เศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้าง “มูลค่าเพิ่มน้อยและกระจุกตัว“ เนื่องจากภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกพืชไร่และผลไม้หลายชนิดแต่ผลผลิตเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำไปแปรรูปเพียงขั้นต้นและขั้นกลางเพื่อส่งออก อีกทั้งการส่งออกจะอยู่ในรูปแบบของการรับจ้างผลิต (OEM) ทำให้ธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย ขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งคิดเป็น 15% ของ GRP ยังคงเน้นการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมและมีการกระจุกตัว ทั้งในแง่ของรายได้ที่เกือบ 1 ใน 3 มาจากชาวจีน และในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวที่กระจุกตัวเฉพาะจังหวัดหลัก
จากกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล (Digital) และกระแสความยั่งยืน (Sustainability) นับเป็นความท้าทายที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญ และนำมาซึ่งโอกาสสำคัญที่ธุรกิจในภาคเหนือจะใช้ยกระดับศักยภาพ โดย 5 ภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่น่าจะเป็นหนึ่งในหลากหลายโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือ ได้แก่
1) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) คือ การนำเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลมาใช้ในการทำเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน ปัจจุบันมีธุรกิจและเกษตรกรในภาคเหนือนำมาปรับใช้ในเกษตรแปลงใหญ่บ้างแล้ว อาทิ การปลูกข้าวโพดที่มีการใช้ระบบเซนเซอร์เก็บข้อมูลเพื่อคาดการณ์สภาพแวดล้อม การใช้โดรนพ่นปุ๋ยหรือสารเคมีซึ่งช่วยลดแรงงานและลดเวลาทำงานได้ถึง 20 นาทีต่อไร่ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้อาศัยเงินลงทุนค่อนข้างสูง จึงมีตัวช่วยอย่างแพลตฟอร์มที่ให้บริการเช่าโดรนหรือเครื่องจักรใหญ่เกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ ภาครัฐและสถาบันการศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไปพร้อมกัน
2) อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ผู้บริโภคสนใจดูแลสุขภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวทางการบริโภคอาหารจึงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ Future food มีแนวโน้มเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Functional food ซึ่งเป็นอาหารที่เติมสารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ และอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืช (Plant-based food) เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยภาคเหนือมีศักยภาพในการพัฒนาการผลิตอาหารไปสู่ Future food เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร มีแรงงานพร้อมรองรับทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และมีความพร้อมด้านองค์ความรู้จากการที่มีสถาบันการศึกษาสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน ธุรกิจภาคเหนือหลายรายเริ่มผลิตสินค้า Future food และวางจำหน่ายในตลาดแล้วหลายชนิด
3) การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) จากภาวะโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบจากปัญหานี้ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเลือกซื้อสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตทั่วโลกก็มุ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น เช่น SRP (ข้าว) Bonsucro (อ้อยและน้ำตาล) และ Rainforest Alliance (ชาและกาแฟ) ระยะต่อไป แรงกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและคู่แข่งที่ปรับตัวมากขึ้น คาดว่าจะเห็นธุรกิจภาคเหนือปรับตัวสู่มาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว
4) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ได้รับความนิยมมากขึ้นจากความสนใจดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และกระแสดิจิทัลที่เอื้อให้ทำงานที่ไหนก็ได้บนโลก
จึงมีความยืดหยุ่นด้านการเดินทางและการใช้เวลาในแต่ละพื้นที่ ภาคเหนือมีจุดขายสำหรับ Wellness Tourism หลายประการ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ความพร้อมด้านบุคลากรทั้งด้านบริการและการแพทย์ และที่ตั้งที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการเดินทาง หากภาคเหนือสามารถต่อยอดทรัพยากรที่มีเพื่อคว้าโอกาสจาก Wellness Tourism ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวได้อย่างมาก
5) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น นับเป็นโอกาสการท่องเที่ยวของภาคเหนือที่จะปรับสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยภาคเหนือมีความพร้อมหลายด้าน หลายพื้นที่มีข้อได้เปรียบด้านสังคมและวัฒนธรรม มีเมืองที่สามารถเป็นต้นแบบในการถอดบทเรียนอย่างเช่นเชียงใหม่และสุโขทัยที่ทาง UNESCO จัดให้เป็น Creative City สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และมีพื้นที่เพื่อขายสินค้าและจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของธุรกิจสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้เพิ่มเติม เช่น เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดมากขึ้น
“ในฐานะลูกชาวเหนือ เราอยากจะเห็นการยกระดับเศรษฐกิจการเงิน เพื่อให้ผู้คนในภาคเหนือมีความอยู่ดีกินดีขึ้น
ดร.ธนพร ศุภเศรษฐสิริ และ อวิกา พุทธานุภาพ
ซึ่งจะมีภาคการเงินเป็นหนึ่งในตัวช่วยสนับสนุนให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนเปลี่ยนผ่านไปยังภาพอนาคต
เพื่อให้เศรษฐกิจภาคเหนือสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และทั่วถึง”
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ทั้ง 5 ภาพนี้นับเป็นโอกาสของภาคเหนือที่จะเปลี่ยนแปลงให้รับกับกระแสโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการร่วมมือร่วมใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ซึ่ง ธปท. ได้วางแนวนโยบายเพื่อให้ภาคการเงินสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านและการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างราบรื่นและทั่วถึง ผ่านการดำเนินนโยบายสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่
1) เปิดกว้างให้ภาคการเงินแข่งขันมากขึ้น เพื่อให้เกิดบริการที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ธปท. สนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่และรายเดิมสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ ตอบสนองและกลายเป็นทางเลือกหลักให้กับผู้ใช้บริการ โดยอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกันและยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ให้บริการปรับตัวได้ ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินดิจิทัลเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันจากภัยออนไลน์
2) พัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น จากความสำเร็จของการชำระเงินดิจิทัลภาคประชาชนผ่านการพัฒนาระบบ PromptPay ธปท. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในโครงการ PromptBiz ซึ่งเป็นระบบที่จะรองรับการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมดิจิทัลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเริ่มตั้งแต่ข้อมูลการค้า ข้อมูลการชำระเงิน จนถึงข้อมูลภาษีของธุรกิจ ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจากเดิมที่บันทึกอยู่บนกระดาษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการและลดต้นทุน นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการขอสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และต่อไปธุรกิจจะสามารถใช้ลายเซ็นดิจิทัลในเอกสารทางการเงิน รวมถึงจะสามารถยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลได้อีกด้วย
3) จัดทำแนวนโยบายด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวสู่ความยั่งยืน ธปท. วางนโยบายให้ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่จำเป็นต่อการปรับตัว โดยมีแนวทางการทำงานร่วมกันกับภาคการเงินหลายด้าน อาทิ การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน (Taxonomy) การกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Disclosure) และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยสรุป กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่มาแรงและเร็ว นับเป็นโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือจากโครงสร้างที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” ไปสู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน” โดยภาคการเงินจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืนได้อย่างราบรื่นในระยะต่อไป
โดย ดร.ธนพร ศุภเศรษฐสิริ และ นางสาวอวิกา พุทธานุภาพ
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
สรุปการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2565
“Moving beyond the curve: ก้าวข้ามความท้าทายสู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ”
วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565
เวลา 08.30 – 12.00 น.ณ อาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ