เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ความสำคัญ “สานพลังขบวนใหญ่ป่าไม้ที่ดิน” แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ พร้อมยื่นข้อเสนอต่อนโยบายและพรรคการเมือง ณ อาคารรัฐสภา

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ความสำคัญ “สานพลังขบวนใหญ่ป่าไม้ที่ดิน” แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ พร้อมยื่นข้อเสนอต่อนโยบายและพรรคการเมือง ณ อาคารรัฐสภา

ตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้ารับข้อเสนอจากเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน

รัฐสภา / วันนี้ 15 พ.ย. 65 เวลา 09.30 น. เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ประกอบด้วย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), ขบวนเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล, ขบวนเครือข่ายที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และขบวนเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ ร่วมกันจัดเวที จัดเวทีเสนอเชิงนโยบาย “สานพลังขบวนใหญ่ป่าไม้ที่ดิน” ที่ห้องประชุมบี 1-1 อาคารรัฐสภา เพื่อประกาศเจตนารมณ์ความสำคัญ “สานพลังขบวนใหญ่ป่าไม้” และเสนอปัญหาต่อพรรคการเมืองกรณีผลกระทบเรื่องที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยจากนโยบายของรัฐ โดยในเวทีนี้มีตัวแทนจากพรรคการเมือง จำนวน 3 พรรค ได้แก่ นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนพรรคก้าวไกล นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย และนายราเมศ รัตนเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรับฟังและรับข้อเสนอเพื่อไปกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 50 คน

นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ตัวแทนในการประกาศเจตนารมณ์ต่อพรรคการเมือง โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า

“เครืองมือหนึ่งที่สำคัญในการเข้ามาจัดการทรัพยากรโดยรัฐคือการออกกฎหมาย โดยหลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เป็นประเด็นการจัดการทรัพยากรในมิติโครงสร้างอำนาจ การนำมิติความมั่นคงเข้ามาในการจัดการทรัพยากรกลับมาเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้นโยบาย “การทวงคืนผืนป่า” มีการออกคำสั่งคำสั่ง ได้แก่ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต่อเนื่องจนถึงการประกาศใช้ “แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการงริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” และเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ร้อยละ40 เป้าหมายให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี ถูกนำมาเป็นเป้าหมายอีกครั้ง ก่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐและชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งโดยจากรวบรวมข้อมูลของสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า “ช่วงปี 2552-2556 กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 6,656 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2558 มีจำนวนคดีถึง 9,231 คดี ส่วนการดำเนินคดีกับชาวบ้านของกรมอุทยานฯ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือในช่วงปี 2552-2556 ดำเนินคดีกับชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ประมาณ 5,000 คดี ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีประมาณ 6,000 คดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ”

“ดังนั้นเครือข่ายประชาชนที่รวมกันอันประกอบด้วย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-Move ,ขบวนเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ,ขบวนเครือข่ายที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี,ขบวนเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จึงขอเข้าพบตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาต่อฝ่ายนโยบาย และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา แนวนโยบาที่เป็นรูปธรรมของแต่ละพรรคการเมืองต่อกรณีปัญหาป่าไม้ที่ดินที่ชุมชนได้รับผลกระทบ เพื่อสื่อสารกับเครือข่ายทั่วประเทศเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจในการเลือกพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงออกแบบการรณรงค์ไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นป่าไม้ที่ดิน รวมถึงพรรคที่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนต่อไป”

จากนั้นขบวนองค์กรชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้านที่ดินได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค เพื่อให้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย โดยมีข้อเสนอดังนี้

  1. ผลักดันข้อกฎหมายใหม่
  • กฎหมาย 4 ฉบับ : พ.ร.บ. สิทธิชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน กองทุนยุติธรรม
  • กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
  • กฎหมายนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดิน
    2. ปรับแก้ข้อกฎหมายเดิม
  • พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 2562
  • ประมวลกฎหมายที่ดิน ม.61
    3. ยกเลิกกฎหมาย
  • พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562
  • พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562
  • พระราชบัญญัติป่าชุมชน 2562
    4. กำหนดนโยบาย
  • กระจายอำนาจการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้สิทธิชุมชนบริหารจัดการร่วมตามวิถีประเพณี วัฒนธรรม และบริบทพื้นที่
  • แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
  • มาตราการคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรมตามมติ ครม 2 มิ.ย. 53 (ชาวเล) 3 ส.ค. 53 (กะเหรี่ยง)
  • นโยบายรัฐสวัสดิการ

โดยตัวแทนจากทั้ง 3 พรรค ได้เข้ารับข้อเสนอทั้งหมด และได้พูดคุยถึงแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่เกิดจากกฎหมายที่ทับสิทธิของคนในชุมชนจนไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมรับฟังปัญหาของพี่น้องเพื่อนำไปออกแบบกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้พี่น้องในชุมชนต่อไป

ด้าน พอช. พร้อมสนันบสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกินให้กับพี่น้องในชุมชนทั่วประเทศ โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามแผนปฏิบัติการที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)”

โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติ และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ