ฟังเสียงประเทศไทย : คนกับป่า สิทธิที่ไม่เคยเต็มร้อย

ฟังเสียงประเทศไทย : คนกับป่า สิทธิที่ไม่เคยเต็มร้อย

ปัญหาคนอยู่กับป่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวถูกพูดถึงในเวทีระดับนานาชาติ และในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอย่างในเวทีเอเพค และ COP27 ก็พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสีเขียว ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า ทำคาร์บอนเครดิต แต่ในรายละเอียด ยังมีการตั้งคำถามว่านโยบานที่รัฐประกาศออกมา จะแก้ปัญหาประชาชนในเขตป่าอย่างไร วันนี้เกือบ 4,000 ชุมชนในเขตป่า  ในพื้นที่ราว 4.7- ล้านไร่ และคนกว่า 1.8 ล้านคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย พร้อมทั้งมีนโยบายต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อรักษาพื้นที่ไว้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้ชุมชนถูกกีดกันออกจากแหล่งทรัพยากรใกล้ตัว โดยเฉพาะผืนป่าที่เป็นที่อยู่ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ที่ชุมชนมีการจัดการดูแลภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากนโยบายแผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557 ถูกหยิบมาประกาศใช้ฟื้นฟูระบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศ ถึงวันนี้ 8 ปี แล้วที่ภาครัฐมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ก่อนจะขยับมาสู่การ สำรวจพื้นที่ทำโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แบ่งพื้นที่ชุมชนเป็นการจัดการที่ดินในเขตป่า 5 กลุ่ม ดังนี้

มีเสียงสะท้อนว่า การแยกเป็นกลุ่มแบบนี้  ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง ๆ ของชุมชน หลาย ๆ ที่ พบว่าในชุมชนมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น  ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกลุ่มที่ 1 แต่ที่ทำกินอยู่ในกลุ่ม 3 หรือ 4 หนึ่งในปัญหา คือ คุยประสานหลายหน่วยงาน   ปัจจุบันนโยบายรัฐพยายามแก้ปัญหาในกลุ่มที่ 1 ก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ทำให้การทำงานสำรวจพื้นภาพรวมล้าช้า ไม่ครอบคลุม และมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง หลายชุมชนจึงพยายามเสนอแนวทางแบบใหม่โดยจะปรับใช้ “ฐานข้อมูลที่ดินรายแปลง” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้พื้นที่ชุมชน และข้อมูลรายแปลงเป็นตัวตั้งแล้วค่อยมาจำแนกว่าอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งเริ่มมีการทดลองทำแล้วที่บ้านแม่ยางส้าน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1136060460633591

“ที่ผ่านมาสิทธิชุมชนและคนในการอยู่ร่วมกับป่ายังทำได้ไม่เต็มร้อย

โจทย์สำคัญที่เราจะทำอย่างไรให้คนที่ช่วยดูแลป่าให้กับเราเหล่านี้สามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในเมื่อนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหายังไม่สอดคล้องกับ ความต้องการของพื้นที่ ยังขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และแยกการจัดการเป็นส่วน ๆ ไม่ได้เน้นไปทั้งระบบ ชวนมาคิดกันต่อกับฟังเสียงประเทศไทย เพื่อให้เกิดแก้ปัญหาคนในพื้นที่ป่าได้อย่างตรงจุด

ฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้ ทีมเหนือเดินทางมาฟังเสียงพี่น้องชุมชนในพื้นที่ป่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัว ล้อมวงคุยและฟังอย่างใส่ใจกันที่วัดแม่สะป๊อกวัดโบราณแห่งหนึ่งในตำบลแม่วิน

ก่อนเริ่มวงสนทนาทีมงานได้ให้ผู้คนที่มาร่วมวงได้เขียน ด้วยคำถามที่ว่า สิ่งแรกที่อยากจะทำหากเราได้สิทธิแบบเต็มร้อย หมดปัญหาเรื่องที่ดิน เราอยากจะทำอะไร ?

“หากที่ดินมีเอกสารสิทธิ สามารถทำอะไรได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย จะสามารถสร้างอาชีพอื่น ๆ ให้กับคนในชุมชนและอยู่ร่วมกับป่าโดยการดูแลรักษาป่าต่อไป”

 “หลักเกณฑ์ข้อกฏหมาย ในการเข้าถึงสิทธิ / การมีส่วนร่วมขอบคนท้องถิ่น ดั้งเดิมในการแก้ปัญหาที่ดิน / อยากให้ใช้ทะเบียนประวัติของ อบต.”

ข้อความสั้น ๆ นี่เป็นข้อความบางส่วน ที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าเผชิญอยู่ตอนนี้  ที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคประชาสังคมและชุมชน พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนของชุมชน กับผืนป่ามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าสิทธิของชุมชนในการจัดการพื้นที่ป่ายังคงมีไม่เต็มร้อย

ชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจเรื่องราวคนอยู่กับป่าทั้งในเขตอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าแบบอื่น ๆ

ประเทศไทยมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าประมาณ 4 พันชุมชน มีคนที่เกี่ยวข้อง 1.8 ล้านคน ในพื้นที่กว่า 4.7 ล้านไร่

ภาคเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่ป่าเยอะที่สุด คือ กว่า 38 ล้านไร่ หรือเกือบๆ 70 % ของพื้นที่ และมีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามานานแล้ว

หากจะแบ่งช่วงเวลาในการจัดการป่าและทรัพยากรของประเทศไทยน่าจะแบ่งได้ 4 ช่วง คือ

พ.ศ. 2439-2531 ยุคของการทำสัมปทานป่าไม้

พ.ศ.2528-ปัจจุบัน ยุคสวนป่า เกิดอุตสาหกรรมป่าไม้ เปลี่ยนระบบการใช้ที่ดิน และนิยามป่าเศรษฐกิจ

ยุคป่าอนุรักษ์ (2504-ปัจจุบัน) ใช้กลไกอำนาจรัฐในการจัดการแบบป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ

ยุคป่าคาร์บอน (2564-ปัจจุบัน) รัฐและเอกชนสร้างระบบทรัพย์สินใหม่ในการจัดการป่า

ยุคของการทำสัมปทานป่าไม้

เริ่มจาก 18 กันยายน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นวันสถาปนากรมป่าไม้ พร้อมๆ กับการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยก็เริ่มดำเนินการโดยรัฐบาล

พ.ศ. 2496 ก็เริ่มมีการวางแผนการทำสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย 

หลังจากนั้นพื้นที่ป่าไม้ของประเทศก็ลดลงโดยเฉลี่ยปีละกว่า 3 ล้านไร่

พ.ศ. 2504 ป่าร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 29 ในปี พ.ศ. 2528
ในระหว่างปี พ.ศ. 2524-2528 ประเทศไทยมีอัตราการทำลายป่าเป็นอันดับ 10 ของโลก

ข้อมูลจากสถิติรายงานการป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้
จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้ //มูลนิธิสืบ

ทั้งการทำสัมปทานและรุกพื้นที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง โดยเฉลี่ยปีละ 3 ล้าน 2 แสนไร่ จากร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศในปี พ.ศ. 2504 ลดลงมาเหลือร้อยละ 29 ในปี พ.ศ. 2528 และในระหว่างปี พ.ศ. 2524-2528 ประเทศไทยมีอัตราการทำลายป่าเป็นอันดับ 10 ของโลก

จึงเกิดนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหวังจะฟื้นผืนป่ากลับมา แต่กลับกระทบกับชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตป่า

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบ จากสถิติรายงานการป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้
จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2530 กรมป่าไม้

รัฐพยามออกกฎหมายและนโยบายเพื่อจัดการป่าหลายสิบฉบับซึ่งส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าโดยตรง เช่น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พุทธศักราช 2507

พ.ร.บ.ส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558

กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือย่อว่า สคทช.  พ.ศ.2562

กฎหมายหลายตัวจะมีการปรับปรุงมาโดยตลอดเพื่อมีเป้าหมายลดการทำลายป่า ให้ป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โจทย์สำคัญที่ชุมชนเผชิญในช่วง 8 ปีผ่านมือนโยบายเพิ่มผืนป่าของประเทศให้ได้ร้อยละ 40 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

พบว่า

ช่วงพ.ศ. 2557 ป่าจํานวนราว 102.24 ล้านไร่หรือร้อยละ 31.6

พ.ศ. 2562 เพิ่มเป็น102.48 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 หรือ 2.4 แสนไร่

แต่เกิดคดีกว่า 46000 คดีกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า

26 พ.ย. 61มติ ครม. รับรองมติ คทช. ให้กำหนดขอบเขตและรับรองสิทธิทำกินให้ชุมชนที่อยู่เดิมแต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ในเขตอนุรักษ์รวมทั้งอุทยานแห่งชาติ

ต่อมามี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มารองรับนโยบายสู่การปฏิบัติที่ต้องมีการสำรวจ และตรวจสอบการถือครองที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย  ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ย. 2562

โดยแบ่งกลุ่มในการแก้ปัญหาเป็น 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 3,4 และ 5 ก่อนมติครม. 30 มิ.ย.41

กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 3,4 และ 5 หลังมติครม.30 มิ.ย.41

กลุ่มที่ 3 ชุมชนในในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ,2 ก่อน และหลังมติครม.30 มิ.ย.41

กลุ่มที่ 4 ชุมชนในในเขตป่าอนุรักษ์อยู่ก่อนและหลังก่อน และหลังมติครม.30 มิ.ย.41 (กรมอุทยานฯ ดูแล)

กลุ่มที่ 5 ชุมชนในในเขตป่าชายเลน

โดยเน้นแก้ปัญหาที่กลุ่ม1 และกลุ่มที่2 ก่อน เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าเดินหน้า คทช. ในพื้นที่ 1.8 ล้านไร่  คทช.จังหวัดเห็นชอบกับแนวเขตพื้นที่ไปเพียง 1.3 แสนไร่ หรือประมาณร้อยละ 14 ของพื้นที่ เนื่องจากแต่ละชุมชนมีพื้นที่อยู่ในกลายกลุ่ม

ตำบลแม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
ประกอบด้วย 19 หมู่บ้าน  เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ  ม้งและคนเมือง

มีพื้นที่ทั้งหมดราว 2.62 แสนไร่ (262,385 ไร่)ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ขาน-แม่วาง อุทยานแห่งชาติออบขาน และอุทยานแห่งชาติแม่วาง

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกกาแฟ ถั่ว ข้าวโพด รับจ้าง หัตถกรรม ภาคบริการและท่องเที่ยว

ทุกหมู่บ้านมีการทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินและนำเข้าประชาคมหมู่บ้าน โดยมีฉโนด 4635 ไร่ นส.3ก 137 ไร่ และท.ค. หรือที่ดินมีการครอบครอง 60,719 ไร่ และป่าธรรมชาติที่ชุมชนดูแล ราว 2 แสนไร่

จากการทำแนวเขตเพื่อร่วมแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า แต่มีเพียง 8000 ไร่ ที่ได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.)

ชุมชนตำบลแม่วินที่มีภูมิปัญญา มีกฎระเบียบในการดูแลป่าที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับการทำเกษตรแบบผสมผสานและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ร่วมกันสำรวจและทำแนวเขตของพื้นที่อย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าชุมชนก็ต้องอาศัยความเข้าใจกฎหมาย นโยบายของรัฐด้านทรัพยากร ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต้องอาศัยการตีความ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังไม่เป็นจริงในเชิงปฎิบัติ ยังไม่มีกลไรรูปธรรมรองรับ ทำให้การแก้ปัญหาคนอยู่กับป่าของรัฐล้าช้ายังไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน ที่มการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ต่างกัน

แต่ภายใต้กระแสโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว และความพยายามของพื้นที่ รวมถึงภาคประชาชนที่จะผลักดันให้เกิกการแก้กฎหมายที่รองรับสิทธิชุมชนมากขึ้นก็เป็นโอกาศและความท้าทายสำคัญถึงอนาคตของคน และชุมชนตำบลแม่วินซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ต้องมาร่วมกันคิดว่าชุมชนจะรับมืออย่างไร

และจากข้อมูลทางทีมงานรายการเลยลองประมวลภาพความน่าจะเป็น จึงอยากชวนผู้อ่าน และผู้ชมคิดถึงภาพอนาคตของคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าในอีกประมาณ  5-10 ปีข้างหน้า ทางรายการเลยลองประมวลมา 3 แบบ เพื่อคนในวงสนทนา และผู้อ่านทุกคนร่วมกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?

ภาพที่1 เข็นครกขึ้นภูเขา (อยู่แบบปัจจุปัน)

หน่วยงานรัฐส่วนกลาง และระดับท้องถิ่นและภาคประชาสังคมพยายามทำข้อมูล ด้วยการสำรวจจับ GPS เพื่อจัดทำแผนที่แนวเขตของชุมชนและพื้นที่ป่า ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถเข้าและผลักดันให้การเก็บข้อมูลและทำแผนที่และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่   ที่ก้าวหน้าได้ ชุมชนส่วนหนึ่งสามารถวางแผนการจัดการทรัพยากรของตัวเอง แต่มีบางส่วนที่ไม่มีพี่เลี้ยงหรือภาคีตกสำรวจ มีความล่าช้า ชุมชนยังอยู่ภายใต้ความกังวลในการใช้พื้นที ไม่สามารถขยายสาธารณูปโภคได้ หรือวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับชุมชนของตัวเองได้  ยังคงทำเกษตรแบบเติมหรือการปรับไปสู่ระบบเกษตรแบบผสมผสานเป็นไปได้ช้า เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่รองรับ

ภาพที่ 2 น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า (แม่ยางส้านโมเดล/ผสานความร่วมมือกัน)

ท้องถิ่นเป็นแกนนำหลักในการสำรวจจับ GPS เพื่อจัดทำแผนที่แนวเขตร่วมกับป่าไม้  ภาคประชาสังคม กระทรวงทรัพย์ เกิดเป็นแผนที่ร่วมหรือ One Map โดยมีนายอำเภอในพื้นที่รับรองผ่านระบบประชาคมของหมู่บ้านเกิดเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร สามารถทำแผนในการพัฒนาชุมชน พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพ โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่มีการปรับระบบการผลิตและการใช้พื้นที่ ทำเกษตรผสมผสานแบบยั่งยืน ปลูกไม้ผลยืนต้น มีการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิต ผ่านตัวกลางที่เป็นรัฐหรือเอกชน หรือจัดการท่องเที่ยวภายใต้กฎหมายหลักของประเทศ ทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

ภาพที่ 3 ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน (ให้อำนาจท้องถิ่น/กระจายอำนาจ)

ท้องถิ่นมีการทำข้อบัญญัติในการใช้และจัดการทรัพยากรของตนเอง ผ่านการแก้หรือออกกฎหมายที่เอื้อต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ชุมชนทำงานร่วมกับท้องถิ่นและรัฐในพื้นที่ ในการออกแบบการพัฒนาพื้นที่และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ แต่ต้องมีการทำแผนชุมชน และระเบียบที่ชัดเจนในการจัดการทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รัฐส่วนกลางมีการกระจายงบประมาณลงไปในระดับท้องถิ่นในระดับหนึ่ง ชุมชนมีรูปแบบในการจัดการทรัพยากรของตนเองตามความเหมาะสม เช่น ระบบจัดเก็บภาษี หางบประมาณ มาหนุนการพัฒนาของชุนเองผ่านองค์กรชุมชนที่มีการขายคาร์บอนเครดิตหรือรวมตัวกันเพื่อจัดการท่องเที่ยว การขยายโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำได้โดยการผ่านมติของชุมชน แต่ต้องไม่ขยายอาณาเขตเพิ่มจากแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ทำร่วมกับรัฐ

เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วม ย้ำกันอีกครั้งว่า หัวใจของการมาเจอในทุกครั้ง คือ ได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคตเราชวนตัวแทนภาพอนาคตทั้ง 3 พูดคุย

 ตัวแทนภาพที่ 1 : ศิวกร โอ่โดเชา ชาวบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

 : ย้อนไปนับตั้งแต่ยุคสัมปทานป่า เราจะเห็นพื้นที่ป่าถูกใช้ประโยชน์ไปเยอะและหลากหลาย หลังจากนั้นชุมชนได้พื้นฟูขึ้นมาใหม่ เช่น ถ้าย้อนกลับไปชุมชนพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในป่าเริ่มเรียกร้องให้พิสูจน์สิทธิ ผ่านรัฐบาลมายุคแล้วยุคเล่าออกมาเป็นมติ ค.ร.ม.บ้าง ระเบียบบ้าน เปลี่ยนมากี่ยุคก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ตก ยังไม่ออกเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีเรื่องการแก้ไขปัญหาในรูปแบบ คทช. จัดตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่ยังคงอยู่ เทคนิคที่ถูกนำมาใช้ยังไม่สอดคล้องในสิ่งที่ชุมชนเป็นอยู่ กระบวนชุมความคิดที่ยังแยกส่วนทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ

ตัวแทนภาพที่ 2 : เกศริน ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

ในส่วนของท้องถิ่นได้ทำแผนที่ข้อมูลทะเบียนประวัติเพื่อรออนาคตได้รับสิทธิที่ดิน และวางแผนเรื่องคนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน วางแผนในการใช้ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ มีการส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน รักษาต้นไม้ที่หลากหลายของป่าชุมชน ใบสักเรานำมาย้อมสีผ้าสร้างรายได้ให้ชุมชน พื้นที่เรานักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาเราจะเริ่มทำระบบการจัดการท่องเที่ยว ทำ home stay ส่งเสริมการทำกิจกรรมขี่ช้างล่องแพ

ในปัจจุบันพี่น้องบนดอยเราไม่สามารถทำได้แบบเต็มที่ ส่งเสริมแบบเต็มที่ เพื่อวางแผนให้คนรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้านหรือคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สามารถประกอบการได้ ธุรกิจเล็ก ๆ ในชุมชน : บทบาทที่สามารถทำให้เกิดภาพอนาคตที่ 2 ได้คือ ภาคประชาชนต้องมีส่วนในการบูรณาการร่วมกัน นำแผนชุมชนเข้าสู่ท้องถิ่น จากท้องถิ่นนำเข้าสู่กระบวนการภาครัฐและเอกชน และบูรณาการแผนงานร่วมกันในอนาคต

ตัวแทนภาพที่ 3 : ตัวะ แสงท้าววิวัฒน์ กำนันตำบลแม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

จากโมเดลที่เกิดขึ้นที่แม่แดด หรือแม่วิน ที่ใดก็สามารถทำได้  จากเรื่องสิทธิกรรมสิทธิ เรียกร้องกันหลายเวที ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ยกตัวอย่างเช่นท้องถิ่นที่มีการกระจายอำนาจให้ พยายามออกบัญญัติท้องถิ่นที่มีกฏหมายกระจายอำนาจ ทางรัฐบาลเองก็มีความพยายามในการออกกฎหมายร่วม ถ้าเป็นไปได้ทุกภาคส่วนรวมถึงการเมือง ถ้าเราหาจุดร่วมให้ได้ต่อให้เป็นกฏหมายท้องถิ่น หรือกฏหมายชาติ ต้องปรับจูนกฏกมายแส่และกฏหมายท้องถิ่นจะหาจุดร่วมได้อย่างไร …. ?  

ถ้าปรับเข้าหากันได้บางข้ออาจต้องมีการรับฟังและเสนอแนะ ยกตัวอย่าง การออก คทช. อาจมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะไม่งั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการ เพราะฉะนั้นทุกส่วนควรเลือกประเด็นปัญหาในการจัดการร่วมกันได้

เสียงของพี่น้องตำบลแม่วินในวันนี้ สะท้อนถึงความพยายามของชุมชนในการอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่า ให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ พวกเขาหวังว่าในวันข้างหน้านโยบายของรัฐจะใช้สิทธิชุมชนอย่างเต็มร้อย และมีกลไกรูปธรรมที่จะทำให้คนอยู่กับป่าพัฒนาไปได้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และพัฒนาไปอย่างยั่งยืน ถ้าเรามองว่าเรื่องปัญหาที่ดินเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องแก้ไข ถ้าเรายังคิดและยึดติดข้อกฎหมายเดิม ๆ ขณะที่โลกหมุนและเปลี่ยนไวเรายังไม่เปลี่ยน มันจะเป็นสิ่งที่แก้ไขยากมากขึ้น

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน  

เสียงส่วนหนึ่งจากตัวแทนทั้ง 3 ภาพอนาคต ยังมีเสียงของคนในชุมชนให้เราได้ฟังและร่วมคิดต่อในรายการฟังเสียงประเทศไทยเทปนี้  3 ฉากทัศน์นี้เป็นเพียงจุดตั้งต้นท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมาย  

คุณผู้ชมสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus

หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ

เพราะทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ