สรุป 5 ข้อผลกระทบ ‘TPP’ กับ ‘อนาคตเกษตรไทย’ โดย ‘BIOTHAI’

สรุป 5 ข้อผลกระทบ ‘TPP’ กับ ‘อนาคตเกษตรไทย’ โดย ‘BIOTHAI’

29 เม.ย. 2559 ระหว่างการติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ชี้ชะตาการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ในเร็ววันนี้ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เผยแพร่ข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก BIOTHAI ถึงผลกระทบของ TPP ในภาคการเกษตร

ข้อมูลจาก มูลนิธิชีววิถี ระบุว่า TPP ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศหลายกลุ่ม และมีการอ้างผลการศึกษาของ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เป็นเหตุผลสนับสนุน ทั้งที่ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ดังกล่าวไม่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ และถูกท้วงติงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากสถาบันปัญญาภิวัฒน์เป็นกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์เจ้าของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกิจการส่วนใหญ่ของบริษัทในเครือจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดสัมมนา “ความตกลง TPP กับอนาคตเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย” เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของ TPP ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีองค์กรของเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกร สมาคมปศุสัตว์ กลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าวโพด เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และนักวิชาการด้านปศุสัตว์ พันธุ์พืช และทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งจากสถาบันการศึกษา และองค์กรสาธารณประโยชน์ เข้าร่วมเป็นจำนวน 

20162904174242.jpg

มูลนิธิชีววิถี สรุปผลการประชุมพบว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและต่อทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างร้ายแรง ดังนี้

1. ผลกระทบต่อภาคการเลี้ยงปศุสัตว์

เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรและไก่ จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยสูงกว่าสหรัฐมาก เช่น ต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 35 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 23 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยโดยเฉลี่ยก็สูงกว่าต้นทุนของสหรัฐในลักษณะเดียวกัน การเข้าร่วม TPP จะทำให้เนื้อสัตว์จากสหรัฐทั้งสุกรและไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์พวกเครื่องในสัตว์ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของการผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ ไหลทะลักเข้ามาภายในประเทศไทย

ประเทศไทยมีบทเรียนที่ภาคปศุสัตว์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการเปิดเสรีการนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ โดยการลดภาษีการนำเข้าเนื้อสัตว์เหลือเพียง 10% ในปัจจุบัน และจะลดเหลือ 0% ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เนื้อวัวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้ามาตีตลาดเนื้อวัวในประเทศ ปริมาณการเลี้ยงวัวเนื้อซึ่งเคยมีสูงถึง 9 ล้านตัว ลดลงเหลือเพียง 5 ล้านตัวเท่านั้น กรณีการเลี้ยงวัวนมก็ได้รับผลกระทบคล้ายคลึงกัน

การเข้าร่วม TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรประมาณ 190,000 ครัวเรือน (โดยในจำนวนนี้ประมาณ 95% เป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงสุกรประมาณ 1-50 ตัว) และเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ประมาณ 32,000 ครอบครัว (โดยมีผู้เลี้ยงที่มีจำนวนไก่ไม่เกิน 10,000 ตัวคิดเป็น 90.4% ของผู้เลี้ยงไก่ทั้งหมด)

การเข้าร่วม TPP จึงจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

2. ผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ของโลก โดยราคาข้าวโพด ณ วันที่ 27 เม.ย. 2559 ที่ตลาดชิคาโกอยู่ที่ 5.8 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคารับซื้อข้าวโพดในประเทศมีราคาสูงถึง 8.15-8.35 บาท/กิโลกรัม การเข้าร่วม TPP โดยลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด เป็นผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่ไม่กี่บริษัทที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูก แต่จะกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดมากกว่า 410,000 ครัวเรือน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆด้วยนอกเหนือจากข้าวโพด โดยหากผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยต้องเปลี่ยนอาชีพหรือลดจำนวนการเลี้ยงสัตว์ลง จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนกว่า 470,000 ครัวเรือน เป็นต้น

3. ผลกระทบอันเกิดขึ้นเนื่องจากการเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ (จีเอ็มโอ)

การเข้าร่วม TPP ทำให้ประเทศสมาชิกต้องขจัดอุปสรรคทางการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ โดยในความตกลงได้กำหนดให้มีความตกลงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะใน Article 2.29 : Trade in Products of Modern Biotechnology โดยใน Chapter 2: National Treatment and Market Access for Goods แสดงวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการเปิดเสรีและขจัดอุปสรรคการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ทั้งนี้โดยได้กำหนดขั้นตอนเพื่อดำเนินการในกรณีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘low level presence’ (LLP) นั้น ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ทุกประเทศในโลกเป็นภาคียกเว้นสหรัฐฯ

ประเทศที่เข้าร่วมความตกลงจะถูกกดดันให้ยอมรับสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้ ตาม “TPPA’s dispute settlement procedures” โดยประเทศที่มิได้เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีหรือมิได้ทำการผลิตจีเอ็มโอ เช่น ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบต่อความตกลงนี้ ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรวมไปถึงการต้องยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม อุปสรรคในการติดฉลากสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม และอาจรวมไปถึงการถูกกดดันให้ต้องยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอในอนาคต

4. ผลกระทบกรณีทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับพันธุ์พืช ทรัพยากรชีวภาพ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

การเข้าร่วมใน TPP ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและต้องยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ดังต่อไปนี้

– การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 (Article QQ.A.8) โดยประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปยังผลผลิตและผลิตภัณฑ์ คุ้มครองอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่(EDV) เพิ่มเงื่อนไขให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ห้ามเกษตรกรไม่ให้เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และอาจต้องตัดกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น

– ขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยครอบคลุมการให้สิทธิบัตรในจุลินทรีย์ พืช และนวัตกรรมที่ได้จากพืช แต่ยกเว้นสัตว์ (Article QQ.E.1) เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างชาติสามารถจดสิทธิบัตรยีนจากพันธุ์พืชและสมุนไพรต่างๆของประเทศไทย ลดทอนโอกาสในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

– การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ จะเอื้ออำนวยให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต และขัดขวางการพัฒนากลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น

– การยอมรับให้มีการคุ้มครองโดยใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบในการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งทางภูมิศาสตร์ ดังกรณีศึกษาในอดีตที่ บริษัทเอกชนในสหรัฐจดเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย เป็นต้น

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยรายงานการศึกษาที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯ จะทำให้

– เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี

– การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี

– ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี

รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้

5. การยอมรับกลไกการคุ้มครองนักลงทุนโดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องรัฐ (ISDS)

นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ในกรณีที่ดำเนินนโยบายที่ถูกตีความว่าขัดขวางการลงทุน หรือส่งผลกระทบต่อผลกำไรและการดำเนินงานของบริษัท เช่น หากรัฐบาลผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายหรือจำหน่ายในราคาถูกแก่เกษตรกร จนส่งผลกระทบต่อยอดขายเมล็ดพันธุ์ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน หรือรัฐบาลออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกตีความว่าสร้างผลกระทบต่อการนำเข้าพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐ (Investor-state Dispute Settlement : ISDS) ผ่านกลไก “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาท มักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง

แม้ว่าประเทศจะอยู่ในยุคสมัยที่คณะทหารปกครองประเทศ แต่เชื่อว่าการตัดสินเข้าเข้าร่วม TPP จะทำให้เกษตรกรรายย่อยลุกฮือประท้วงรัฐบาลอย่างกว้างขวางแน่นอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ