‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช.ร่วมงานสัมมนาขบวนองค์กรชุมชน

‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช.ร่วมงานสัมมนาขบวนองค์กรชุมชน

1
การสัมมนาผู้นำขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคที่ พอช.

พอช. /  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช. ร่วมงานสัมมนาผู้นำขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ที่ พอช. พร้อมชวนหน่วยงานรัฐ  เอกชน  และสถานทูตต่างประเทศสนับสนุนการพัฒนาชุมชน 

ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคมนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดสัมมนา ‘ทิศทางการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค’  โดยมีผู้แทนงานพัฒนาชุมชนด้านสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ที่อยู่อาศัย    เศรษฐกิจและทุนชุมชน               ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม  เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 90 คน

การจัดสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ  1. แลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน  นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายร่วม  และออกแบบทิศทางการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  2.เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์เป้าหมาย  และ 3.เพื่อออกแบบกลไกการดำเนินงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนในการหนุนเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

โดยในวันนี้ (8 ธันวาคม)  เป็นการสัมมนาวันสุดท้าย  มีนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  ร่วมรับฟังทิศทางการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน  ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาของภาคประชาชน  และให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนงานพัฒนา

กอบศักดิ์’ พร้อมชวนรัฐ-เอกชน-ทูตต่างชาติสนับสนุนชุมชน

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   ให้ข้อเสนอแนะประเด็น ‘การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง’  มีใจความสำคัญว่า  ชุมชนเข้มแข็ง  ต้องมีผู้นำที่เข้มแข้ง  ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำโครงการต่าง ๆ  และมีโครงสร้างต่างๆ  ซึ่งหลายชุมชนที่ประสบความสำเร็จโดยมีเรื่องเงินเป็นสำคัญ  เพราะหากเรายังติดหนี้นอกระบบจะทำให้การทำงานมีอุปสรรค  เช่น  สมาชิกจะถูกยึดที่ดิน  แต่หากเราเก็บออมวันละบาท          จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้  ดอกเบี้ยไม่ไหลออกนอกชุมชน  เช่น  ที่ตำบลดงขี้เหล็ก  จ.ปราจีนบุรี  ทำเรื่องสถาบันการเงินชุมชน  สามารถเป็นแหล่งทุนให้ชุมชน  นำที่ดินมาไว้ที่สถาบันการเงินชุมชน  ที่ดินของชาวบ้านก็ไม่หลุดมือไปอยู่กับนายทุน  เมื่อสถาบันการเงินชุมชนมีเงินก็นำไปทำเรื่องบ้านมั่นคงแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชน

2
ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชุมชนที่ทำโครงการดีๆ  เช่น  เรื่องสวัสดิการชุมชน ป่าชุมชน ปุ๋ยชุมชน ร้านค้าชุมชน  ฯลฯ ซึ่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้จะนำมาทำ Social  Media  นำมาสื่อสาร  เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน  รวมทั้ง พอช. จะสนับสนุนเรื่องการทำโครงการ  การจัดหางบประมาณ  โดยใช้เงินจากกองทุนหรือหน่วยงานต่างๆ  เช่น  กองทุนพลังงานนำมาทำเรื่องโซล่าเซลล์   โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์  ฯลฯ  เมื่อมีเงิน  มีแผนงานแล้ว   ที่เหลือจะเป็นการปฏิบัติงาน

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างโครงการที่ พอช.จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนชุมชน  เช่น  ร่วมกับกรมป่าไม้  จัดทำโครงการป่าชุมชน  การปลูกไม้มีค่า  นำไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า   โครงการฝายมีชีวิต  เพื่อให้มีแหล่งน้ำใช้ในการเกษตร  โดยจะดึงเอกชนมาร่วมสนับสนุน   นอกจากนี้ยังมีสถานทูตประเทศต่างๆ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนชุมชน  เช่น  ญี่ปุ่นอยากทำเรื่องการเลี้ยงหอยมุก    นิวซีแลนด์อยากทำเรื่องวัว  ฯลฯ  โดยมีแนวทางจะให้ชุมชนมาร่วมโครงการ  ใช้งบประมาณจากภายนอกมาสนับสนุน

3

ขณะเดียวกันผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนได้นำเสนอปัญหาอุปสรรคต่างๆ  ในการขับเคลื่อนงานพัฒนา  การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  เช่น  นายจินดา  บุญจันทร์  จากจังหวัดชุมพร  อดีตผู้ก่อตั้งธนาคารต้นไม้ในปี 2549  บอกว่า  การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเพื่อเป็นเศรษฐกิจชุมชนยังมีปัญหา  เช่น  ตลาดไม้ยังไม่เสรี   การขายไม้   แปรรูปไม้  ทำได้เฉพาะ ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)  ชาวบ้านทำใม่ได้  เครื่องมือในการแปรรูปไม้ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินไม่ถึง 20 ไร่ไม่สามารถปลูกไม้มีค่าได้  เพราะต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปีไม้จึงจะโต  จึงถูกพืชเศรษฐกิจ  เช่น  ทุเรียนรุกล้ำพื้นที่

นายสมบูรณ์  คำแหง  จังหวัดสตูล  บอกว่า  ทรัพยากรงบประมาณในระดับจังหวัดมีเหลือเฟือ  คือประมาณจังหวัดละ 3,000 ล้านบาทต่อปี  แต่มีปัญหาเรื่องการกระจายหรือจัดสรรงบประมาณ  เพราะหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 30 หน่วยงานเป็นผู้จัดทำงบประมาณ  ไม่ได้มาจากข้างล่างหรือความต้องการของประชาชน   ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติหลายจังหวัดยังไม่รู้จักสภาองค์กรชุมชนตำบล   ทำอย่างไรจึงจะให้สภาองค์กรชุมชนฯ อยู่ในกระบวนการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดได้

ในตอนท้าย  ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า  ปัญหาต่างๆ ที่พี่น้องเสนอมา  ตนจะนำข้อเสนอต่างๆ นี้ไปหารือกับ ผอ.พอช. ว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง  เช่น  ปัญหาเรื่องไม้  เรื่องกฎหมาย   โดยจะทำทีละเรื่องให้สำเร็จ  โดยเริ่มจากเรื่องไม้ก่อน  เช่น  แก้ไขปัญหาการแปรรูปไม้  ส่วนเรื่องงบประมาณจังหวัดจะนำไปคุยกับทางกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้งบจังหวัดเป็นงบของพี่น้องประชาชน

พอช.ใช้หลัก ‘Smart  Codi’ หนุนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.  กล่าวเสนอต่อที่สัมมนา   มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า  พอช.จะสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน   โดยจะนำโครงการดีๆ ของขบวนองค์กรชุมชนไปเสนอต่อภาคเอกชนเพื่อให้มาสนับสนุนในลักษณะของการทำ CSR  ส่วนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ขบวนองค์กรชุมชนเสนอมา  เช่น  เรื่องการทำป่าชุมชน  การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ  ทาง พอช.ก็จะนำไปหารือกับกรมป่าไม้ในวันที่  19 ธันวาคมนี้  รวมทั้งประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย  ผู้ว่าราชการจังหวัด   และสมาพันธ์ อบจ. ภาคอีสาน  เพื่อให้สนับสนุนการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน

4
นายกฤษดา ผอ.พอช.

-ขณะเดียวกัน พอช. ก็จะขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมาย ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มประเทศไทย  ตามวิสัยทัศน์ของ พอช.ในปี 2579   โดยขับเคลื่อน พอช.ให้สมาร์ท  หรือ ‘Smart  Codi’ โดยการ Synergy การประสานพลังร่วม  ผนึกพลังร่วมกับภาคีต่างๆ    โดย พอช. พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกองค์กร  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Manpower   กำลังคน  ทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการพัฒนาคน  ผู้นำ  มีศักยภาพ   มีองค์ความรู้  มีคุณธรรม   Achievement  การมุ่งผลสัมฤทธิ์ ปรับตัว       ยึดโยงผล  ไม่ตายตัว  สอดคล้องกับวิถีของแต่ละชุมชน  Relevant ความสอดคล้อง   Transparency มีความโปร่งใส  ทำงานเป็นทีม  และใช้เทคโนโลยี ฯลฯ

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ