ปิดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติเฟ้น 5 ปัญหาหลัก เสนอแก้ปัญหาประชาชนทั่วประเทศ

ปิดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติเฟ้น 5 ปัญหาหลัก เสนอแก้ปัญหาประชาชนทั่วประเทศ

1
ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ ยื่นประเด็นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาจากที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติให้ผู้แทนรมว. กระทรวง พม.

พอช. / ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประชุมวันสุดท้ายที่ พอช.  รวบรวมปัญหาจากชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ  5 ด้าน  คือ  สิทธิชุมชน  สิทธิมนุษยชน  การกระจายอำนาจ  เศรษฐกิจฐานราก  และผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐเสนอ รมว.กระทรวง พม. เพื่อนำเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาสั่งการ โดยมี นต.สุธรรม  เลขาฯ รมว.พม.เป็นผู้แทนรับมอบ  ด้าน ‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. ย้ำ “พอช.เป็นเสบียงสนับสนุนชุมชน”

ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน  มีการจัด ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2565’  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  77 จังหวัดๆ ละ 2 คน  ผู้ทรงคุณวุฒิ  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

14 ปีสภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งแล้ว 7,795 แห่งทั่วประเทศ

โดยในวันนี้ (30 พ.ย.) เป็นการประชุมวันสุดท้าย  ในช่วงเช้ามีการประชุมตามระเบียบวาระต่อเนื่องจากเมื่อวาน  เพื่อเตรียมนำข้อเสนอจากที่ประชุมในระดับชาติฯ เสนอต่อนายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาของคณะรัฐมนตรีต่อไป   โดยนาวาตรีสุธรรม      ระหงษ์  เลขานุการ รมว.พม. เดินทางมารับมอบข้อเสนอจากที่ประชุมแทนนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว. พม.

2
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่ พอช.วันสุดท้าย

ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  และมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล

ปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการมาได้ 14 ปี  มีการจัดตั้งในระดับตำบล  เทศบาล  และเขต (ในกรุงเทพฯ)  รวมทั้งหมด 7,795 แห่ง  คิดเป็นร้อยละ 99.62 ของจำนวนตำบล/เทศบาล/เขตทั่วประเทศ (7,825 แห่ง)  ที่ผ่านมา  สภาฯ มีบทบาทในการเป็นกลไกการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งยังสามารถนำปัญหาหรือผลกระทบจากการพัฒนาประเทศเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ (ดู ข้อมูลเพิ่มเติมที่ ‘14 ปี สภาองค์กรชุมชน…’ / )

3
 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ จากจังหวัดต่างๆ เสนอความเห็น

ปัญหาและข้อเสนอจากชุมชนท้องถิ่นสู่ ครม.

นายทองใบ  สิงสีทา  หัวหน้าสำนัก  สำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’  มาตรา 30  กำหนดว่า  “ในปีหนึ่งให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดให้มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง” 

มาตรา 32  ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1)กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

(2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะ รัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

“การประชุมในปีนี้มี Theme หรือสาระสำคัญในการประชุม  คือ ‘สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา  สร้างการกระจายอำนาจ  สู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น  ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น’ โดยจะมีการประชุมหารือใน 5 ประเด็นหลัก  คือ  1.สิทธิชุมชน  2.สิทธิมนุษยชน  -3.การกระจายอำนาจ  4.เศรษฐกิจฐานราก  และ 5.ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา  เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  โครงการผันน้ำยวม  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ฯลฯ  เพื่อนำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป”  นายทองใบกล่าว

4

ข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาชนสู่ ครม.

นายประยูร  จงไกรจักร  ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า  การประชุมระดับชาติในปี 2565 นี้ ที่ประชุมได้รวบรวมนำเสนอปัญหาในท้องถิ่นและปัญหาเชิงนโยบายจากทั่วประเทศที่มีผลกระทบต่อประชาชน  รวมทั้งหมด  5 ประเด็นหลัก  เพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาของคณะรัฐมนตรีต่อไป   โดยมีประเด็นต่างๆ  ดังนี้

1.ประเด็นสิทธิชุมชน ประกอบด้วย ข้อเสนอด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากร การจัดการน้ำ สภาพภูมิอากาศ  การจัดการภัยพิบัติ  กลุ่มชาติพันธุ์ และประมงพื้นบ้าน

โดยมีกรณีเร่งด่วน  คือ  ปัญหาที่ชาวเลหรือกลุ่มชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย  บนเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  ถูกเอกชนอ้างเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันปิดกั้นเส้นทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันมานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  โดยเอกชนนำรั้วตาข่ายมากั้นเป็นประตู  ทำให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียนไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้        ต้องเดินอ้อมไปไกล  เกิดผลกระทบต่อการไปโรงเรียนของเด็กและชาวบ้านที่ต้องเดินผ่านเพื่อไปสถานีอนามัย  ฯลฯ

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา  ชาวเลถูกนายทุนฟ้องร้องเพื่อขับไล่ออกจากที่ดินที่เคยอยู่อาศัยมานานประมาณ 30 คดี  จึงให้ที่ประชุมนำปัญหานี้เสนอให้ผู้แทนกระทรวง พม.ที่จะมารับข้อเสนอจากที่ประชุมในวันนี้ด้วย

5
ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล

2.ประเด็นสิทธิมนุษยชน  ประกอบด้วยข้อเสนอ เช่น  ด้านสิทธิทางการเมือง  การแสดงออกทางสังคมการเมือง  กรณีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนถูกจับกุม  ทำร้ายร่างกาย  ถูกละเมิดสิทธิ  จึงเสนอให้มีการคุ้มครองสิทธิและมีพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ประชาชน ด้านสวัสดิการสังคม ประชาชนเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานจากรัฐ  ควรปรับปรุงให้เป็นระบบรัฐสวัสดิการ  ด้านกลุ่มชาติพันธุ์  ถูกจำกัดสิทธิด้านต่างๆ  ควรได้รับสิทธิคุ้มครองและบริการเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป    และด้านพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  การถูกรุกรานจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น  โรงไฟฟ้าชีวมวล  สัมปทานเหมืองหิน  แต่เมื่อประชาชนนำเสนอปัญหากลับถูกคุกคาม จึงต้องให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิในการแสดงออก

3.ประเด็นการกระจายอำนาจ  ประกอบด้วยข้อเสนอด้านการปกครอง  การจัดการทรัพยากร  และการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ (จังหวัดจัดการตนเอง)  มีตัวอย่างข้อเสนอ  เช่น  การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ  เพื่อลดอำนาจรัฐจากส่วนกลาง  เพื่อให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  มีความเจริญ  ลดความแออัดด้านการพัฒนา   สามารถใช้อำนาจรัฐปกครองตัวเองได้ตามวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น

โดยจะต้อง 1.กระจายอำนาจทางการเมือง เพื่อท้องถิ่นสามารถเลือกผู้นำได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

2.กระจายอำนาจด้านการบริหาร  3.กระจายอำนาจด้านการคลังให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถรับงบประมาณพัฒนาจากท้องถิ่นได้โดยตรง  และ 4.การกระจายอำนาจด้านกฎหมาย เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายให้เหมาะสมกับท้องถิ่นได้  ฯลฯ

4.ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก  มีตัวอย่างข้อเสนอ  เช่น  1.เรื่องเขตเศรษฐกิจ EEC มีข้อเสนอให้ยกเลิกผังเมืองรวมที่กำหนดขึ้นมาใหม่  และให้กลับไปใช้ผังเมืองเดิมของจังหวัดนั้นๆ   2.กระบวนการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควรให้มีสัดส่วนของประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าคณะกรรมการที่มาจากส่วนกลาง   3.ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ  ควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นสำคัญ  4. BCG ควรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก  ประชาชนในท้องถิ่น  มากกว่าธุรกิจรายใหญ่  5.การอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน  ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว  ฯลฯ

5.ประเด็นนโยบายการพัฒนาของรัฐ  ประเด็นย่อยประกอบด้วย  ด้านสิทธิการพัฒนาพื้นที่  เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง แลนด์บริดจ์ภาคใต้ ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย  โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนหลายด้าน  โครงการสร้างเขื่อน  อุโมงค์ผันน้ำยวม  จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่  และตาก  จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยาป่าไม้  ถิ่นที่อยู่อาศัยของประชาชนชน  ฯลฯ

มีตัวอย่างข้อเสนอ   1.รัฐต้องให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง  2.การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้น  3.เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว  คาร์บอนเครดิต   ฯลฯ  ต้องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากที่ประชุมฯ ต่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  เพื่อให้ พอช.สนับสนุนส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลเกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  เช่น  ให้ พอช.จัดทำแผนสนับสนุนการทำงานของสภาฯ อย่างเป็นระบบ  ใช้สภาฯ เป็นพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนงาน  ปรับรูปแบบการทำงานของ พอช.จากงานเชิงประเด็น  เป็นงานเชิงยุทธศาสตร์   ให้ พอช.สนับสนุนการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาฯ  ให้เป็นวาะร่วมทางสังคม   ให้มีการสื่อสารผลงานรูปธรรมพื้นที่ของสภาฯ ให้สังคมสาธารณะได้รับรู้  ฯลฯ

6

ผู้แทน รมว.พม.รับมอบข้อเสนอจากประชาชน

ทั้งนี้การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2565  ในวันสุดท้าย (30 พ.ย.)  นาวาตรีสุธรรม  ระหงษ์  เลขานุการ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เดินทางมารับมอบข้อเสนอจากที่ประชุมแทน รมว.พม. เพื่อนำไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ต่อไป

โดยมาตรา 32 กำหนดให้ที่ประชุมดำเนินการเรื่องต่างๆ  (3)  สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”

นาวาตรีสุธรรม  ระหงษ์  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา พอช.ได้หนุนเสริมในการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนและพัฒนาความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนมาโดยตลอด จนทำให้เกิดผู้นำสภาองค์กรชุมชนที่มีศักยภาพเข้มแข็ง
เกิดผู้นำท้องถิ่นต่าง ๆ มากมายที่ได้ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่เกิดความเข้มเข็ง ภายใต้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน

7
นาวาตรีสุธรรม  ระหงษ์

 “ในวันนี้รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นายจุติ ไกรฤกษ์  ได้ฝากถึงผู้นำสภาองค์กรชุมชนว่ารู้สึกท่านรู้สึกเป็นเกียรติที่ให้กระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ มารับข้อเสนอเชิงนโยบายของที่ประชุม ฯ และได้ดำเนินการตามระเบียบวาระประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน  รวมถึงได้รวบรวมข้อเสนอที่ระชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมจัดการประชุม และดำเนินการจัดประชุมได้ครบถ้วนสมบูรณ์  และฝากกล่าวให้กำลังใจแก่สภาองค์กรชุมชน ในการทำงานพัฒนาชุมชนต่อไป”

เลขาฯ รมว.พม.กล่าว  และว่า ในส่วนของการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนต้องมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ   รวมไปถึงการเชื่อมโยงการพัฒนาของชุมชนร่วมกับภาคการเมือง จะเป็นแนวทางให้เกิดแผนการพัฒนา  และการค้นหาแนวทางหนุนเสริมการทำโครงการต่าง ๆ ที่ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือ หรือได้รับการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่ที่มีหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาให้การสนับสนุน  โดยต้องให้สภาองค์กรชุมชนเสริมสร้างการเครือข่ายในการทำงานเพิ่มขึ้น  และมุ่งหวังให้เกิดการสร้างความเข้มแข็ง  สร้างองค์ความรู้ในการทำงานต่อไป

8
ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ  มอบข้อเสนอต่อผู้แทน รมว.พม.

‘กอบศักดิ’ ย้ำ “พอช.จะเป็นเสบียงหนุนเสริมเปลี่ยนประเทศไทยใน 3 ปี”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลวันสุดท้ายนี้  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   บรรยายพิเศษ  ‘เรื่องการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง’   มีสาระสำคัญว่า   พี่น้องชุมชนต่างๆ ทำโครงการพัฒนามานาน  ขณะที่ พอช.มีงบประมาณน้อย  พี่น้องก็เข้าไม่ถึงแหล่งทุน  เพราะไม่รู้ข้อมูล  ไม่รู้ว่าจะติดต่อที่ไหน  อย่างไร  ทั้งที่หน่วยงานต่างๆ เช่น  กระทรวงพลังงาน  กระทรวงการอุมดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ฯ มีงบประมาณหลายพันล้านบาท   รวมทั้งบริษัทเอกชนหลายแห่งที่อยากจะสนับสนุนชุมชน

9
ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช.

“บริษัทเอกชนบริจาคให้วัด โรงเรียน ปีหนึ่ง 100 ล้านบาท ผมจะชวนเขามาทำงานกับ พอช.และชุมชน จะเป็นโครงการที่หากทำได้ จะมีเงินมาที่ พอช. และชุมชนโดยตรง นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ อยากมาทำเรื่องโค แพะ แกะ เขาสามารถมาร่วมกับชุมชนที่เข้มแข็ง ญี่ปุ่นอยากทำหอยมุก หากเราทำได้เรื่อย ๆ จะนำเงินของรัฐบาลต่างประเทศและเอกชนมาทำงานกับเรา เราอยู่กัน 3 ปี จะทำให้เป็น 3 ปีที่ดีที่สุด” ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายวาระการทำงานในฐานะประธานบอร์ด พอช.คนใหม่ในช่วง 3 ปีที่เหลือ

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า  เมื่อถึงจุดนั้น  เมืองไทยจะเป็นต้นแบบของทุก ๆ เรื่อง และตนอยากจะทำโรงเรียนคนรุ่นใหม่  เพื่อสร้างคนรุ่นต่อไป  และจะทำศูนย์เรียนรู้ online  โดยให้พี่น้องชุมชนเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนใน social media   เช่น  เรื่องป่า   เรื่องบ้านมั่นคง  ฯลฯ  และมีทีมงานด้านเทคนิคที่สามารถรายงานสถานการณ์ต่างๆ ผ่าน Application line  เช่น  รายงานสถานการณ์น้ำท่วม  หากบ้านไหนเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รีบช่วยเหลือซ่อมแซมเขาบอกด้วยว่า  หากเราทำเรื่องป่าชุมชน  การปลูกไม้มีค่า  ทำธนาคารปูม้า  ซึ่งเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่มีมูลค่าสูงเทียบเท่ากับราคาทองคำ  ชุมชนก็ไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐ  เพราะชุมชนสามารถกำหนดชีวิตได้เอง  ไม่ต้องรอใคร   

“ผมมั่นใจว่าเราทุกคนทำได้  ไม่ต้องรอเขา  หากเขาให้งบประมาณเพิ่มก็ดีใจ  หากไม่ให้งบประมาณเพิ่มก็หาเองได้  ผมเชื่อมั่นว่าเงิน 10 ล้านบาทหาเองได้  10 ปีก็ 100 ล้านบาท  เราจะมี 8,000 ทีม ทุกคนไม่ต้องเหมือนกัน  เรามีความหลากหลาย  พอช.จะเป็นกองเสบียงหนุนเสริม   เราจะเปลี่ยนประเทศไทยภายใน 3 ปี” 

ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนฯ ทั่วประเทศที่จัดตั้งทั่วประเทศเกือบ 8,000 แห่ง (7,795 แห่ง) มีบทบาทในการเปลี่ยนประเทศไทย
10

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ