อยูดีมีแฮง : เมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางอาหาร

อยูดีมีแฮง : เมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางอาหาร

เมล็ดพันธุ์ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคงทางอาหาร ในภาวะที่โลกกำลังถูกคุกคามจากภัยธรรมชาติ ทั้งโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่สูงขึ้น นับเป็นปรากฎการณ์ที่เกษตรกรในภาคอีสาน ต้องหาทางรับมือให้ได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำท่วม ผลผลิตทางการเกษตรแทบจะเสียหายทั้งหมด ทำให้ต้องเริ่มทำการเพาะปลูกใหม่ตั้งแต่ต้น  ดั้งนั้นแนวคิดการเก็บเมล็ด หรือกล้าพันธุ์ เพื่อสร้างคลังอาหารของตัวเองจึงมีความสำคัญมาก ในช่วงวิกฤตแบบนี้

 ถ้าเขามีเมล็ดพันธุ์หรือกล้าพันธุ์เป็นของตัวเอง เวลาที่น้ำท่วมมา หลังจากน้ำลดลงแล้ว เขาก็สามารถนำเมล็ดพันธุ์มาทำการผลิตได้ ซึ่งเขาก็จำเป็นต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ เพื่อที่จะมีโอกาสฟื้นฟูและใช้เมล็ดพันธุ์ของตัวเองมากขึ้น พ่อสวาท อุปฮาด เป็นเกษตรกร

ปัจจุบันพ่อสวาทกำลังขับเคลื่อนเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่น และการรื้อฟื้นเรื่องอาหารพื้นถิ่น สมุนไพรที่เคยมีคุณค่าในอดีตกลับมา ด้วยความหวังที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหาร และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพืชและสมุนไพรที่ถูกเก็บรักษาพันธุ์ไว้

งานสำคัญที่เรากำลังทำตอนนี้เลยคือการเก็บเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าพันธุ์ไม้ สมุนไพรพื้นถิ่น สิ่งเหล่านี้เองมันกำลังถูกปล่อยปะละเลย  หากเมล็ดพันธุ์หายไป อาหารบางอย่างที่เคยมีก็จะสูญหายไป มันนำมามาซึ่งการทำลายความมั่นคงทางอาหาร

ด้วยความพยายามที่จะรักษาเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นไว้ พ่อสวาทได้มีการรวมพันธุ์ไม้ไม่ต่ำกว่า 70 ชนิด  ภายในสวน

พ่อสวาทพาเดินในสวนและเล่าถึงพันธุ์ไม้ที่ตัวเองได้เก็บรักษาพันธุ์ ด้วยอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความภูมิใจ  “มีขิงเนาะ  อันนี้เครือสาวหลง ส่วนตรงนี้คอนแคน ไม้ไผ่สามตระกูล  ลูกขอ ลูกหมากเม่าป่า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของบ้านเรา นอกจากนี้ ยังมีพืชกินใบในแทบทุกชนิดที่เป็นพืชพื้นบ้าน ตั้งแต่ผักโขม ถั่ว แตง ฝัก รวมไปถึงพันธุ์ไม้ผลบางอย่าง เช่น บักนม บักนมสาว บักตูม เราก็พยายามที่จะรวบรวมแล้วแบ่งปันไปให้ชาวบ้านไปทำการผลิต เผื่อขยายผลต่อไปให้พันธุ์ไม้พื้นถิ้นกลับคืนมา”

การที่เราจะฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์และอาหารกลับมาได้  หากทำคนเดียวก็เป็นเพียงการจุดประกายไฟดวงเล็ก ๆ ดังนั้นการสร้างกลุ่มและการถ่ายทอดองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะสร้างแรงขับเคลื่อน อาจจะกล่าวได้ว่าคือการแบ่งปันเพื่อสร้างความยั่งยืน

“เราทำงานเป็นกลุ่มและมีองค์กรที่ทำงานร่วมกันมามากกว่า 20 ปี อยู่ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์และอุดรธานีซึ่งภายในกลุ่มจะมีการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และแต่ละปีเราก็จะมีกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในเรื่องวิธีการผลิต วิธีการเก็บและวิธีการใช้”  แต่ละกลุ่มจะมีความรู้ ความเข้าใจในพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของตัวเอง รวมไปถึงวิธีการสร้างมูลค่าทางการตลาด สร้างรายได้ให้กับกลุ่มและครอบครัวตัวเองได้เพิ่มขึ้น

ถ้าเกษตรกรมมีความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ทำไร่ทำนาไปตามแต่กระแสตลาด แต่จะต้องทำแบบผสมผสาน ทำไร่ นา แปลงผัก ไม้ผล หรืออาจจะทำปศุสัตว์ มีการคัดและเก็บเมล็ดพันธุ์  สามารถเกื้อกูลกันภายในระบบนิเวศเองได้ เหล่านี้เองมันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และป้องกันปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ