จากกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล (Digital) และความยั่งยืน (Sustainability) ทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ภาคเหนือจะมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ธุรกิจยังต้องเตรียมตัวและปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับกระแสที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือไปสู่ 5 ภาพใหม่ในอนาคตที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้ศึกษาไว้
การปรับตัวในภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าแล้ว โดยปัจจุบันการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีเทคโนโลยีหลายระดับที่ให้ธุรกิจนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของขนาดธุรกิจ ซึ่งหากไม่มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานและเครื่องจักรค่อย ๆ ลดลง ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นตามมาในภายหลัง สำหรับภาคเหนือมีอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาคได้ นำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและช่วยลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ด้วย
นอกจากการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้แล้ว ธุรกิจ SMEs สามารถปรับตัวได้ โดย 1) เชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ส่วนหนึ่งเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนการใช้เทคโนโลยี เช่น โดรนในภาคเกษตร 2) ควรมีรายได้จากหลายแหล่ง (Diversification) เพื่อกระจายความเสี่ยง และ 3) ลดต้นทุนภายในธุรกิจด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ โซลาเซลล์ พลังงานชีวมวล สำหรับภาครัฐควรมีบทบาทในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้ง่ายต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในต้นทุนที่ถูกลงและได้วงเงินเพียงพอกับความต้องการของธุรกิจ
“การเข้าถึงเทคโนโลยีของ SMEs สามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีเทคโนโลยีหลายระดับ
ต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจของเรา…
การลงทุนด้านเทคโนโลยีในวันนี้จะ disrupt ทั้งต้นทุนและคุณภาพสินค้า“
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)
และประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่
ภาคบริการในภาคเหนือมีจุดเด่นด้านธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่บางรายมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสความสุขสมบูรณ์ของคนในองค์รวม ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม (Wellness) และความยั่งยืน (Sustainability) เริ่มต้นด้วยการสร้างแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) สินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า 2) ประวัติศาสตร์และมรดก (History and Heritage) และ 3) Wellness and Sustainability ดังนั้น การให้บริการจะเป็นในรูปแบบของ Wellness package ที่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งภายในโรงแรม อาทิ การนวด การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และกิจกรรมภายนอกโรงแรม อาทิ เยี่ยมชมศูนย์อภิบาลช้าง เยี่ยมชมฟาร์มเกษตรออร์แกนิค การเดินป่า หรืออาจกล่าวได้ว่า การมุ่งเน้นเรื่อง Wellness and Sustainability จะดึงดูดลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ ลูกค้าในกลุ่มประเทศสหรัฐและยุโรปมาใช้บริการของโรงแรม สามารถปรับราคาห้องพัก ช่วยเพิ่มรายได้ และลดความเสี่ยงของธุรกิจจากการกระจายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ ๆ อีกทางหนึ่ง
“Wellness และ Sustainability เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เท่าทันกระแสนี้
เพราะจะช่วยเพิ่มมูลค่า brand ยอดขาย และลดต้นทุนในอนาคต“
คุณนิดา วงศ์พันเลิศ
Managing Owner of 137 Pillars Hotels & Resorts
สำหรับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในพื้นที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัลและความยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่ 1) เป็นคลังความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม Startup และ SMEs 2) กำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจร่วมกับองค์กรเอกชน เช่น การจัดทำแผน Carbon emissions ให้กับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เป็นต้น และ 3) เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนและธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่ม Startup
“เจตนารมณ์ของเรา คือ ทำยังไงจะให้มีธุรกิจขนาดเล็กแล้วจ้างงานราคาสูงในพื้นที่
แล้วลูกหลานเราที่มีความสามารถจะได้ไม่ไปทำงานที่กรุงเทพ…เราต้องทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานทักษะสูงในพื้นที่ให้ได้…Startup เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยได้“
ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์