คุยกับ “ครูมะนาว” ถึงการฟังกับความเป็นไปได้ใหม่ของห้องเรียน

คุยกับ “ครูมะนาว” ถึงการฟังกับความเป็นไปได้ใหม่ของห้องเรียน

ศุภวัจน์ พรมตัน

ท่ามกลางกระแสสังคมที่พูดถึงหลักสูตรการเรียนการสอน ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันเป็นวงกว้างซึ่งได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อสาธารณะ ไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่เน้นสอนให้นักเรียนได้ประยุกต์การใช้ชีวิตมากกว่าการท่องตำราโดยออกแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายและลดวิชาสอนที่ไม่จำเป็น

ผู้เขียนจึงชวนคุยเรื่องนี้กับ “ครูมะนาว” ศุภวัจน์ พรมตัน ครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนนครวิทยาคม จ.เชียงราย และแอดมินเพจ “อะไรอะไรก็ครู” ที่หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการศึกษามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนครูและผู้ที่สนใจในประเด็นการศึกษาอย่างหลากหลาย ได้สะท้อนมุมมองของการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันที่ตกเป้าสายตาจากทั้งผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง และผู้คนในสังคม

ชื่อวิชาเรียนนั้นสำคัญไฉน

“ผมรู้สึกว่า คือจริง ๆ เราต้องดูวิธีการสอนในแต่ละครั้ง ในแต่ละวิชาที่ครูสอน จริง ๆ แล้ว มันสามารถพาไปสู่เป้าหมาย ที่ทางสาธิตธรรมศาสตร์ตั้งไว้ก็ได้เหมือนกัน อาจจะเป็นชื่อวิชาพื้นฐาน แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ถ้าครูมีการออกแบบกระบวนการ มันสามารถพานักเรียนไปถึงจุดหมายนั้นได้ แต่ทีนี้การที่มีชื่อวิชาแล้ว ผมว่ามันช่วยในเรื่องของความรู้สึกครับ ความรู้สึกทั้งตัวผู้เรียนรู้สึกว่าการมาเรียนในวันนี้เขารู้แล้วว่าเขามาแล้วเขาได้อะไร ปลายทางคืออะไร ไม่ต้องมานั่งจดที่ครูชอบให้จดในกระดานว่าจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้คืออะไร คือเห็นแค่ชื่อวิชาก็รู้เลยว่าปลายทางเราจะได้อันนี้ ส่วนตัวครูเองที่เป็นผู้สอนเหมือนครูสอนก็ต้องมีเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ในครั้งนั้นได้ มันจะชัดเจนทั้งผู้เรียนและก็ผู้สอน อันนี้ผมมองว่ามันเป็นตัวที่จะมาช่วย ในเรื่องของการตั้งชื่อวิชา”

อะไรอะไรก็ครู ตั้งกระทู้ “อยากเปิดสอนวิชาอะไรให้เป็นวิชาใหม่ในโรงเรียน”

“ตอนแรกที่ผมชวนครูมาลองออกแบบ ผมรู้สึกว่าผมเห็นชื่อวิชาของสาธิตธรรมศาสตร์ แล้วผมรู้สึกว่าชื่อวิชาเขาน่าเรียนจังเลย แล้วมันเห็นภาพชัด มันเห็นความเป็นวิชา มันเหมือนเป็นคอร์ส คอร์สอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราจะชวนนักเรียนเข้ามา พอมันเป็นชื่อเหล่านี้ ผมว่ามันน่าสนใจมาก แล้วถ้าเราเป็นนักเรียน เราก็อยากเข้าไปเรียนวิชาเหล่านี้

ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเราลองมาชวนครูมาลองออกแบบไหมว่า มีเรื่องอะไรที่เราอยากจะสอนบ้าง แล้วนักเรียนอยากจะเรียนบ้าง แล้วเอามาตั้งชื่อกัน ก็เห็นคุณครูมาโพสต์เยอะมากนะครับ แล้วเป็นวิชาที่จะว่ามันไม่มีในหลักสูตรก็ไม่เชิง เพราะว่ามันอาจจะอยู่ในหลักสูตร แต่ว่าเรามองเราอาจจะไม่ได้มองแบบเป็นชิ้นเป็นอัน หรือว่าเป็นอะไรที่มันจับต้องได้มันเลยรู้สึกว่าพอเราตั้งชื่อใหม่แล้วเรารู้สึก แล้วทำให้มันรู้สึกว่ามันจับต้องได้ 

แต่ละวิชาก็น่าสนใจ แล้วก็เห็นครูเข้ามามีส่วนร่วมเยอะมากเลยครับ ก็สะท้อนหลาย ๆ อย่างเหมือนกันนะครับ สะท้อนว่าคุณครูก็มีไอเดียที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน อยากลองทำอะไรใหม่ ๆ อยากเปลี่ยนอะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน ถ้าเรามีระบบที่สนับสนุนหรือว่าเรามีกระบวนการหรือมีใครสักคนหนึ่งที่สามารถชวนให้คุณครูออกมาทำอย่างนี้ให้มันเกิดขึ้นได้จริง ในโรงเรียนผมว่าบรรยากาศของโรงเรียนแค่เปลี่ยนชื่อวิชาบรรยากาศก็เริ่มมาแล้วครับกับการเรียน”

การมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จะสร้างห้องเรียนที่มีพลัง

“ผมชอบคำหนึ่งของสาธิตธรรมศาสตร์ ตอนที่เขาออกมาอธิบายว่า มันคือการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ผมคิดว่าครูควรจะต้องกล้าที่จะมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ว่าเราสามารถทำแบบนี้ได้ไหม คือในแง่ของการปฏิบัติ ในแง่ของระเบียบมันอาจจะดูยุ่งยาก แต่ถ้าเราตั้งชื่อตั้งแต่ต้นคาบเลย อาจจะไม่เป็นทางการว่าเป็นชื่อวิชานี้ แล้วเราชวนนักเรียนเข้ามาเรียน ผมก็พอจะทำได้ ถ้าครูมองหาความเป็นไปได้ก่อน สองคือเมื่อทุกคนมองหาความเป็นได้ ทุกคนช่วยเหลือกันอย่างไร ในการทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง

คิดว่าสองส่วนนี้น่าจะควบคู่ไปด้วยกันได้ ในการที่จะมีวิชาใหม่ ๆ เกิดขึ้น อีกอันคือว่าครูกับนักเรียนต้องฟังกัน ผมรู้สึกว่าถ้าครูไม่เคยฟังนักเรียนเลย ไม่ได้สนใจนักเรียนจะต้องเรียนรู้อะไร ติดตามว่าตอนนี้โลกกำลังต้องการผู้เรียนแบบไหน วิชาเหล่านี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น การที่พยายามจะมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นครับ”

“การฟัง” ช่วยให้ออกแบบการสอนได้สอดคล้องกับผู้เรียน

“ถ้าเอาตัวเองเลย คือ เราก็ฟังนักเรียนว่าเขาโอเคกับสิ่งที่สอนหรือเปล่า เขารู้สึกว่าสิ่งที่เราสอนเขา เขาจะได้ประโยชน์จากการมาเรียนหรือเปล่า ผมว่าการฟังนักเรียนคือการดีลกันของครูกับนักเรียน ที่เราเมื่อไปอยู่ในห้องเรียน มันไม่ใช่แค่นักเรียนมาฟังครู แต่มันคือการที่เราเข้าไปอยู่ในรถขบวนเดียวกัน แล้วเราเป็นคนขับรถพาเขาไปสู่เป้าหมาย เราต้องฟังเขาว่าเราขับเร็วไป ขับไม่นิ่ม หรือถ้ามันจะดีกว่านี้ถ้าเราปรับอะไรบางอย่าง”

ครูมะนาวทิ้งทายไว้ว่า “ผมรู้สึกว่าการพานักเรียนไปสู่เป้าหมายโดยที่เราไปด้วยกัน เราฟังกัน มันทำให้การเดินทางมันสนุกขึ้นระหว่างครูและนักเรียน เมื่อการเดินทางของครูและนักเรียนสนุกขึ้น คนข้างนอกอาจจะมองว่ามันเป็นอย่างไร มันได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ คนที่จะตอบเรามากที่สุดก็คือนักเรียนของเรา ดังนั้นผมคิดว่าให้ครูเชื่อมั่นในสิ่งที่ครูทำว่ามันเกิดประโยชน์กับเด็กจริง ๆ จาการที่เราฟังเด็ก ๆ จาการที่เราให้ฟีดแบค ผมคิดว่ามันมีคำตอบสำหรับทุกคนอยู่ในห้องนั้นแล้ว” 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ