สนทนาประสาเพื่อน เรื่อง “แรงงานเพื่อนบ้าน”

สนทนาประสาเพื่อน เรื่อง “แรงงานเพื่อนบ้าน”

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาแสวงหางาน แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จนถึงวันนี้เรามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านราว 4 ล้านคน ที่ทำงานเสี่ยง สกปรกและแสนลำบาก หรืองานที่คนไทยไม่ทำ เช่น ลูกเรือประมง คนงานก่อสร้าง รับจ้างแบกหาม

ชีวิตของเพื่อนบ้านเหล่านั้น อยู่ใกล้เรา-ท่าน จนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง โดยเฉพาะในเมืองที่เติบโตทางวัตถุในอัตราเร่ง ก็จะพบเห็นบรรดาผู้ใช้แรงงานทั้งชายหญิงหลากเชื้อชาติ ภาษา รวมตัวกันเป็นชุมชนของคนก่อสร้าง แทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ว่างของเมือง

บ้านของพวกเขา คนที่สร้างบ้าน-เติมเมืองให้เรา มีหน้าตาอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “บ้านของคนสร้างบ้าน” บอกเล่า

และหากภาพยนตร์สารคดี “บ้านของคนสร้างบ้าน” ฉายภาพความจริงที่ว่า บ้านเมืองของเราเติบโตและดำรงอยู่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน คำถามที่ตามมาก็คือ ใช่หรือไม่ว่า พวกเขาอยู่ในระบบเศรษฐกิจของเรามานานแล้ว ถ้าไม่มีเขา เราจะทำอย่างไร และเราจะดูแลพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

ชลณัฏฐ์ โกยกุล (ปาล์ม) คุยเรื่องนี้กับสองคนทำงานที่เป็นเพื่อนกันบนเส้นทางสายแรงงานข้ามชาติมานาน เมียนเว่ จากมูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า และ อดิศร เกิดมงคล (บอม) จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ในรายการ ก(ล)างเมืองสนทนา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 ทางไทยพีบีเอส

ชลณัฏฐ์    ดูหนังกันแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างคะ

เมียนเว่    เห็นภาพชีวิตของแรงงานด้วยกัน คนไทย หรือไม่ว่ากัมพูชา หรือลาว พวกนี้ทุกคนนะ ช่วยกันดูแลเหมือนพี่กับน้อง แต่ว่าอันนี้เป็นแรงงานรากหญ้า แรงงานของกรรมกรรากหญ้า ตอนนี้แรงงานที่โรงงานเองก็รู้สึกดีใจว่าคนรากหญ้าเขาช่วยดูแลกันเอง ก็เขาช่วยดูแลกันไม่ได้ เขามีอันตรายในการทำงาน มีความเสี่ยงอยู่นะครับ

ชลณัฏฐ์    คือเป็นภาพความอบอุ่นของแรงงานที่ดูแลกันเอง

เมียนเว่    ใช่ครับ

ชลณัฏฐ์    แล้วคุณบอมล่ะคะ ดูแล้ว เห็นอะไร มันสะท้อนอะไรบ้างคะ?

อดิศร    คือจริงๆ มันมีสองภาพที่เกิดขึ้นมา หนึ่งก็คือเห็นได้ชัดว่าจริงๆ แรงงานข้ามชาติมีส่วนในการทำให้เมืองมันเติบโต หรือว่าสร้างมันขึ้นมาได้ บทบาทนี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เห็นได้ชัดในแง่ของตัวความสัมพันธ์ระหว่างคนในไซด์ก่อสร้างด้วยกันเอง เรื่องที่สองก็คือ ผมคิดว่ามันพูดถึงเรื่องบ้าน อันที่จริงผมคิดว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งเขาก็มองว่าประเทศไทยเองก็เป็นบ้านหลังที่สองของเขานะครับ แล้วก็พยายามสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาในบ้านหลังที่สองของเขา

ชลณัฏฐ์    ถ้าให้คุณบอมมองถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตอนนี้ มันเป็นอย่างไรบ้างคะ?

อดิศร    ก็ต้องบอกว่าดีขึ้นกว่าสมัยก่อนที่เราสองคนเริ่มทำงานด้วยกันมา ก็คือแนวโน้มมันดีขึ้น  ผมคิดว่าอย่างน้อยในสามเรื่องเรื่องนะ หนึ่งก็คือในเรื่องตัวการได้รับความคุ้มครองแรงงานของแรงงานข้ามชาติ ผมคิดว่ามันมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ก็คือแต่เดิมเนี่ยจะถูกละเมิดค่อนข้างมาก หลังๆ มาเริ่มมีเรื่องของการดูแลอย่างดีทั้งจากภาครัฐ และเอ็นจีโอของพวกเรากันเอง

อันที่สอง ก็คือเรื่องของตัวนโยบายที่เข้ามาดูแลเรื่องแรงงานข้ามชาติเนี่ย มันมีทิศทางที่ดีขึ้น เริ่มนำคนเข้าสู่ระบบมากขึ้น เริ่มให้คนถูกกฎหมายมากขึ้น จากเดิมผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมายมากขึ้น

เรื่องที่สาม ผมคิดว่ามุมมองหรือทัศนคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติเห็นได้ชัดว่าเริ่มจะดีขึ้น จากเดิมเนี่ยเขามองค่อนข้างจะเป็นภาพลบ แต่ว่าหลังๆ มาเริ่มมีภาพบวกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ายังมีภาพลบอยู่ แม้จะเป็นภาพลบอยู่ก็ตามที

ชลณัฏฐ์    อาจจะยังมีคนส่วนหนึ่งที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวปัญหาหรือเปล่า ก่ออาชญากรรม มาแย่งงานคนไทยทำ ไอ้ความคิดเก่าๆ จริงๆ มันมีที่มาอย่างไร มันมาจากไหน แล้วคุณบอมคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

อดิศร    คือผมเรียกว่ามายาคตินะครับ คือมันเกิดจากสองสามปัจจัย หนึ่งก็คือ เกิดจากกระบวนการการสร้างให้แรงงงานข้ามชาติเป็นปัญหา หรือเป็นข้อผลเสียของประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมันเกิดจากภาครัฐ แต่เดิมที่มันมีแนวคิดเรื่องความมั่นคง แล้วก็พยายามจัดการคนกลุ่มนี้ โดยพยายามควบคุมแล้วก็จัดการ ซึ่งวิธีการควบคุมที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้คนไปโฟกัสว่าเขาเป็นคนที่ต้องถูกควบคุม มันก็จะทำให้ควบคุมเขาง่ายมากขึ้น

อันที่สองก็คือ มันก็เกิดการผลิตถ้อยคำ ผลิตคำพูด ผลิตเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องที่เราจับภาพของแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยทำให้กลายเป็นทัศนคติบางอย่างที่มันค่อนข้างเมคอารมณ์ แล้วถ้ากรณีพม่านี่ต้องบวกกับเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องอะไรเข้าไปด้วย ก็คือคนพม่าเองกับคนไทยเองก็ยังมีภาพลักษณ์เรื่องของความที่ไม่ลงรอยกันแต่ต้นอยู่แล้ว

ชลณัฏฐ์    แล้วคุณเมียนเว่คิดอย่างไรคะ เราเคยเห็นในภาพสื่อ มีพาดหัวข่าวว่า พม่าโหดฆ่านายจ้าง อะไรอย่างนี้ค่ะ คือคนที่อยู่ในชุมชนที่ทำงานเอง เขามีความรู้สึกกับทัศนคติที่คนมองเข้ามาตรงนี้ยังไง

เมียนเว่    อันนี้ภาพที่เห็น บางครั้งมันก็เป็นภาพที่สื่อมวลชนเขียนมาแล้ว แต่ว่าภาพที่อยู่ข้างหลังเป็นยังไงบ้าง เขาไม่ได้ติดตามดู แล้วก็สังคมคนพม่าที่มาหากินที่นี่เอง ครั้งแรกๆ กฎหมายไม่คุ้มครองนะ จริงๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรม มีอะไรอยู่บ้าง แต่ตอนนั้นประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน เรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ยังเข้าไม่ถึงนะ แต่ว่ากฎหมายอาญา กฎหมายอื่น ๆ ก็ยังคุ้มครองอยู่ แต่บางคนก็อยู่ในสังคมพม่าเอง ก็มีเรื่องไม่พอใจอะไรบ้าง แล้วก็มีการควบคุม อย่างเรื่องการผลิตอะไรพวกนี้ ต้องควบคุมคนงานไว้ ก็เลยมีนายจ้างบางคนที่จะต้องมีลูกน้องที่สนิทกัน คอยควบคุมคนอื่น ๆ ทำให้หลายคนไม่พอใจ ก็จะแก้แค้นกันไง บางคนก็คิดว่าเพราะมันไม่มีกฎหมายคุ้มครองอะไร เลยใช้วิธีการแก้แค้น อันนี้เป็นแต่ก่อน แต่ตอนนี้ในสังคมพม่าเอง ปรับปรุงขึ้นมาก เพราะว่าสังคมไทยเองก็มีเอ็นจีโอกับภาคประชาสังคมมาช่วยกดดันมากขึ้น (เรื่องการคุ้มครองแรงงาน) ตอนนี้ก็เลยมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น

ชลณัฏฐ์    ปาล์มสงสัยมานานแล้วค่ะเรื่องหนึ่งว่า ทำไมหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติในไทยจะเน้นหนักไปที่พม่า

อดิศร    คงมีสองสามเหตุผลน่ะครับ หนึ่งก็คือ เรื่องจำนวน คือพม่าก็ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือในสามสัญชาติเนี่ย พม่า ลาว กัมพูชา เนี่ย พม่า 70 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 20 ลาว 10 เปอร์เซ็นต์ อะไรอย่างนี้ หรือว่าลาวกับกัมพูชาก็ใกล้ๆ กัน 15 เปอร์เซ็นต์ยังงี้ ก็เลยทำให้แนวโน้มองค์กรจะทำงานกับพม่าเยอะเนื่องจากจำนวนมันมาก ก็เลยดูเยอะ แต่จริงๆ ก็เท่ากันนะ

เรื่องที่สองก็คือ มันเป็นผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็คือปัญหาทางการเมืองพม่า ที่ทำให้คนไหลออกมา แล้วก็หลายคน อย่างเราสองคน ก็ไม่ได้เริ่มต้นในการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่เริ่มต้นจากการทำงานประเด็นการเมืองพม่า และก็พัฒนางานไปดูเรื่องของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น 

เรื่องที่สาม เข้าใจว่าเป็นลักษณะของทางชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งพม่ามีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันสูงแล้วก็มีการแสดงออกค่อนข้างชัดมากกว่า ลาว กัมพูชา

ชลณัฏฐ์    ถ้าเกิดมองจากในหนังเนี่ยค่ะ คือเราจะเห็นสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่รวมตัวกันเป็นชุมชน จะไม่ได้สุขสบายนัก เรียกว่าลำบากเลยแหละ ความทุกข์ยากที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาในบ้านเรา แล้วต้องเผชิญ มีอะไรบ้างคะคุณเมียนเว่

เมียนเว่    เป็นคนที่มาครั้งแรกๆ ก็เป็นเรื่องของภาษา แล้วก็บางคนยังไม่มีจดทะเบียนทางการ แต่รัฐบาลอนุญาตทุกคนให้มาจดทะเบียน พวกเขาก็ต้องมาจด แต่นายจ้างบางคนก็ไม่ทำให้ เพราะว่านายจ้างไทยไม่ใช่ทุกคนนะที่มีเงิน มีการจดทะเบียนที่ถูกต้อง บางคนก็เป็นกิจการเล็กๆ ตั้งขึ้นมา แล้วก็มาจ้างแรงงานข้ามชาติ คนลาว หรือเขมร/กัมพูชา เขาก็พยายามสร้างให้โตขึ้น บางคนก็ไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ แล้วยังต้องมีเรื่องขอโควต้า (จ้างแรงงานข้ามชาติ) บ้างอะไรบ้าง ยุ่งยากไง ครั้งแรกๆ บางคนก็เลยไม่ได้จด บางคนก็จด คนที่จดทะเบียนก็ได้การรับรองอย่างเป็นทางการ แต่คนที่ไม่ได้จดทะเบียน ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาปราบปราม พวกเขาก็โดนบ้าง นี่ก็เป็นปัญหา

แล้วก็การอยู่การกินที่อยู่ในค่ายก่อสร้าง ที่ทำงาน ทำงานบ้านนายจ้างหรืออะไรบ้าง เรื่องบ้านที่อยู่อาศัย ก็ไม่ได้มาตรฐานตามของกฎหมายไทยอยู่แล้ว บางคนเรื่องที่อยู่อาศัยก็ไม่ถึงระดับมาตรฐานตามกฎหมายไทย ก็เลยว่าเรื่องนี้ต้องใช้ความอดทนไง

แล้วก็บางคน ค่าจ้างขั้นต่ำไม่จริง บางคนก็ได้ค่าจ้างขั้นน้อยแต่อยู่กินกับนายจ้าง แต่ในสังคมไทยก็มีประเพณีพี่กับน้องไง เป็นลูกน้อง เป็นญาติ ทำงานกันเหมือนพี่น้องเหมือนญาติ เป็นแบบนี้ แต่ว่าบางคนก็เข้าถึงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ บางคนก็ไม่เข้าถึง ก็ใช้วิธีย้ายหนีไป ทำให้เจ้าของบ้านหรือนายจ้างบางคนมักจะบอกว่า พม่าเบี้ยวอีกแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็หนีไปแล้วอะไรแบบนี้ แล้วก็แรงงานพม่าเองก็คิดว่า ต้องอยู่แค่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ทำงานเก็บเงินได้ ก็กลับไปพม่า ก็เลยจะเห็นว่า เรื่องพัฒนาฝีมือแรงงานก็มีปัญหา แล้วก็ภาษาก็มีปัญหา แล้วนายจ้างก็ไม่ได้จดทะเบียน ก็จะไม่อนุญาตให้แรงงานไปไหน เขาปิดประตูเอาไว้ ไม่ให้ติดต่อกับใคร ก็เลยอาจจะมีความผิดพลาด มีความเสี่ยงว่า นายจ้างจะทำร้ายร่างกาย กลายมาเป็นปัญหาอีก นี่เป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข    

ชลณัฏฐ์    สัดส่วนของแรงงานพม่าที่เข้ามา และสัดส่วนที่จดทะเบียนกับแรงงานนอกกฎหมาย เป็นอย่างไรคะ จากจำนวนทั้งหมดที่เข้ามา

เมียนเว่    ตอนนี้มีทั้งหมดประมาณ 1 ล้านเจ็ดแสนกว่าๆ เป็นกลุ่มที่จดทะเบียนหมด แล้วก็มีพาสปอร์ตอะไร มีหมดแล้ว แต่เมื่อก่อนก็มีบางส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน เพราะว่านายจ้างไม่ให้จดก็มี (ชลณัฏฐ์ – นายจ้างไม่ให้จดเหรอคะ) นายจ้างไม่จดให้ เพราะตัวเขาเองไม่อยากไปติดต่อข้าราชการต่างๆ นายจ้างคนนึงบอกว่า จะจ้างแม่บ้านของนายจ้าง ชาวพม่าในประเทศไทยน่ะ ไปอเมริกาไปง่ายกว่า เขาบ่นแบบนี้ก็มี ก็เลยนี่เป็นเหตุผลที่บางคนตกจดทะเบียน

ชลณัฏฐ์    คุณบอมคะ แรงงาน ถ้าเกิดเราพูดถึงแรงงานพม่า  แรงงานที่จดทะเบียนกับแรงงานนอกระบบเนี่ย แรงงานที่จดทะเบียนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ

อดิศร    ดีกว่าครับ ดีกว่าในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป เพราะว่า หนึ่งก็คือสามารถที่จะไหนมาไหนได้สะดวก เมื่อก่อนก็มีบัตรแรงงานก็ยังเดินทางได้เฉพาะในเขตจังหวัดตัวเอง แต่พอหลังๆ มาเมื่อได้เป็นหนังสือเดินทางแล้วเนี่ย ก็สามารถจะไปนั่นมานี่ได้สะดวกมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะเข้าถึงเรื่องร้องเรียนต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีเอกสาร แล้วก็กลับบ้านได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่หลายคนชอบ เพราะว่าคิดถึงบ้านก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องหลบซ่อน

ชลณัฏฐ์    เรื่องกลับบ้านนี่ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะคะ

อดิศ    ใช่ๆ

ชลณัฏฐ์    กับความยากลำบากที่คุณเมียนเว่เล่ามา นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีกไหมคะ มีปัญหาที่แรงงานข้ามชาติต้องเจอ จากประสบการณ์ที่คุณบอมได้ทำงานคลุกคลี

อดิศร    คือจริงๆ ผมคิดว่ามันมีสองสามปัญหาใหญ่ๆ อันแรกก็คือ เรื่องของการปรับตัว เข้ามาแรกๆ ก็จะเจอปัญหาเรื่องการปรับตัว เพราะว่าทั้งเรื่องภาษา เรื่องของวัฒนธรรม การกิน อะไรต่างๆ นานาคือผมคิดว่าไอ้ตรงนี้เป็นปัญหาแรกๆ เลยที่คนงานจะเจอทุกคน เข้ามาปุ๊บ เจอเลยทันที คุยกับใครไม่รู้เรื่องสั่งข้าวไม่ได้ อย่างพี่เมียนเว่เข้ามาแรกๆ ก็สั่งอะไรไม่กี่อย่าง อะไรงี้นะฮะ

อันที่สองก็คือ พอเริ่มทำงานก็จะมีปัญหาเรื่องของการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้ค่าจ้างบ้าง เราเจอหลายเคสที่ถูกเบี้ยวค่าจ้าง คือทำงานไปแล้วก็ไม่ได้ค่าแรง ไม่ได้โอที นายจ้างถูกเลิกจ้าง แล้วก็ถูกทำร้าย ถูกอะไร ก็เจอบ่อยๆ นะครับ

เรื่องที่สามก็คือ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการพยายามจะสร้างความไว้วางใจให้กับนายจ้างหรือคนไทยที่ตัวเองอยู่ด้วย ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ของเขาเหมือนกัน เพราะว่าส่วนใหญ่คนไทยที่เราเจอก็คือจะตั้งคติ ตั้งแง่กับคนต่างชาติไว้ก่อนว่า อาจจะเช่น แม่บ้านเข้ามา เอ้า จะพาพวกมาขโมยของฉันมั้ย อะไรอย่างนี้ฮะ จะตั้งอย่างนี้ไว้ก่อน ฉะนั้นไอ้การที่จะสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติหลายคนจะเจอในเบื้องต้น

ชลณัฏฐ์    ถ้าพูดถึงเนี่ย ก็คือแรงงานข้ามชาติก็มีคุโณปการกับประเทศไทยมากๆ เลยค่ะ แล้วเราควรจะดูแลพวกเขาอย่างไรบ้าง

อดิศร    คือจริงๆ ผมคิดว่าประเทศไทยพัฒนาในเรื่องของการดูแลแรงงานข้ามชาติไปค่อนข้างมากแล้วครับ เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของบริการสุขภาพ คือแต่เดิมเนี่ยระบบบริการสุขภาพในไทยยังไม่ค่อยจะคุ้มครองแรงงานสักเท่าไร  เมื่อก่อนก็ซื้อประกัน 500 บาท แล้วก็ไปตามยถากรรมอะไรงี้ หรือว่าหลายคนก็เข้าไม่ถึง หลังๆ มามีระบบประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาตินะครับ แล้วก็ช่วงหลังๆ มาก็เริ่มครอบคลุมไปถึงลูกหลานของแรงงานข้ามชาติด้วย

อันที่สองก็คือเรื่องของการคุ้มครองทางกฎหมาย การเข้าถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งคิดว่าไอ้ตรงนี้อาจจะต้องปรับ เพราะว่าที่ผ่านมาก็คือ กฎหมายหลายตัว เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มันถูกออกมาเพื่อให้คุ้มครองแรงงานไทย โดยไม่ได้สนใจว่าอนาคตหลังจากที่กฎหมายออกมา มันจะมีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น

อันที่สามที่ไทยทำค่อนข้างดี ก็คือเรื่องของการศึกษาของเด็ก ก็คือไทยเปิดให้เด็กทุกคนสามารถเรียนหนังสือได้ เพียงแต่ปัญหามันก็คือว่า สิ่งที่ต้องเจอก็คือ ทัศนคติของชุมชน ของครู ว่า เอ๊ะ ยังไม่อยากรับเด็กต่างชาติเข้าไป ยังไม่อยากให้เด็กลูกของตัวเองมาเรียนกับลูกของแรงงานข้ามชาติ ก็ยังมีปัญหากันอยู่ ทำให้อย่างเด็กหลายคนก็ยังเจอปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงการศึกษา

ชลณัฏฐ์    มีปัญหาระหว่างคนไทยที่อยู่ในชุมชนกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ไหมคะ มีตัวอย่างไหมคะ อยากให้คุณเมียนเว่เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

เมียนเว่    มีตัวอย่างหนึ่ง หลังสึนามิเกิดขึ้นที่จังหวัดภาคใต้ เราไปตั้งที่ห้องสมุดชุมชน แต่ไม่เคยมีคนมาทำร้ายเลย ไม่เคยมายุ่ง แต่ว่าก็พอดีตอนที่ตั้ง เราใช้วิธีการชี้แจงหารือกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ในหมู่บ้าน ก็มีการคุยกัน อธิบายว่าจะทำยังไง ก็เลยทำให้เห็นว่าเรื่องที่ไปตั้งน่ะ ไม่ได้มีผลกระทบเลย แสดงว่าพวกเราก็ดูแลกัน แล้วสังคมไทยก็เริ่มคิดขึ้นมาบ้างแล้วว่า เราต้องดูแล แต่บางคนก็มีบ้างนะ คิด อคติก็มีบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่น่ะดูแล แต่ก็บางครั้งก็เป็นการเข้าใจผิด มีปัญหากันเล็กน้อย

แต่พวกที่ตั้งใจว่า นี่พม่ามาก็จะตี ไม่ได้มีเลย จริงๆ ไม่เคยเห็นว่ามันมีลักษณะแบบนี้ ตั้งแต่ที่เราลงพื้นที่มา อย่างที่มหาชัย ที่บอกว่าพื้นที่แถวมหาชัยโหดร้ายหรือว่าอะไร จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราอยู่กันได้

อดิศร    จริงๆ ผมคิดว่ามันมีคนที่มีปัญหากับแรงงานข้ามชาติในเชิงของความขัดแย้งในชุมชน มีสองกลุ่มนะครับ กลุ่มหนึ่งก็คือคนที่จะแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ กลุ่มนี้จะพยายามทำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีปัญหา เป็นตัวร้าย

กลุ่มที่สองคือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนที่มีแรงงานข้ามชาติ ก็คือคนชั้นกลางในเมืองอย่างพวกเราทั้งหลายแหล่เนี่ย ก็จะมองว่าแรงงานข้ามชาติดูอันตราย คือน่ากลัว 

สำหรับคนที่อยู่ด้วยกันมานานแล้วเนี่ย ผมว่ามันมีกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างคนไทยกับคนแรงงานข้ามชาติที่จะอยู่ร่วมกัน หลายครั้งที่เราเจอ เราเจอบางเรื่องที่น่าสนใจก็คือแรงงานข้ามชาติถูกทำร้าย ถูกละเมิด ถูกอะไร ผมคิดว่าคนไทยหลายคนพร้อมเข้าไปช่วยเขา แล้วเข้าไปบอกว่า ไปทำร้ายเขาทำไม อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าภาพนี้ปรากฎชัดในหลายๆ ชุมชนที่มีแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก เพียงแต่ว่าไอ้สิ่งที่เรากังวลใจกันมากกว่า ผมว่าเอาเข้าจริงๆ มันเป็นส่วนน้อยของภาพ เพียงแต่ว่ามันดูขยายให้ใหญ่เท่านั้นเอง

ชลณัฏฐ์    มันถูกผลิตซ้ำโดยสื่อด้วยหรือเปล่าคะจริงๆ แล้ว

อดิศร    ใช่ๆ ระดับหนึ่งมันเป็นอย่างนั้นด้วย

ชลณัฏฐ์    แล้วความขัดแย้งระหว่างชาวพม่ากันเองที่มาอยู่ในเมืองไทยล่ะคะ

เมียนเว่    มีบ้าง เพราะว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ที่ปฏิวัติรัฐบาลพม่าเป็น 20 กว่าปี เขาควบคุมมาตลอด แต่ก่อนนี้ ในพม่าชนกลุ่มน้อย ก็รู้สึกว่าถูกพม่าละเมิด แต่เขาก็จะเจ็บใจกับรัฐบาลทหารพม่า ประชาชนพม่าเองก็ไม่พอใจรัฐบาลพม่าเหมือน ทีนี้พอเข้ามาทำงานในเมืองไทยแล้ว ความคิดเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในพม่า โดนละเมิด โดนเอาเปรียบน่ะ ก็จะมีปัญหากันบ้าง แต่จริงๆ ไม่เป็นสงครามฆ่ากันยิงกัน มันไม่ถึง แค่ไม่พอใจก็ไม่คุยกัน เรื่องอะไรแบบนี้

อดิศร    อย่างที่พี่เว่เคยบอกไว้ ก็คือ จริงๆ แล้วไอ้ความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นของชาติพันธุ์เนี่ย มันถูกสร้างตั้งแต่ต้นในพม่า ผมคิดว่าทั้งคนพม่าเองและชนกลุ่มน้อยเอง หลายคนก็มองซึ่งกันและกันว่าเป็นคู่อาฆาตอะไรประมาณนั้น คือมันถูกสร้างโดยรัฐพม่าที่จะทำให้เห็นว่า คนพม่าก็มองว่าชนกลุ่มน้อยก็จะพยายามจ้องจะแยกตัวเองออกไป ชนกลุ่มน้อยก็มองว่าคนพม่าเนี่ย เอาเข้าจริงๆ มันคือทหารเพียงกลุ่มเดียวเนี่ย รังแกพวกเขามาตลอด แล้วมันก็เกิดภาวะการสร้างชาตินิยมในกลุ่มตัวเองขึ้นมา พอเป็นชาตินิยมมากขึ้น มันก็ทำให้เห็นคนที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันเองเป็นคนอื่น แล้วก็อาศัยไอ้เรื่องพวกนี้ไปหาเรื่อง มีข้อละเลาะเบาะแว้งกัน  แต่ว่าผมเข้าใจว่าหลังๆ มามันคลี่คลายลงเยอะมาก ก็คือเขาเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น ยกเว้นบางกลุ่มที่ยังอาจจะมีปัญหาอยู่

ชลณัฏฐ์    จากคุณบอมเล่ามาว่า สายสัมพันธ์ของคนไทย ระหว่างคนไทยในชุมชนที่มีชาวพม่าอยู่ด้วยมาอย่างยาวนาน เขาก็จะเข้าใจ แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร คนที่อาจจะมีอคติหรือคนที่ไม่เข้าใจ อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดแล้วมองเข้ามาเห็นภาพของแรงงานต่างชาติ ทีนี้อยากจะให้คุณบอมเล่าถึงความสำคัญ หรือความจำเป็นของแรงงานต่างชาติกับเศรษฐกิจไทยว่าเขาจำเป็นกับเรายังไง ทำไมเราต้องมีเขา

อดิศร    ถ้าเราดูจากตัวสารคดีที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ชัดว่า เอาเข้าจริงแรงงานข้ามชาติเข้าไปอยู่ในภาคส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิต ในการสร้างอะไรต่างๆ ให้สังคมไทย คำถามก็คือ ถ้าวันนี้ไม่มีแรงงานข้ามอยู่เลยในภาคประมงทะเล คำถามก็คือประมงทะเลจะดำเนินการต่อไปยังไง อาหารทะเลทั้งหลายที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้จะหยุดชะงักลงไปทันที ภาคเกษตรหลายภาคเกษตรเนี่ย แรงงานไทยแทบจะไม่มีอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าส่วนที่เขาอยู่เนี่ย มันเป็นส่วนที่หลายคนไม่มอง หลายคนมองไม่เห็นว่ามันมีความสำคัญ มันไม่ดูมีพลังเหมือนกับพวกสถาบันการเงินอะไรพวกนี้ นึกออกไหมครับ มันไม่สามารถแสดงตนได้ว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญ แต่ว่าเขาเป็นตัวที่ทำให้ไอ้ตัวภาคเศรษฐกิจข้างบนเนี่ย มันไปเรื่อยๆ เพราะว่าเขาผลิตอาหาร เขาผลิตบ้าน ผลิตเสื้อผ้า ให้คนกลุ่มนี้ได้อยู่ได้

คำถามก็คือ ถามว่า ถ้าวันนี้เราบอกว่า เอ้ย ไม่เอาแล้ว ประเทศไทยจะไม่มีแรงงานข้ามชาติแล้ว ใครจะเป็นคนอยู่ข้างหลัง ใครจะเป็นคนที่ทำให้ตัวข้างบนมันขับเคลื่อนได้โดยไม่มีคนข้างล่างอยู่

ชลณัฏฐ์    ถ้ามองจากมุมมองของแรงงานข้ามชาติเองบ้างน่ะค่ะ สมมติว่าประเทศเหล่านี้ พม่า ลาว เวียดนาม เกิดมีการพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่ แล้วก็พัฒนาขึ้นมาในระดับที่ต้องมีการจ้างงานต่างๆ คุณเมียนเว่คิดว่าชาวพม่าที่อยู่ในเมืองไทย หรือว่าชาวต่างชาติต่างๆ เขาจะยังอยากทำงานที่อยู่ในไทยหรืออยากกลับบ้านเขา

เมียนเว่    ทุกๆ คนก็อยากกลับบ้านเขา จริงๆ นี่ตั้งแต่ต้นนะ พวกเขาก็อยากจะกลับบ้าน ที่นี่มาทำงานก็ต้องสู้นะ ไม่ใช่ว่าง่ายๆ เลย อยู่ในพม่าก็ลำบาก ตอนนี้มองกลับไปดูในพม่า ตั้งแต่ 20 กว่าปี เป็นรัฐบาลทหารพม่า แต่ตอนนี้ตั้งแต่ปี 2554 ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว แต่ว่าอันนี้เป็นทหารเก่า แล้วก็ภายใน ตั้งแต่ 2532 ถึง 2554 ภายในนี้เขาไปทำลายระบบทั้งหมด รวมถึงเศรษฐกิจด้วย อะไรทุกอย่างเลย แล้วก็ในพม่า ตามกฎหมาย รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดิน ก็เลยจะเห็นว่ามีค่ายทหารเยอะแยะ แล้วก็มีเรื่องคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เรื่องนี้เป็นการลงทุนของประเทศจีน คูเวต บังคลาเทศ ไทย เรื่องแบบนี้ ทำให้เกิดยึดที่ดินอิรวดี จังหวัดชายแดนนิดๆ หน่อยๆ ทั้งหมดแสนกว่า แสนกว่าก็เป็นสี่แสนกว่าไร่ ยึดไว้ ก็เป็นเรื่องขนาดนี้เกิดขึ้น ชาวนาไม่มีงานทำ แล้วก็ค่าเงินลอยตัว ก็มากขึ้นๆ แต่ก่อน 20 กว่าปีที่แล้วนะ หนึ่งบาทหนึ่งจ๊าดครึ่ง แต่ตอนนี้สามสิบเท่า หนึ่งบาทก็ประมาณสามสิบจั๊ด  เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นน่ะ

ที่ต่างประเทศมาลงทุนน่ะ ตอนนี้เขาเอาแรงงานเขามาเอง เวียดนามลงทุน มาสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เขาก็เอาแรงงานตัวเองมา ประเทศจีนก็เหมือนกัน ก็เลยว่า แรงงานที่อยู่ข้างในพม่านี้ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย พวกเขาอยากได้งานทำ แล้วก็ค่าจ้างขั้นต่ำของพม่าก็ต่ำมาก ตอนนี้รัฐบาลพม่า ที่เป็นรัฐบาลพลเรือนก็อยู่มา 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่สามารถออกกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ตอนนี้แรงงานที่อยู่ที่นี่ การอยู่การกินของเขาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ว่าเขาสู้ได้ ค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ในเมืองไทย 300 ได้อยู่ แม้ว่าบางคนน้อยกว่านี้ก็มี แต่ว่าเขาอดทนได้ แรงงานที่กลับไปอยู่พม่าก็เริ่มคิดว่า รายได้ของงานที่นี่กับที่โน่นน่ะ (พม่า) ต่างกันอยู่ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง แล้วก็ พวกเขาก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก รัฐบาลพม่าจริงๆ จังๆ การเจรจาหยุดยิงก็ยังไม่เสร็จ ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขายังไม่ได้กลับไปแน่ๆ เลย ภายใน 5-10 ปี ผมคิดว่ายังคงไม่หวัง

ชลณัฏฐ์    คือสภาวะตอนนี้อาจจะยังไม่เอื้อให้กลับไปใช่ไหมคะ แล้วถ้าเกิดมองไปในอนาคตล่ะคะคุณบอม จะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน แรงงานเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างคะ

อดิศร    คือหลายคนคาดหวังว่าอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น แต่ว่าพอดูจริงๆ แล้วเราจะพบว่า ไอ้การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานในประชาคมอาเซียนเนี่ยก็ค่อนข้างจำกัดอยู่ในคนที่เป็นแรงงานวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหมอ วิศวกรอะไรพวกนี้นะครับ จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่เราพูดถึงอยู่ ก็คือแรงงานข้ามชาติระดับล่างเนี่ย ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเคลื่อนย้ายเสรีในอาเซียน แล้วก็แนวโน้มก็คือ ประเทศหลายประเทศก็ยังจำกัดการเคลื่อนย้านแรงงานอยู่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นไทยเอง เป็นประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์เอง ก็ยังมีมาตรการที่เข้มงวดกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานไร้ฝีมือ

เพราะฉะนั้น แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่อาเซียนเนี่ย สิ่งที่น่ากังวลใจก็จะมีสองประเด็น หนึ่งก็คือ ประเทศต่างๆ จะหันมาให้ความเข้มงวดกับการเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทนี้มากขึ้น เพราะว่าเขาจะเริ่มเห็นว่าการเคลื่อนย้ายมันจะเริ่มง่ายขึ้น ในอนาคตก็อาจจะใช้บัตรประชาชนอย่างเดียว สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ผมคิดว่าความเข้มงวดของการตรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ชายแดนจะมีมากขึ้น จะทำให้มีผลกระทบต่อแรงงานที่อยากจะทำงานมากขึ้น

อันที่สองก็คือว่า การเติบโตของเขตเศรษฐกิจอาเซียนเนี่ยมันต้องใช้ไอ้ตัวทรัพยากรในการเข้ามาผลิต ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากขึ้นในอาเซียน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงก็คือเกิดกับชุมชน ผมคิดว่าหลายอย่างจะเกิดขึ้น อย่างเช่น คนพม่าเจอแล้วคือ การเข้าไปยึดที่ดิน เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน แล้วทำให้ตัวชาวนาสูญเสียที่ดิน คนกลุ่มนี้เองเนี่ย ทางเลือกเดียวที่เขาต้องมีคือการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย ฉะนั้นเนี่ย แนวโน้มก็คือ แรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น  หรืออาจจะไปๆ กลับๆ มากขึ้น แต่ว่าความเข้มงวดในการตรวจสอบจะมีเพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน นี่ก็คือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ชลณัฏฐ์    แล้วความหวัง ความฝันของแรงงานข้ามชาติเองล่ะคะ เรื่องของอนาคต เขามองอนาคตของลูกหลาน หรือว่าครอบครัวที่อยู่ในเมืองไทยอย่างไรบ้าง

เมียนเว่    สำหรับคนที่รัฐบาลพิสูจน์สัญชาติก่อน แรงงานก็อยากให้ลูกหลานเขาเข้าเรียนที่นี่ เพราะว่าที่โน่นพวกเขาไม่ได้เรียน ระบบการศึกษายังล้มเหลว เมื่อกี้บอม (อดิศร) บอกว่าการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน แต่ตอนนี้แรงงานที่มาจากพม่าไม่มีฝีมือแรงงาน เพราะว่าตอนนี้ประเทศจีนเอาแรงงานมา เกาหลี ญี่ปุ่น ก็เอาแรงงานเข้ามาพร้อมกับการลงทุน ส่วนแรงงานพม่ายังต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ บางคนก็เลยอยากจะให้ลูกหลานเรียนที่นี่ บางคนพ่อเป็นชื่อคนไทย อยากจะให้เรียน เพราะพวกเขารู้ว่าในพม่านั้นระบบการศึกษาล้มเหลว พวกเขาเองก็ล้วนเจอปัญหาแบบนี้ ก็เลยอยากจะให้มีอนาคตเหมือนกับคนไทยในตอนนี้ อยากเข้ามาแล้วมีสิทธิต่างๆ น่ะ แต่พวกเขาไม่สู้เหมือนกับคนไทยที่สู้มา ตอนนี้เราพยายามกดดันให้พวกเขาเข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ให้ความสำคัญอยู่

พวกเขาอยากจะให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ แล้วก็เด็กบางคน ตอนนี้ คนที่อยู่ในเมือง บางคนก็ส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้านดูแลได้ แต่บางคนพ่อแม่ไม่อยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ว่าที่ไทใหญ่ หรือกะเหรี่ยง หรือมอญ ในตะนาวศรี บางคนไม่มีหมู่บ้านแล้ว พ่อแม่หรือญาติก็ไม่มีแล้ว ที่หมู่บ้านบางคนก็มีคนแก่ๆ อยู่ ลูกหลานก็เลยส่งให้ ก็ให้เลี้ยงอยู่ คนที่เรียนที่โน่นได้เรียนมากขึ้น ผมก็เลยมองว่าภายใน 10 ปีน่ะ แรงงานพม่าก็จะมาอยู่อยู่แล้ว

อดิศร    เสริมนิดเดียวก็คือ ถามว่าอนาคตเขามองยังไง ผมคิดว่ามันก็อาจจะกลับมาที่ตรงชื่อเรื่องหนังสารคดี คือ “บ้านของคนสร้างบ้าน” ก็คือ มันขึ้นอยู่กับว่าบ้านที่เขาจากมา กับบ้านที่อยู่ปัจจุบัน ที่ไหนที่น่าอยู่สำหรับเขา อย่างพี่เว่บอกว่าหลายคนไม่มีบ้านให้กลับแล้ว ฉะนั้นเนี่ย หลายคนตั้งความหวังว่า จะทำยังไงให้อยู่ในเมืองไทยต่อได้ สร้างอนาคตที่เมืองไทย ผมคิดว่าหลายคนเลือกที่จะทำอย่างงั้น ก็คือพยายามให้ลูกเรียนหนังสือไทย เราพบว่าเด็กหลายคนไม่สามารถที่จะสื่อสารกับพม่าในเชิงการพูดได้ แต่ฟังได้ อะไรอย่างนี้ครับ หลายคนก็สมมติตัวเองว่าเป็นคนไทย ไปถามพวกเด็กๆ ก็จะบอกว่าเป็นคนไทย กลุ่มนี้ก็จะพยายามสร้างครอบครัวขึ้นมาในประเทศไทย

แต่หลายคนที่มีบ้านให้กลับ คือพร้อมจะกลับไปบ้าน ไปสร้างบ้านอะไรอย่างนี้ เราก็พบว่าหลายคนก็ส่งเงินไปสร้างบ้าน เพียงแต่ปัญหาตอนนี้ที่หลายคนยังไม่กลับก็คือ อย่างที่พี่เว่บอกการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิตเนี่ยมันไม่มี มันมีน้อย หรือว่าโอกาสคนที่จะมาสร้างเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา มันยังถูกปิดกั้นโดยนโยบายรัฐอยู่ ผมว่าถ้ามันเปิดมากขึ้น ผมว่าความฝันของเขาที่จะมี ก็คือการกลับไปสร้างบ้าน หรือสร้างอนาคตที่ตัวเองพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ยังมีอยู่สำหรับคนพม่า

ชลณัฏฐ์    วันนี้ขอบคุณมากนะคะ คุณเวียนเว่กับคุณบอม พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องแรงงานข้ามชาติในช่วงสนทนาวันนี้.

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ