ไฮซีซั่น 2565 เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว เช็คกระแสแม่ฮ่องสอน
ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้น ในสภาพบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่คนตัวเล็กตัวน้อยค่อยขยับตัวเคลื่อนไหวทำอะไรได้มากขึ้นหลังการปลดล็อกมาตรการป้องกันโควิด-19 ทุกคนสามารถเดินทางได้ตามปกติ ใช้ชีวิตตามปกติ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ แม่ฮ่องสอน
ภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเคยเป็นไกด์นำเที่ยวแม่ฮ่องสอนมานานกว่า 40 ปีและได้ลงหลักปักฐานที่นี่เป็นเวลานานเช่นเดียวกับอาชีพที่ทำ เขาได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนให้ฟัง
1. แนวโน้มการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอนปี 2566
“สถานที่ให้บริการที่พักหลายแห่งในแม่ฮ่องสอนมียอดจองตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงต้นปี 2566 เต็มหมดแล้วนะ”
คุณภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศท่องเที่ยวของปีนี้ว่า มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น เพราะปีที่แล้วขนาดรัฐมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ภาคเอกชนไม่สามารถเปิดให้บริการที่พักได้ ได้เฉพาะอุทยาน อย่างบ้านรักไทย ปางอุ๋ง รายได้สะพัดแม่ฮ่องสอนหลักร้อยล้าน
“ปีที่แล้วน่าจะ 100-200 ล้าน แต่ปีนี้ ผมคิดว่าน่าจะเกินกว่านั้นมากพอสมควร เพราะกระแสนักท่องเที่ยวนิยมมาแม่ฮ่องสอนมากขึ้น เพราะที่นี่มีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งคนพื้นราบ คนไทใหญ่ ล้านนา และพี่น้องชนเผ่าเรามีถึง 13 กลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้แม่ฮ่องสอนมีเสน่ห์ มาได้เรื่อยๆ เปลี่ยนสถานที่ได้เรื่อยๆ ไม่มีเบื่อ”
สำหรับแม่ฮ่องสอนช่วงไฮซีซั่นไม่ได้เริ่มต้นแค่ฤดูหนาว หากแต่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งมีงานประเพณีเทศกาลออกหว่าของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นงานประเพณีที่งดงาม ตื่นตาตื่นใจกับการประดับประดาโคมไฟตกแต่งบ้านเรือน ซึ่งมีแทบทุกอำเภอ แล้วก็ยังลอยกระทงในเวลาถัดมาก่อนจะเข้าฤดูหนาว จากนั้นเมื่อถึงต้นเดือนพฤศจิกายนก็จะงานเทศกาลทุ่งดอกบัวตองบาน ที่ดอยอูคอ อ.ขุนยวม ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี
และเมื่อเข้าฤดูหนาว บนภูเขาของแม่แม่ฮ่องสอนจะมีทะเลหมอกให้เยี่ยมชมทุกพื้นที่
“มาอำเภอไหนก็สบายตาสบายใจทุกอำเภอ”
ช่วงนี้นักท่องเที่ยวยังคงทยอยมาแม่ฮ่องสอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะยาวจนถึงเมษายนปีหน้าซึ่งจะเป็นช่วงงานประเพณีปอยส่างลอง ดังนั้น แม่ฮ่องสอนจึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
“ผมคิดว่า ถ้าไม่มีอะไรมาสะดุดอีก สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่าแม่ฮ่องสอนน่าจะทำรายได้เกินพันล้าน เทียบเท่ากับช่วงพีคๆ ของแม่ฮ่องสอนในอดีต ซึ่งแต่ก่อนนั้น (ประมาณช่วงปี 2535-2545) เคยทำรายได้ราว 800-1,000 ล้าน/ปี แต่ตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศทั้งอเมริกา อังกฤษ สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น มากันจากหลายประเทศ สัดส่วนน่าจะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นักท่องเที่ยวเมืองไทยมาแม่ฮ่องสอนมีน้อย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จะมาเฉพาะช่วงดอกบัวตองบาน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”
2. เทรนด์ท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน 2566
@การท่องเที่ยวชุมชน
คุณภานุเดช ไชยสกูล ได้กล่าวถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังแม่ฮ่องสอนอย่างน่าสนใจว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนไม่น้อยนั้น พวกเขาจะกระจายตัวกันไปทุกพื้นที่ ทั้งปาย ปางมะผ้า อำเภอเมือง เขารักไทย ปางอุ๋ง ขุนยวม แม่ลาน้อย ไปจนถึงแม่สะเรียง สบเมย ข้อดีคือ รายได้ของแม่ฮ่องสอนกระจายตัวไป ไม่กระจุกเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง
“ตอนนี้ชุมชนที่เห็นว่าพื้นที่ของตนมีดี มีวิวสวยงาม พวกเขาเริ่มปรับตัวกัน มีการปรับพื้นที่ทำเป็นลานกางเต็นท์ ไม่ต้องใช้งบประมาณไปสร้างที่พัก รีสอร์ทอะไรเลย แค่ทำลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ และคิดค่ากางเต็นท์สำหรับบำรุงสถานที่ ชาวบ้านก็พอจะมีรายได้ นักท่องเที่ยวก็ได้ชมวิวสวยงาม ได้ถ่ายทะเลหมอก
ตอนนี้นะครับ เป็นแบบนี้เยอะเลย ซึ่งดีนะครับ ดีเลย ทะเลหมอกมีทุกพื้นที่ ไปอำเภอไหน ถ้าขึ้นไปบนยอดเขาก็จะเห็นทะเลหมอก”
@นักท่องเที่ยวไทยมากกว่าต่างชาติ
“แต่ก่อนการท่องเที่ยวอาจจะชูประเด็นกะเหรี่ยงคอยาว หรือชาวกะยัน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาแม่ฮ่องสอนมีต่างชาติเยอะมาก เรือบินเต็มแทบทุกเที่ยวบิน นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งนั้น จนบางปีการบินไทยต้องเพิ่มขนาดเที่ยวบิน เพื่อรองรับการเดินทางมายังแม่ฮ่องสอน ช่วงประมาณปี 2535-2545 ช่วงนี้พีคมากสำหรับแม่ฮ่องสอน”
คุณภานุเดชย้อนภาพในอดีตของแม่ฮ่องสอนให้ฟัง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสการท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอนค่อยซาลง เที่ยวบินเริ่มมีคนใช้บริการน้อยลง จนกระทั่งบางปีต้องยกเลิกเที่ยวบินไป แต่เมื่อไม่นานมานี้เองที่สายการบินนกแอร์เริ่มเข้ามาทำการเดินเที่ยวบินแบบเดินทางจากกรุงเทพ-แม่ฮ่องสอน (บินตรง) แต่ไม่สามารถบินได้ทุกวัน หากจะเป็นสลับวัน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงและนักท่องเที่ยวคนไทยนิยมเดินทางทางรถยนต์เพื่อจะได้แวะชมวิวทิวทัศน์
@กระแสท่องเที่ยวโดยนำรถมาเอง-บิ๊กไบค์
“การท่องเที่ยวแบบที่จะมีบริษัททัวร์นำลงเริ่มน้อยลงมากแล้วครับ ปัจจุบันนี้คนนิยมนำรถมากันเอง การจะพึ่งพาบริษัทนำเที่ยวอย่างในอดีตลดลงไปมาก ตอนนี้น่าจะเหลือสัก 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
ส่วนหนึ่งเพราะการนำรถมาเองมีความสะดวกในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ตามใจตัวเองและอยากอยู่นานแค่ไหน จะแวะตรงไหน ได้เอง การหาข้อมูลท่องเที่ยวก็สะดวก ง่ายไปหมด เพราะมีกูเกิล เรื่องที่พักก็จองเอง”
การนำรถมาเองนั้นไม่เพียงแต่มีรถยนต์เท่านั้น หากยังผู้นิยมขับบิ๊กไบค์หรือมอเตอร์ไซค์ ที่ชอบมาแม่ฮ่องสอน เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติ มีป่าเขา ขับแล้วได้บรรยากาศ
“แล้วคนขับบิ๊กไบค์จำนวนมากนะครับที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ พวกเขาจะขับมาจากประเทศเขาเลย ค่อยขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงแม่ฮ่องสอน แล้วทางสมาคมเราก็จะทำใบประกาศนียบัตรมอบให้ว่าได้ผ่านโค้ง 4,088 โค้ง เป็นที่ระลึก เป็นความทรงจำให้พวกเขา”
3. หมู่บ้านชาวกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) “ห้วยปูแกง” ก็ต้องปรับตัว
นายหม่อง ผู้ใหญ่บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) ได้พำนักอาศัยที่นี่มานานหลายสิบปี หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ติดลำน้ำปายและป่าเขา ที่นี่มีธรรมชาติที่สวยงามและมีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องของการใส่ห่วงทองเหลืองที่คอของสตรีชาวกะบัน (โดยมีความเชื่อและตำนานที่หลากหลาย บ้างก็ว่าเพราะสืบเชื้อสายมาจากหงส์จึงใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อให้ลำคอยาวดุจหงส์ บ้างก็ว่าเพราะเป็นความเชื่อว่าใส่แล้วจะทำให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย บ้างก็เพื่อเป็นการจำแนกชนเผ่าของตนออกจากกลุ่มกะเหรี่ยงอื่นๆ ได้ชัดเจน เพราะเครื่องแบบเสื้อผ้าการแต่งการทุกเผ่าตอนนั้นคล้ายกัน ชาวกะยันจึงเลือกใส่ห่วงที่คอ นอกจากนี้ การใส่ห่วงทองเหลืองยังแสดงถึงฐานะที่สูงขึ้น ยิ่งมีห่วงทองเหลือเยอะ ยิ่งหมายความว่ามีความสูงศักดิ์มากขึ้น)
นายหม่อง ได้เล่าถึงช่วง 2 ปีที่ผ่านมาระหว่างที่สังคมไทยต้องกักตัว รวมถึงสมาชิกในชุมชนของพวกเขาก็ไม่กล้าออกไปไหน ไม่กล้าต้อนรับใคร ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของพวกเขาหายไปเลย แต่ยังดีที่ว่าพวกเขามีที่ดินทำกิน ได้ปลูกข้าว ปลูกงา มีป่าให้เก็บหาอาหารป่า ได้หาเห็ด หาหน่อไม้ พอได้กินอิ่ม ไม่มีใครลำบากขนาดไม่มีกิน
“พวกเราถือว่ายังดีกว่าคนในเมือง เพราะเรายังหาอาหารจากป่ามากินได้ ได้ปลูกข้าว ปลูกงา แต่ว่าช่วงโควิด งาเราก็ราคาตกเหมือนกัน เพราะเขาไม่ให้ส่งสินค้าไปต่างประเทศ งาก็ไม่มีคนรับซื้อ ราคาตก แต่ตอนหลังมานี้เขาให้เราฉีดวัคซีน โรคนี้เป็นแล้วก็ไม่อันตรายแล้ว เราเปิดหมู่บ้านรับนักท่องเที่ยวมาได้ ตอนนี้เปิดได้สองสามเดือนมาละ พยายามบอกให้ชาวบ้านทุกคนว่าทำบ้านเราให้ดี สะอาด เรียบร้อย นักท่องเที่ยวมาก็จะชอบ ให้ทุกคนเปิดร้านทุกวัน”
เมื่อถามว่า เมื่อเปิดหมู่บ้านแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เขาตอบว่าก็ดีขึ้น เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา วันละ 20-30 คน แต่ยังไม่เยอะ แต่เราก็เปิดร้านเปิดบ้านไปเรื่อยๆ เพราะอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว
การประกอบอาชีพของชุมชนกะยันเวลานี้ มีทั้งผู้หญิงที่ทอผ้าขาย การแกะสลักไม้ และการขับเรือนำนักท่องเที่ยวข้ามฟากหรือพาไปล่องเรือชมธรรมชาติแม่น้ำปาย หรือเยาวชน คนรุ่นใหม่บางคนมีความรู้ มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีก็จะเป็นไกด์หรือประสานงานนำนักท่องเที่ยวเข้ามา
ปี 2565 นี้ทางองค์กร Green Destinations Foundation (องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม) จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้คัดเลือกให้หมู่บ้านห้วยปูแกงเป็นหนึ่งในสามของแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเยือนหมู่บ้านห้วยปูแกง แม้ว่าสภาพวิถีชีวิตของชุมชนจะเปลี่ยนไปพอสมควรแล้วตามกาลเวลา คนรุ่นใหม่ๆ ไม่สวมห่วงทองเหลืองให้หนักคอมากอย่างแต่ก่อน เพราะได้เรียนรู้ว่า การใส่ห่วงทำให้สุขภาพเสีย แต่ก็ใส่บ้างในระดับที่ไม่เป็นอันตราย เพื่อคงความเชื่อ วิถีชีวิตที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
ขณะเดียว การรักษาวิถีชีวิตเช่นนี้เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา พวกเขาเริ่มเข้าใจการปรับตัวเพื่อให้ชุมชนได้มีรายได้เลี้ยงชีพ มีการประชุมทุกเดือนเพื่อดูแล ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาการเดินทางมาเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวให้มั่นคงยืนยาว
4. แม่ฮ่องสอนจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศอาจจะไม่ยากจนอีกต่อไป
คุณภานุเดช ไชยสกูล ได้พูดถึงการมองไปข้างหน้าของมิติการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนว่า การเติบโตขึ้นครั้งนี้มีความสนใจตรงที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนแทบทุกชุมชนมีความตื่นตัวและนักท่องเที่ยวก็ไม่หยุดอยู่แค่ในตัวเมืองอย่างในอดีตอีกแล้ว ดังนั้น ในพื้นที่บนภูเขาที่ห่างไกลมากๆ เราก็ยังพบว่า มีการเปิดที่พัก เปิดลานกางเต็นท์ มีการลงเพจประชาสัมพันธ์ และนักท่องเที่ยวไทยก็ชอบด้วย ไกลแค่ไหนก็ดั้นด้นไปได้ นี่คือมิติใหม่การท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน ซึ่งมันเห็นถึงการกระจายรายได้สู่ชุมชน
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางสมาคมพยายามจะจัดอบรมให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ไม่ว่ากลุ่มทำที่พัก กลุ่มนำเที่ยวหรือร้านที่ระลึก เพื่อให้เข้าใจกฎหมายการท่องเที่ยวที่สำคัญ ว่าพวกเขาต้องรู้อะไรบ้างเป็นพื้นฐาน อย่างคนทำธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่พัก พวกเขาต้องรู้นะว่า ความรับผิดชอบต่อนักท่องเที่ยวของพวกเขามีแค่ไหน เขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง หรือการเปิดที่พักเป็นโฮมสเตย์ หรือโฮมลอร์ด แตกต่างกันอย่างไร แบบไหนที่เหมาะสมและตรงกับพวกเขา สิ่งนี้คือสิ่งที่ทางสมาคมกำลังเร่งให้การเรียนรู้ การทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเพื่อให้ทันสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวกำลังเดินทางเข้ามาหาเรา”
ภานุเดช ไชยสกุล ยังแอบมีความหวังลึกๆ ด้วยว่า “ในอนาคตเราเชื่อว่าแม่ฮ่องสอนจะเติบโตและแข็งแรงมั่นคงเพียงพอที่จะยืนระยะได้นานที่สุด เศรษฐกิจจะดีขึ้น การท่องเที่ยวจะเลี้ยงดูผู้คนในจังหวัดนี้ได้อย่างยั่งยืน”
และสำหรับนักท่องเที่ยว คุณภานุเดช ไชยสกูล ได้ฝากถึงเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง เนื่องจากเส้นทางเข้าแม่ฮ่องสอนมีความคดโค้งและลาดชัน บางช่วงชันมากและโค้งหักศอก ขับค่อนข้างยาก อย่างเส้นทาง แม่มาลัย จ.เชียงใหม่-อ.ปาย แม่ฮ่องสอน ว่าต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกหน่อย เพราะไม่อยากให้การเดินทางมาพักผ่อนกลายเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
แม่ฮ่องสอนสามารถเดินเข้ามาได้ 4 เส้น คือ
1. จาก จ.ตาก-ท่าสองยาง-สบเมย-แม่สะเรียง- แม่ฮ่องสอน
2. จาก อ.เมือง -อ.หางดง- อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ – อ.แม่สะเรียง -อ.เมือง – แม่ฮ่องสอน
3. จาก อ.เมือง-หางดง –จอมทอง (ดอยอินทนนท์)-แม่แจ่ม เชียงใหม่ – อ.ขุนยวม -แม่ฮ่องสอน
4.จาก อ.เมือง-อ.แม่มาลัย เชียงใหม่ – อ.ปาย – แม่ฮ่องสอน
“ทุกเส้นทางมีความสวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมาเส้นทางไหนก็จะพบความสบายตาสบายใจ แต่ขอให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังเรื่องการขับรถสักนิดนะครับ โดยเฉพาะที่นี่มีโค้งเยอะถึง 4,088 โค้ง ดังนั้น ต้องขับรถระมัดระวังกันพอสมควร อย่างไรขอให้ทุกท่านเที่ยวแม่ฮ่องสอนด้วยความสุขและปลอดภัยนะครับ”
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนได้ฝากความห่วงใยและปรารถนาดีทิ้งท้าย.