พอช.เตรียมรับแผนแก้น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา พัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลอง 8 พันหลัง

พอช.เตรียมรับแผนแก้น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา พัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลอง 8 พันหลัง

รัฐบาลเดินหน้าเตรียมแผนแก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง-กรุงเทพฯ ให้กรมชลฯ ขุดคลองระบายน้ำลงทะเล เริ่มปี 2567-2572 ใช้งบกว่า 1 แสนลบ. ด้าน พอช.เตรียมแผนรองรับที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลอง 8 พันหลัง

1
สภาพน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี (ภาพจากไทยพีบีเอส)

กรุงเทพฯ / ประวิตร รองนายกฯ เป็นประธานเปิดประชุมออนไลน์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ’ ครั้งที่ 2/2565 ที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างกรุงเทพฯ  โดยมี 2 โครงการใหญ่  ให้กรมชลประทานขุดลอกคลองขยายคลอง  เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  และฝั่งตะวันตก  รวม 47 คลอง  เริ่มดำเนินการในปี 2567-2572  ใช้งบประมาณรวม 115,000 ล้านบาท  ขณะที่ พอช.ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 8 ,000 ครัวเรือน

            ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  จากจังหวัดชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี  และกรุงเทพฯ  เกิดซ้ำซากแทบทุกปี  ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยผ่านแม่น้ำและลำคลองต่างๆ มีอุปสรรค  เช่น  มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ  ลำคลองคับแคบ  ตื้นเขิน  ฯลฯ  สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่ามหาศาล  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

2

ล่าสุดวันนี้ (15 ธันวาคม)  เวลา 9.30 น.  มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ  ครั้งที่ 2/2565 ผ่านสื่อออนไลน์  โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ เป็นประธานการประชุม  มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  เช่น  คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  กรมทรัพยากรน้ำ  มูลนิธิอุทกพัฒน์  กระทรวงมหาดไทย  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมชลประทาน  กรมเจ้าท่า  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

3
 พลเอกประวิตร  ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ

เตรียม  โครงการใหญ่แก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 2 โครงการใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  คือ 1. โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  2.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  ทั้ง 2 โครงการดำเนินการโดยกรมชลประทาน

4
โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากเดิม 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เพิ่มเป็น 400 ลบ.ม / วินาที  โดยจะดำเนินการ 1.ปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง   ความยาวรวม 490 กิโลเมตร   2. ก่อสร้าง /ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ  14 อาคาร  งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 2 อาคาร  ระยะเวลาโครงการ 6 ปี  (พ.ศ. 2567 – 2572 )  วงเงินค่าก่อสร้าง 64,000 ล้านบาท

ประโยชน์ที่จะได้รับ 1. เพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม.  เป็น 400 ลบ.ม./วินาที  2. มีแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้ง 18 ล้าน ลบ.ม./ปี            3. สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยหรือลดมูลค่าความเสียหายรวมจากอุทกภัยเฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท

ส่วนคลองที่จะมีการปรับปรุง  โดยการขุดลอกคลอง  ขยายแนวคลองที่มีสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนรุกล้ำคลอง  เช่น  คลองระพีพัฒน์  คลองรังสิตประยูรศักดิ์  คลองหาวาสายล่าง ในเขตจังหวัดปทุมธานี,   คลองบางขนาก  คลองพระองค์ไชยานุชิต คลองนครเนื่องเขต  คลองประเวศบุรีรมย์  ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ, คลองด่าน  คลองสำโรง  และคลองสาขา  ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ  ฯลฯ  เพื่อระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่างลงสู่คลองต่างๆ และไหลเข้าสู่แม่น้ำบางปะกงออกสู่ทะเลอ่าวไทย

5
โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก 

โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  มีเป้าหมายเพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้  ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา  ต่อเนื่องไปออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด  เพื่อลดภาระการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ  1.ช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา   ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน  จนถึงชายทะเลอ่าวไทย (2) สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา   และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โครงการ  (3) เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย  เพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

ตามแผนงานจะมีดำเนินการ  เช่น  1.ปรับปรุง/ขุดลอกคลองเดิม พร้อมอาคารบังคับน้ำ   ความยาว 300 กม. 2. ขุดคลองใหม่ 1 สาย (คลองร่วมถนน) 3. อุโมงค์ระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง   4.ปรับปรุงแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย  ความยาว 42 กม.เศษ  5. ปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย  จ.สมุทรสาคร  ความยาว 19 กม.เศษ  ฯลฯ  ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี  (พ.ศ. 2568 – 2571)  งบประมาณโครงการ 51,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำเห็นชอบในหลักการนี้จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป

 พอช.เตรียมแผนรองรับที่อยู่อาศัยประชาชน 8 พันหลัง

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในฐานะผู้แทน พอช.ที่เข้าร่วมประชุม  กล่าวว่า  เนื่องจากโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกรุงเทพมหานครทั้ง 2 โครงการนี้  จะมีการขุดลอกคลองและปรับปรุงคลองต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่มีสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนปลูกรุกล้ำคลองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก

“ที่ประชุมโดยฝ่ายเลขานุการได้เสนอให้ พอช.ในฐานะที่มีผลงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ  พิจารณาเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 ในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำเขตคลองชลประทานเพื่อให้กรมชลประทาน สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป”  ผช.ผอ.พอช. กล่าว

นายสยามกล่าวว่า  จากการสำรวจเบื้องต้นของกรมชลประทาน  พบว่า   โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง  ตั้งแต่คลองระพีพัฒน์  คลองรังสิตประยูรศักดิ์  จ.ปทุมธานี, คลองระพีพัฒน์  คลองรังสิตประยูรศักดิ์  จ.ฉะเชิงเทรา  และคลองด่าน  คลองสำโรง จ.สมุทรปราการ  จะมีผู้ได้รับผลกระทบ ที่ต้องย้ายออกจากแนวคลอง  จำนวน 5,251 หลัง  (อยู่ในเขตที่จะก่อสร้างจำนวน 2.109  หลัง)  มีคลองที่เกี่ยวข้องจำนวน 25 คลอง

ส่วนโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 2,752 หลัง (อยู่ในเขตที่จะก่อสร้างจำนวน 1.559 หลัง) มีคลองที่เกี่ยวข้อง 22 คลอง   รวมทั้ง 2 โครงการจะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยจำนวน  8,003  หลัง

โดยก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา  มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารกรมชลประทานกับ พอช. ในประเด็นแนวทางการจัดหาที่อยู่อาศัยทดแทนให้แก่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำคลอง  โดยที่ประชุมมีแนวทางในดำเนินงานต่างๆ  เช่น  1.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน         2.จัดตั้งกรรมการระดับท้องถิ่น (พื้นที่ที่ปรับปรุงคลอง)  3.สำรวจข้อมูลผู้บุกรุกให้เป็นปัจจุบัน  เช่น  จำนวนครัวเรือน  ผู้อยู่อาศัย

4.ยกร่างแผนงานรองรับที่อยู่อาศัย  5.กำหนดรูปแบบแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  รื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง  เพื่อก่อสร้างใหม่ในที่ดินเดิมหรือใกล้เคียง  กรณีอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้  อาจหาที่ดินใหม่รองรับ  หรือชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ  6.เสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  โดยมีกรอบเวลาดำเนินการในช่วงปี 2566-2568

“การรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนทั้ง โครงการนี้  เบื้องต้น พอช.มีแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  คือจะให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  การจัดตั้งคณะกรรมการจากชุมชนขึ้นมาดำเนินการ  เพื่อสำรวจข้อมูล  ปัญหา  ความต้องการ  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ผังชุมชน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน  โดย พอช.และหน่วยงานภาคีจะร่วมกันสนับสนุน  และทำงานกันแบบบูรณาการ  เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  ถูกต้องตามกฎหมาย  รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชาวชุมชนให้ดีด้วย”  นายสยาม ผช.ผอ.พอช.  กล่าว

6
สภาพบ้านใหม่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ย่านสายไหม) ปัจจุบัน พอช.ดำเนินการแล้ว 35 ชุมชน  (จากทั้งหมด 50 ชุมชน) สร้างบ้านเสร็จแล้วกว่า 3,550 หลัง  ส่วนคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้วใน  10 ชุมชน (จาก 38 ชุมชน)  สร้างเสร็จแล้วประมาณ 640 หลัง

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ