‘นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชน’ MoU. ร่วมมือทางวิชาการ “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ระยะเวลา 3 ปี

‘นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชน’ MoU. ร่วมมือทางวิชาการ “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ระยะเวลา 3 ปี

1
การลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย  นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชนที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

นิด้า /  ‘นิด้า’ จับมือ ‘พอช.’ และ ‘เครือข่ายองค์กรชุมชน’ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ  “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง”  ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติการ  การศึกษาวิจัยด้านการบริหารการพัฒนาร่วมกันระหว่าง  3 ฝ่าย  นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  สังคม  ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

วันนี้ (13 ธันวาคม) ระหว่างเวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์  สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ  ระหว่างสถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และเครือข่ายองค์กรชุมชน  โดยมีผู้บริหารของ 2 สถาบันและผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมลงนาม  ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   นายจินดา  บุญจันทร์  ผู้แทนคณะประสานงานองค์กรชุมชน  และมีผู้แทนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีลงนามประมาณ  80 คน

2

ผสานพลังภาคี ‘นิด้า-พอช.-เครือข่ายองค์กรชุมชน

รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ  สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ (National  Institute  of Development Administration = NIDA)  กล่าวว่า  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีภาระหน้าที่หลักด้านการจัดการศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการบริการวิชาการ  และมีสมรรถนะหลักด้านการพัฒนาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชน   พัฒนาสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงมีความมั่นใจที่จะให้การสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน  องค์กรชุมชน  และร่วมขับเคลื่อนในการนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การปฏิบัติ  โดยใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่เป้าหมาย  พัฒนาเป็นแนวทางและแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชมุชน (องค์การมหาชน)  และเครือข่ายองค์กรชุมชนในภารกิจต่างๆ ตามแนวทางการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้  เพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนระยะยาวสำหรับทั้งคนรุ่นปัจจุบันไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมาสืบทอดต่อไป

3
รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี  

               “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิชการตอบสนองทิศความต้องการทิศทางของการพัฒนา  และเกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสามฝ่าย  ด้วยเป้าหมายเดียวกัน  คือการพัฒนาที่ยั่งยืน”  รศ.ดร.สมบัติกล่าว

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า  พอช. ก่อตั้งขึ้นมาภายใต้พื้นฐานปรัชญาเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง  เพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง  ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ  สังคม และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน    โดย พอช. ยึดหลักการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

ดังจะได้เห็นว่างานของ พอช.มีขบวนองค์กรชุมชนอยู่เกือบเต็มพื้นที่ของประเทศไทย  เช่น  สภาองค์กรชุมชน 7,801 ตำบล หรือ  99.65% ของตำบลในประเทศไทย       มีระบบสวัสดิการชุมชน 5,500  กองทุน  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ดูแลสมาชิก 6 ล้านกว่าคน  และเพื่อนๆ ร่วมตำบลที่ไม่ใช่สมาชิก   ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  มีโครงการบ้านมั่นคง   บ้านพอเพียง   การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง   บ้านของผู้ยากไร้  หรือคนไร้บ้าน    การพัฒนาเศรษฐกิจกิจและทุนชุมชนที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน    โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการดำเนินงาน   ซึ่งการขับเคลื่อนงานนั้น  ผู้นำองค์กรชุมชนถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ  เพราะฉะนั้น  พอช. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชน  ให้สามารถเป็นแกนนำไปร่วมทำงานกับหน่วยงานของรัฐ  ภาคีการพัฒนาอื่นๆ ทั้งภาควิชาการ และภาคธุรกิจเอกชนได้

4
นายกฤษดา  สมประสงค์

               “การพัฒนาโดยการสร้างสานพลังความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ  นี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่สำคัญของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  คือ ‘อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม’  ที่ท่านใช้คำว่า  ‘ขับเคลื่อนโดยใช้จตุพลัง’   เพราะฉะนั้น  พอช.ต้องทำหน้าที่ในการที่จะเชื่อมร้อยพลังต่างๆ  เช่น  ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น   ภาควิชาการ  เพื่อร้อยเรียงการทำงานเข้าหากัน   

ประเด็นต่อมาก็คือ  การนำเทคโนโลยีและวิชาการเข้าสู่กระบวนการในการบริหารจัดการ  นี้คือ  4 ประเด็นหลักที่นำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งเน้นความสำคัญเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง   เราเชื่อว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นทางรอดของประเทศไทย   ดังวิสัยทัศน์ของ พอช. ในปี 2579 คือ ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วทั้งแผ่นดิน’  ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังและคาดหวังจะให้เกิดขึ้นด้วยกลไกกระบวนการการทำงานที่เป็นความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ”  ผอ.พอช. กล่าว

นายจินดา บุญจันทร์  ผู้แทนคณะประสานงานองค์กรชุมชน (เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน)  กล่าวว่า  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีความเชื่อมั่นว่าสังคมจะเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ดีได้   ต้องเริ่มต้นเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่จากรากของสังคม ซึ่งความหมายตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ก็คือ ฐานรากของสังคมก็คือองค์กรชุมชนระดับเล็กๆ ในพื้นที่ที่ค่อยๆ ขยับจากที่เมื่อก่อนถูกบริหารให้เป็นผู้ที่ถูกปกครอง  ขยับมาเป็นผู้มีส่วนร่วม  แล้วค่อยๆ มีพลังในการที่จะจัดการชุมชนด้วยตัวเอง  โดยวิถีวัฒนธรรมของชุมชน

5
นายจินดา  บุญจันทร์

นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนไม่ได้ทำงานร่วมเฉพาะกับ พอช. แต่เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ผนึกกำลังกับคนอื่นด้วย  ทำทุกเรื่องด้วย  แต่เนื่องจากพื้นที่มันกว้างใหญ่เครือข่ายองค์กรชุมชน ใครๆ ก็เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนได้  เพราะฉะนั้นการจัดองค์กรจะไม่ใช่รูปแบบที่บริหารแบบมีผู้นำ  แบบการจัดการที่เข้มงวด  ไม่ใช่ระบบทหารที่สั่งหันซ้ายหันขวาได้  ขบวนองค์กรชุมชนก็แตกต่างกัน  เช่น  เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง  เครือข่ายองค์กรชุมชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   เครือข่ายชุมชนอันดามัน  ฯลฯ ตามวิถีวัฒนธรรม  และตามภารกิจที่ทำ

“เพราะฉะนั้นความคาดหวังอันแรกในเวทีวันนี้ก็คือ   ถ้าใช้ความรู้โดยเหตุโดยผลและด้วยข้อมูลที่ขบวนองค์กรชุมชนมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปแก้ปัญหาของตัวเอง รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม   ภาควิชาการน่าจะมีพลังสามารถเสริมพลังของขบวนองค์กรชุมชนได้  เพราะขบวนองค์กรชุมชนโดยภาพก็คือเป็นอาสาสมัคร   ไม่ได้มาทำงานพัฒนาโดยตรง”   นายจินดากล่าวถึงความคาดหวังจากการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้

6

ใช้ความรู้ทางวิชาการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้   มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1.ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน และสังคมฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติ  2.เพื่อร่วมผลักดันข้อเสนอจากการปฏิบัติจริงของพื้นที่สู่สาธารณะ  และส่งเสริมให้การทำงานด้านการพัฒนาชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  3.เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ  การเรียนการสอน  การฝึกอบรม  การศึกษาวิจัย  และการบริการวิชาการสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง  และ 4.เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องของทั้งสามฝ่าย ในด้านการพัฒนาชุมชน  ท้องถิ่น  ฯลฯ

โดยมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันคือ  1.ร่วมกันศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน  และขับเคลื่อนในการนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การปฏิบัติ   โดยใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่เป้าหมาย  พัฒนาเป็นแนวทางและแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

2.ร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิชาการ  และบริการวิชาการในด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  การเผยแพร่องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชุมชนฐานราก   3.ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านชุมชนในหลักสูตรการศึกษา  และหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ให้ความร่วมมือทางวิชาการตามภารกิจด้านการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

4.จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาของชุมชนในด้านต่าง ๆ  และเสนอขอทุนสนับสนุนงานวิจัยต่อเนื่อง  5.ร่วมดำเนินการอื่นตามที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเห็นสมควร  ทั้งนี้โดยมีระยะเวลาความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย  ระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม (13 ธันวาคม) ร่วมกัน

7
ผู้ร่วมลงนาม (จากซ้ายไปขวา)  นายกฤษดา  ผอ.พอช.  รศ.ดร.สมบัติ  จากนิด้า  และนายจินดา  ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน

เปิดตัวหนังสือ “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง”

นอกจากพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว  ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ฐานรากประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”  เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ความยาว 130 หน้า  มีเนื้อหา 6 บท  เช่น  จากภูมิรัฐศาสตร์โลกสู่ภูมิรัฐศาสตร์ไทย  ประสบการณ์เชิงพื้นที่ในการจัดการชุมชนของสังคมไทย  แนวทางสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตยฐานรากในสังคมไทย ฯลฯ

8
ศ.ดร.บรรเจิด  ผู้เขียน

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เกริ่นนำหนังสือเล่มนี้ว่า  “นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็งฐานรากประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”  เล่มนี้  อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามของหลายๆ ภาคส่วนที่พยายามจะหาหนทางหลุดพ้นจากวังวนของระบบการเมืองไทยที่วนเวียนขัดแย้งและเกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะในส่วนของผู้เขียน  ทำไมจึงมองว่าแนวทางของหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นทางเลือกและทางรอดของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยก็ด้วยเหตุผล 4 ประการ

ประการแรก ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยแบบตัวแทนของตะวันตกนับวันมีความถดถอย  ท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยตามแนวทางดังกล่าวกลับสร้างความเหลื่อมล้ำและเสื่อมโทรมของสังคมยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน  ประชาธิปไตยตามแนวทางของจีนกลับลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความรุ่งเรืองของสังคมโดยรวมมากขึ้น

ประการที่สอง  ปัญหาการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองของไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันมีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ  แต่ก็ยังหาความลงตัวของการจัดโครงสร้างทางการเมืองของไทยไม่ได้  นัยก็คือ  พลังอำนาจทางสังคมของไทยยังไม่ลงตัว  รัฐธรรมนูญเป็นเพียงผลิตผลของความไม่ลงตัวในดุลอำนาจ

ประการที่สาม  การที่สังคมไทยไม่สามารถเชื่อมต่อกับ  “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ได้อย่างลงตัวไร้รอยต่อนั้น  เกิดจากสภาพพื้นฐานของสังคมไทย หรือเรียกว่าสภาพสังคมวิทยาการเมืองของไทยนั้นแตกต่างไปจากสังคมตะวันตก  การนำหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยมาออกแบบเชิงกลไกและองค์กรจะต้องเชื่อมโยงกับสภาพสังคมวิทยาของสังคมไทยสามารถเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยได้

ประการสุดท้าย  สังคมไทยเป็นสังคมที่ชุมชนยังมีบทบาท  ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาชุมชนต่างๆ ได้พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน  และท้ายที่สุดหลายชุมชนได้สร้างนวัตกรรมในการจัดการเชิงองค์กรที่นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ  และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากสติปัญญาและความสามารถของชุมชนไทยที่พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคม

9

            (ผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ติดต่อได้ที่คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)โทรศัพท์ : 0-2727-3664 ในวันและเวลาราชการ)

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ