‘ครูหนุ่มสาว’ ในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า

‘ครูหนุ่มสาว’ ในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า

288,233 คน คือ ตัวเลขของจำนวนครูเกษียณอายุราชการใน 15 ปี (2556-2570) เราจะผลิตบัณฑิตได้เพียงพอทดแทนหรือเปล่า และโอกาสของ “การเปลี่ยนเลือดใหม่” แล้วจริงๆ ครูรุ่นใหม่ไฟแรงจะสามารถเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบเดิมๆ ได้จริงหรือ

10 มี.ค.2561 วงเสวนา “ครูหนุ่มสาวในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า” ในสัปดาห์ Doc+Talk : เทศการหนัง “การศึกษา” จัดโดย Documentary Club ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), ThaiPBS, Jam, MThai และ SeeMe ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค. 61 ที่ ณ หอศิลปกรุงเทพมหานคร ชั้น 5

โดยวิทยากร
1.ครูปราศรัย เจตสันต์ รร.บางปะกอกวิทยาคม
2.ครูวจิรา วรเกต รร.ราชวินิตประถมบางแค
3.ครูพัชรากร วรรณจงคำ รร.ราชวินิตมัธยม
ดำเนินรายการโดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ครูปราศรัย เจตสันติ (ครูโอ) โรงเรียนบางประกอกวิทยาคม

เราเข้าใจมาตลอดว่าอาชีพครูคือสอนหนังสือ พอได้มาทำงานจริง ๆ ก็พบว่าครูมีหน้าที่เยอะกว่านั้น ยกตัวอย่าง ครูในระบบโรงเรียนรัฐ นอกจากการสอนยังมีภาระหน้าที่ความีรับผิดชอบอื่น ๆ ค่อนข้างมาก ครู 1 คนต้องสอนหนักเรียนราว ๆ 50 คน ถ้าเกิดสอนหลาย ๆ ห้อง เราก็ต้องดูแลทั่ว ๆ กันไป สัปดาห์หนึ่งก็ราว ๆ 18-20 คาบหรือมากกว่านั้น สอนเด็กก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนที่สองคืองานที่อยู่ในระบบของโรงเรียน ทั้งงานหลักสูตร งานแผนงาน งานปกครองของเด็ก

ในฐานะครูรุ่นใหม่ที่เข้ามาในระบบ ก็จะต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบ ยืดหน้าที่ที่เป็นความตั้งใจแรกของเราในการเป็นครูนั้นคือการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน และทำภารกิจที่สองคือการจัดสรรงานต่าง ๆ แล้วปรับงานว่าภารกิจไหนที่ไม่ได้เป็นงานที่สาระสำคัญ ก็ต้องเพลาลง หรือบางอย่างเกี่ยวข้องกับเด็กจริง ๆ ก็ต้องจริงจังกับมัน สำคัญคือต้องหาเพื่อนร่วมงานที่ดีในการสร้างทีมครูในโรงเรียน เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถทำเสร็จด้วยตัวคนเดียวได้ ทีมครูก็ต้องช่วยกันจึงจะสามารถจัดการงานนั้นให้สำเร็จได้

ช่วงปีที่ผ่านมาก็เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายพอดี ที่โรงเรียนมีครูเกษียนเยอะมาก ปีทีแล้ว 10 คน ปีนี้อีก 8 คน และก็มีครูรุ่นใหม่เข้ามาเยอะมากเช่นกัน ก็เป็นโอกาสดีที่ครูกับนักเรียนหลายคนจะได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนจากเดิม ๆ เป็นวิธีการใหม่ ครูรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็จะทำให้เขาจับกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น เพราะมีช่วงอายุใกล้ ๆ กัน ทำให้สามารถที่จะต่องานหรือพัฒนาทักษะความเป็นครูร่วมกันได้

การปรับตัวของครูรุ่นใหม่ ให้เข้ากับวัฒนธรรมระหว่างครูที่ต่าง Generation ก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะครูแต่ละ Generation ก็มองเด็ก มองการศึกษาต่างกัน เด็กต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ต้องสอบให้ได้คะแนนดี ๆ เราต้องการบุคคลากรที่สามารถออกไปแล้วกลายเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงทำให้มองข้ามหลาย ๆ ประเด็นสำคัญไป อย่างที่เราเห็นในหนังเรื่อง School Life ไม่เห็นว่าครูจะให้ความสำคัญเรื่องผลิตบุคคลากรสักเท่าไหร่ คุณครูปล่อยให้เด็กเล่น แต่เขาสนใจพัฒนาการของเด็ก คุณครูในเรื่องมองการศึกษาเป็นเครื่องมือในการผลิตบุคคลากรเข้าสู่สังคมที่รอบด้าน ไม่ได้มองการศึกษาในมุมมองสังคมที่เป็นตลาดแรงงาน หรือเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มองว่าการศึกษาต้องสร้างสังคมที่เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน มองกว่าการพัฒนาตัวเด็กเราไม่สามารถทิ้งทุก ๆ ด้านที่เป็นความฉลาดของเด็กไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดในเชิงอารมณ์ ความฉลาดในการจัดการตัวเองในสังคม ความฉลาดในเชิงดนตรี ศิลปะ กีฬา การใช้ร่างกาย หรือการมองในเรื่องของภาพรูปแบบต่าง ๆ

ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนพึ่งมีสภานักเรียนมาได้ 2 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีคณะกรรมการนักเรียนมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าบทบาทที่เรารู้จักหรือคุ้นกันก็คือ คณะกรรมการนักเรียนมักจะทำงานเป็นคุณครูในร่างเด็ก แต่จะทำอย่างไรให้เขาเป็นเด็กในร่างเด็ก ที่รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือ ร่วมกันตัดสินใจ แล้วมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาควรใช้สิทธิของตัวเอง ผลที่ตามมาคือเด็กเรียนรู้วัฒนธรรมอำนาจในโรงเรียน แต่เมื่อเด็กเริ่มมีอำนาจมากขึ้นก็จะเริ่มส่งผลกระทบต่อฐานอำนาจในโรงเรียนรวมถึงระบบราชการ เพราะโรงเรียนก็เปรียบเสมือนภาพสะท้อนปัญหาของสังคมด้วย ครูก็ต้องเก่งกว่าเดิม นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาให้เด็กก็ต้องให้มุมมองอื่น ๆ ด้วย ถ้าเด็กจะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ก็ต้องให้เด็กเข้าใจผู้อื่น เขาต้องรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องยึดตัวหลักของเราอย่างเดียวก็ได้ ขอให้การปรับเปลี่ยนมีเป้าหมายและเกิดประโยชน์ร่วมกันก็พอ

ความพยายามเปลี่ยนแปลงการศึกษามีมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เริ่มมีการเปลี่ยนค่อนข้างมาก ตั้งแต่เปลี่ยนวิธีการสอนในโรงเรียน แล้วไปเจอบุคคลากรแบบเดิม ครู เด็ก ผอ.แบบเดิม ทุกอย่างก็เหมือนเดิม จนปี 2551 มีการผลิตคุณครูรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบมากขึ้น ครูหลายคนมีกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่เข้ามาในระบบ แต่ก็พบปัญหาที่ว่าโรงเรียนบางแห่งไม่มีครูที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันจึงเกาะกลุ่มกันไม่ได้ ก็จะกลายเป็นผู้โดดเดี่ยว สุดท้ายก็ถูกระบบกลืนเข้าไป และเกิดความพยายามเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2560 ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เพราะที่ผ่านมาเราพูดถึงการศึกษาในมุมมองของการหาผู้มารับผิดชอบ พยายามโทษกระบวนการ โทษครู โดยที่ไม่เคยมองเลยว่าจริง ๆ ปัญหาทั้งหมดนั้นไม่สามารถแก้ไขเพียงจุดใดจุดหนึ่งได้ ทั้งคุณครู หลักสูตร หรือระบบการวัดประเมินผลของโรงเรียนและระดับชาติ

ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เราจำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งหมดแล้วเราต้องมองการศึกษาในฐานะที่เป็นนักการศึกษาจริง ๆ ไม่ได้มองการศึกษาว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่ได้มองการศึกษาในฐานะเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการที่จะกล่อมเกลาเยาวชนเพื่อเป็นแบบที่รัฐต้องการ แต่เราต้องมองว่านี่คือสถานที่ที่เราต้องพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ

ครูพัชรากร วรรณจงคำ (ครูปอย) โรงเรียนราชวินิตมัธยม

เราเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬามา 4 ปี ก็คิดว่าคงไม่เป็นครู รู้สึกว่าเป็นครูเหนื่อย เพราะเห็นจากคนรู้จักที่เป็นครู ก็รู้สึกไม่อยากเป็น สุดท้ายชีวิตหักเหได้มาเป็นครู ได้เรียนวิชาชีพครูเพิ่มอีก 2 ปี จากที่เราไม่เคยสอนมาก่อน แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้มีความรู้สึกว่าเด็กน่ารัก มีความรู้สึกว่าเด็กให้ความแบบ เขาความสนใจกับเรา แล้วก็ให้ความร่วมมือ เวลาเราบอกหรือเวลาเราดุในชั้นเรียน เขาก็ไม่โกรธเรา ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ที่แบบต่อหน้าแสนดี ลับหลังก็อีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อพูดถึงวิชาสุขศึกษาหรือพละศึกษา ครูทุกคนจะแบบ มันเป็นวิชาที่ไม่ต้องอะไรหรอก อย่าใส่ใจเลย ปล่อยมันเถอะ (เพราะไม่ถูกใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อ) แต่ปอยมองว่ามันเป็นวิชาที่สำคัญ เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรรู้ มันเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวเขา การใช้ชีวิต ทักษะชีวิตต่าง ๆ การดูแลตัวเอง ดูแลบุคคลอื่น เด็กควรรู้ แล้วก็คุณครูก็ไม่ควรที่จะมองข้าม ควรให้ความสำคัญ เพิ่มทักษะ สอนให้รู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

ความท้าทายของเรา คือการที่เราเป็นสาวประเภทสองหรือเป็นกะเทย เราเข้าสู่ระบบโรงเรียนด้วยการบรรจุเข้าไป ด้วยเพศสภาพแบบนี้ หลังจากเป็นครูมาระยะหนึ่ง เราคิดตลอดเลยว่า เราเลือกผิดรึเปล่าที่มาเป็นครู ทำไมมันดูแบบแย่จัง ทุกคนแบบแอนตี้เราจังเลย ทั้งที่เราเลือกได้เราก็ไม่อยากเป็นนะ เป็นกะเทยเนี่ย แต่ในเมื่อเราเลือกไม่ได้ ทำไมเขาไม่มองศักยภาพของเรา ตอนแรกเครียดมาก เพื่อนก็บอกว่าอย่าไปใส่ใจ คนจะพูดก็พูดไป เราดึงศักยภาพของเราออกมาดีกว่า ทำงานให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ทำมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นศักยภาพของเรา ตอนนี้ครูที่ต่าง Generation ก็เริ่มเกษียณไปเยอะ ครูที่เข้ามาใหม่ ก็จะค่อนข้างมีวัยใกล้กัน เลยเข้าใจ การที่เป็นกะเทยหรือสาวประเภทสองมันไม่ได้ผิด มันไม่ได้แย่ เป็นสาวประเภทสองก็ทำการสอนได้ ก็เลยมองว่ามันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะท้าทาย พิสูจน์ให้ครูในโรงเรียน ให้ผู้บริหารทุกรุ่นเห็นว่าตัวปอยมีศักยภาพ ไม่ใช่แบบเป็นกะเทยต้องแบบทำอะไรไม่เป็น

ปอยกล้าการันตีได้เลยว่าเด็กนักเรียนเขาแยกแยะได้ว่าอะไรคืออะไร ปอยโชคดีตรงที่ว่าอยู่โรงเรียนราชวินิตมัธยม เด็กน่ารัก เด็กไม่เคยล้อ เด็กไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปอยเป็น เขามองข้าม เขามองว่าครูก็คือครูคนหนึ่ง ครูเป็นผู้หญิงคนหนึ่งนะ เขาไม่ได้มองว่าครูเป็นกะเทย คือไม่มี ก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะท้าทายกับการที่เรามาทำงานตรงนี้

ครูวจิรา วรเกต (ครูตอง) โรงเรียนราชวินิต ประถมบางแค

พื้นฐานของครูทุกคนจะต้องมีว่าธรรมชาติของเด็กวัยนี้เขาจะต้องซน ฉะนั้นครูหลาย ๆ ท่านในสังคมก็จะมองว่าเด็กที่ซนเป็นเด็กที่แปลก แต่จริง ๆ แล้วนี่คือธรรมชาติของเขา

ก่อนหน้านี้อยู่ในแวดวงของครูสอนมัธยมมา 4 ปี ซึ่งเป็นอัตราจ้าง คำถามหนึ่งที่ครูมัธยมจะถามเด็กตอนมาสอบเข้า ม.1 ก็คือ เธอจบโรงเรียนอะไรมา ทำไมมีพื้นฐานแบบนี้ วันที่เลือกจะสอบเข้าราชการคำถามเหล่านี้ก็เข้ากลับเข้ามา เมื่อไหร่ที่เด็กมีปัญหาหรือว่าพื้นฐานเด็กไม่พอ เราจะมองเห็นความผิดของคนอื่น โดยที่ลืมกลับมามองที่การสอนของตนเอง ดังนั้นจึงเลือกการหาคำตอบของตัวเอง คือการสอบ (บรรจุ) ครูประถม ช่วยให้เขามีพื้นฐานที่แข็งแรงขึ้น จากที่สอนประถมและมัธยมมา 8 ปี กล้าบอกได้เลยว่าครูประถมต้องงานหนักกว่า อันนี้จริง เพราะว่าตอนมัธยมครูสบาย คือรับไปต่อจากประถมแล้ว เขามีพื้นฐานเตรียมไปใช้แล้ว ฉะนั้นพอไปถึงมัธยมเพียงแค่ต่อยอดว่าเขามีเครื่องมืออะไรมา ครู ม.1 ปัญหาที่ครูมองว่า “คุณจบโรงเรียนอะไรมา” คำถามที่เราน่าจะเปลี่ยนคือ “คุณมีเครื่องมืออะไรมา” ตัวชี้วัดหรือว่าเด็กที่มีเครื่องมือส่วนที่เป็นส่วนต่อยอด ความเชื่อมโยงของเนื้อหา อันนั้นน่าจะเป็นคำถามว่า “คุณจะต่อยอดอะไร”

เราไม่สามารถยัดความรู้ให้เด็กได้ ความหมายที่เราให้เด็ก เลข 1 หรือจำนวนหนึ่งเนี่ย มันอาจไม่ใช่จำนวนหนึ่งของเขาก็ได้ การสร้างความหมายเชิงจำนวนให้เด็ก มันเป็น skill เป็นทักษะที่ยากมาก เพราะฉะนั้นครูที่มีวรยุทธ์เยี่ยมยอดควรจะสอน ป.1 การเรียนการสอนในห้องเรียนก็มีความหลากหลายมาก หน้าที่ของครูประจำชั้นคือเราจะทำอย่างไรให้เขามีศักยภาพตามความสามารถของเขา ให้เทียมเท่ากับเพื่อน ๆ ความท้าทายของครูคือ การที่เราต้องวิเคราะห์เด็กรายบุคคล จากเดิมที่มีแผนการสอนเพียงแก่นกลางเดียว ก็จะต้องมีแผนการสอนเป็นของเราเองที่จะต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนควรเสริมด้านใดบ้าง

นอกจากในชั้นเรียนแล้ว ยังมีเครือข่ายผู้ปกครอง ที่ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมเด็ก ๆ ว่าเด็กทำอะไรอยู่ แล้วชอบทำกิจกรรมอะไร เพราะเด็ก ป.6 เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ปกครองและคุณครูก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเด็ก มีการถาม Feedback ของระหว่างครูกับผู้ปกครอง ว่าเห็นพัฒนาการเด็กเป็นอย่างไรบ้าง หรือให้ช่วยเพิ่มเติมอะไรตรงไหน แม้กระทั้งถามเด็กเองว่าเรียนวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง เขียนใส่กระดาษมาโดยไม่ลงชื่อ เราจะได้เข้าใจเด็กมากขึ้นด้วย

…………………………………………………………………………………………..

เสวนา “ครูหนุ่มสาวในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า”

[Live] สด 15.15 น. เสวนา "ครูหนุ่มสาวในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า" (10 มี.ค. 61)

[Live] สด 15.15 น. เสวนา "ครูหนุ่มสาวในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า" (10 มี.ค. 61).พบกับวงคุยแจ่ม ๆ โดยวิทยากร1.ปราศรัย เจตสันต์ รร.บางปะกอกวิทยาคม2.วจิรา วรเกต รร.ราชวินิตประถมบางแค3.พัชรากร วรรณจงคำ รร.ราชวินิตมัธยมดำเนินรายการโดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล.ในงานสัปดาห์เทศกาลหนังการศึกษา ณ หอศิลปกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 จ้าาาา.นักข่าวพลเมือง ThaiPBS#Jamชวนแจม #รู้เท่าทันสื่อ

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ