 5 ภาคที่มีความพร้อมก็จะเริ่มแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ภายในปี 2566  เช่น  ขอเช่าที่ดิน รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์   หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่  ฯลฯ  ส่วนรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็จะเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่  แต่ละชุมชน   โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  และการสมทบจากชาวชุมชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ