จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง ชวนส่องบทบาทสื่อในฐานะสะพานเชื่อมผู้คน

จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง ชวนส่องบทบาทสื่อในฐานะสะพานเชื่อมผู้คน

ประเทศไทยมีสื่อมวลชนที่หลากหลาย ทั้งกระแสหลักและอิสระ แต่ปัญหาคือเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ของประเทศไทย กำลังถูกบีบคั้นอย่างหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งผ่านตัวกฎหมายและการบังคับใช้ นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวอิสระและผู้สื่อข่าวออนไลน์ ก็เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากรัฐและไม่ได้รับการคุ้มครองจากองค์กรต่างๆ

วงเสวนา “ทำไมสื่อต้องสร้างสะพานเชื่อมผู้คน : เสียงที่ควรได้ยิน”

“ทำไมสื่อต้องสร้างสะพานเชื่อมผู้คน : เสียงที่ควรได้ยิน” คือคำถามและชื่อวงเสวนาที่ชวนคนทำสื่ออิสระทำงานอยู่ในแต่ละภูมิภาค มาร่วมพูดคุยกัน ถึงความสำคัญของสื่อท่ามกลางบริบทสังคม การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ อดีตผู้ดำเนินรายการ “ถามตรงๆ กับจอมขวัญ” ทางช่องไทยรัฐทีวี, รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี, ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี, วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวลานเนอร์, เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท

รวมกับคอมเมนเตเตอร์ ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี และผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา ดำเนินรายการโดยหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร The Isaan Record

“สื่อมวลชน” กับสถานะสะพานเชื่อมความเข้าใจ

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ระบุว่า ในฐานะคนที่เคยจัดรายการในพื้นที่ทางความคิดที่ขัดแย้งกันใน “รายการถามตรง ๆ กับจอมขวัญ” ถือเป็นเวทีสะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางความคิดของแขกรับเชิญ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านการพูดคุย และรายการจะฉายให้เห็นภาพของคนที่เชื่อต่างกัน จุดยืนต่างกัน และก็สู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่แตกต่างกัน มันจะเป็นอย่างไร

“พื้นที่ในไทยรัฐทีวีเป็นเวทีที่ทีมงานพยายามจัดให้คนที่คิดไม่เหมือนกันมาเจอกันผ่านสื่อ เพื่อให้ผู้ชมรายการเกิดความคุ้นชินถึงจุดยืนที่ต่างกันของมนุษย์ที่แทบจะคุยกันไม่ได้มาให้เห็นบ่อย ๆ แต่มันมีบางประเด็นที่สามารถพูดคุยกันได้นะ ขวัญคิดว่านั่นคือประโยชน์สูงสุด ณ วันนั้นที่เราทำรายการแล้ว”  จอมขวัญ กล่าว

จอมขวัญ ถามถึงสองบทเรียนในวงการสื่อว่าทำไมสื่อต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมผู้คน นั่นเพราะเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2563 การเมืองที่เกิดการชมนุมขนาดใหญ่ของประชาชน เป็นบทเรียนที่แปลกออกไปค่อนข้างมากจากปี 2553 ของการชุมนุมของ นปช. หรือคนเสื้อแดง ที่ยื้ดเยื้อยาวนานและมีการสูญเสียที่ประเมินไม่ได้ 

“ในปี 53 เรายังพอเห็นร่องรอยความขัดแย้งที่พอจะจินตนาการขอบเขตของมันออก แล้วก็จินตนาการการเคลื่อนไหวของความขัดแย้ง แต่พอในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาจนกระทั่งยื้ดเยื้อมาถึงตอนนี้ มันเป็นรูปโฉมใหม่ เป็นเหลี่ยมที่ต่างออกไปในการที่นักข่าวจะรายงานข่าว รายการสัมภาษณ์ TALK ของขวัญเองมันก็ต้องมีท่าทีในการทำงานที่ต่างออกไป เพราะเหลี่ยมของมันต่างไป และเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นของคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง การชุมนุมในนามของคนรุ่นใหม่ มันก็ทำให้หลายต่อหลายเรื่องมันเปลี่ยนไปในสังคม” จอมขวัญระบุ

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ อดีตผู้ดำเนินรายการ “ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ”

จอมขวัญสะท้อนว่าสื่อควรจะเป็นได้มากกว่าที่ตัวเองเป็น เป็นอะไรได้อีกหลายอย่าง แต่ไม่ควรเป็นเลย คือ คิดว่าตัวเองเป็นได้แค่แบบเดิม ๆที่เชื่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานันดร หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้พัฒนาตัวเองหรือเปลี่ยนรูปแบบ และปรับวิธีการทำงานของตนเองให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป เวลาสื่อเจอแบบทดสอบใหม่บนความขัดแย้งของสังคม มักจะมีวิธีคิดและนิยามเดิม ๆ ของความถูกผิดที่พยายามจะเหนี่ยวรั้งการทำหน้าที่สื่อ นี่คือสาเหตุสำคัญที่สื่อต้องตระหนักพื้นที่ของตัวเองว่าสื่อเองก็มีบทบาทเชื่อมสะพานความขัดแย้งได้ด้วย

“ขวัญเรียนรู้ว่า คนเป็นสื่อนอกจากทำในสิ่งที่เห็นในทุก ๆ วันแล้ว เมื่อมันเกิดความขัดแย้งขนานใหญ่ในประเทศ เราต้องยิ่งจะต้องยอมรับให้ได้ว่ามีผู้คนอยู่ในนั้น และมีผู้คนที่แตกต่างอยู่ในนั้น แล้วสื่อจะเชื่อมโยงผู้คนที่แตกต่างกันอย่างไร คำว่าเชื่อมโยงไม่ได้แปลว่าใครต้องแพ้ชนะ หรือจะมาผสานรอยร้าวกันจนไม่รู้ถูกผิด แต่ว่ามันยังมีอีกหลายมิติที่สื่อต้องทำหน้าที่นี้พร้อมกันกับหน้าที่เก่า ๆ ที่สื่อก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่” จอมขวัญ ให้ความเห็น

รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี

รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี เล่าถึงการทำหน้าที่ในฐานะสื่อเชื่อมผู้คนว่า ก่อนปี 2547 ที่จะเกิดโศกนาฏกรรม กรือเซะ-ตากใบ คนสามจังหวัดไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงในพื้นที่ ทั้งไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกหรือว่าเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองของตัวเอง จนเกิดเหตุการณ์ปี 2547 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ถูกความคุมจากทั้งกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคง คนในพื้นที่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องหรือแสดงออกในพื้นที่ได้มากนัก ขณะนั้นสื่อในพื้นที่ก็มีไม่มาก แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปี 50 นี้ กลุ่มนักศึกษาเริ่มคิดว่าเขาควรมีพื้นที่ให้แสดงออกในทางสันติวิธีที่ไม่ใช่ความรุนแรง 

รุสลาน ให้ความเห็นว่า หากมีการแสดงออกหรือพูดคุยกันอย่างถูกวิธี ไม่ถูกบีบบังคับจากกฎหมาย ก็จะไม่มีการตอบโต้กลับออกมาเป็นความรุนแรง เหตุการณ์ปี 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ คนให้ออกมาทำสื่อในพื้นที่ และวาร์ตานีก็ตั้งขึ้นเพราะกระบวนการสันติภาพในพื้นที่เริ่มเกิด การเมืองเริ่มเปิดกว้าง แต่ตั้งต้นได้ไม่ถึงเดือน ก็มีการรัฐประหาร จึงเริ่มนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ในแบบตรงไปตรงมาว่า ในความเป็นจริงที่ประชาชนไม่กล้าแสดงออกนั้นเกิดจากปัญหาอะไรบ้าง

รุสลาน ให้ข้อมูลว่า สำนักสื่อวาร์ตานีพยายามสื่อสารให้เรื่องราวของคนในพื้นที่ชายแดนใต้เชื่อมถึงคนข้างนอกพื้นที่ โดยใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสารเพราะเป็นภาษาที่เอเชียใช้เยอะมากที่สุด และพยายามเชื่อมกับสื่อทุกภูมิภาคเพื่อเล่าความเป็นจริงใน 3 จังหวัดมีภาพเป็นอย่างไร โดยใช้สื่อวาร์ตานีเชื่อมระหว่างเสียงกับเสียง

“ปัจจุบัน คนรู้จักวาร์ตานีมากขึ้น คนกรุงเทพฯ เริ่มมาเรียนรู้งานสื่อสารจากบ้านเรามากขึ้น มีภาคอีสาน เชียงใหม่ เริ่มรับรู้มากขึ้นว่าความจริงมันเป็นอย่างไรในพื้นที่ นี่คือสะพานที่เราเชื่อมซึ่งกันและกัน” รุสลานกล่าว

ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ที่ปรึกษาของสำนักข่าวลาวเด้อ กล่าวว่า สำนักข่าวอยู่ในช่วงตั้งไข่ เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้ยังมีกระบวนการอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องมีสำนักข่าวที่อีสานใต้ คนอีสานใต้ก่อนหน้านี้ใช้วิธีการสื่อสารอย่างไร นั่นเพราะประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ

“แต่ก่อนเราจะฟังข่าว หรือรู้อะไร ต้องให้คนกรุงเทพฯ เป็นคนตัดสินใจว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง แต่เวลาผ่านไป การเกิดขึ้นของประชาไท มันทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ พอมีเดอะอีสานเรคคอร์ดขึ้นมา ทำให้รู้ได้เลยว่าข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้กองที่กรุงเทพฯ หรือแม้แต่วาร์ตานี มันทำให้เห็นว่าบางเรื่องไม่จำเป็นต้องรอสื่อส่วนกลางที่จะนำหน้าที่เผยแพร่มัน”

ธีระพล เล่าว่า การเกิดขึ้นของลาวเด้อ เพราะต้องการสะท้อนว่าอีสานไม่ได้มีแค่ขอนแก่น มันยังมีที่อื่นที่คนอยากจะส่งเสียง แล้วเสียงของอีสานไม่ได้มีแค่เสียงลาว ยังมีเสียงขะแม เสียงภูไท และอื่น ๆ อีกหลายเสียง ซึ่งมันควรจะถูกเปล่งเสียงออกมา พอมีเสียงที่หลากหลาย มันย่อมทำให้คนที่ไม่เคยไม่มีเสียง ได้เปล่งเสียง ซึ่งลาวเด้อเป็นงานที่พยายามจะสื่อสารจากเสียงที่ไม่เคยถูกรับฟัง จึงตั้งชื่อว่า ลาวเด้อ ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็แปลว่า เสียงดังขึ้น เปล่งเสียงขึ้น ขอเสียงหน่อย

“ผมเคยเห็นคลิปที่มันเสนอข่าวเป็นภาษาเขมร แล้วให้กองบรรณาธิการพิมพ์ซับไทยแปล แบบนี้ทำให้คนได้คุ้นชินกับภาษาเขมร เป็นการดูข่าวต่างประเทศที่อยู่แถวบ้านเรานี่เอง แค่ความหลากหลายของภาษามันทำให้มนุษย์เชื่อมกับมนุษย์ เราฟังซ้ำ ๆ เราจะรู้สึกคุ้น เหมือนคนเกาหลีที่อีแทวอนที่เราเศร้ากับความตายของคนคนที่นั่น เพราะเราคุ้นกับเขาด้วยภาษาผ่านสื่อมาตลอด แต่ชาวบ้านธรรมดาที่พูดกับคุณต่างภาษา คุณไม่เข้าใจ เพราะภาษาเขาไม่ได้ถูกสื่อสารให้เป็นระบบ ให้เป็นเนื้อหาที่ถูกจัดสรร เราจึงรู้สึกว่าเฉย ๆ”

วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวลานเนอร์

วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวลานเนอร์ เป็นอีกคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทำสื่อ เป็นสะพานน้องใหม่ที่ต้องการส่งเสียงผู้คนในทางภาคเหนือ วัชรพล ระบุว่าภูมิทัศน์ของสื่อในภาคเหนือ มีสื่อหรือสำนักสื่อที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าแต่ละสื่อในพื้นที่ลดบทบาทของความต่อเนื่อง และมีคนสานต่อน้อย ทำให้ตนเองอยากเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวะนี้ เพราะมองว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สะพานการสื่อสารขาด 

“ตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนแทบจะไม่สิทธิเสรีภาพแสดงออก เพราะมีประกาศคำสั่งจากกฎหมายเข้ามากำหนดชีวิตผู้คนเยอะมาก ๆ เป็นช่วงเวลาที่เราถูกปิดปาก แต่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงปี 63 เกิดขบวนการเยาวชนปลดแอกมันทำให้เรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงได้ถูกพูดถึงในสาธารณะ เราเลยอยากเป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นทางสังคมที่มีความต่อเนื่องและหลากหลาย น่าจะมีส่วนให้การเปลี่ยนแปลงสังคมดีขึ้น”

ด้าน เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท เล่าถึงที่มาของการเกิดสื่อประชาไทว่า ทีมตั้งต้นจากความต้องการมีสื่อเป็นของภาคประชาสังคม และ NGO เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นสื่อของรัฐและของทุนในการเลือกเสพข่าวสาร ข่าวแรกที่สร้างชื่อให้ประชาไทคือ ข่าวเกี่ยวกับกรณีตากใบเมื่อ 18 ปี ที่แล้ว เป็นการเล่าที่ใช้ที่มาของข่าวแตกต่างจากสื่อกระแสหลักของรัฐ ก็คือไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ว่าเผชิญชะตากรรมอย่างไร ทำให้สารที่สื่ออกมาแตกต่าง จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ประชาไทเป็นสื่อที่ก็มีการแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย

เทวฤทธิ์ เล่าถึงการสื่อสารหรือการสร้างสะพานของประชาไทว่า การทำงานมีทั้งกระบวนการสื่อสาร และกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย แต่การสร้างสะพานในเรื่องประชาธิปไตย ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามเป้า แต่การทำงานของทีมยังเป็นดำเนินไปบนความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ สิ่งนี้จะเป็นสะพานเชื่อมตั้งแต่เครือข่ายขึ้นไป

“การสร้างเชื่อมสะพาน ผู้คน รัฐ ทุน ตลาด สื่อ CSR สื่อไทยทำมาตลอดเพื่อนำไปสู่ภาพลักษณ์ แต่ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง แน่นอนว่าคุณจะได้ยินเสียงของคนชายขอบของชายขอบ เพื่อให้เรารู้สึกฟังแล้วเห็นอกเห็นใจ นั่นเป็น CSR แต่นั้นไปอยู่ที่แนวทางของการสังคมสงเคราะห์เท่านั้น มันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้น ผมคิดว่าการสร้างสะพานคือ เรื่องเล่า ข้อมูล ที่เล่าเชื่อมให้เห็นปัญหาโครงสร้างไม่ใช่เพียงเรื่องของการยกเคสขึ้นมาแล้วสร้างดรามาอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมประเด็น เชื่อมแหล่งข่าว และเชื่อมผู้คนด้วย” เทวฤทธิ์ กล่าว

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท

ความท้าทายของคนทำงานเชื่อมผู้คน

จอมขวัญ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นเรื่องหนักใจของการทำงานในวงการสื่อสาร คือ เรื่องของกระบวนการไอโอ ที่ทำงานแบบถวายตัวพลีชีพ ซึ่งเคยสร้างความเดือดร้อนจนท้อถอย ท้อแท้ ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่ดำเนินรายการถามตรง ๆ ได้เห็นความท้าทายในแง่การทำงานของสื่อ เพราะมักได้เห็นจุดยืนของแต่ละฝ่ายของแหล่งข่าว ทำให้สื่อเองก็มักถูกนิยามถึงจุดยืนด้วย

รุสลาน เล่าถึงสถานการณ์ภาคใต้ที่ทั้งภาคเอ็นจีโอและตัวนักกิจกรรมถูกคุกคามจำนวนยมาก ทำให้สื่อที่คอยรายงานความเคลื่อนไหว ถูกคุกคามตามไปด้วย

เทวฤทธิ์ เล่าว่า ประชาไทเองก็มีอุปสรรคตลอดตั้งแต่ช่วงความขัดแย้งทางการเมืองปี 2549 โดนตัดแหล่งทุนเพราะความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากถูกหาว่าเป็นสื่อทักษิณ หลังจากช่วงรัฐประหาร 2549 เว็บบอร์ดของประชาเป็นพื้นที่ของคนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐประหาร ทำให้เว็บไซต์ประชาไทกลายเป็นพื้นที่รวมความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่มีบางความคิดเห็นไปเชื่อมโยงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาไทถูกรัฐดำเนินคดี โดยใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14

“ที่เจอเหตุการณ์คุกคามจากรัฐรุนแรงเลย คือช่วงปี 2553 ประชาไทถูกสั่งปิดเว็บไซต์ จึงแก้ปัญหาด้วยการเปิด URL ใหม่ เมื่อมาถึงยุครัฐประหารปี 2557 เวลาไปทำข่าวผู้ชุมนุม ก็โดนติดตามตลอด” เทวฤทธิ์เล่าถึงสิ่งที่ต้องเผชิญ

ด้านวัชรพล กล่าวว่า ข้อจำกัดของสำนักข่าวลานเนอร์คือเรื่องการเดินทางไปทำข่าว เนื่องจากเป็นน้องใหม่ ครั้งแรกตั้งสื่อเริ่มต้นด้วยทุน 6,000 บาท จากนั้นจึงใช้ระบบการระดมทุนจากคนที่สนใจสนับสนุนเนื้อหาข่าว ปัจุบันทีมลานเนอร์คอยพัฒนาและเตรียมเขียนขอทุน

“ตอนนี้เรายังไม่มีหน้าตาที่ชัดเจน ยังไม่มีแฟลตฟอร์มที่ชัด และยังขาดความต่อเนื่องของงานสื่อสารด้วย มันเลยเป็นอุปสรรคสำคัญที่เราเจอในช่วงเวลานี้ แต่ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมายังไม่เจอการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ” บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวลานเนอร์ กล่าว

ส่วนธีระพล เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยทำงานวิชาชีพสื่อแล้วถูกคุกคามว่า ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหากต้องการจะทำงานสื่อสารจริง ๆ เพราะว่าความจริงมันต้องถูกพูดและพัฒนาประเด็น

“เราไม่ได้ไปปะทะกับผู้มีอำนาจโดยตรง แต่ว่าเราจะแสดงตัวอย่างว่าอำนาจแบบไหนที่มันละเลยประชาชน อำนาจแบบไหนที่ไม่ให้ประชาชนได้เปล่งเสียง อำนาจแบบไหนที่กดประชาชนให้เป็นสิ่งของหรือวัตถุ ที่จะบังคับคนจะหันซ้ายขวาก็ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐมาเล่นงานเรา แสดงว่าเราตีเข้าจุดที่เจ็บปวดหรือจุดที่อ่อนแอที่สุดของรัฐ” ที่ปรึกษาของสำนักข่าวลาวเด้อกล่าว

สะพานเชื่อมระหว่างภูมิภาค ให้ทุกเสียงถูกได้ยิน

รุสลาน เล่าว่าการเชื่อมระหว่างภูมิภาค บางทีเราเจอเรื่องเดียวกัน แต่เขียนคนละด้าน สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละภูมิภาคมีประเด็นที่เชื่อมโยงกันได้ แต่ยังขาดคนที่คอยประสานว่าเรื่องราวของแต่ละประเด็นเหมือนกันอย่างไร หากเชื่อมถึงกันจะมีพลังมากว่าเพราะเห็นภาพรวมทุกพื้นที่ และทำให้เห็นว่าปัญหาในประเด็นนั้น ๆ มันมีจริง 

วัชรพล มองว่าสื่อภูมิภาคคือการค้นหาความเป็นตัวเอง หน้าที่สำคัญของคนทำงานสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น คือเชื่อมโยงเพื่อให้คนเห็นอำนาจของพื้นที่ตนเอง เห็นว่าคนในพื้นที่ท้องถิ่นมีชีวิตแบบไหน ซึ่งอาจจะเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างสะพานที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เทวฤทธิ์ ก็ระบุว่า ประเด็นในเชิงพื้นที่มีความสำคัญก็จริง แต่ผู้คนก็สำคัญ และผู้คนไม่ได้จำกัดในเชิงพื้นที่หรือกายภาพ

“กรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่งเป็นประชากรแฝง จาก ใต้ อีสาน เหนือ คนเหล่านี้ เสียงเบามาก เขาไม่มีสิทธิที่จะเลือกตั้งในพื้นที่ที่เขาอยู่ด้วยซ้ำ เอาเข้าจริงคนเหล่านี้คือคนชายขอบจำนวนหนึ่งที่หายไป เวลาทำประเด็นข้ามพื้นที่ ขอให้ดูที่คน มีหลายคนมักบอกว่าประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ ก็มีหลายอย่างสำคัญอยู่นะ อย่าละเลยนะครับ” บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไทกล่าว

ส่วนจอมขวัญ เล่าประสบการณ์ถึงอดีตที่เคยเป็นสื่อกระแสหลักอย่างเนชั่นว่า “สิ่งที่ชัดเจนมาก ตอนอยู่เนชั่น ประเด็นที่จัดจะเป็นประเด็นที่หนัก คือประเด็นเชิงโครงสร้าง ซึ่งมักจะโดนท้าทายจากเรตติ้งเสมอว่าเรื่องที่หยิบมาทำมันเวิร์คไม่เวิร์คต่อเรตติ้ง เพราะว่าเราทำธุรกิจสื่อ ประเด็นบางครั้งมันไม่เกิดเรตติ้งแน่ ๆ บ่าเบื่อ คนดูน้อย แต่เรารู้สึกว่าต้องแลกกัน คือเรื่องที่ดูสีสันจะมีเรตติ้งให้บริษัทไปพูดทางธุรกิจได้ แต่บางทีเราต้องยอมไม่ทำเรตติ้ง น่าเบื่อบ้าง แต่ต้องทำ เพราะมันต้องสื่อสาร”

จอมขวัญ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อมวลชนทำอยู่แต่ละพื้นที่ จงดำรงอยู่แบบนั้น เพราะแสงสปอร์ตไลท์จะวิ่งไปหาเองเมื่อเกิดประเด็นผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ถ้าดูผ่านโซเชี่ยลมีเดียในปัจจุบันจะพบว่ามีการขับเคลื่อนประเด็นขนาดเล็กที่ผ่านโซเชี่ยลมีเดียเยอะขึ้น ดังนั้น สื่อกระแสหลักจะปฏิเสธไม่ได้แล้ว

000

รับชม LIVE เสวนาย้อนหลัง https://web.facebook.com/citizenthaipbs/videos/694648081829295  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ